xs
xsm
sm
md
lg

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว บัตรประชาชนเคยใช้ถอนเงิน ATM ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

กรณีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมมือกับธนาคาร 11 แห่ง ออกมาตรการให้ผู้ฝากเงินสดเข้าบัญชีธนาคาร ผ่านเครื่องอัตโนมัติ CDM หรือ ATM ต้องใช้บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตยืนยันตัวตนก่อนทุกครั้ง

กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการ "ผลักภาระ" ไปยังประชาชนหรือไม่ อ้างว่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีที่แพง บ้างก็กล่าวว่า ทำไมไม่เอา "บัตรประชาชน"มายืนยันตัวตน เพราะมีชิปการ์ดเหมือนกัน

เรื่องของเรื่องก็คือ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไปคนที่จะฝากเงินสดเข้าบัญชีผ่านเครื่องอัตโนมัติ CDM หรือ ADM ต้องเสียบบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต แล้วกดรหัส PIN ก่อนฝากเงินทุกครั้ง ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถฝากเงินได้

โดยบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตที่นำมายืนยันตัวตน จะเป็นธนาคารไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นธนาคารเดียวกันกับเครื่องอัตโนมัติ โดยไม่มีค่าธรรมเนียมยืนยันตัวตน แต่ค่าธรรมเนียมฝากเงินยังเหมือนเดิม แล้วแต่ธนาคารกำหนด

ปัญหาก็คือ ส่วนหนึ่งยังเข้าใจว่า บัตรเดบิตที่จะนำมายืนยันตัวตน จะต้องเป็นของธนาคารเดียวกับเจ้าของเครื่องอัตโนมัติเท่านั้น ซึ่งความจริงไม่ใช่ ธนาคารไหนก็ได้ใน 11 ธนาคาร หรือถ้ามีบัตรเครดิตก็ใช้ได้เหมือนกัน

ส่วนข้ออ้างที่ว่า ทำบัตรเดบิตต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีที่แพง ปัจจุบันมีบัตรเดบิตที่ฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี หรือค่าธรรมเนียมรายปีต่ำกว่าท้องตลาด เข้ามาเป็นทางเลือก ขึ้นอยู่กับจะขวนขวายหามาใช้หรือไม่

แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่ง พอเห็นว่ากดเงินไม่ใช้บัตรผ่านแอปฯ ฟรี หรือใช้แอปฯ สแกนจ่ายแทนเงินสดได้ ก็ไม่คิดที่จะทำบัตรเดบิตอีกเลย แต่ความจริงถ้ามีบัตรเครดิต ก็ใช้ยืนยันตัวตนได้เหมือนกัน รหัส PIN เดียวกับใช้กดเงินสดล่วงหน้า


ที่ผ่านมา ปปง.ได้ยกเว้นให้ธุรกรรมที่ทําผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) หรือผ่านเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ (CDM หรือ ADM) เป็นธุรกรรมที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรายงานต่อสํานักงาน ปปง.

แม้ธุรกรรมดังกล่าวจะเกินกว่า 700,000 บาทก็ตาม ธนาคารก็ไม่ต้องรายงานการทำธุรกรรม เว้นแต่พบว่ามีการทำธุรกรรมที่ผิดปกติผ่านเครื่อง ATM หรือ CDM ธนาคารยังคงมีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเครื่อง CDM หรือ ADM มีช่องโหว่ที่ใครก็ได้ สามารถฝากเงินสดได้ โดยไม่ต้องระบุผู้ฝากว่าเป็นใคร เพียงแค่มีเลขบัญชีปลายทาง ก็สามารถฝากเงินเสมือนโอนเงินเข้าบัญชีปลายทางได้

ขณะที่การทำธุรกรรมผ่านช่องทางอื่น เช่น เคาน์เตอร์สาขาของธนาคาร ยังต้องนำบัตรประชาชนมาแสดงทุกครั้งเมื่อฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน จ่ายบิล ทำรายการเกี่ยวกับเช็ค ตามกฎหมายป้องกันการฟอกเงินและการก่อการร้าย

เรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องชี้แจงว่า เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ตามที่ ปปง. ได้มีข้อชี้แจงเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565

ทั้งนี้ การยืนยันตัวตน เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น แต่จะจะเร่งให้ธนาคารพาณิชย์พัฒนาระบบยืนยันตัวตนรูปแบบอื่น เช่น บัตรประชาชน หรือในลักษณะ Cardless ต่อไป

ส่วนสำนักงาน ปปง. ชี้แจงว่าที่ออกมาตรการดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันมีองค์กรอาชญากรรมเกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงิน ใช้ช่องทางฝากเงินสดผ่าน CDM ในการยักย้ายถ่ายโอนเงินสดโดยไม่ต้องแสดงตนในการทำธุรกรรม

เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถตรวจสอบหรือติดตามบุคคลผู้ทำธุรกรรมเพื่อบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพได้ จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรการควบคุมการทำธุรกรรมดังกล่าว

เบื้องต้น ปปง. หารือกับสมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีหลักว่า ต้องไม่สร้างภาระแก่ประชาชนมากจนเกินสมควร ต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนแสดงตนได้หลายรูปแบบ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

“ขณะนี้ยังเป็นเพียงทางเลือกที่สามารถแสดงตนก่อนการทำธุรกรรม และจะกำหนดให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเมื่อสถาบันการเงินประเภทธนาคารและมิใช่ธนาคาร (Non-Bank) ทุกแห่งมีความพร้อม”
คำชี้แจงจากทาง ปปง. ระบุ

กล่าวแบบนี้อาจตีความได้ว่า มาตรการยืนยันตัวตนก่อนฝากเงินผ่านเครื่อง CDM ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ขึ้นอยู่กับธนาคาร บางแห่งบังคับ บางแห่งไม่บังคับ แต่ถ้ามีระบบยืนยันตัวตนออกมาแล้วเสร็จ ทุกคนก็ต้องยืนยันตัวตนกันหมด

บัตรประจำตัวประชาชนรุ่นที่ 4 หรือ บัตรประจำตัวประชาชนไฮเทค (ภาพจากเว็บไซต์กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)
เสียงเรียกร้องให้ใช้บัตรประชาชนยืนยันตัวตนในการฝากเงินผ่านเครื่องอัตโนมัติ ทำให้นึกถึงเมื่อประมาณ 25 ปีก่อน ครั้งหนึ่งบัตรประชาชนสามารถใช้เป็นบัตรเอทีเอ็ม ถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มได้!

สมัยก่อน บัตรประชาชนที่ใช้กันเป็นบัตรกระดาษเคลือบพลาสติก พิมพ์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งก่อนจะได้บัตรประชาชน จะมีใบรับคำขอมีบัตร (บ.ป. 2) หรือใบเหลืองก่อน แล้วค่อยมารับบัตรตามวันนัดที่ระบุในใบเหลืองต่อไป

ต่อมาในปี 2539 กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ออกบัตรประชาชนแบบบัตรพลาสติกติดแถบแม่เหล็ก แทนบัตรกระดาษเคลือบพลาสติกสะท้อนแสง เรียกว่า “บัตรประชาชนไฮเทค” นำมาใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2539

หนึ่งปีต่อมา กรมการปกครอง ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ ให้บริการ “บัตรประชาชนเอทีเอ็ม” นำร่องทดสอบ 50 สาขาในกรุงเทพฯ และ อ.เมืองปทุมธานี ก่อนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2540

ขณะนั้นลูกค้าที่จะใช้บัตรประชาชนเป็นบัตรเอทีเอ็ม ต้องนำบัตรประชาชนที่เป็นแถบแม่เหล็ก พร้อมสมุดบัญชีธนาคาร ไปขอรหัสเอทีเอ็ม 4 หลัก ได้ที่สาขาของธนาคาร โดยไม่ต้องเสียค่าทำบัตร 50 บาท

เมื่อขอรหัสเอทีเอ็มแล้ว สามารถนำบัตรประชาชนไปใช้ถอนเงิน โอนเงิน และชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เหมือนบัตรเอทีเอ็มปกติทุกประการ โดยเสียเฉพาะค่าธรรมเนียมรายปี 100 บาท

ในตอนนั้นมีประชาชนสนใจทำบัตรประชาชนเอทีเอ็มกว่า 7 พันคน กระทั่งวันที่ 7 เมษายน 2541 ธนาคารทหารไทย (ปัจจุบันคือธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีทีบี) เปิดให้บริการบัตรประชาชนเอทีเอ็มตามมา

อย่างไรก็ตาม แม้การทำบัตรประชาชนเอทีเอ็มในยุคนั้น จะทำให้ประชาชนไม่ต้องเสียค่าทำบัตรเอทีเอ็ม และไม่ต้องพกบัตรหลายใบ แต่ข้อจำกัดก็คือ ถอนเงินได้เฉพาะตู้ธนาคารที่ขอรหัสเอทีเอ็มเท่านั้น จะถอนเงินที่ตู้ธนาคารอื่นไม่ได้

ในขณะเดียวกัน ยังติดข้อจำกัดที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ว่า ห้ามเปลี่ยนแปลงใดๆ กับแถบแม่เหล็กและบัตรประชาชนโดยเด็ดขาด จึงทำให้นำไปใช้กับตู้ธนาคารอื่น ที่เข้าร่วมระบบเอทีเอ็มพูล (ATM POOL) ไม่ได้

บัตรประชาชนไฮเทค ได้นำมาใช้ประมาณ 10 ปี เมื่อเทคโนโลยีบัตรพลาสติกพัฒนาขึ้น ราคาถูกลง ในปี 2548 จึงได้เปลี่ยนจากบัตรแถบแม่เหล็ก เป็น บัตรสมาร์ทการ์ด โดยใช้ชิปหน่วยความจำ (IC Chip) ซึ่งจัดเก็บข้อมูลได้มากกว่า

เมื่อบัตรประชาชนถูกแทนที่ด้วยสมาร์ทการ์ด ทั้งสองธนาคารจึงยกเลิกให้บริการบัตรประชาชนเอทีเอ็มในที่สุด

แต่เมื่อบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบแถบแม่เหล็ก มีปัญหาถูกโจรกรรมข้อมูลบ่อยครั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงให้ทุกธนาคารออกบัตรแบบชิปการ์ด และยกเลิกใช้งานบัตรแถบแม่เหล็ก ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2563 เป็นต้นมา

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ภาพจาก สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)
แม้กรมการปกครองจะอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐและเอกชน ใช้โปรแกรมสำหรับอ่านข้อมูลจากบัตรประชาชนได้ แต่ก็น่าเสียดายที่ทำได้แค่อ่านและคัดลอกข้อมูลจากบัตร เพื่อยืนยันตัวตนหรือประกอบการทำธุรกรรมต่างๆ เท่านั้น

ภายหลังเราจึงเห็นต่างฝ่ายต่างออกบัตรที่มีเลขที่บัตรประชาชนใช้งานแยกต่างหาก เช่น บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค บัตรประกันสังคม ซึ่งภายหลังนับว่ายังดีที่ให้ใช้บัตรประชาชนแสดงตนแทน

ที่ตลกร้ายก็คือ ในปี 2560 รัฐบาลยังออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แก่ผู้มีรายได้น้อยประมาณ 11 ล้านคน แยกจากบัตรประชาชนต่างหาก โดยที่หน้าบัตรระบุชื่อ เลขที่บัตรประชาชน และวันเดือนปีเกิดบนหน้าบัตรซ้ำซ้อนไปอีก

ต่อมาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีการลงทะเบียนโครงการเราชนะ ปรากฏว่ามีประชาชนกลุ่มหนึ่งไม่มีสมาร์ทโฟน ก็เลยลงทะเบียนรับสิทธิด้วยบัตรประชาชน ซึ่งจะต้องไปลงทะเบียนที่ธนาคารกรุงไทยก่อน

เวลารับชำระผ่านบัตรประชาชน ก็ใช้วิธีนำมือถือเปิดแอปฯ ถุงเงิน ถ่ายภาพหน้าบัตรประชาชน แล้วสแกนใบหน้าหรือใส่รหัส PIN ปัจจุบันยังคงนำมาใช้กับโครงการเพิ่มกำลังซื้อ ซึ่งมีผู้ได้รับสิทธิราว 2.2 ล้านคน


มาถึงกรณียืนยันตัวตนเพื่อฝากเงินผ่านเครื่อง CDM ที่ผ่านมาตู้เอทีเอ็มบางธนาคารได้มีช่องเสียบบัตรประชาชน เพื่อใช้ยืนยันตัวตน แยกจากช่องเสียบบัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต บัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดแยกต่างหาก

ช่องเสียบบัตรประชาชนนี้ เปรียบเสมือนเครื่องอ่านบัตร (Card Reader) ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลจากชิป (Dip Chip) เพื่อทำการพิสูจน์ตัวตนก่อนใช้บริการ เช่น แอปฯ เป๋าตัง อี-วอลเล็ต โมบายแบงกิ้งต่างๆ

แต่การยืนยันตัวตนไม่ได้มีเพียงแค่บัตรประชาชน ยังมีข้อเสนอให้ทำระบบ Cardless อีก ส่วนตัวเชื่อว่า ฟินเทคไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เพียงแต่ว่าระหว่างกำลังพัฒนา อาจจะไม่ทันใจคนบางกลุ่มประเภทเร็วได้ ด่วนได้ ไปบ้าง

สุดท้ายเมื่อทุกอย่างพร้อม ก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล เพื่อสกัดกั้นไม่ให้คนร้ายเข้าถึงแหล่งเงิน บริการทางการเงิน หรือสนับสนุนทางการเงินแก่การก่ออาชญากรรมหรือก่อการร้ายนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น