กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยได้ทยอยเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์บัตรเดบิตโฉมใหม่ ในรูปแบบบัตรแนวตั้ง (Vertical) โดยที่ข้อมูลบัตรจะอยู่ด้านหลัง เพื่อรองรับธุรกรรมแบบแตะจ่าย หรือ Contactless
สำหรับบัตรเดบิตธรรมดา หลังจากที่เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ จากบัตรเดบิตกรุงไทยวีซ่า มาเป็น บัตรเดบิตกรุงไทยมาสเตอร์การ์ด (พร้อมการ์ด)ก็ได้เปลี่ยนโฉมเป็นบัตรแนวตั้งเช่นกัน โดยมีค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาท
ส่วนบัตรเดบิตแบบมีประกันความคุ้มครอง ซึ่งเป็นบัตรวีซ่าเดบิต พบว่าได้เปลี่ยนชื่อใหม่ อาทิ บัตรเดบิตกรุงไทยเพิร์ล เปลี่ยนชื่อเป็น บัตรเดบิตกรุงไทย แคร์ วงเงินประกันสูงสุด 100,000 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 599 บาทต่อปี
บัตรเดบิตกรุงไทย บลูไดมอนด์ เอ็กซ์ตร้า เปลี่ยนชื่อเป็น บัตรเดบิตกรุงไทย เอ็กซ์ตร้า แคร์วงเงินประกันสูงสุด 500,000 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 999 บาทต่อปี
และบัตรเดบิตกรุงไทย พาลาเดียม เปลี่ยนชื่อเป็น บัตรเดบิตกรุงไทย อัลตร้า แคร์ วงเงินประกันสูงสุด 1,000,000 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 1,599 บาทต่อปี บัตรนี้ถ้าสมัครผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT กรอกโค้ดจะลด 100 บาท
ทั้งสามผลิตภัณฑ์ สามารถพ่วงบริการ Inter Wallet เพื่อใช้จ่ายผ่านบัตรที่ต่างประเทศ ด้วยสกุลเงินที่เราแลกได้
ที่น่าสนใจก็คือ เริ่มมีผลิตภัณฑ์ใหม่เจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นประจำ หรือกลุ่มลูกค้าที่ไม่ต้องการทำบัตรเดบิต ก็มีบัตรเดบิตที่มีค่าธรรมเนียมถูกที่สุด
เริ่มจาก บัตรเดบิตกรุงไทย ทรานซิท ยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่เปิดให้สมัครได้แล้วที่ธนาคารกรุงไทย สาขาที่ร่วมรายการกว่า 300 สาขา ในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
บัตรนี้เป็นบัตรเดบิตพ่วงประกันก็จริง แต่จ่ายค่าธรรมเนียมปีแรก 100 บาท ปีต่อไปหักค่าธรรมเนียมรายปี 100 บาท วงเงินประกันสูงสุด 30,000 บาท ความคุ้มครองแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
กรณีเสียชีวิตและสูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ที่เกิดจากอุบัติเหตุจากการเดินทาง หรือ โดยสารรถสาธารณะ ที่ชำระด้วยบัตรกรุงไทยทรานซิท จะได้รับความคุ้มครอง 30,000 บาท
ส่วนค่ารักษาพยาบาล 1,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง จากอุบัติเหตุทั่วไป รวมการถูกฆาตกรรมหรือถูกทำร้ายร่างกาย รวมอุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
บัตรนี้ถูกออกแบบมาเพื่อคนเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งรถประจำทาง ขสมก. และไทยสมายล์บัส, เรือ Mine Smart Ferry, รถไฟฟ้าสายสีแดง (เร็วๆ นี้จะมีสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง)
รวมทั้งใช้กับทางพิเศษ 5 สายทาง และดอนเมืองโทลล์เวย์ แต่มอเตอร์เวย์ สามารถนำข้อมูลบัตรเดบิตมาผูกในบัญชี M-Flow แล้วใช้ผ่านทางมอเตอร์เวย์ที่เปิดให้บริการแล้ว เช่น มอเตอร์เวย์หมายเลข 9 ด่านทับช้าง และด่านธัญบุรี
ที่พิเศษก็คือโปรโมชันในช่วงเปิดตัวบัตร เมื่อชำระค่าโดยสารหรือค่าผ่านทางด้วยบัตรกรุงไทยทรานซิท (ยกเว้นมอเตอร์เวย์) ครบ 10 ครั้งต่อเดือน ไม่จำกัดขั้นต่ำต่อครั้ง รับเครดิตเงินคืน 20 บาทต่อเดือน ถึง 31 ธันวาคม 2565
และหากสะสมยอดใช้จ่ายผ่านบัตรตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไปภายใน 60 วัน นับจากวันแรกที่มีการใช้บัตร (ยกเว้นช้อปออนไลน์) จะได้รับ E-Coupon เติมน้ำมันบางจาก 20-50 บาทอีกด้วย ถึง 31 ธันวาคม 2565
เท่าที่ผู้เขียนใช้งานบัตรใบนี้ พบว่าใช้งานได้ดีไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหากับเครื่องรับชำระค่าโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ของ ขสมก. ที่มีอายุการใช้งานกว่า 3 ปี พบว่ามีปัญหาแตะบัตรไม่ผ่านอยู่บ่อยครั้ง
ไม่นับรวมเพจที่ชื่อว่า “รถเมล์ไทยแฟนคลับ Rotmaethai” เคยออกมาระบุว่า วิ่งรถออกไปครึ่งทางแบตฯ หมดพนักงานต้องพกแบตฯ สำรองไว้ชาร์จกลางทาง แจ้งไปที่ระบบเกี่ยวข้องต่างๆ ก็โยนกันไปโยนกันมา
ในฐานะที่เป็นผู้ถือบัตรกรุงไทยทรานซิทคนหนึ่ง อยากให้ธนาคารกรุงไทย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเครื่อง EDC ของ ขสมก. หน่อย เข้าใจว่าผ่านมา 3 ปี เครื่อง EDC ใช้งานทุกวัน แบตฯ คงจะเสื่อมไปบ้าง
อย่างต่อมา คือ บัตรเดบิตกรุงไทย แฮปปี้ไลฟ์ เป็นบัตรเดบิตพ่วงประกันเช่นกัน แต่ค่าธรรมเนียมรายปีถูกที่สุดเพียง 50 บาทเท่านั้น ถูกกว่าบัตรเดบิตธรรมดาที่มีในธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เสียอีก
บัตรนี้เจาะกลุ่มลูกค้าที่รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ อาทิ เงินผู้สูงอายุ, กลุ่มลูกค้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ก็ไม่ได้จำกัดลูกค้าทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่ต้องการทำบัตรเดบิต ด้วยค่าธรรมเนียมถูกที่สุด
คุณสมบัติของบัตรใบนี้ คุ้มครองการเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง (อบ.1) จากอุบัติเหตุ รวมถึงการถูกฆาตกรรม และลอบทำร้ายร่างกาย วงเงินประกันสูงสุด 20,000 บาท
แต่ถ้าเสียชีวิตจากโรคร้ายแรง ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตัน และโรคไตวายเรื้อรัง จะได้รับค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ 1,500 บาท
แม้ว่าจะมีค่าธรรมเนียมถูกที่สุด แต่ก็มีเงื่อนไขอย่างหนึ่ง คือ เบิกถอนผ่านเครื่องเอทีเอ็ม สูงสุด 30,000 บาทต่อวัน โอนเงินระหว่างบัญชี สูงสุด 30,000 บาทต่อวัน และชำระค่าสินค้าผ่านเครื่อง EDC สูงสุด 30,000 บาทต่อวัน
รวมทั้งตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 บัตรนี้ถอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มกรุงไทยในจังหวัดเดียวกัน ฟรี 2 ครั้งต่อเดือน ครั้งที่ 3 ของเดือนเป็นต้นไป คิด 15 บาทต่อรายการ ส่วนการถอนเงินผ่านเครื่อง ATM ธนาคารอื่น คิด 20 บาทต่อรายการ
จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการบัตรเดบิตสำหรับบางธุรกรรม เช่น การใช้จ่ายผ่านเครื่อง EDC โดยที่การถอนเงินสด อาจจะใช้วิธีกดเงินไม่ใช้บัตร ผ่านแอปฯ Krungthai NEXT ที่กดเงินได้สูงสุดวันละ 100,000 บาทแทน
นอกจากนี้ ยังมีบัตรเดบิตกรุงไทย ประจำจังหวัด ซึ่งเป็นบัตรเดบิตลายพิเศษเฉพาะพื้นที่ ต่อยอดจากบัตรเดบิตกรุงไทย แปดริ้วอีซี่การ์ด และบัตรเติมเงิน แปดริ้วอีซี่การ์ด ที่เปิดตัวเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา
เริ่มจาก บัตรเดบิตกรุงไทย คลองโอ่งอ่าง ในรูปแบบบัตรเดบิตกรุงไทย เอ็กซ์ตร้า แคร์ ค่าธรรมเนียมรายปี 999 บาท เป็นบัตรลายการ์ตูน ออกแบบโดยศิลปิน Kamjin พร้อมโปรโมชันพิเศษในย่านคลองโอ่งอ่าง
บัตรนี้เป็น Limited Edition สมัครได้เฉพาะสาขาในกรุงเทพฯ ย่านคลองโอ่งอ่าง รวม 38 สาขา ถือเป็นบัตรลายพิเศษที่แตกต่างไปจากบัตรทั่วไป พร้อมกับโปรโมชันร้านอาหาร เครื่องดื่ม และที่พักย่านคลองโอ่งอ่าง
อีกด้านหนึ่ง ยังมีผลิตภัณฑ์ บัตรเดบิตกรุงไทยแคร์ EEC ในรูปแบบบัตรเดบิตกรุงไทย แคร์ เป็นบัตรลายพิเศษ สมัครได้เฉพาะธนาคารกรุงไทยในจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด เท่านั้น
ฟรีค่าออกบัตร 100 บาท ค่าบริการรายปี ปีแรกเลือกแบ่งชำระได้ 3 เดือน ถึง 31 ธันวาคม 2565 พร้อมโปรโมชันลงทะเบียนใช้งานระบบ M-Flow โดยเลือกบัตรใบนี้แบบรอบบิลรายเดือนอัตโนมัติ รับฟรี e-Coupon สตาร์บัคส์ 100 บาท
ทั้งหมดนี้ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าบัตรเดบิตพ่วงประกัน ด้วยการออกผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มลูกค้า พร้อมโปรโมชันและสิทธิพิเศษเพื่อจูงใจลูกค้าผู้ถือบัตร นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองปกติ
สำหรับบัตรเดบิตพ่วงประกันของธนาคารกรุงไทย ส่วนใหญ่รับประกันภัยโดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันบริษัทแม่อย่าง ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ TIPH มีธนาคารกรุงไทยถือหุ้นอยู่ 10%
ส่วนบัตรเดบิตพ่วงประกันที่ราคาต่ำสุด พบว่าจะเป็นไปในลักษณะการประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่ม แบบพิเศษ ตามที่ธนาคารกรุงไทยตกลงไว้กับทิพยประกันภัย จึงทำให้กำหนดค่าธรรมเนียมได้ถูกกว่า
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือนมิถุนายน 2565 พบว่ามีจำนวนบัตรเดบิต 63,596,406 ใบ คิดเป็น 64.17% จากจำนวนบัตรพลาสติก 99,108,093 ใบ โดยมีบัตรเครดิตคิดเป็น 24.74% และบัตรเอทีเอ็มคิดเป็น 11.09%
ขณะที่ข้อมูลจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) พบว่ามีบัตรเดบิตแบบมีประกัน 47 ผลิตภัณฑ์ และบัตรเอทีเอ็มแบบมีประกัน 4 ผลิตภัณฑ์ ค่าธรรมเนียมรายปีแพงที่สุดอยู่ที่ 1,699 บาทต่อปี
นอกจากนี้ ยังมีบัตรเดบิตบางธนาคาร มอบประกันอุบัติเหตุฟรี เพียงแค่คงเงินในบัญชีธนาคารตามที่กำหนด ซึ่งลูกค้าจะไม่ต้องเสียค่าประกันแต่อย่างใด แต่ต้องแลกกับบัญชีนั้นๆ ดอกเบี้ยเงินฝากน้อยกว่าปกติหรือไม่มีเลย
ส่วนภาพรวมของธุรกิจประกันภัย พบว่าที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันในราคาที่จับต้องได้ โดยเฉพาะการประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) เช่น ประกันภัย 10 บาท ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก
สมัยก่อนลูกค้ามักจะประสบปัญหาต้องการบัตรเดบิตธรรมดา แต่ธนาคารให้ทำบัตรเดบิตพ่วงประกัน ซึ่งตอนนั้นมีราคาแพง กลายเป็นภาพจำที่ทำให้มีลูกค้าส่วนหนึ่งไม่อยากไปสาขา เพราะไม่อยากเจอบัตรพ่วงประกัน
แต่ปัจจุบันการขายบัตรเดบิตพ่วงประกันมีความรัดกุมมากขึ้น โดยพนักงานทุกคนจะต้องปฏิบัติตามระเบียบ "การกำกับดูแลด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม" หรือ Market Conduct ของธนาคารแห่งประเทศไทย
หนึ่งในนั้นคือการกำหนดให้ปรับเป้าการขาย (KPI) ระหว่างบัตรเดบิตธรรมดา และบัตรเดบิตพ่วงประกันเท่ากัน พร้อมทั้งทำแผ่นโฆษณาแสดงทางเลือกผลิตภัณฑ์ โดยเปรียบเทียบให้ครบถ้วน และอธิบายแก่ลูกค้าอย่างละเอียด
เพราะฉะนั้น ต่อให้เราสนใจผลิตภัณฑ์ ทำการบ้านมาแล้ว กระทั่งอยากสมัครบัตรก็ตาม แต่ก็ต้องให้พนักงานธนาคารอธิบายแนะนำผลิตภัณฑ์อยู่ดี แถมยังมีเอกสารความคุ้มครองติดไม้ติดมือกลับไปด้วย
บัตรเดบิตพ่วงประกันในอดีตที่ถูกมองว่าแพง และรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ทำ เมื่อมีทางเลือกในราคาที่ถูกกว่า แม้ความคุ้มครองจะน้อยกว่า แต่ก็ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีความคุ้มครอง รองรับความเสี่ยงที่อาจไม่คาดคิด
อาจจะทำให้คนที่ไม่อยากได้บัตรเดบิตพ่วงประกันเลย เริ่มเปิดใจขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย.