กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
(1)
นี่ไม่ใช่การแข่งขันวิ่งมาราธอน
ไม่มีเสื้อวิ่ง ไม่มีเหรียญรางวัล และไม่มีเงินรางวัลมอบให้แม้แต่บาทเดียว
แต่เป็นประเพณีที่ชาวเชียงใหม่จะต้อง “เตียวขึ้นดอย” หรือการเดินเท้าขึ้นดอยสุเทพปีละครั้ง ก่อนวันวิสาขบูชา เชื่อกันว่าหากเข้าร่วมแล้วจะได้บุญได้กุศลครั้งใหญ่กลับไป
สำหรับเรา แม้จะเป็นคนต่างศาสนิกก็ตาม แต่อีกมุมหนึ่ง ต้องการที่จะเดินทดสอบกำลังใจ เพราะในกรุงเทพฯ จะเดินบนถนนแบบนี้ได้ยากมาก
ย้อนกลับไปช่วงรับน้องใหม่ จู่ๆ ต้องเดินเท้าขึ้นภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก จากด่านตรวจถึงที่ทำการอุทยานฯ ระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตรมาแล้ว
แต่นั่นเกือบ 15 ปีที่แล้ว!
คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำคงไม่ใช่ปัญหา แต่สำหรับคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกายเลย สมรรถภาพทางร่างกายจะค่อยๆ อ่อนแอลงเรื่อยๆ
เลยเกิดความคิดที่ว่า ในวัยเข้าสู่หลักสาม เราถือโอกาสนี้ทดสอบสมรรถภาพทางกาย พร้อมทดสอบกำลังใจไปในตัว ดูว่าเราจะทำได้แค่ไหน
อีกอย่างหนึ่ง คือ อยากสัมผัสบรรยากาศดอยสุเทพในยามค่ำคืน ที่ไม่ใช่นั่งรถแดงจากข้างล่าง หรือเช่ามอเตอร์ไซค์เพื่อขึ้นไปชมดอย
อยากเดินไปเรื่อยๆ ชมบรรยากาศโดยรอบ อยากเห็นแสงไฟดวงเล็กๆ ของเมืองเชียงใหม่ระยิบระยับราวกับอยู่ท่ามกลางดวงดาว
จริงๆ ตั้งใจจะร่วมเตียวขึ้นดอยตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ปรากฎว่าปีนั้นฝนตกหนักมาก แถมท้องเสียและมีไข้ ต้องนอนซมอยู่โรงแรม พลาดโอกาสอย่างยิ่ง
ปีนี้ตั้งใจจะมาแก้มือ เตรียมพร้อมจองตั๋วเครื่องบินราคาถูกเสียตั้งแต่ต้นปี พร้อมวางแผนเรื่องวันหยุดกับเพื่อนร่วมงานเอาไว้ล่วงหน้า
ด้วยความหวังที่ว่า เราจะไม่ปล่อยให้โอกาสนั้นหลุดมือไปอีกแล้ว!
(2)
ประเพณีเตียวขึ้นดอย ไหว้สาป๋าระมี พระบรมธาตุดอยสุเทพ ที่พุทธศาสนิกชนและชาวเชียงใหม่เข้าร่วมทุกปี มีเรื่องราวที่น่าสนใจ
หากย้อนไปในอดีต พญากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งอาณาจักรล้านนา อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่พระธาตุเจดีย์ ณ ดอยสุเทพ เมื่อปี พ.ศ. 1914
สมัยก่อน การจะไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ ไม่ได้มีถนนลาดยางเรียบๆ เหมือนเช่นทุกวันนี้ แต่เป็นทางเดินเท้าเข้าไปในป่า และต้องปีนเขาไปอีก
จากเชิงดอยกว่าจะถึงพระธาตุดอยสุเทพ ต้องเดินเท้าเป็นเวลามากกว่า 5 ชั่วโมง คนโบราณกล่าวไว้ว่า ถ้าไม่มีพลังบุญจริงๆ ก็ไม่มีโอกาสได้กราบไหว้
มาถึงปี พ.ศ. 2477 มีพระรูปหนึ่ง คือ ครูบาศรีวิชัย จากวัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน เป็นผู้นำสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพอย่างจริงจัง
ถนนสายนี้มีจุดเริ่มต้นที่หน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ในปัจจุบัน ขึ้นไปบนเขา ถึงพระธาตุดอยสุเทพ ระยะทาง 11 กิโลเมตร ใช้จอบและเสียมขุดดินเพื่อทำเป็นถนน
เมื่อทราบข่าวว่าครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ก็มีชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธาเข้ามาช่วยเหลือ กระทั่งแล้วเสร็จในเวลาเพียง 5 เดือน 22 วัน
ทำพิธีเปิดใช้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2478 โดยครูบาศรีวิชัยนั่งรถยนต์ขึ้นดอยสุเทพเป็นคนแรก หลังจากนั้นถนนก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ
ประเพณีเตียวขึ้นดอย มีจุดเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ส่วนหนึ่งก็เพื่อระลึกถึงในฐานะที่เป็นนักบุญแห่งชาวล้านนา ที่สร้างถนนเส้นนี้ขึ้นมา
ในปีนี้ (2562) มีการจัดพิธีสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ มีการอัญเชิญน้ำสรงและผ้าไตรพระราชทาน พร้อมกับรถขบวนแห่ขึ้นไปบนดอยสุเทพอีกด้วย
ก่อนที่อีกวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา จะมีพิธีสรงน้ำพระราชทาน องค์พระธาตุดอยสุเทพ และจัดพิธีเวียนเทียน เพื่อความเป็นสิริมงคล
(3)
แม้จุดเริ่มต้นของประเพณีเตียวขึ้นดอยจะอยู่ที่อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย แต่เราเดินเท้ากันจริงๆ ตั้งแต่แยกภูคำ ถนนคันคลองชลประทานด้วยซ้ำ
ถ้าเป็นรถประจำทางสาย R1 จากห้างฯ เซ็นทรัลเฟสติวัล ในวันนั้นจะไม่เข้าไปถึงหน้ามอ (ทางเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่) และสวนสัตว์เชียงใหม่
ส่วนยวดยานพาหนะอื่นๆ หรือคนที่นั่งรถแดงมา จะบังคับให้เลี้ยวซ้ายที่หน้ามอ นอกนั้นเป็นถนนคนเดินเข้าไปในงาน ซึ่งมีรถแห่เตรียมไว้
นับตั้งแต่ลงจากรถเมล์แล้วเดินเท้าเข้าไป สัมผัสแรกที่ได้พบก็คือ คนเชียงใหม่จะเริ่มแจกน้ำดื่ม แจกขนมฟรี แก่คนที่มาร่วมงานเตียวขึ้นดอย
ร้านค้าแห่งหนึ่งที่กาดหน้ามอแจกน้ำดื่มแบบขวดและขนม ด้วยความที่เรามาครั้งแรกและไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน ก็เริ่มรู้สึกดีขึ้นมาบ้าง
แต่เมื่อเข้าไปบริเวณด้านในงาน เราจะเห็นบรรดาผู้ใจบุญตั้งโต๊ะแจกขนมและเครื่องดื่ม ทั้งน้ำดื่มและน้ำผลไม้ขึ้นมาเรื่อยๆ
สินค้ายอดฮิตในงานเตียวขึ้นดอย คือ แท่งไฟสะท้อนแสงอันละ 5 บาท ไว้คล้องเป็นกำไลข้อมือ หรือคล้องกระเป๋า เป็นสัญลักษณ์ไม่ให้พลัดหลง
คนขายบอกว่า แท่งไฟอยู่ได้ประมาณ 6 ชั่วโมง แล้วจะจางลงเรื่อยๆ จนหมดไปเอง
ไม่นานเรามาถึงอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ในตอนนั้นกำลังทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายเครื่องไทยทาน ถวายเครื่องสักการะพระครูบาศรีวืชัย
รถแห่อัญเชิญน้ำสรงและผ้าไตรพระราชทาน เตรียมความพร้อมอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเห็นคนเดินขึ้นไปก่อนล่วงหน้า เลยเดินขึ้นไปก่อนดีกว่า
(4)
จุดเริ่มต้นจริงจังจากอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย เราเดินเท้าไปตามถนนทางขึ้นดอยสุเทพ โดยมีแสงไฟจากหลอดนีออนที่ติดไว้ชั่วคราวคอยนำทาง
ผ่านจุดตรวจอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เจ้าหน้าที่จะเรียกตรวจกระเป๋าอย่างเข้มงวด เพราะไม่อนุญาตนำอาวุธและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป
แม้จะเป็นการเดินขึ้นดอยสุเทพในช่วงเวลากลางคืน แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยวเหงาแต่อย่างใด เพราะผู้คนนับหมื่นคนต่างอยู่บนถนนเส้นเดียวกัน
ขณะที่สภาพอากาศดีขึ้น หลังฝนตกลงมาชะล้างฝุ่นละอองจากหมอกควัน แถมยังมีพระจันทร์ส่องสว่างในยามมืดมิด เสมือนให้ความอบอุ่นทางใจ
คนที่มาร่วมเตียวขึ้นดอยเที่ยวนี้ มีทุกเพศ ทุกวัย มากันเป็นครอบครัว มาเป็นคู่รักก็มี นักเรียน นักศึกษา ก็ยังสนใจมาร่วมเดินกับกลุ่มเพื่อน
ที่น่าสนใจก็คือ มีชาวพม่ามาร่วมเตียวขึ้นดอยไม่น้อย พลันให้นึกถึงการจัดอันดับ World Giving Index ที่พบว่าพม่าเป็นชาติที่ใจบุญที่สุดในโลก
แม้จะทำบุญครั้งละไม่มาก แต่ก็ทำอยู่สม่ำเสมอ
(5)
ทีแรกตอนรับน้ำดื่มจากกาดหน้ามอ ก็ใส่กระเป๋าไว้ เผื่อว่าเวลาหิวน้ำกลางทาง แล้วหาน้ำกินไม่ได้ จะได้หยิบน้ำดื่มที่ติดกระเป๋าขึ้นมาดื่ม
แต่ปรากฎว่า ตลอดเส้นทางกว่า 11 กิโลเมตร มีโรงทานให้บริการมากถึง 13 จุด น้ำดื่มมีให้หยิบไม่อั้น อาหารคาว ขนมหวาน ก็แจกฟรีเรื่อยๆ
อาจเรียกได้ว่า มาเตียวขึ้นดอยไม่ต้องเสียตังค์ซื้อ และไม่ต้องพกของกินมาเลย เพราะโรงทานมีอาหารแจกตลอดทาง หรือจนกว่าของจะหมด
ที่น่าสนใจก็คือ ชาวเชียงใหม่และใกล้เคียงที่ทำโรงทาน ไม่ได้ทำแบบขอไปที แต่เกิดขึ้นจากจิตใจของการเป็นผู้ให้ เหมือนกับงานนี้มาเพื่อแจกจริงๆ
คนให้มีความสุข คนรับแจกก็พลอยแฮปปี้ไปด้วย
ก่อนหน้านั้นทานลูกชิ้นทอด ทานกระเพาะปลา กระทั่งผ่านไป 3 กิโลเมตร เห็นข้าวไข่เจียวดูน่ากิน ผู้คนรอรับจำนวนมาก เลยหยิบมาจานหนึ่ง
เป็นไข่เจียวธรรมดาๆ ใส่ผักโรยอย่างต้นหอม แครอท เค็มๆ มันๆ ไม่ต่างจากไข่เจียวทั่วไป แต่กลับรู้สึกว่าเป็นข้าวไข่เจียวที่อร่อยครั้งหนึ่งในชีวิต
เพราะมันเป็นไข่เจียวที่ปนด้วยหยาดเหงื่อ และความอ่อนล้า กว่าจะผ่านมาได้
(6)
ด้วยสภาพเส้นทางที่ต้องเดินขึ้นเขาบนทางเรียบ ตลอดระยะทาง 11 กิโลเมตร คนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง
ช่วงที่ต้องใช้กำลังขามากที่สุด คือช่วง 3 กิโลเมตร แรก และช่วง 1 กิโลเมตรสุดท้าย ที่ต้องเจอทางโค้งสูงชัน เด็ก มช. มักเรียกว่า ”โค้งสปิริต”
ระหว่างที่ก้าวเดิน เห็นรถแดงรับผู้โดยสารขึ้นไปด้านบนดอยสุเทพอย่างไม่ขาดสาย พอรู้สึกอ่อนล้าเกิดความคิดอยู่ชั่ววูบหนึ่งว่า จะเลิกเดินดีไหม
ใจหนึ่งบอกเราว่า ไม่ไหวอย่าฝืน เพราะตอนนั้นเริ่มอ่อนล้าลง เดินไม่ไหว ต้องคอยนั่งพักบนการ์ดเรล (รั้วกันตกบนทางหลวง)
อีกใจหนึ่งก็บอกว่า ไหนสัญญากับตัวเองไว้แล้วไง ว่าครั้งหนึ่งในชีวิต จะเดินขึ้นดอยสุเทพให้ได้ ทำแบบนั้นเท่ากับทรยศความรู้สึกตัวเองเลยนะ
สุดท้ายจำใจเลือกอย่างหลัง เพราะอย่างน้อยเราต้องรักษาสัจจะตัวเอง
ผ่านไป 7 กิโลเมตรเศษ มีเต็นท์เจ้าหน้าที่กู้ภัยและโรงพยาบาล มีสเปรย์คลายกล้ามเนื้อ กลิ่นน่ำมันมวย ในใจคิดว่า เอาวะ ลองฉีดสเปรย์เผื่อจะดีขึ้น
เราขอเจ้าหน้าที่ฉีดสเปรย์ที่น่องทั้งสองข้าง และแผ่นหลัง ปรากฎว่าไม่นานนักเริ่มปวดแสบปวดร้อน แทบจะเดินต่อไม่ได้ ต้องหยุดพักราว 5 นาที
สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดในการเตียวขึ้นดอย คือ มุมสูงที่เห็นแสงไฟจากตัวเมืองเชียงใหม่ยามค่ำคืน ตามเส้นทางจะมีจุดชมวิวราว 2-3 จุด
ปรากฎว่ามุมสูงในวันนั้น กลายเป็นมุมมหาชน ที่มีผู้คนแห่แหนไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึกไม่ขาดสาย
เราใช้เวลา 3 ชั่วโมง 15 นาที กับระยะทาง 11.68 กิโลเมตร ในที่สุดก็มาถึงหน้าวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ในตอนนั้นคนเยอะเป็นพิเศษ
ถือเป็นความภูมิใจเล็กๆ ที่การทดสอบกำลังใจจากการเตียวขึ้นดอยในครั้งนี้ที่ผ่านพ้นไปได้
มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศทยอยมาถึง ขึ้นไปกราบไหว้และเวียนเทียนบนพระธาตุดอยสุเทพ บางส่วนนอนพักเพื่อรอพิธีในเช้าวันรุ่งขึ้น
ขณะที่ขบวนรถแห่อัญเชิญน้ำสรงและผ้าไตรพระราชทาน มาถึงพระธาตุดอยสุเทพเวลาประมาณ 02.00 น. เศษ มาพร้อมกับเสียง “พุท...โธ...” เป็นระยะ
บรรดารถสี่ล้อแดงขึ้นลงกันขวักไขว่ กลิ่นผ้าเบรกเหม็นไหม้ บ่งบอกว่ากว่าจะผ่านตรงจุดนี้มาได้ต้องเบรกกันตัวโก่งเพื่อไม่ให้รถไหลจนเกิดอุบัติเหตุ
ผู้คนต่างแย่งรถสองแถวเพื่อลงจากดอยกลับเข้าเมือง บางคนถึงกับดักขึ้นกลางทางก่อนถึงวัดด้วยซ้ำ รถแดงบางคันขึ้น-ลง รับผู้โดยสารหลายรอบ
ถึงตอนกลับจะชุลมุนไปบ้าง หารถกลับเข้าเมืองยากลำบาก แต่ภารกิจทดสอบกำลังใจในวันนี้ทำได้แล้ว เรื่องอื่นดูเป็นเรื่องเล็กไปเลย
(7)
ถามว่า ... ได้เห็นอะไรจากเตียวขึ้นดอยครั้งนี้?
อย่างแรก คือ ความมีน้ำใจและความใจบุญของชาวเชียงใหม่ ที่เราจะได้เห็นอย่างน้อยปีละครั้ง ทั้งในรูปแบบของการตั้งโรงทานและการเป็นจิตอาสา
นับตั้งแต่กาดหน้ามอถึงดอยสุเทพ เราจะเห็นการให้เกิดขึ้นตลอดเวลา แม้จะไม่ได้ร้องขอก็ตาม เป็นความงามทางจิตใจที่หาได้ยากในสังคมปัจจุบัน
อย่างต่อมา คือ ความเสียสละของจิตอาสา ที่คอยเก็บขยะและเชิญชวนให้ประชาชนที่มีขยะติดมือ อย่างขวดน้ำพลาสติก จาน-ชามกระดาษ มาทิ้งที่นี่
ที่ผ่านมา หลังงานมักประสบปัญหาขยะตกค้างตามสองข้างทาง บริเวณทางขึ้นดอยสุเทพมากกว่า 40 ตัน ส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติกและกล่องโฟม
คราวนี้ หลายหน่วยงานร่วมรณรงค์ “งานประเพณีเตียวขึ้นดอย เส้นทางบุญ ปลอดขยะ” จัดจิตอาสารณรงค์คัดแยกและประชาสัมพันธ์ในงาน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ร่วมรณรงค์ “ขยะคืนถิ่น” ขอความร่วมมือให้ขยะที่นำขึ้นไปกลับลงมาด้วย
ปรากฎว่าในปีนี้ (2562) ผลจากความร่วมมือทำให้ไม่มีขยะตกค้างตลอดสองข้างทางอีกเลย ลบภาพในอดีตที่มีสารพัดขยะเต็มไปหมดลงได้
อย่างสุดท้าย คือ ได้เห็นคนเชียงใหม่และพุทธศาสนิกชนมีพลังศรัทธาขึ้นไปบนดอยสุเทพ ที่มีระยะทางยาวถึง 11 กิโลเมตรขึ้นมาได้
สำหรับเรา ถือว่าชนะใจตัวเอง ที่พิชิตบททดสอบกำลังใจครั้งหนึ่งในชีวิตขึ้นมาได้ แม้ตลอดระยะทางกว่า 11 กิโลเมตรจะมีหลายความรู้สึกก็ตาม
ระหว่างเดินเท้า ใจหนึ่งก็คิดว่านี่เรามาทำอะไรที่นี่ บางครั้งเห็นรถแดงก็อยากจะโบกขึ้น บางครั้งรู้สึกเหนื่อยล้าจนก้าวเท้าไม่ขึ้น แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้
เพื่อนถามว่าเป็นยังไง เปลี่ยนจากนั่งรถแดงมาเป็นเดินขึ้นดอยสุเทพ เราตอบได้อยู่คำเดียว “เกือบตาย” แต่จริงๆ คนเชียงใหม่ทำได้ เราก็ทำได้
แม้จะเป็นเพียงแค่เรื่องราวเล็กๆ ในชีวิต แต่ความเหน็ดเหนื่อยในครั้งนี้ จะเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่จะจดจำไปตลอดกาล
หมายเหตุ : ประเพณีเตียวขึ้นดอย ไหว้สาป๋าระมี พระบรมธาตุดอยสุเทพ จัดขึ้นคืนก่อนวันวิสาขบูชา 1 วัน เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ไปตามถนนทางขึ้นดอยสุเทพ ถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร
สำหรับการเตรียมความพร้อม ควรสวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับการเข้าวัด รองเท้าที่เหมาะกับการเดินทางไกล เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นใส่กระเป๋าที่ถนัด เช่น ผ้าเช็ดตัว หมวก เสื้อกันฝน ยาคลายกล้ามเนื้อ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ
ส่วนน้ำดื่มมีให้บริการตลอดทาง เช่นเดียวกับอาหาร มีโรงทานแจกอาหารเป็นระยะ
สำหรับการลงจากดอยตอนขากลับ ถ้าไม่เดินเท้าลงมา สามารถใช้บริการรถแดงได้ ค่าโดยสารในปี 2562 จากวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ถึงหน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ คิดคนละ 40 บาท เมื่อถึงตรงจุดนั้นจะเข้าไปในเมืองมีรถแดงให้บริการต่อ ราคาแล้วแต่ตกลงกัน เนื่องจากเป็นช่วงกลางคืน