xs
xsm
sm
md
lg

ต่อไปนี้ความเป็นส่วนตัวของคนไทยจะหายไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ในช่วงที่ผ่านมามีข้อความ SMS แปลกๆ เข้ามายังเบอร์มือถือ เช่น ส่งลิงก์โปรโมชันเว็บพนัน คาสิโนออนไลน์ ลิงก์กู้เงินฉุกเฉิน บางข้อความก็หลอกล่อให้คลิกลิงก์ที่แนบ เช่น เงินเดือน 1,000 บาทโอนเข้าบัญชีเรียบร้อย ฯลฯ

ข้อความเหล่านี้หากคลิกไปแล้ว จะถูกหลอกขอข้อมูลส่วนตัว หรือหลอกให้เสียเงินเสียทอง คล้ายกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในตำนาน เพราะฉะนั้นในช่วงที่ผ่านมาจึงไม่ได้คลิกลิงก์เหล่านี้ แต่ก็มีข้อความในลักษณะแบบนี้อยู่เรื่อยๆ

นอกจากข้อความ SMS แล้ว วันดีคืนดีก็มีเบอร์โทรศัพท์แปลกๆ โทร.เข้ามา นอกเหนือจากโทร.มาขายประกันแล้ว ยังมีเสียงคล้ายกับระบบอัตโนมัติ เช่น “ยินดีด้วยค่ะ คุณคือผู้โชคดี...” หรือจะเป็นประโยคชักชวนให้กู้เงิน ฯลฯ

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง บางครั้งก็เกิดขึ้นกับเบอร์ส่วนตัว ที่ไม่เคยบอกใครนอกจากคนที่สนิทกัน แต่ก็ใช้สมัครสมาชิกโปรแกรมสะสมคะแนนบ้าง เป็นความสงสัยที่ทุกวันนี้ยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

ก่อนหน้านี้หากยังจำกันได้ ในช่วงที่มีมาตรการให้ประชาชนสแกนคิวอาร์โค้ดไทยชนะเมื่อเข้า-ออกสถานที่ พบว่ามีสแปมผ่าน iMessage โฆษณาเกมออนไลน์และคาสิโนผ่านผู้ใช้ไอโฟน แต่ก็ไม่พบความเชื่อมโยงกับไทยชนะแต่อย่างใด

แต่แล้วมีข่าวที่ทำให้เริ่มมีความรู้สึกว่า “ความเป็นส่วนตัว” หรือ Privacy ของเราหายไป ทั้งที่เราไม่ได้เป็นคนก่อ

เมื่อเพจที่ชื่อว่า “น้องปอสาม” ระบุว่า เว็บไซต์ Raidforums.com มีสมาชิกในกลุ่มแฮกข้อมูลของคนไข้ของกระทรวงสาธารณสุข 16 ล้านคน ขนาดไฟล์ 3.75 GB นำไปขายตลาดมืดในราคา 500 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 16,400 บาท


เท่าที่ดูลักษณะข้อมูลในตอนนั้น มีลักษณะคล้ายกับข้อมูลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิการรักษา เช่น วันที่ตรวจสอบบัญชี จำนวนเงินที่ผู้ป่วยชำระเอง จำนวนเงินตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แผนกผู้ป่วย และประเภทผู้ป่วย

ในตอนนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ยอมรับว่าเกิดขึ้นจริง โดยได้รับรายงานว่าเหตุเกิดที่ จ.เพชรบูรณ์ และสั่งการให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับแล้ว

ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก เมื่อมีการเจาะข้อมูล 30 ล้านรายการ ระบุข้อมูลละเอียดยิบ ทั้งเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน แม้กระทั่งวันเกิด และเพศ โดยไม่ได้ระบุที่มาว่ามาจากไหน


หนำซ้ำ ยังพบว่าในเว็บไซต์ Raidforums.com ยังมีแฮกเกอร์ขายข้อมูลรายชื่อลูกค้าจาก ร้านซีพี เฟรชมาร์ท ซึ่งเป็นร้านขายสินค้าอาหารสดของกลุ่มซีพีอีก มีทั้งชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล และที่อยู่

ภายหลัง ซีพี เฟรชมาร์ท ออกมาชี้แจงว่า ได้รับทราบถึงการแฮกข้อมูลในระบบ ซึ่งได้ว่าจ้างบริษัทภายนอกเป็นผู้ให้บริการ ส่งผลให้มีการเข้าถึงรายชื่อลูกค้าของร้านโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้รับอนุญาต

พร้อมเตือนลูกค้าว่า ช่วงนี้ขอให้ระวังการหลอกลวงทางโทรศัพท์ และการหลอกลวงทางอีเมล์ (Phishing) เนื่องจากผู้ไม่หวังดีอาจใช้ข้อมูลเหล่านี้หลอกลวงเพื่อรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล พร้อมขออภัยต่อความกังวลและความไม่สะดวก


แม้กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะออกมาหาต้นตอของกลุ่มแฮกเกอร์ดังกล่าว แต่ก็ไม่อาจยับยั้งความเสียหายของข้อมูลที่ถูกแฮกได้

เราไม่รู้ว่า ข้อมูลประชาชน จะ 16 ล้านคน หรือ 30 ล้านรายการ จะมีเราเป็นหนึ่งในนั้นหรือไม่ ขายให้ใคร ตกไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพกลุ่มไหน ไม่รู้ว่ามีประชาชนตกเป็นเหยื่อมากน้อยเพียงใด แล้วจะมีใครเยียวยาความเสียหายหรือไม่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?

นับจากนี้เป็นต้นไป คนไทยทุกคน อาจต้องรับความเสี่ยงจากกลุ่มมิจฉาชีพที่ไปเจาะข้อมูลเหล่านี้มาอยู่ในมือ ก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบให้เสียเงินเสียทอง หรือสูญเสียความเป็นส่วนตัวมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

โดยที่ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเอง แทบจะไม่มีหน่วยงานไหนช่วยเหลือ เยียวยา หรือคุ้มครองเรื่องพวกนี้ได้

ที่ผ่านมาประเทศไทยตระหนักเรื่องของความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของผู้อื่นในระดับที่ต่ำมาก ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ หน่วยงานราชการบางแห่งมักง่าย อัปโหลดเอกสารเป็นไฟล์ PDF โดยคาดหวังให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์เข้าไปไล่ดูรายชื่อทีละคน

แล้วปรากฎว่าเอกสารบางชิ้นดันมีข้อมูลส่วนตัว เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน ชาวบ้านทั่วไปที่เข้าไปค้นหาข้อมูลในกูเกิล ใส่ชื่อใครสักคนลงไป บางคนโชคร้ายปรากฎข้อมูลส่วนตัวพวกนี้โดยไม่รู้ตัว

ระบบบางอย่างก็เอื้อให้เกิดการละเมิดความเป็นส่วนตัวผู้อื่น ตัวอย่างเช่น ระบบการโอนเงินที่เรียกว่า พร้อมเพย์ ผูกเลขที่บัญชีกับเลขที่บัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ อยากรู้ว่าเป็นเบอร์ของใครก็เอาไปค้นหาผ่านแอปฯ ธนาคาร

แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าตัดระบบพวกนี้ออกไป ก็อาจกลายเป็นผลเสียต่อผู้ใช้ เนื่องจากเราไม่รู้ว่าโอนเงินไปยังปลายทางถูกหรือผิดคน ถ้าปกปิดข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่งก็อาจเจอแจ็คพ็อต บางคนชื่อเหมือนกันแต่คนละนามสกุล

เพราะฉะนั้น การสมัครพร้อมเพย์ก็เหมือนดาบสองคม สำหรับคนที่ต้องการความเป็นส่วนตัว แต่จะมีประโยชน์สำหรับคนทำธุรกิจ ที่แจกเบอร์ติดต่อให้กับลูกค้าอย่างเปิดเผย ลูกค้าก็สามารถโอนเงินเข้าบัญชีของเจ้าของเบอร์มือถือได้เลย

เช่นเดียวกับคนที่ใช้มือถือรายเดือน แอปพลิเคชันแต่ละค่ายจะมีเมนู “ชำระให้เบอร์อื่น” ถ้าเรากรอกเบอร์มือถือใครสักคนหนึ่งลงไป ก็จะปรากฎชื่อที่ปกปิดบางตัวอักษรและยอดค้างชำระ แต่ก็ไม่มีไม่ได้ เพราะคนที่ต้องจ่ายค่ามือถือให้กันก็มี

ท้ายที่สุด เรื่องพวกนี้ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคน ว่าจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลใครหรือไม่ ละเมิดไปเพื่ออะไร ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลที่จะละเมิดซึ่งกันและกัน แต่ผลที่สุดละเมิดเพื่อประโยชน์อันใด ก็ยากที่จะคาดเดา

พูดถึงเรื่องความเป็นส่วนตัว ก็นึกถึงเรื่องราวในโซเชียลฯ ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อหญิงรายหนึ่งไปซื้อของที่ร้านขายของญี่ปุ่น ในศูนย์การค้าชื่อดังย่านรังสิต ซึ่งเวลาสะสมคะแนนก็ต้องบอกเบอร์โทรศัพท์มือถือก่อนชำระเงินทุกครั้ง

ปรากฎว่ามีผู้ชายรายหนึ่ง จะด้วยความที่แอบชอบผู้หญิงคนนี้หรือเปล่าก็ไม่อาจทราบได้ นอกจากแอบฟังเบอร์มือถือจากปากผู้หญิงคนนี้ไปแอดไลน์แล้ว ยังมีการส่งรูปแอบถ่ายระหว่างรอคิดเงินที่แคชเชียร์ และพยายามตีสนิทให้ได้

บอกตามตรงว่าเป็นวิธีการจีบสาวที่เสี่ยวมาก บางคนถึงกับบอกว่า ครีปี้ (Creepy) หรือน่าขยะแขยง

เรื่องนี้จบลงที่ฝ่ายหญิงตัดสินใจแจ้งความเพื่อให้เป็นบทเรียน ตำรวจเรียกฝ่ายชายมาไกล่เกลี่ย จบลงตรงที่โดนข้อหาก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น เสียค่าปรับ 500 บาท โดยความยินยอมของฝ่ายหญิงและไม่ติดใจในผลคดีอีกต่อไป

ที่ผ่านมาร้านค้าที่มีโปรแกรมสะสมคะแนนจากห้างร้านต่างๆ มีทางเลือกให้กับลูกค้าที่ไม่ชอบพกบัตรสมาชิก ด้วยการบอกเบอร์โทร. ให้แคชเชียร์ แทนการแสดงบัตร ถึงขนาดมีร้านสะดวกซื้อบางแห่งแต่งเพลงที่ร้องว่า “แค่บอกเบอร์เธอก็คุ้ม”

มีคนเคยคิดไปว่า การบอกเบอร์โทร. ต่อหน้าธารกำนัล ซึ่งหมายถึงลูกค้าคนอื่นๆ ที่รอคิดเงินหรือเลือกดูของใกล้ๆ กันแบบนี้ อาจจะมีคนจัญไร คิดดีไม่ได้เลย จำเบอร์โทร.ไปก่อเหตุหรือเปล่า แต่ก็ไม่คาดคิดว่าจะมีคนที่ทำแบบนี้จริง

ภายหลังเริ่มมีรูปแบบสะสมคะแนนที่ไม่ต้องบอกเบอร์โทร. เช่น สแกนบาร์โค้ดผ่านแอปพลิเคชัน, กดเบอร์โทร.ที่เครื่อง EDC ถ้าล้ำหน่อยก็สแกนบาร์โค้ดที่ผูกกับวอลเลตและบัตรเครดิต ระบบจะอ่านค่าว่าสมาชิกเป็นใคร ก่อนที่จะตัดเงิน

แต่ที่น่าเกลียดก็คือ เอาแป้นพิมพ์ตัวเลขราคาถูกๆ มาวางให้คนพิมพ์ คนที่พิมพ์ผิดๆ ถูกๆ ก็ไม่รู้ว่าจะพิมพ์ถูกหรือไม่

การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลทางเทคโนโลยีจะอยู่คู่กับเราไปอีกนาน จึงควรรู้เท่าทันภัยที่มาจากเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ และช่วยกันบอกต่อ เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อง่ายๆ เกิดความสูญเสียทั้งเรา ครอบครัว และคนที่เรารัก


กำลังโหลดความคิดเห็น