xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อผู้ป่วยโควิด-19 รักษาหายแล้ว แต่ถูกรังเกียจเหมือนตายทั้งเป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



 กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกนี้ นอกจากต้องถอนหายใจทุกครั้ง กับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่หลักหมื่น ผู้เสียชีวิตสูงถึงหลักร้อยรายแล้ว โรคนี้ยังค่อยๆ พรากความทรงจำในอดีต หายไปจากโลกใบนี้

โดยเฉพาะละแวกที่ทำงาน ผลจากนักท่องเที่ยวต่างชาติย่านถนนข้าวสารหายไป หลายกิจการต่างปิดตัวลง ร้านสะดวกซื้อที่ต้องแวะซื้อกาแฟกับของว่างก่อนเข้างานเป็นประจำ เมื่อยอดขายตก ก็ปิดตัวลงเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

สัปดาห์ที่แล้ว “เฮียเซียะ” เถ้าแก่ “ข้าวต้มวัดบวร” ร้านข้าวต้มยามดึกชื่อดังย่านบางลำพู ที่เคยกินกับคนรู้จักมาตั้งแต่อายุ 20 ปี และเคยสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานนานๆ ครั้ง ก็เสียชีวิตลงเพราะโควิด-19

พอๆ กับ “ขาหมูเจริญแสงสีลม” ที่ครั้งหนึ่งเคยไปทำรายการ เขาว่าอร่อย เจ้าของร้านรุ่นที่ 2 ก็จากโลกใบนี้ไปด้วยโรคโควิด-19 ร้านก๋วยจั๊บเฮียอ้วน เยาวราชที่เคยไปกินกับเพื่อนนานมาแล้ว เจ้าของก็เสียชีวิตจากโควิด-19 เช่นกัน

ที่สลดหดหู่มากที่สุด คือ มีผู้ป่วยรอความช่วยเหลือจนขาดใจตาย กลางตรอกบ้านพานถม และพบอีกศพหนึ่ง หน้าศึกษาภัณฑ์พาณิชย์เก่า (ปัจจุบันเป็นตึกร้าง) ที่ๆ เคยเดินผ่านเพื่อรอรถเมล์ ตลอดเวลาที่ทำงานเครือผู้จัดการกว่า 10 ปี

กว่าที่โลกใบนี้จะสงบ ผู้คนออกมาใช้ชีวิตตามปกติ ก็เหมือนกลับสู่โลกของความเดียวดาย เพราะความทรงจำในอดีตที่เคยผ่านเข้ามาไม่มีอีกแล้ว จากเชื้อโควิด-19 ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ค่อยๆ กลืนกินร่างกายผู้คนเหลือแต่ร่างไร้วิญญาณ

ความตายเป็นสิ่งที่คนระลึกถึงช่วงขณะหนึ่ง บางคนเลือกที่จะเก็บไว้เป็นความทรงจำ บางคนอาจลืมเลือน แต่ในอีกมุมหนึ่ง ยังมีคนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งเจ้าของกิจการที่รายได้ขาดหายไป ทั้งลูกจ้างที่พากันตกงาน สิ้นเนื้อประดาตัว

คนที่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 และรักษาจนหายขาด ใครที่มีงานประจำและได้กลับมาทำงานต่อถือว่ายังโชคดี แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นผู้โชคดี เพราะยังมีคนที่ไม่มีที่ไป และคนที่ถูกสังคมรังเกียจ

กลายเป็นการตอกย้ำความรู้สึกเหมือนตายทั้งเป็น น่าเป็นห่วงถึงวันข้างหน้าว่า เขาจะหาทางออกกับชีวิตอย่างไร?

ทราบมาจากเฟซบุ๊กเพจ “ไขปัญหากับอายุรแพทย์ โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย” ระบุในตอนหนึ่งว่า พบปัญหาคนไข้โรงพยาบาลสนามบุษราคัม เมืองทองธานี ที่ครบกำหนดกลับบ้าน บางส่วนไม่ยอมกลับ

คนไข้บอกว่า “กลับไปแล้วจะให้ผมไปทำอะไร ไม่มีงาน ไม่มีกิน” เมื่อเจอมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเกิดปัญหาเตียงเต็ม

ฟังดูแล้วน่าเป็นห่วง ผู้ป่วยบางคนอาจจะเข้าใจผิดว่า โรงพยาบาลสนามเป็นเหมือนสถานสงเคราะห์ กลายเป็นว่าเลือกที่จะอยู่ต่อ เพราะอย่างน้อยที่นี่มีเตียงให้นอน มีน้ำให้ดื่ม มีอาหารสามมื้อ ทั้งที่วัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นแบบนั้น

แต่ถ้านึกถึงผู้ป่วยแบบใจเขาใจเรา บางทีสิ่งที่เขาคิดออกมา อาจเป็นเพราะเขาเกิดความรู้สึกว่า “เขาไม่มีที่ไป”

อีกด้านหนึ่ง แม้ในแต่ละวันจะมีผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วออกจากโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม กลับบ้าน กลับสู่ชุมชน แต่ก็ต้องเจอการถูกเลือกปฏิบัติ ถูกสังคมรังเกียจด้วยความไม่เข้าใจ ถึงขั้นถูกตัดโอกาสกลับมาทำมาหากิน

ทั้งๆ ที่โรคติดเชื้อโควิด-19 เมื่อรักษาหายแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไม่ให้กลับมาป่วยอีก 3-6 เดือน และไม่สามารถกลับมาแพร่เชื้อให้บุคคลอื่นอีก เพียงแต่ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยครั้ง และรักษาระยะห่าง จนกว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่

เพื่อนของผู้เขียนรายหนึ่ง แม่เป็น “แม่ค้าขายของ” ในตลาดแห่งหนึ่งย่านหนองแขม กรุงเทพฯ วันหนึ่งมีการตรวจโควิด-19 เชิงรุก แม่ไปตรวจปรากฎว่าผลออกมาพบเชื้อ จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามขั้นตอน

สมาชิกทุกคนในบ้านรับผิดชอบด้วยการกักตัวและไปตรวจหาเชื้อ แม้ทางเจ้าของตลาดจะให้ไปเก็บร้านแต่ก็ไปไม่ได้ สัปดาห์ต่อมาพ่อติดเชื้อโควิด-19 ก็นำตัวเข้ารับการรักษา เหลือแต่เพื่อนกับน้องอีกคนหนึ่ง แม้ผลเป็นลบแต่ก็ยังต้องกักตัว

ต่อมาแม่รักษาตัวที่โรงพยาบาลจนหาย แพทย์ให้กลับมากักตัวต่อที่บ้าน 14 วัน แม่กะว่าถ้ากักตัวเสร็จ ก็จะกลับไปขายของที่ตลาดอีกครั้งเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว

ปรากฎว่าทางเจ้าของตลาด พอรู้ว่ากลับมาแล้ว ให้คนมาบอกว่า “ไม่ให้ขายแล้ว กลัวแพร่เชื้อโรค อีกอย่างทำให้ตลาดเสียชื่อเสียงว่ามีคนติดเชื้อโควิด ทำให้ขาดรายได้ระหว่างตลาดปิด”

เพื่อนตั้งคำถามว่า การที่คนไปตรวจแล้วเจอเชื้อโควิด มันผิดต่อสังคมมากหรือไง? แล้วแม่ก็ไม่รู้ติดมาจากใคร เพราะคนในตลาดก็เยอะ ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แล้วก็ไม่ได้ไปสัมผัสคนกลุ่มเสี่ยง ไม่มีคนในตลาดได้รับเชื้อจากแม่

อีกอย่าง ตั้งแต่ที่รู้ว่ารับแม่เชื้อโควิด ที่บ้านก็รับผิดชอบต่อสังคมเต็มที่แล้ว ทำไมคนที่หายจากติดเชื้อโควิด ถึงไม่ได้รับโอกาสจากสังคม ต้องลองให้คนในครอบครัวตัวเองดูบ้างหรือไง? จะได้รู้สึกเหมือนกัน

“แม่อาจรักษาหาย ไม่เสียชีวิตจากโควิด แต่ก็เหมือนอยู่แบบตายทั้งเป็น ทำมาหากินต่อไม่ได้” เพื่อนผู้เขียน ระบุ

ได้แต่ทำใจว่า สถานการณ์บางอย่างทำให้เห็นถึงสันดานคน

หลังจากบ่นเรื่องนี้ในทวิตเตอร์ส่วนตัว ก็มีผู้คนอีกจำนวนมากตอบกลับมาว่า มีผู้ป่วยจากโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว ถูกเลือกปฏิบัติและถูกรังเกียจจากสังคมเช่นเดียวกัน มีบางคนถึงจะรักษาหายแล้ว ทางตลาดก็ไม่ให้ขายของต่อเหมือนกัน

นอกจากตลาดแล้ว ยังมี หอพักบางแห่ง คอนโดมิเนียมบางแห่ง เมื่อผู้เช่าติดโควิด-19 รักษาหายแล้ว ถูกเจ้าของห้อง หรือเจ้าของหอพักให้ไปอยู่ที่อื่น ให้หาห้องใหม่ ไม่ให้อยู่ห้องนี้แล้ว บางคนก็ถูกไม่ให้เข้าตึกก็มี

ความจริงเป็นที่ยืนยันในทางการแพทย์ว่า ผู้ป่วยที่หายจากโรคติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 อยู่นานประมาณ 3-6 เดือน เมื่อทำการรักษาและกักตัวครบ 14 วัน ผู้ป่วยจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

ถึงกระนั้น แม้จะสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ แต่ต้องปฏิบัติตัวตามมาตรฐานวิถีใหม่ คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และ เว้นระยะหว่างกับคนอื่นในสังคม เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ และยังป้องกันโรคติดต่ออื่นๆ ได้อีกด้วย

เมื่อโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก กว่า 4 ล้านคน และยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบนิ่ง ภาพที่ออกมาจึงเปรียบเหมือนมัจจุราช เป็นปีศาจที่ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ ซึ่งในขณะนี้ก็ต้องรักษาระยะห่างอยู่แล้ว

แต่สำหรับคนที่รักษาหายแล้ว กลายเป็นโรคที่ถูกสังคมตราหน้า เสมือนแปะป้ายว่าเป็นผู้แปดเปื้อน เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง ทั้งๆ ที่โรคนี้ไม่มีใครอยากติด ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ละคนยกการ์ดสูงป้องกันตัวเอง

ไม่ต่างจากโรคติดต่อที่รักษาไม่หายขาด ในอดีตมีภาพที่ดูน่ากลัว ผู้คนไม่กล้าเข้าใกล้ แม้การพบปะพูดคุยปกติจะไม่ทำให้ติดเชื้อก็ตาม กระทั่งความเจริญทางการแพทย์ สามารถผลิตยาต้านไวรัส ที่แม้จะไม่หายขาดแต่ก็มีชีวิตที่ยืนยาว

กรณีผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาจนหายขาด ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)หรือ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะเคยออกมาอธิบายก็ตาม แต่ก็เกิดขึ้นเพียงแค่นานๆ ครั้ง

ในทางกลับกัน ทุกวันนี้กลับเห็นแต่พูดถึงเรื่องประสิทธิภาพวัคซีน กับเรื่องวิธีการรักษา มากกว่าการทำความเข้าใจกับสังคมว่า เมื่อมีผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้วกลับคืนสู่สังคม จะสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไร

ตราบใดที่ยังพบเห็นการเลือกปฏิบัติ ทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาหายแล้วไม่มีที่ไป อาจจะนำไปสู่ปัญหาสังคมที่เลวร้ายตามมาโดยที่เขาไม่มีทางเลือก เพียงเพราะถูก “สังคมผลักไส” แบบขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่ถูกต้อง

เราจะปล่อยให้สังคมไทยในยุคโควิด-19 เป็นแบบนั้นจริงๆ หรือ?
กำลังโหลดความคิดเห็น