xs
xsm
sm
md
lg

ไทยสมายล์บัส จุดเปลี่ยนรถเมล์กรุงเทพฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อนมีข่าวในแวดวงคมนาคมขนส่งที่น่าสนใจ เมื่อมีการแถลงข่าวควบรวมกิจการระหว่าง ไทย สมายล์ บัส กับ ไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ที่อู่ไทย สมายล์ บัส สาขาตลิ่งชัน

ในวันดังกล่าว มี น.ส.กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานบริษัท ไทย สมายล์บัส จำกัด, น.ส.ออมสิน ศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (สายงานสนับสนุน) บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ (BYD) และ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) แถลงข่าวร่วมกัน

ชื่อของ สมโภชน์ อาหุนัย เป็นที่ทราบกันดีในแวดวงธุรกิจว่า เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 6 ของไทย ในปี 2565 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 3.9 พันล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.37 แสนล้านบาท)

สาระสำคัญในการแถลงข่าววันนั้นก็คือ ทั้งสองบริษัทจะควบรวมกิจการรถเมล์และเรือไฟฟ้า รวม 21 บริษัท เริ่มจากกลุ่ม EA นำบริษัทย่อย “อีเอ โมบิลิตี โฮลดิง”เข้าลงทุนใน BYD บริษัทแม่ของไทย สมายล์ บัส ในสัดส่วน 23.63% คิดเป็นมูลค่า 6,997 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน กลุ่ม EA ได้ขายธุรกิจของบริษัทย่อยที่ชื่อว่า “อี-ทรานสปอร์ต โฮลดิง”ให้กับไทย สมายล์ บัส ได้แก่ รถเมล์สมาร์ทบัส (Smart Bus) รวม 37 เส้นทาง และ เรือไฟฟ้าไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่ (MINE Smart Ferry)อีก 3 เส้นทาง

ภาพ : ไทยสมายล์บัส
เมื่อกลุ่ม EA เข้าไปลงทุนใน BYD และขายกิจการให้ไทยสมายล์ บัส จะส่งผลให้ไทย สมายล์ บัส กลายเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทในกลุ่ม EA ซึ่งให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี บุคลากร การวางแผนกลยุทธ์ และการบริหารจัดการต่างๆ

อีกทั้งไทย สมายล์ บัส ยังได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก BYD โดยให้กู้ยืม 8,550 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวซื้อกิจการ อี-ทรานสปอร์ต โฮลดิง มูลค่า 6,000 ล้านบาท และโอนกิจการเสร็จสิ้นแล้ว

วัตถุประสงค์ที่กลุ่ม EA กับไทย สมายล์ บัส ควบรวมกิจการ เพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ เสริมศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม EA ให้ครบวงจร

รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจ จากการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าของบริษัทที่ชื่อว่า “แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี” พร้อมร่วมมือกับ BYD ในโครงการขายคาร์บอนเครดิตกับรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์

ภาพ : thaismilebus.com (19 กันยายน 2564)
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 มีการแถลงข่าวเปิดตัวไทย สมายล์ บัส อย่างเป็นทางการที่สาขาเอกชัย (อู่รถเมล์ ต.มานิตย์การเดินรถ หรืออู่รถเมล์ ปอ.สาย 7 และ ปอ.68 เดิม) จังหวัดสมุทรสาคร

นอกจากจะมี นายธีรพล นพรัมภา อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายสมัคร สุนทรเวช) เข้าร่วมงานในฐานะนักลงทุนแล้ว ยังมี นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม EA เข้าร่วมแถลงข่าวด้วย

กลุ่ม EA ได้ส่งมอบรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า MINEBUS รุ่น EV-X10 ขนาด 35 ที่นั่ง ล็อตแรก รวม 27 คัน ให้แก่ไทย สมายล์ บัส ซึ่งประกอบในประเทศไทย 100% โดย บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด (AAB)

โรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้า AAB ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งกลุ่ม EA ลงทุนร่วมกับ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ที่มี นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

แฟ้มภาพ ตุลาคม 2564
จากนั้นวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ไทย สมายล์ บัส เปิดเดินรถครั้งแรก ประเดิมด้วย สาย 35 พระประแดง-สายใต้ใหม่ ภายใต้ใบอนุญาตของ บริษัท บี.บี.ริช (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นอดีตเจ้าของสัมปทานเดินรถร่วมบริการ ขสมก. เดิม

กระทั่ง 24 ตุลาคม 2564 จึงได้เปิด ปอ. สาย 7 โรงเรียนศึกษานารีวิทยา-หัวลำโพง ภายใต้ใบอนุญาตของ บริษัท ต.มานิตย์การเดินรถ จำกัด และ สาย 4-21 สมุทรสาคร-แยกบ้านแขก ภายใต้ใบอนุญาตของ บริษัท อำไพรุ่งโรจน์ จำกัด

ไทย สมายล์ บัส เดินรถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า ภายใต้ใบอนุญาตผู้ประกอบการเดินรถรายเดิม 8 บริษัท (ยกเว้นรถเมล์ร้อน 2 เส้นทาง ได้แก่ สาย 132 พระโขนง-เคหะบางพลี และสาย 365 ปากน้ำ-บางปะกง)

ก่อนหน้านี้เคยผู้ประกอบการรถเมล์เอกชนเบอร์หนึ่ง คือ บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด เริ่มต้นให้บริการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 ให้บริการ 2 เส้นทางแรก คือ สาย 104 ปากเกร็ด-หมอชิตใหม่ และ สาย 150 ปากเกร็ด-บางกะปิ

ภาพ : สมาร์ทบัส
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเดินรถร่วมบริการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ส่วนหนึ่งประสบปัญหาขาดทุน ได้ขายกิจการให้กับสมาร์ทบัส โอนเส้นทางให้กรมการขนส่งทางบกดูแล ทำให้มีเส้นทางเดินรถในมือมากถึง 37 เส้นทาง

ไม่มีใครรู้ว่าวันหนึ่งรถเมล์ไฟฟ้าจะเติบโตแบบก้าวกระโดด ท่ามกลางผู้ประกอบการเดินรถเอกชนที่ประสบปัญหาขาดทุน ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์โควิด-19 ส่วนหนึ่งหยุดเดินรถ ส่วนหนึ่งขายกิจการให้สมาร์ทบัส

19 ตุลาคม 2564 กรมการขนส่งทางบก นำเส้นทางตามแนวทางปฏิรูปรถเมล์ 77 เส้นทาง มีทั้งเส้นทางที่มีผู้ประกอบการเดินรถอยู่เดิม และเส้นทางใหม่ ให้ผู้ประกอบการที่สนใจ ยื่นคำขออนุญาตประกอบการขนส่ง

ในตอนนั้นมีการแข่งขันกันระหว่าง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไทย สมายล์ บัส และผู้ประกอบการเดินรถอื่นๆ ซึ่งพบว่าในบรรดาเส้นทางปฏิรูปรถเมล์ 77 เส้นทาง มีเส้นทางเดินรถของ ขสมก. เดิมถึง 28 เส้นทาง

ปรากฏว่า วันที่ 24 มีนาคม 2565 กรมการขนส่งทางบกส่งหนังสือระบุว่า คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้มีมติอนุมัติให้นายทะเบียนกลางออกใบอนุญาตให้แก่ไทย สมายล์ บัส รวม 71 เส้นทาง

ส่งผลทำให้ไทย สมายล์ บัส มีเส้นทางเดินรถเมล์ไฟฟ้าอยู่ในมือแบบก้าวกระโดด มากถึง 79 เส้นทาง ขณะนี้เดินรถไปแล้ว 8 เส้นทางเดิม 28 เส้นทางใหม่ เหลืออีก 43 เส้นทาง ที่กำลังทยอยเปิดให้บริการ

แฟ้มภาพ : การเปิดตัวสาย 2-38 หรือสาย 8 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565
ขณะที่ กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ (EA) ได้นำบริษัทย่อย “อี ทรานสปอร์ต โฮลดิง” เข้าถือหุ้น สมาร์ทบัส จาก บริษัท เกคโค่ โฮลดิ้ง จำกัด และเปลี่ยนแปลงบัญชีผู้ถือหุ้นกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565

ขณะนั้นผู้บริหารกลุ่ม EA ชี้แจงการเข้าซื้อกิจการสมาร์ทบัส เพื่อนำรถโดยสารไฟฟ้าที่บริษัทผลิตเองมาให้บริการในกรุงเทพฯ ทำให้มีธุรกิจครอบคลุมต้นน้ำสู่ปลายน้ำ มีเครือข่ายรถเมล์เชื่อมเรือไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาลครบวงจร

ไม่นานนัก ที่ประชุมบอร์ด EA เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีมติอนุมัติให้บริษัทย่อย “อีเอ โมบิลิตี โฮลดิง” เข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) ของ บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ (BYD) สัดส่วน 23.63%

พร้อมอนุมัติให้บริษัทย่อย “อี ทรานสปอร์ต โฮลดิง” โอนกิจการสมาร์ทบัส และเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry ทั้งหมดให้แก่ไทย สมายล์ บัส โดยทั้งสองรายการบริษัทฯ จะใช้เงินรวมทั้งสิ้น 997.02 ล้านบาทเศษ

ผ่านไปประมาณ 5 เดือน หลังโอนกิจการเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้เห็นทั้งกลุ่มไทย สมายล์ บัส และกลุ่ม EA ประกาศควบรวมกิจการรถเมล์ไทย สมายล์ บัส, รถเมล์สมาร์ทบัส และเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry ดังกล่าว


นอกจากนี้ ไทย สมายล์ บัส อยู่ในระหว่างซื้อกิจการบริษัทเจ้าของใบอนุญาตเดินรถประจำทางอีก 2 บริษัท รวม 6 เส้นทาง ได้แก่ บริษัท เอ็กชา โลจิสติก จำกัด 2 เส้นทาง และ บริษัท ราชาโร้ด จำกัด 4 เส้นทาง รวมมูลค่า 190 ล้านบาท

หากประสบความสำเร็จ เท่ากับว่า กลุ่มไทย สมายล์ บัส จะมีเส้นทางเดินรถเมล์เอกชนอยู่ในมือมากถึง 122 เส้นทาง และเรือโดยสาร MINE Smart Ferry อีก 3 เส้นทาง

เมื่อวันก่อน น.ส.ออมสิน ผู้บริหาร BYD กล่าวใน กิจกรรมบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opportunity Day) ไตรมาส 3/2565 ว่า การทำตั๋วร่วมเครือข่ายขนาดใหญ่ ปัจจัยความสำเร็จคือการสร้างระบบ Single Network ระหว่างรถเมล์และเรือไฟฟ้า

ขณะนี้ระบบไอที ที่สามารถเชื่อมโยงการเดินทางและการเก็บค่าโดยสาร ได้ลงทุนเทคโนโลยีแล้ว อยู่ในช่วงการทดสอบระบบ เดือน ธ.ค. 2565 หากทุกอย่างเสร็จจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการและเริ่มให้บริการอย่างจริงจัง

ปัจจุบัน ระบบ Payment Hardware สำหรับใช้ในรถเมล์ ไทย สมายล์ บัส ได้แก่ เครื่อง EDC ที่จำหน่ายตั๋ว e-Ticket เริ่มทดลองใช้งานที่อู่พระประแดงแล้ว และเครื่องตัดค่าโดยสารอัตโนมัติ อยู่ระหว่างการทดลองติดตั้งและตั้งค่า

บัตร HOP Card (ภาพ : ไทยสมายล์บัส)
ส่วนแผนการบรรจุรถเมล์ไฟฟ้า ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ได้บรรจุแล้วกว่า 600 คัน จากเป้าหมายที่จะบรรจุให้ได้รวมทั้งสิ้น 1,000-1,250 คัน คาดว่าสิ้นปี 2565 จะสามารถบรรจุรถเมล์ไฟฟ้าได้ประมาณ 1,000 คัน

โดยการบรรจุรถขึ้นอยู่กับแผนการผลิตของผู้ผลิต เมื่อรับมอบแล้วต้องนำไปจดทะเบียนและทดสอบกับกรมการขนส่งทางบกก่อนเริ่มให้บริการ ที่ผ่านมาเปิดเส้นทางเดินรถเป็นระยะ ขึ้นอยู่กับทำเลยุทธศาสตร์

เช่น การเดินรถสาย 2-38 หรือสาย 8 เดิม แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ พบว่าประสบความสำเร็จ เพราะมีรายได้อันดับ 1 ของสายการเดินรถสายใหม่ ส่วนรายได้อันดับ 2 คือ ปอ. สาย 7 โรงเรียนศึกษานารีวิทยา-หัวลำโพง

สำหรับรายได้จากการเดินรถของไทย สมายล์ บัส เฉลี่ยอยู่ที่ 5,000-6,000 บาทต่อวัน โดยมีค่าใช้จ่ายสำคัญสำหรับการเดินรถ คือ ค่าใช้จ่ายพลังงาน และค่าใช้จ่ายบุคลากร ตกคันละ 1,000 บาทต่อวัน ถูกกว่าการใช้พลังงานอื่น

ส่วนค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าซ่อมบำรุง เดิมผู้ประกอบการรายเดิมใช้เครื่องยนต์รุ่นเก่า ซึ่งมีค่าบำรุงรักษาสูงมาก แต่ไทย สมายล์ บัส เป็นรถใหม่ และเป็นรถเมล์ไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายจึงมีน้อยมาก แม้จะมีการตั้งงบสำหรับซ่อมบำรุงไว้ก็ตาม

ภายในสิ้นปี 2565 หลังจากรับมอบรถเมล์ไฟฟ้าตามเป้าหมาย ไม่ต่ำกว่า 1,000 คัน ก็จะสามารถให้บริการผู้โดยสารมากขึ้น รองรับรายได้จากโฆษณาบนรถเมล์มากขึ้น และมีศักยภาพในการลงทะเบียนขอคาร์บอนเครดิตมากขึ้น

ภาพ : NEX POINT
สิ่งที่จับตามอง คือความเปลี่ยนแปลงนับจากนี้ เริ่มจากตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป รถโดยสารประจำทางสมาร์ทบัส ที่เป็นรถเมล์เอ็นจีวี สีฟ้า รวม 365 คัน จะเปลี่ยนเป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด

ขณะที่ เรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry ให้บริการเส้นทางตามแม่น้ำเจ้าพระยา 3 เส้นทาง รวม 23 ลำ จะมีเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าให้บริการเพิ่มเติมอีก 17 ลำ รวมเป็น 40 ลำ

สิ่งที่คนใช้รถเมล์คาดหวังตลอดมา นอกจากมีรถเมล์ให้บริการสม่ำเสมอ รอไม่นาน ขับรถดี บริการสุภาพแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ค่าโดยสารราคาประหยัด ในยุคที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น

ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบก กำหนดค่าโดยสารรถเมล์ปรับอากาศรุ่นใหม่ เริ่มต้น 4 กิโลเมตร 15 บาท, 4-16 กิโลเมตร 20 บาท และ 16 กิโลเมตรขึ้นไป 25 บาท ไม่รวมค่าบริการทางด่วนอีก 2 บาท ผู้บริโภคมองว่าสูงเกินไป

ไทย สมายล์ บัส ได้เตรียมนำระบบชำระค่าโดยสารด้วยบัตร HOP Card มาติดตั้งบนรถเมล์ไทย สมายล์ บัส และเริ่มใช้งานจริง รองรับการคิดค่าโดยสารอัตราเดียว (Single Price) สามารถใช้บริการในเครือข่ายไทยสมายล์บัสได้ตลอดวัน

โดยทีมงานไทย สมายล์ บัส และสมาร์ทบัส อยู่ระหว่างออกแบบแคมเปญค่าโดยสาร ออกโปรโมชันถูกกว่าค่าโดยสารที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด คาดว่าจะเปิดตัวเร็วๆ นี้เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ และเริ่มใช้ปีหน้า

ภาพ : NEX POINT
การควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มไทย สมายล์ บัส กับกลุ่ม EA ในนาม อี-ทรานสปอร์ต โฮลดิง ซึ่งมีทั้งรถเมล์สมาร์ทบัส และเรือ MINE Smart Ferry สิ่งที่คาดหวังอย่างหนึ่งก็คือ แคมเปญค่าโดยสารหน้าตาออกมาจะเป็นอย่างไร

รวมทั้งระบบจัดเก็บค่าโดยสารที่จะนำมาใช้ จะรองรับระบบ EMV (Euro – MasterCard - VISA) เหมือนเช่นที่เคยให้บริการใหม่ๆ โดยใช้เครื่อง EDC รวมทั้งบนเรือ Mine Smart Ferry หรือไม่

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการขนส่งมวลชน ทั้งรถเมล์และรถไฟฟ้า ให้บริการแบบต่างคนต่างทำ เมื่อผู้โดยสารเดินทางข้ามระบบ ก็จะต้องจ่ายค่าโดยสารใหม่อีกครั้ง เป็นผลทำให้ผู้โดยสารต้องเสียค่าเดินทางรวมกันต่อวันจำนวนมาก

ขณะที่ระบบตั๋วร่วม โดยเฉพาะรถไฟฟ้า ภาครัฐพยายามผลักดันให้กำหนดอัตราตั๋วร่วมในมาตรฐานเดียวกัน และบังคับใช้ส่วนลดค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าข้ามสาย เพื่อให้ประชาชนจ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียว และค่าโดยสารถูกลง

น่าสนใจว่า กลุ่มไทย สมายล์ บัส ที่วันนี้กลายเป็นเบอร์หนึ่ง ด้วยรถเมล์ไฟฟ้า 122 เส้นทาง และเรือไฟฟ้า 3 เส้นทาง จะให้ความสนใจเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางข้ามระบบได้ถูกลงหรือไม่

เชื่อว่าเป็นสิ่งที่คนใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นประจำ คาดหวังและรอคอย.


(ภาคผนวก)

ลำดับการเปิดให้บริการเดินรถเมล์ ไทย สมายล์ บัส ตามเส้นทางปฏิรูปรถเมล์ 71 เส้นทาง

1. สาย 2-38 (สาย 8 เดิม) แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ เปิดการเดินรถวันที่ 20 ส.ค. 2565
2. สาย 4-3 (สาย 17 เดิม) พระประแดง-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดการเดินรถวันที่ 9 ก.ย. 2565
3. สาย 4-15 (สาย 82 เดิม) ท่าน้ำพระประแดง-บางลำพู เปิดการเดินรถวันที่ 9 ก.ย. 2565
4. สาย 1-2E (สาย 34 เดิม) รังสิต-หัวลำโพง (ทางด่วน) เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
5. สาย 1-61 หมู่บ้านเอื้ออาทรสังฆสันติสุข-มีนบุรี เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
6. สาย 2-42 (สาย 44 เดิม) เคหะคลองจั่น-ท่าเตียน เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
7. สาย 3-25E (สาย 552 เดิม) ปากน้ำ-นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง (ทางด่วน) เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
8. สาย 3-53 สถานีรถไฟฟ้าหัวหมาก-เสาชิงช้า เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
9. สาย 4-17 (สาย 88 เดิม) มจร.บางขุนเทียน-บีทีเอส ตลาดพลู เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
10. สาย 4-23E (สาย 140 เดิม) แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
11. สาย 4-27E (สาย 173 เดิม) บางขุนเทียน-แฮปปี้แลนด์ (ทางด่วน) เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
12. สาย 4-34 วงกลมเคหะธนบุรี-พระประแดง เปิดการเดินรถวันที่ 2 ต.ค. 2565
13. สาย 1-39 (สาย 71 เดิม) สวนสยาม-คลองเตย เปิดการเดินรถวันที่ 15 ต.ค. 2565
14. สาย 1-52 (สาย 197 เดิม) วงกลมมีนบุรี-ถนนคู้บอน-หทัยราษฎร์ เปิดการเดินรถวันที่ 15 ต.ค. 2565
15. สาย 4-28 (สาย 529 เดิม) แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดการเดินรถวันที่ 15 ต.ค. 2565
16. สาย 4-45 (สาย 81 เดิม) พุทธมณฑล สาย 5-ท่าราชวรดิฐ เปิดการเดินรถวันที่ 15 ต.ค. 2565
17. สาย 1-3 (สาย 34 เดิม) รังสิต-หัวลำโพง เปิดการเดินรถวันที่ 27 ต.ค. 2565
18. สาย 1-4 (สาย 39 เดิม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต-บางเขน เปิดการเดินรถวันที่ 1 พ.ย. 2565
19. สาย 1-37 (สาย 27 เดิม) มีนบุรี-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดการเดินรถวันที่ 1 พ.ย. 2565
20. สาย 1-41 (สาย 92 เดิม) เคหะร่มเกล้า-แฮปปี้แลนด์ เปิดการเดินรถวันที่ 1 พ.ย. 2565
21. สาย 3-1 (สาย 2 เดิม) ปากน้ำ-ท่าเรือสะพานพุทธ เปิดการเดินรถวันที่ 3 พ.ย. 2565
22. สาย 3-2E (สาย 2 เดิม) ปู่เจ้าสมิงพราย-ท่าเรือสะพานพุทธ (ทางด่วน) เปิดการเดินรถวันที่ 3 พ.ย. 2565
23. สาย 1-58 (สาย 525 เดิม) สวนสยาม-ลำลูกกาคลอง 12 เปิดการเดินรถวันที่ 19 พ.ย. 2565
24. สาย 1-59 (สาย 526 เดิม) สวนสยาม-เอื้ออาทรสังฆสันติสุข เปิดการเดินรถวันที่ 19 พ.ย. 2565
25. สาย 4-53 (สาย 149 เดิม) บรมราชชนนี-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย) เปิดการเดินรถวันที่ 19 พ.ย. 2565
26. สาย 4-49 (สาย 170 เดิม) บรมราชชนนี-หมอชิต 2 เปิดการเดินรถวันที่ 20 พ.ย. 2565
27. สาย 4-52 (สาย 146 เดิม) วงกลมสายใต้ใหม่-ถนนเพชรเกษม เปิดการเดินรถวันที่ 20 พ.ย. 2565
28. สาย 4-61 (สาย 515 เดิม) ศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เปิดการเดินรถวันที่ 25 พ.ย. 2565

ที่มา : MGR Online


กำลังโหลดความคิดเห็น