xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องวุ่นๆ ของวัคซีนพาสปอร์ต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

หนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19 CERTIFICATE OF VACCINATION) หรือ วัคซีนพาสปอร์ต กำลังจะกลายเป็น “ของมันต้องมี” สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ

แม้สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด แต่มาตรการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้บางประเทศเริ่มมีท่าทีต้อนรับชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดส และผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศมากขึ้น

วัคซีนพาสปอร์ต เป็นเอกสารที่ใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ ควบคู่กับหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำวัคซีนพาสปอร์ต คือ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ก่อนหน้านี้ การทำวัคซีนพาสปอร์ต นอกจากจะต้องใช้สำเนาหนังสือเดินทาง กับสำเนาใบรับรองการฉีดวัคซีน พร้อมเงินค่าธรรมเนียม 50 บาทแล้ว ยังต้องมีหลักฐานการเดินทาง เช่น ตั๋วเครื่องบิน แต่ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้

พูดง่ายๆ ก็คือ มีแพลนจะไปต่างประเทศ แต่ยังไม่ได้จองตั๋วเครื่องบิน ก็สามารถทำวัคซีนพาสปอร์ตเก็บไว้ก่อน แล้วถึงเวลาเดินทางก็นำมาใช้ก็ได้ ซึ่งในเอกสารไม่ได้ระบุอายุว่าใช้ได้กี่ปี แต่เอกสารนี้ก็อิงตามเลขที่หนังสือเดินทาง

ปัจจุบัน กรมควบคุมโรค กำหนดหน่วยงานที่ให้บริการออกวัคซีนพาสปอร์ต กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กับ สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี ซึ่งอยู่ใกล้กัน

อีกแห่งหนึ่ง คือ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) อยู่ติดกับสำนักงานเขตบางเขน ถนนพหลโยธิน การเดินทางสะดวกที่สุดใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส ลงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ก่อนถึงทางออกหมายเลข 1 ให้ไปตามสกายวอล์ก

ก่อนหน้านี้ กรมควบคุมโรค เปลี่ยนการให้บริการนัดหมายเป็นการจอง ผ่านแอปพลิเคชันหรือไลน์ “หมอพร้อม”ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่ออำนวยความสะดวกในการจองคิว และลดระยะเวลาการรอคอย

โดยในแอปพลิเคชันมีให้เลือกสถานที่นัดหมายได้ 2 แห่ง คือ สถาบันบำราศนราดูร กับ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แต่ปรากฏว่าคิวหมอพร้อม เดือนพฤศจิกายนทั้งเดือนคิวเต็ม

ส่วนเดือนธันวาคม ถ้าเป็นกองโรคติดต่อทั่วไป ตอนนี้เปิดให้บริการเพิ่มเติมในวันเสาร์ (หยุดวันที่ 10 ธันวาคม 2564) คิวจะเริ่มว่างหลังวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ส่วนสถาบันบำราศนราดูร คิวจะเริ่มว่างหลังวันที่ 17 ธันวาคม 2564

ถ้าจะเอาเร็วที่สุด ต้องวอล์กอินไปที่กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แต่จะได้รับบริการช้ากว่าคนที่จองคิวผ่านแอปฯ หมอพร้อม ซึ่งจะได้รับสิทธิเข้าไปทำวัคซีนพาสปอร์ตได้ก่อน

ส่วนคิวออนไลน์ถ้าเร็วที่สุด จองผ่าน “ระบบนัดหมายทำ Vaccine Passport” บนเว็บไซต์สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) แต่ช่วงนี้คิวมีจำนวนจำกัด รอบละ 50 คน วันละ 5 รอบ รวม 250 ต่อวันเท่านั้น

ระบบจะเริ่มคิววันใหม่หลังเที่ยงคืน ถ้าจองคิววันนี้ จะได้ทำวัคซีนพาสปอร์ตสัปดาห์ถัดไป เช่น เฝ้ารอคืนวันอาทิตย์ พอหลังเที่ยงคืน วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ถ้ากดจองคิวแล้วจะได้ทำในวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2564

แต่ขอบอกไว้ก่อนว่าคิวเต็มเร็วมาก ประมาณตีสาม-ตีสี่ มีผู้จองคิวเกินครึ่งหนึ่งแล้ว เผลอๆ รุ่งเช้าคิวก็เต็ม

ส่วนต่างจังหวัด แม้จะมีสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ให้บริการ 7 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) รวม 92 แห่ง แต่ก็มีให้บริการจำนวนจำกัด หรือเงื่อนไขที่จำกัด

เช่น สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ พิจารณาออกวัคซีนพาสปอร์ตให้แก่ผู้ที่มีแผนจะเดินทางไปต่างประเทศเท่านั้น โดยต้องมีหลักฐาน เช่น ตั๋วเครื่องบิน เอกสารจองโรงแรม เอกสารจองทัวร์ วีซ่าเข้าประเทศ ฯลฯ

บางแห่งทำระบบออนไลน์ เช่น สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี ให้จองคิววันละ 100 คิว หรือสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 ราชบุรี ให้ยื่นพิจารณาผ่านออนไลน์แล้วรอการอนุมัติ นอกนั้นแต่ละแห่งไม่ประชาสัมพันธ์อะไรเลย

เข้าใจว่าแต่ละหน่วยงานได้รับรูปเล่มวัคซีนพาสปอร์ตออกมาจำกัด จึงต้องออกให้ตามความจำเป็น แต่ก็ทำให้คนที่ต้องการวัคซีนพาสปอร์ต ต้องลงไปกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ ต้องเสียเวลาหยุดงาน เสียเวลาเดินทางและค่าใช้จ่าย

ทราบมาว่าภายในเดือนนี้ กรมควบคุมโรคจะเริ่มให้บริการหนังสือรับรองในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) ผ่านแอปฯ หมอพร้อม ในบางสถานที่นำร่อง ก่อนขยายทั่วประเทศ โดยเสียค่าใช้จ่าย 50 บาทต่อครั้ง

เพียงแต่ว่ารอประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาก่อน ซึ่งตอนลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม เห็นมีรูปแบบการขอขอหนังสือรับรองผ่านอีเมล (e-Cert) และส่งรูปเล่มตามที่อยู่ที่ให้ไว้ แต่ยังไม่เปิดให้บริการ

มาถึงประสบการณ์ส่วนตัว ตอนที่ไปทำวัคซีนพาสปอร์ต ผู้เขียนจองคิวตั้งแต่ประกาศว่าจะเปิดให้จองคิวผ่านแอปฯ หมอพร้อม ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2564 ปรากฏว่าได้คิววันที่ 2 พฤศจิกายน 2564

สิ่งที่ต้องเตรียมมาจากบ้านก็คือ 1. สำเนาหนังสือเดินทาง 1 ฉบับ 2. สำเนาเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย ที่มีคิวอาร์โค้ด (แคปหน้าจอจากแอปฯ หมอพร้อมแล้วสั่งพิมพ์) 1 ฉบับ และ 3. เงินสด 50 บาท

การเดินทางไปยังกองโรคติดต่อทั่วไป ถ้าไม่นั่งแท็กซี่เข้ามาด้านในกระทรวงสาธารณสุข ก็นั่งรถไฟฟ้าสายสีม่วง ลงที่สถานีกระทรวงสาธารณสุข แล้วต่อรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าไปด้านในกรมควบคุมโรคได้

หรือนั่งรถเมล์สาย 97 กระทรวงสาธารณสุข-โรงพยาบาลสงฆ์ ลงรถที่ตรงข้ามสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เดินเท้าไปประมาณ 800 เมตร ผ่านตึกกรมการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวง เลี้ยวขวาถนนสาธารณสุข 4

จุดที่ทำวัคซีนพาสปอร์ต จะต่อคิวกันบริเวณทางเดินหลังคา ระหว่างกรมควบคุมโรคกับกรมอนามัย สังเกตได้จากป้ายร้านกาแฟ SUK CAFÉ จะมีเก้าอี้ที่เรียงไว้ตามทางเดิน เพื่อเป็นที่นั่งพักคอยรอเรียกคิว

เมื่อมาถึงให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ถือบัตรคิวด้านหน้า แจ้งว่า “จองผ่านแอปฯ หมอพร้อมเอาไว้” เจ้าหน้าที่จะให้บัตรคิวสีเหลือง ให้นั่งที่เก้าอี้รอเจ้าหน้าที่เรียกเลขตามลำดับบัตรคิว

จากนั้นให้ยื่นเอกสารไปที่เจ้าหน้าที่บนโต๊ะตรวจเอกสาร พร้อมกับเปิดแอปฯ หมอพร้อม ติดตามสถานการณ์ยื่นขอหนังสือรับรองฯ แล้วแสดงให้เจ้าหน้าที่ หากถูกต้องจะประทับตราครุฑสีแดงลงบนสำเนา แล้วให้ขึ้นลิฟต์ไปที่ชั้น 6

เมื่อมาถึงชั้น 6 กองติดต่อโรคทั่วไป ให้นำเอกสารไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ช่องหมายเลข 2 แล้วหาที่นั่ง รอฟังประกาศเรียกชื่อและนามสกุลผ่านเสียงตามสาย จากประสบการณ์พบว่าใช้เวลารอคิวประมาณ 30 นาที

เจ้าหน้าที่จะเรียกชื่อ นามสกุลของเรา ให้ไปที่ ช่องหมายเลข 4 ชำระเงินสด 50 บาท รับใบเสร็จและรูปเล่มวัคซีนพาสปอร์ต ให้ลงนามลายมือชื่อในวัคซีนพาสปอร์ต ให้เหมือนหนังสือเดินทาง แล้วนำกลับบ้านได้เลย

การทำวัคซีนพาสปอร์ตแต่ละรอบ จะเรียกคิวคนที่จองผ่านแอปฯ หมอพร้อมก่อน หากหมดแล้วถึงจะเรียกคิวคนที่วอล์กอินเข้ามา เพราะฉะนั้นหากจองคิวผ่านแอปฯ หมอพร้อมเอาไว้ จะได้รับการบริการที่เร็วกว่า

แต่จะรอนานช่วงที่ยื่นเอกสารที่ชั้น 6 นี่แหละ ทราบมาว่าวัคซีนพาสปอร์ต นอกจากจะต้องพิมพ์เอกสารออกจากปริ้นเตอร์แล้ว ยังต้องมีลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ และประทับตรากรมควบคุมโรคเพื่อรับรองเอกสารอีกด้วย

การเก็บรักษาวัคซีนพาสปอร์ต เนื่องจากรูปเล่มทำมาจากกระดาษล้วนๆ ให้ระวังเรื่องความชื้น ห้ามโดนน้ำ และระวังไม่ให้รูปเล่มฉีกขาดหรือชำรุด และห้ามแก้ไข ขูดลบ ขีดฆ่า หรือมีข้อความไม่สมบูรณ์

ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนการทำวัคซีนพาสปอร์ต ที่พอจะบอกเล่าให้ฟังคร่าวๆ แต่สิ่งที่อธิบายมาทั้งหมด อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างกรมควบคุมโรค พัฒนาระบบให้ทั่วถึงกว่าที่เป็นอยู่

อย่างน้อยจังหวัดหัวเมืองหลัก จังหวัดท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ฯลฯ ทำอย่างไรประชาชนถึงจะได้วัคซีนพาสปอร์ตโดยไม่ต้องลงมากรุงเทพฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น