xs
xsm
sm
md
lg

รอลุ้นบัตรเครดิตแตะขึ้นรถไฟฟ้า MRT

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อเดือนกันยายน 2564 ในกลุ่มเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “ชมรมรถไฟฟ้าไทย” มีสมาชิกรายหนึ่งโพสต์ภาพประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ (AFC Gate) ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT ที่เริ่มมีการติดตั้งหัวอ่านบัตรแบบใหม่

สมาชิกรายนี้ระบุว่า เป็นหัวอ่านบัตรสำหรับบัตรเครดิตระบบคอนแทคเลส (Contactless) สามารถนำบัตรที่มีอยู่แตะขึ้นรถไฟฟ้าได้ โดยไม่ต้องซื้อเหรียญโดยสาร และไม่ต้องพกบัตรโดยสารให้หนักกระเป๋าสตางค์อีกต่อไป

ชมโพสต์ คลิกที่นี่ (1)

ชมโพสต์ คลิกที่นี่ (2)

ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เมื่อวันก่อนจึงตามหาประตูที่ว่านี้ ปรากฎว่าหัวอ่านรุ่นใหม่ แตกต่างจากของเดิมตรงที่ จะมีหัวอ่านบัตรเครดิตเพิ่มเติมอีก 2 จุด เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่เปิดใช้งาน จึงนำสติกเกอร์แปะที่หัวอ่านไว้ก่อน

สำหรับประตู AFC Gate ขาเข้า คนที่มีเหรียญโดยสารอยู่เดิม จะใช้วิธีแตะที่หัวอ่านบัตรเดียวกับบัตรโดยสาร MRT Card ส่วนขาออกจะมีช่องหยอดเหรียญโดยสาร กับช่องแตะบัตรโดยสาร MRT Card คนละด้าน


ตามรายงานข่าวระบุว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังพัฒนาระบบตั๋วร่วมระบบ EMV ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ให้ใช้บัตรเครดิตชำระค่าโดยสารได้ โดยไม่ต้องใช้บัตรหรือเหรียญโดยสาร

ตามแผนก็คือ รฟม. จะปรับปรุงประตูจัดเก็บค่าโดยสารทุกสถานีของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ก่อนจะเริ่มทดลองให้บริการเฉพาะกลุ่ม ในเดือนมกราคม 2565 คาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในเดือนเมษายน 2565

ส่วน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ก็จะเปิดให้ประชาชนใช้บัตร EMV กับรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งจะเริ่มทำการเดินรถเชิงพาณิชย์ หมายถึงเก็บค่าโดยสารอย่างจริงจัง

ขณะนี้กำลังร่วมกับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ ธนาคารกรุงไทย พัฒนาบัตรโดยสารที่ชื่อว่า Krungthai RED LINE ซึ่งจะมีค่าโดยสารเหมาจ่ายรายเดือน เมื่อเดินทางด้วยรถเมล์และรถไฟฟ้าสายสีแดง

(อ่านประกอบ : “ศักดิ์สยาม” เร่ง “ตั๋วร่วม” สีแดง นำร่องใช้บัตรเหมารายเดือนกับรถ ขสมก. พ.ย.นี้ ส่วน EMV น้ำเงิน-ม่วงใช้ต้นปี 65)


สำหรับระบบ EMV คือ Europay, MasterCard and VISA เป็นระบบการชำระเงินที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ถือบัตรใช้งานร่วมกันได้กว่า 80 ประเทศทั่วโลก สำหรับระบบขนส่งมวลชน อย่างน้อยก็มีประเทศอังกฤษและสิงคโปร์ที่นำมาใช้

ข้อดีของระบบ EMV กับระบบรถไฟฟ้าก็คือ ช่วยลดขั้นตอนการเข้าแถวซื้อตั๋วโดยสารที่เครื่องอัตโนมัติ หรือเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ไม่ต้องออกบัตรพลาสติกที่มีต้นทุนสูง และไม่หนักกระเป๋าสตางค์ เพราะพกแต่บัตรเครดิตเพียงใบเดียว

เท่าที่คุยกับเพื่อนที่เคยไปต่างประเทศ เล่าให้ฟังว่า ที่สิงคโปร์เวลาขึ้นรถเมล์หรือรถไฟใต้ดิน เคยใช้บัตรเครดิตที่มีอยู่แตะเพื่อชำระค่าโดยสารได้เลย โดยไม่ต้องลงทะเบียนก่อน ไม่ต้องซื้อตั๋วโดยสาร ไม่ต้องต่อคิวทำรายการที่เครื่องอัตโนมัติ

เพียงแต่ที่คนลงทะเบียนระบบที่เรียกว่า “ซิมพลีโก” (Simply Go) ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน มีไว้เพื่อตรวจสอบรายการย้อนหลังเท่านั้น สำหรับคนที่มาเที่ยวสิงคโปร์ ไม่ได้พำนักประจำ ก็ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนก็ได้

ภาพ : Twitter @mastercardap
ส่วนที่อังกฤษก็สามารถใช้บัตรเครดิตแตะขึ้นรถไฟฟ้าได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อบัตรออยสเตอร์ (Oyster) ใครที่เดินทางในเขตกรุงลอนดอนทั้งวัน ก็จ่ายเพียงแค่ค่าโดยสารสูงสุดต่อวันเท่านั้น

กลับมาที่ประเทศไทย ที่ผ่านมาระบบขนส่งมวลชน จัดเก็บค่าโดยสารแบบต่างคนต่างทำ รถไฟฟ้าบีทีเอสก็บัตรแรบบิทใบหนึ่ง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กับสายสีม่วง ก็มีบัตร MRT Card ใบหนึ่ง แถมรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ก็มีบัตรอีกใบหนึ่ง

แม้ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมมีความพยายามที่จะผลักดันระบบตั๋วร่วมที่เรียกว่า “บัตรแมงมุม” โดยแจกบัตรกว่า 2 แสนใบในปี 2561 แต่สุดท้ายก็ใช้ได้แค่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีม่วง ไม่ต่างอะไรกับบัตร MRT Card

จุดเปลี่ยนที่ทำให้คนกรุงเทพฯ ใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตจ่ายค่าโดยสารได้ มาจากก่อนหน้านี้ ขสมก. บอกเลิกสัญญาโครงการอี-ทิกเก็ตกับเอกชนรายหนึ่ง มูลค่า 1,665 ล้านบาท หลังไม่สามารถใช้งานได้จริงตามที่ทีโออาร์กำหนด

ต่อมาธนาคารกรุงไทยให้เครื่องแตะบัตร EDC กับ ขสมก. จำนวน 3,000 เครื่อง เพื่อนำมาใช้กับผู้โดยสารที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นหลัก มาตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2562 แรกๆ พนักงานเก็บค่าโดยสารบ่นว่าลำบากเพราะเครื่องใหญ่เกินไป




กระทั่งได้พัฒนาเครื่องแตะบัตร EDC ให้รองรับระบบ EMV โดยใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตจ่ายค่ารถเมล์ได้ นำร่องสาย 510 ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัย มาตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2562

ก่อนที่จะนำมาใช้กับรถเมล์ ขสมก. ทุกคัน รวม 129 เส้นทาง มากกว่า 3,000 คัน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา พร้อมกับปรับรูปแบบบัตรโดยสาร โดยเฉพาะตั๋วรายเดือนและรายสัปดาห์ ให้อยู่ในรูปของบัตรโดยสารแบบเติมเงิน

กลายเป็นว่ารถเมล์ ขสมก. ล้ำหน้ากว่ารถไฟฟ้าบ้านเรา ใครจะเชื่อว่านั่งรถเมล์ครีมแดง 8 บาท ก็หยิบบัตรเครดิตในกระเป๋าสตางค์มาแตะจ่ายค่ารถเมล์ได้ ในขณะที่รถไฟฟ้าต้องคอยเติมเงินอยู่เรื่อย และพกบัตรคนละใบ

เว้นเสียแต่คนที่ใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส ก็มีวิธีนำบัตรแรบบิทไปผูกกับบัญชี Rabbit Line Pay แล้วผูกกับบัตรเครดิตอีกที เวลาแตะขึ้นรถไฟฟ้า เมื่อออกจากระบบแล้ว ก็จะส่งคำสั่งไปยัง Rabbit Line Pay แล้วตัดเงินจากบัตรเครดิตอีกที

เพียงแต่ว่าการแตะบัตรขึ้นรถเมล์ใช้ได้เฉพาะรถเมล์ ขสมก. เท่านั้น รถร่วมบริการยังคงต้องจ่ายเป็นเงินสด จะมีรถเมล์สมาร์ทบัส ที่ตอนหลังเพิ่มเครื่องอ่านบัตรแรบบิทขึ้นมา แต่เมื่อก่อนก็แตะบัตรแรบบิทที่ผูกกับ Rabbit Line Pay ไม่ได้

ระยะหลังจะได้เห็นระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ สามารถนำบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตจ่ายค่าโดยสารได้ อาทิ เรือโดยสารไฟฟ้า Mine Smart Ferry หรือจะเป็น รถประจำทาง Thai Smile Bus คันสีน้ำเงิน ก็จะนำเครื่องแตะบัตร EDC มาใช้เช่นกัน






การปรับปรุงประตูจัดเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่มี บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ให้บริการ ทำให้นึกถึงธุรกิจทางด่วน ที่เริ่มนำระบบ EMV มาใช้จ่ายค่าทางด่วน

ก่อนหน้านี้ BEM ทดลองใช้ระบบชำระค่าผ่านทางด้วยบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา โดยนำร่องแห่งแรกที่ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด)

ก่อนที่จะขยายไปยังทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ที่มีป้าย “ช่องนี้รับชำระด้วยบัตร” ซึ่งเครื่องแตะบัตร EDC จะอยู่ที่ช่องเงินสด (ไม่ใช่ช่อง Easy Pass) นำบัตรไปแตะได้เลย

น่าเสียดายที่ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) จ่ายค่าผ่านทางด้วยบัตรเครดิตไม่ได้ ยกเว้นคนที่มาจากชลบุรี ออกด่านวงแหวนรอบนอก (บางแก้ว) ไปทางถนนพระรามที่ 2 แล้วไปจ่ายค่าผ่านทางที่ด่านบางขุนเทียน ก็จ่ายผ่านบัตรเครดิตได้

จากประสบการณ์ส่วนตัว ที่ใช้บัตรเครดิตแตะจ่ายค่ารถเมล์และค่าทางด่วน รู้สึกได้ทันทีว่าสะดวกมาก ยิ่งเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่เขาว่าเชื้อโรคสามารถแพร่กระจายผ่านทางธนบัตรและเหรียญที่ใช้ร่วมกัน ก็ยิ่งอยากแตะบัตรมากขึ้น

แต่ข้อเสียโดยรวมมีอยู่อย่างหนึ่ง คือ บัตรเครดิตบางค่าย ไม่ให้คะแนนสะสมในหมวดขนส่งสาธารณะ ขณะที่บัตรเครดิตแบบเงินคืนบางค่าย เพิ่งจะเปลี่ยนเงื่อนไข หากยอดใช้จ่ายต่ำกว่า 100 บาทต่อรายการหรือเซลสลิป จะไม่ได้เงินคืน

ทุกวันนี้เลยใช้แต่บัตรเครดิตกสิกรไทยแบบมีคะแนนสะสม จ่ายค่ารถเมล์กับค่าทางด่วน สอบถาม K Contact Center ยืนยันแล้วว่า แตะจ่ายค่ารถเมล์หรือค่าทางด่วน ถ้าเกิน 25 บาทขึ้นไป ได้คะแนนสะสม K Point 1 คะแนน

ความจริงธนาคารผู้ออกบัตรเครดิตรายต่างๆ ควรให้คะแนนสะสมแก่คนที่แตะจ่ายค่ารถเมล์กับค่าทางด่วน แม้ค่าธรรมเนียมร้านค้า หมายถึงหน่วยงานต่างๆ จะได้รับน้อยก็ตาม แต่ก็ถือว่าส่งเสริมให้ใช้บัตรแทนเงินสดในชีวิตประจำวัน

ย้อนกลับมาที่ระบบ EMV ซึ่ง รฟม. กำลังพัฒนาอยู่ เชื่อว่ามีผู้โดยสารส่วนหนึ่งรอคอยที่จะใช้บริการ แม้จะไม่ล้ำสมัยเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ที่ใช้มือถือที่มี Apple Pay หรือระบบใกล้เคียงแตะขึ้นรถไฟฟ้าได้ก็ตาม

ในปีหน้า (2565) เราอาจจะได้เห็นระบบ EMV เข้ามามีบทบาทต่อระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ มากขึ้น แม้จะไม่ครอบคลุมทั้งหมดก็ตาม แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการสร้างสังคมไร้เงินสดอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น