กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
อ่านประกอบ : “เตียวขึ้นดอย” ทดสอบกำลังใจ (19 พ.ค. 2562)
งานประเพณีเตียวขึ้นดอยไหว้สาป๋าระมี พระบรมธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ กลับมาอีกครั้งในปี 2565 หลังจากจัดครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 แล้วหยุดจัดงานไป 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ปกติแล้ว การจัดงานประเพณีเตียวขึ้นดอย งานไหว้สาป๋าระมีพระบรมธาตุ ถวายน้ำทรงพระราชทาน เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา จะจัดขึ้นช่วงเย็นถึงค่ำ ก่อนวันวิสาขบูชา 1 วัน ในปี 2565 ตรงกับวันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม 2565
โดยจะเป็นการจัดรถบุษบกอัญเชิญน้ำสรงและผ้าไตรพระราชทาน จากบริเวณอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ขึ้นไปถวายพระบรมธาตุดอยสุเทพ ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร
เผื่อใครจะจองตั๋วเครื่องบินสำหรับปีหน้า 2566 หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การจัดงานประเพณีเตียวขึ้นดอยฯ คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 2 มิถุนายน 2566 ก่อนวันวิสาขบูชาจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน 2566
ผู้เขียนแม้จะเป็นคนต่างศาสนิก แต่ความน่าสนใจของประเพณีเตียวขึ้นดอยก็คือ การเดินขึ้นไปบนดอยสุเทพยามค่ำคืน ซึ่งโดยปกติอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จะปิดทางขึ้นด่านตรวจห้วยแก้วตั้งแต่เวลา 20.00 น. ถึง 05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
ข้อดีของการเดินขึ้นดอยสุเทพตอนกลางคืน คือ อากาศเย็นสบาย ยิ่งเดินขึ้นไปสูงเท่าไหร่ ก็จะได้สัมผัสอากาศเย็นขึ้นเท่านั้น แตกต่างจากช่วงกลางวันที่อากาศร้อน จึงได้เห็นผู้คนทุกเพศทุกวัยเดินขึ้นดอย นอกจากตั้งใจจะไปทำบุญเอาฤกษ์เอาชัย
เพราะฉะนั้น นี่เป็นฤกษ์งามยามดี ดิถีเพ็ญ ที่จะได้สัมผัสบรรยากาศและมนต์เสน่ห์บนเส้นทางขึ้นดอยสุเทพยามค่ำคืน จากปกติเราจะขึ้นไปด้านบนได้เฉพาะเช้ามืดถึงเย็น อาจเรียกได้ว่าหนึ่งปีมีครั้งเดียวก็ว่าได้
ก่อนหน้านี้ผู้เขียนจองตั๋วเครื่องบินวันวิสาขบูชา ไม่นึกว่าปีนี้จะมีเตียวขึ้นดอย กระทั่งเพื่อนที่อยู่เชียงใหม่ทักมาว่า “เตียวขึ้นดอยมีเหมือนเดิมเน้อ” ต้องเปลี่ยนตั๋วกะทันหัน แถมเที่ยวบินที่ได้ออกจากกรุงเทพฯ ตอน 19.20 น. อีก
กว่าจะถึงเชียงใหม่ รับกระเป๋าสัมภาระก็เกือบ 3 ทุ่ม ไม่ทันขบวนรถบุษบกที่ออกจากอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยตั้งแต่ช่วงค่ำ แต่ก็ไม่เลิกล้มความตั้งใจ เพราะวันนั้นทางอุทยานฯ ให้ประชาชนขึ้นไปบนดอยสุเทพได้ตลอดคืน
บทเรียนจากการเดินเตียวขึ้นดอยสุเทพเมื่อ 3 ปีก่อน ทำให้เราพยายามเตรียมตัวมากขึ้น เริ่มจากการแต่งกาย เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น เสื้อวิ่ง เสื้อกีฬา กางเกงขาสั้น รองเท้าที่เหมาะกับการเดินบนทางเรียบ เช่น รองเท้าวิ่ง
สะพายเป้ใบเล็กๆ พกสิ่งของ ยาทาแก้ปวดกล้ามเนื้อ ยาดม ยาพาราเซตามอล ทิชชู่เปียกสำหรับเช็ดตัวหรือใบหน้า หน้ากากอนามัยสำรอง พาวเวอร์แบงก์พร้อมสายชาร์จมือถือ ไฟฉาย เสื้อกันฝนเผื่อฝนตก (วันนั้นลืมเอาไป แต่ฝนไม่ตก)
เสื้อยืด กางเกงใน ถุงเท้า สำหรับเปลี่ยนกลับ เพราะเมื่อถึงดอยสุเทพ จะเช็ดตัวแล้วเปลี่ยนเสื้อผ้าที่นั่น ถุงพลาสติกแบบหนา 1-2 ใบ ส่วนน้ำดื่มเอาไปแค่ขวดเดียว เพราะมีน้ำดื่มแจกกลางทาง
ก่อนถึงเวลาเดินขึ้นดอย พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับให้เต็มอิ่ม แม้กระทั่งบนเครื่องบิน เมื่อไม่มีบริการแจกอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องเทคออฟแล้วก็หลับได้อีกงีบ อาหารเย็นไม่ต้องทานเยอะ เอาแค่พออิ่ม
ส่วนกระเป๋าสัมภาระ ถ้าจองห้องพักเรียบร้อยแล้ว เอาไว้ที่โรงแรมเลย แต่ถ้าไม่ได้จองที่พักเอาไว้ ลองค้นหาและสอบถามร้านรับฝากกระเป๋าในเชียงใหม่ดู หรืออาศัยไหว้วานเพื่อนที่อยู่เชียงใหม่ช่วยฝากกระเป๋าก็ได้
เราเริ่มสตาร์ทออกจากอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยตั้งแต่ 22.30 น. โดยประมาณ คราวนี้มีเพื่อนร่วมทางมาด้วยอีก 2 คน แตกต่างจากเมื่อ 3 ปีที่แล้วที่มาคนเดียว ความรู้สึกในการเดินทางย่อมแตกต่างกัน
ความแตกต่างระหว่างเมื่อ 3 ปีที่แล้วกับวันนี้ต่างกันตรงที่ “ไม่มีโรงทาน” แจกจ่ายอาหารเหมือนปีก่อนๆ จะมีก็แต่มูลนิธิกู้ภัยที่มาช่วยอำนวยความสะดวก ก็ทำข้าวไข่เจียวและข้าวผัดแจกบ้างประปราย
หนึ่งในนั้นคือบริเวณ หน้าวัดผาลาด (สกิทาคามี) ก็มีเต็นท์ของ สมาคมเทวฤทธิ์เมตตาธรรม ทำข้าวไข่เจียวและข้าวกล่องแจกจ่ายไปยังผู้ร่วมงาน เธอกล่าวว่า ข้างบนไม่มีอาหารแจกแล้ว จุดนี้เป็นจุดสุดท้ายแล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เสน่ห์ของประเพณีเตียวขึ้นดอยก็คือ จะมีชาวบ้านนำอาหารและน้ำดื่มมาแจก ตั้งแต่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยันด้านบนดอยสุเทพ แทบจะเรียกได้ว่าอย่างน้อยก็อิ่มท้องแล้ว
แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ ขยะบนเส้นทางขึ้นดอยสุเทพ ระยะหลังๆ เริ่มจะเห็นหลายหน่วยงานบูรณาการจัดเก็บขยะลงมา ทำให้ปัญหาขยะริมทางเบาบางลง มาปีนี้ไม่มีการตั้งโรงทานแจกอาหาร ปัญหาขยะริมทางก็เบาบางลงไปอีก
ส่วนใหญ่ขยะริมทางที่พบเห็นจะเป็นขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่ม ซึ่งปีนี้มีการตั้งถุงขยะสีดำริมทาง ให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง และจะบรรดาอาสากู้ภัยก็ช่วยเก็บขยะขวดพลาสติกไปด้วย ขอชื่นชมตรงนี้
อีกด้านหนึ่ง ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ถนนทางขึ้นดอยสุเทพจะมีบางช่วงที่มีไฟฟ้าส่องสว่างบ้าง บางช่วงก็มืดบ้าง พอจะได้เห็นแสงสว่างจากดวงจันทร์ ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นทุกครั้งเวลาแหงนมองขึ้นไปบนฟ้า
มาปีนี้มีไฟฟ้าส่องสว่างตลอดระยะทาง 11 กิโลเมตร เป็นหลอดไฟแอลอีดี (LED) สีขาว สว่างจ้าตลอดทั้งคืน แม้จะทำให้เสน่ห์ยามวิกาลที่เคยสัมผัสหายไปบ้าง แต่ก็ปลอดภัยแก่คนเดินเท้าและผู้ใช้รถใช้ถนน
ช่วงแรกตั้งแต่ลานครูบาศรีวิชัย ผ่านวัดศรีโสดา ด่านตรวจห้วยแก้ว วังบัวบาน ผาเงิบ เดินได้เรื่อยๆ ไม่รู้สึกเหนื่อยเท่าไหร่ กระทั่งหยุดพักทานข้าวที่วัดผาลาด ซึ่งห่างจากจุดสตาร์ท 4.2 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าราว 1 ชั่วโมงครึ่ง
เคล็ดไม่ลับอย่างหนึ่งที่ทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อย คือการเดินไปด้วย คุยกับเพื่อนร่วมทางไปด้วย แทนที่จะเดินคนเดียวแล้วรู้สึกจดจ่ออยู่กับเป้าหมายปลายทางที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งเราก็เห็นคนที่เดินมามีทั้งมากันเป็นคู่ หรือมาพร้อมกับกลุ่มเพื่อน
ขณะเดียวกัน ก็ยังได้เห็นคนที่แต่งกายด้วยชุดวิ่ง ก็มาวิ่งออกกำลังกายยามค่ำคืนในงานนี้เช่นกัน ซึ่งที่เชียงใหม่หากไม่นับช่วงหมอกควันเผาป่าในฤดูร้อน ก็มีสถานที่วิ่งหลายแห่ง รวมทั้งเส้นทางขึ้นดอยสุเทพก็มีคนขึ้นไปวิ่งเช่นกัน
หลังทานข้าวไข่เจียวที่วัดผาลาดแล้ว ก็เดินเท้ากันต่อ ระหว่างนั้นเท้าเริ่มส่งสัญญาณไม่ค่อยดี ปวดบริเวณน่อง ปัญหาก็คือ ก่อนหน้านี้ดื่มกาแฟเพื่อไม่ให้รู้สึกง่วง ทำให้สูญเสียแคลเซียม เพื่อนต้องคอยแนะให้ดื่มน้ำเป็นระยะ
ไม่นานนักก็ถึงสถานีควบคุมไฟป่าภูพิงค์ จุดนั้นมีอาสากู้ภัยตั้งโต๊ะอำนวยความสะดวกและแจกน้ำดื่มฟรี เรานั่งพักเท้าเล็กน้อย ก่อนที่จะเดินไปต่อ ผ่านจุดชมทิวทัศน์ ซึ่งเป็นมุมมหาชนของคนที่เดินขึ้นดอยสุเทพ
มาถึงจุดชมวิวศาลาเฉลิมพระเกียรติ ยามกลางวันเป็นจุดชมวิวมุมสูงของเมืองเชียงใหม่ วันนั้นศาลาปิดไฟมืดมาก เหมาะกับการถ่ายภาพกลางคืน บรรยากาศราวกับอยู่บนสวรรค์ ด้วยดวงไฟแสงสีเมืองเชียงใหม่
จุดสังเกตอย่างหนึ่งของจุดชมวิวตรงนี้ก็คือ ดวงไฟสีขาวที่ม้วนโค้งออกไป นั่นคือ ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่-ลำปาง ที่มีการติดตั้งเสาไฟถนนสูง หรือ เสาไฮเมสต์ (High Mest) สูงราว 20 เมตร เป็นแสงสปอตไลต์สีขาวให้เห็นชัดเจน
ทราบมาว่าเสาไฮเมสต์ บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ติดตั้งมาตั้งแต่แยกรินคำ แยกข่วงสิงห์ สะพานขัวสรีเวียงพิงค์ แยกฟ้าฮ่าม แยกศาลเด็ก แยกหนองประทีป แยกดอนจั่น ไปถึงแยกเชียงขางแสนงาม ยาวนับสิบกิโลเมตร
ออกจากศาลาชมวิว ทางจะเริ่มลาดชันขึ้นเรื่อยๆ กำลังขาของเราเริ่มส่งสัญญาณว่าไม่ไหว ต้องคอยเดินช้าๆ กระทั่งเกิดอาการเจ็บปวดเป็นตะคริวบริเวณขา เพื่อนร่วมทางก็ช่วยทายาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อที่พกมาด้วย
กระทั่งเพื่อนร่วมทางนำกิ่งไม้ที่ตกอยู่ข้างทาง นำมาเป็นไม้เท้าชั่วคราว ช่วยพยุงให้เราเดินได้เรื่อยๆ นึกถึงตอนที่ไปภูกระดึงคราวนั้น คนที่เดินผ่านมาแนะนำให้นำกิ่งไม้มาเป็นไม้เท้านำทางเวลาขึ้น-ลง แล้วพบว่าช่วยได้จริง
หนึ่งในเพื่อนร่วมทางกล่าวกับเราว่า คราวหน้าแนะนำให้นำ “ไม้เท้าวิ่งเทรล” มาด้วย มีขายที่ร้านอุปกรณ์กีฬา แต่แนะนำให้ใช้เป็นไม้เท้าแบบพับจะดีกว่า เพราะไม้เท้าแบบยืดได้ หดได้ พอใช้ไปสักพักจะพังง่าย
ระหว่างที่เดินถือไม้เท้า คนที่เดินผ่านมาทักเราว่า “สู้ๆ นะคะ” ก็ได้แต่ขอบคุณกันไป แต่มีเด็กคนหนึ่งแซวเราว่า “พี่ใช้ไม้เท้าด้วยเหรอ” ก่อนที่จะเดินปร๋อนำหน้าออกไป ได้แต่กัดฟันกรอดๆ ฝากไว้ก่อนเถอะ (ฮา)
ตั้งแต่ศาลาชมวิวถึงดอยสุเทพ ถนนจะลาดชันและมีโค้งจำนวนมาก สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ รถสองแถวแดง และรถจักรยานยนต์ เวลาเข้าโค้งมักจะตีโค้งกินเลนซ้ายสุด หากเดินไม่ระวังก็อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้
ผ่านหอดูดาวสิรินธร ลานชมวิวจุดที่สอง จุดนั้นมีรถกู้ภัยจอดอยู่ แต่ก็มีผู้คนแวะมาเก็บภาพมุมสูงของเมืองเชียงใหม่ ผ่านน้ำตกห้วยรับเสด็จ เป็นน้ำตกสายเล็กๆ ไหลลงสะพานไปยังเบื้องล่าง
จุดที่ยากที่สุดคือ “โค้งขุนกันชนะนนท์” ซึ่งเป็นโค้งรูปตัวยูขึ้นไปบนทางที่สูงชัน ประเพณีรับน้องขึ้นดอยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเรียกว่า โค้งสปิริต สร้างตำนานสุนัขวิ่งแซงหน้านักศึกษาที่แบกเสลี่ยงขึ้นดอยมาแล้ว
เราเดินเท้ามาถึง วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เวลา 03.30 น. จากแอปพลิเคชันนับการวิ่ง ใช้เวลาเฉพาะเดินเท้า 3 ชั่วโมง 16 นาที ต่างจากเมื่อ 3 ปีก่อนเล็กน้อย แต่ถ้านับรวมเวลานั่งพัก จะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง
ในตอนนั้นคนที่เดินขึ้นดอยตั้งแต่หัวค่ำ นั่งรถแดงกลับไปแล้ว แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งนั่งวิปัสนา อีกส่วนหนึ่งนอนพักผ่อนภายในวัดเพื่อรอเวลาทำบุญตักบาตรตอนเช้า แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาที่มีต่อประเพณีมาอย่างยาวนาน
แต่สำหรับเรา แค่มาเห็นเจดีย์สีทองเหลืองอร่าม เสมือนจุดหมายปลายทาง ในบรรยากาศที่แตกต่างไปจากตอนกลางวัน ถือเป็นหลักชัยที่เราเดินเพื่อเอาชนะใจตัวเอง แค่นี้ก็ถือว่าพอใจแล้ว
หลังชมความงามของพระธาตุดอยสุเทพเสร็จ เราเดินเข้าห้องน้ำ จัดการชำระร่างกายด้วยทิชชู่เปียก ก่อนเปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วล้างหน้า จะได้คลายความเหนื่อยล้าลงไปบ้าง ก่อนนั่งรถแดงลงจากดอยกลับเข้าเมือง
สิ่งหนึ่งที่อยากชื่นชมก็คือ เราได้เห็นหน่วยกู้ภัยทยอยเก็บขยะสองข้างทางถนนทางขึ้นดอยสุเทพตั้งแต่คืนนั้น และทราบว่ารุ่งเช้ามีจิตอาสาระดมเก็บขยะอีก วันถัดมาขึ้นไปเที่ยวดอยปุย ก็ได้เห็นถนนสะอาด ปลอดขยะ ซึ่งก็อยากให้มีแบบนี้ทุกปี
หากจะนึกถึงความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินเท้า ก็ไม่อาจเทียบเท่ากับความเหน็ดเหนื่อยในการก่อสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ที่มีจุดเริ่มต้นนับตั้งแต่ครูบาศรีวิชัย ทำพิธีจอบแรกก่อสร้างเมื่อ 88 ปีก่อน
สมัยนั้นดอยสุเทพ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนา ไม่ได้ขึ้นไปด้านบนได้ง่ายๆ ต้องเดินลัดเลาะไปตามไหล่เขา ครั้นทางเจ้าเมืองจะก่อสร้างถนน ก็พบว่าใช้งบประมาณที่สูงเกินไป
กระทั่งคหบดีของเมืองเชียงใหม่ คิดจะนำไฟฟ้าขึ้นไปติดที่ดอยสุเทพ ครูบาศรีวิชัยก็กล่าวว่า “ทำเป็นถนนให้รถวิ่งขึ้นไปดีกว่า” กลายเป็นว่ามีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ช่วยกันสร้างถนน 11 กิโลเมตร ในเวลาเพียง 5 เดือนเศษเท่านั้น
ถนนช่วงสุดท้ายที่เป็นทางโค้งรูปตัวยู (U) ก็มาจาก “ขุนกันชนะนนท์” คหบดีเมืองเชียงใหม่ ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลถนนช่วงสุดท้าย กระทั่งครูบาศรีวิชัยตั้งชื่อทางโค้งว่า “โค้งขุนกันฑ์” มาถึงปัจจุบัน
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนักบุญล้านนา แต่ชีวิตของครูบาศรีวิชัยก็ไม่ได้ราบรื่น ถูกกลั่นแกล้ง เคยต้องอธิกรณ์ หรือตั้งข้อหาจากคณะสงฆ์และฝ่ายปกครองมาหลายครั้ง แม้แต่ช่วงที่ก่อสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ถูกตั้งข้อหาตัดไม้ทำลายป่าอีก
ครูบาศรีวิชัยถึงกับกล่าวว่า “จะไม่กลับไปเชียงใหม่อีกแล้ว นอกจากน้ำในแม่ปิงไหลย้อนขึ้นเหนือ จึงจะเหยียบเชียงใหม่อีก” แล้วก็ไม่กลับมาเชียงใหม่อีกเลย กระทั่งมรณภาพในปี 2482 ที่วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน
ผลงานชิ้นสุดท้าย คือ สะพานข้ามแม่น้ำปิง เชื่อมระหว่าง ต.หนองตอง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กับ ต.ริมปิง อ.เมืองฯ จ.ลำพูน แต่ยังสร้างไม่เสร็จก็อาพาธและมรณภาพเสียก่อน ปัจจุบันได้ก่อสร้างเป็น สะพานศรีวิชัยอนุสรณ์
ปัจจุบัน อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย บริเวณเชิงดอยสุเทพ ยังคงมีผู้เลื่อมใสศรัทธาเข้ามาสักการะถึงปัจจุบัน พร้อมกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ของครูบาศรีวิชัย ในฐานะพระนักพัฒนาที่มีการเผยแพร่ออกไปจากรุ่นสู่รุ่น
ทุกวันนี้เวลาผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ก็พลันให้นึกถึงถนนทางขึ้นดอยสุเทพ ที่สร้างด้วยพลังศรัทธาจนสำเร็จ แล้วถูกต่อยอดพัฒนามาเป็นถนนลาดยาง 2-3 เลนอย่างดี มีไฟฟ้าส่องสว่างมาถึงปัจจุบัน
อาจเรียกได้ว่า หากไม่มีครูบาศรีวิชัยในวันนั้น ก็คงไม่มีทางขึ้นดอยสุเทพในวันนี้.