xs
xsm
sm
md
lg

“ท่าเรือพระนั่งเกล้า” เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วง สู่ใจกลางเมืองสาทร ถึงเวลา รฟม.ต้องจริงจัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry จะจอดรับส่งผู้โดยสารที่ท่าเรือพระนั่งเกล้า บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง สะพานพระนั่งเกล้า ต.บางกระสอ อ.เมืองฯ จ.นนทบุรี

เบื้องต้น เรือด่วนเจ้าพระยา จะนำเรือธงเขียว เส้นทางปากเกร็ด-สาทร นำมาให้บริการเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ ออกจากท่าพระนั่งเกล้าไปท่าสาทร เวลา 06.30, 07.00, 07.30 และ 08.00 น.

จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่ท่านนทบุรี ท่าพระราม 7 ท่าบางโพ (MRT) ท่าเกียกกาย ท่าพายัพ ท่าเทเวศร์ ท่าพระปิ่นเกล้า (ฝั่งธนบุรี) ท่ารถไฟ ท่าพรานนก ท่าช้าง (ท่าราชินี ปิดปรับปรุง) ท่าราชวงศ์ ท่ากรมเจ้าท่า ท่าสี่พระยา และท่าสาทร (BTS)

เที่ยวกลับ สาทร-ปากเกร็ด ออกจากท่าเรือสาทร เวลา 16.20, 16.50, 17.15 และ 17.45 น. ใช้เวลาเดินทางถึงท่าพระนั่งเกล้าประมาณ 60 นาที (ส่วนสาทร-ปากเกร็ด ใช้เวลาเดินทาง 80 นาที) ค่าโดยสารจากท่าสาทร-ท่าพระนั่งเกล้า 30 บาท




ส่วน เรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry จะนำเรือมาให้บริการทุกวัน โดยออกจากท่าพระนั่งเกล้าไปท่าสาทร วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.10, 06.30, 06.50, 07.10 และ 07.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 06.30 และ 07.30 น.

จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่ท่านนทบุรี ท่าเกียกกาย ท่าพายัพ ท่าเทเวศร์ ท่าพระปิ่นเกล้า (ฝั่งธนบุรี) ท่าพรานนก ท่าปลากคลองตลาด (MRT) ท่าราชวงศ์ ท่าสี่พระยา ท่าแคททาวเวอร์ และท่าสาทร (BTS)

เที่ยวกลับ สาทร-พระนั่งเกล้า ออกจากท่าเรือสาทร วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.25, 16.45, 17.05, 17.25 และ 17.45 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 16.00 และ 17.00 น. ค่าโดยสารราคาโปรโมชัน 20 บาทตลอดสาย

แต่แนะนำว่าให้มาถึงท่าเรือก่อนเวลาเรือออก ประมาณ 5 นาที เพื่อไม่ให้พลาดเที่ยวเรือจะดีกว่า


สำหรับท่าเรือพระนั่งเกล้า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก่อสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างเรือโดยสาร รถไฟฟ้า และรถโดยสารสาธารณะ

โดยก่อสร้างอาคารพักคอย และท่าเทียบเรือโดยสาร ก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม (Sky Walk) จัดจุดจอดรถโดยสาร จัดสิ่งอำนวยความสะดวก และปรับภูมิทัศน์โดยรอบ ค่าก่อสร้าง 94,755,000 บาท

ผู้รับจ้างก่อสร้างคือ บริษัท แพนเรล (ประเทศไทย) จำกัด เริ่มต้นสัญญา 31 มกราคม 2563 สิ้นสุดสัญญา 6 มีนาคม 2564 ระยะเวลาก่อสร้าง 400 วัน ขณะนี้โครงการน่าจะแล้วเสร็จ

ลักษณะของท่าเรือพระนั่งเกล้า จะเป็นอาคาร 2 ชั้น พร้อมท่าเรือจำนวน 4 ท่า มีทางเดินพร้อมหลังคาเชื่อมไปยังสถานีรถไฟฟ้าสะพานพระนั่งเกล้า (ทางออก 3) รวมทั้งยังก่อสร้างสะพานลอยข้ามถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณสี่แยกพระนั่งเกล้า

นอกจากนี้ ยังมีท่าปล่อยรถประจำทางสาย 63 (นนทบุรี-อนุสาวรีย์ชัย) และสาย 114 (นนทบุรี-แยกลำลูกกา) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อีกด้วย แต่ยังไม่เปิดให้บริการในขณะนี้


สถานที่ใกล้เคียงบริเวณถนนสนามบินน้ำ ได้แก่ วัดแจ้งศิริสัมพันธ์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ศูนย์การแพทย์รัตนาธิเบศร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์นนทบุรี ห่างออกไปจะเป็นตลาดต้นสัก และกระทรวงพาณิชย์

จากสถานีรถไฟฟ้าสะพานพระนั่งเกล้า ถัดไปจะเป็น สถานีแยกนนทบุรี 1 เป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ และตลาดนกฮูก, สถานีบางกระสอ ที่ตั้งของห้างบิ๊กซี รัตนาธิเบศร์ และโรงแรมริชมอนด์

และ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เป็นที่ตั้งของอุทยานมกุฏรมยสราญ ศาลหลักเมืองนนทบุรี โรงภาพยนตร์เอสพลานาด งามวงศ์วาน-แคราย ห้างโลตัส แคราย สถานีดาวเทียมไทยคม สถานีตำรวจภูธรรัตนาธิเบศร์

ในอนาคต สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี จะเป็นจุดเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ไปทางถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทรา ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2565


อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์หลักของท่าเรือพระนั่งเกล้า คาดว่าเพื่อดึงผู้ใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วงจากโซนบางบัวทอง และบางใหญ่เป็นหลัก แล้วมาต่อเรือที่ท่าสะพานพระนั่งเกล้า เพื่อไปยังย่านสามเสน เทเวศร์ สนามหลวง โรงพยาบาลศิริราช

รวมทั้งเป็นอีกทางเลือกของผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง ในชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งต้องต่อคิวเปลี่ยนขบวนรถไฟสายสีน้ำเงินสถานีเตาปูน ขณะที่เส้นทางเดินเรือแม่น้ำเจ้าพระยา จะตรงสู่ใจกลางเมือง เช่น เยาวราช สี่พระยา ย่านธุรกิจสาทร สีลม

เมื่อเปรียบเทียบค่าโดยสาร ระหว่างรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว จากสถานีคลองบางไผ่ เปลี่ยนขบวนที่สถานีเตาปูน แล้วลงที่สถานีสีลม ค่าโดยสารรวม 2 ระบบอยู่ที่ 70 บาท ใช้เวลาประมาณ 62-63 นาที (ไม่รวมเวลารอเปลี่ยนขบวนรถไฟ)

ส่วนรถไฟฟ้ากับเรือโดยสาร จากสถานีคลองบางไผ่ ลงที่สถานีสะพานพระนั่งเกล้า ค่าโดยสาร 33 บาท ใช้เวลาประมาณ 14 นาที ต่อด้วยเรือโดยสารไปท่าเรือสาทร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง รวมแล้วค่าโดยสารจะอยู่ที่ 53-63 บาท

สำหรับคนที่เดินทางไม่บ่อย รถไฟฟ้าสายสีม่วง ต่อเรือที่ท่าสะพานพระนั่งเกล้า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่จะไปติดต่อราชการโซนสามเสน เทเวศร์ หรือไปหาหมอที่โรงพยาบาลศิริราช แม้จะมีเรือให้บริการเฉพาะช่วงเช้าและเย็นก็ตาม


สิ่งที่น่ากังวลหลังจากนี้ คือ การที่ รฟม. ลงทุนเกือบ 100 ล้านบาท ก่อสร้างและเปิดให้บริการท่าเรือพระนั่งเกล้า นับจากนี้ผลตอบรับของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง และเรือโดยสารทั้งสองเจ้า จะมีมากน้อยขนาดไหน

ข้อมูลจากกรมเจ้าท่า ระบุว่า ผู้ใช้บริการ ท่าเรือกระทรวงพาณิชย์ ปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ 77,459 คน ปี 2561 อยู่ที่ 74,661 คน แต่ในปี 2562 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 83,430 คน ส่วนปี 2563 ลดลงเหลือ 49,063 คน จากสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ผู้ใช้บริการท่าเรือนนทบุรี ปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ 3,948,423 คน แต่ในปี 2561 ลดลงอยู่ที่ 3,248,854 คน และปี 2562 ลดลงเหลือ 2,841,917 คน ส่วนปี 2563 ลดลงเหลือ 1,574,249 คน จากสถานการณ์โควิด-19

แต่ที่น่าสนใจ คือ ท่าเรือปากเกร็ด ปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ 331,843 คน ปี 2561 อยู่ที่ 297,283 คน ปี 2562 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 306,762 คน ส่วนปี 2563 ลดลงเหลือ 171,787 คน จากสถานการณ์โควิด-19

นับจากนี้ กระทรวงคมนาคมอาจจะต้องผลักดันให้ท่าเรือพระนั่งเกล้าแห่งนี้ กลายเป็นจุดเชื่อมต่อ (ฮับ) ให้ได้ ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง เรือโดยสาร และรถประจำทาง ที่ยังเหลือท่าปล่อยรถประจำทางสาย 63 และ 114 ยังไม่เปิดใช้บริการ


ขณะเดียวกัน ยังต้องลุ้นว่าคนที่อยู่นนทบุรี โซนบางใหญ่ บางบัวทอง และรัตนาธิเบศร์ จะใช้บริการท่าเรือพระนั่งเกล้ามากน้อยเพียงใด เพราะปัจจุบันคนย่านนั้นนิยมใช้รถส่วนตัวมากกว่า สังเกตจากรถติดทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น

รวมทั้งรถตู้โดยสาร ยังเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ได้รับความนิยมของคนแถวนั้น แม้จะมีรถไฟฟ้าสายสีม่วง แต่ผู้โดยสารก็เลือกใช้บริการรถตู้ โดยเฉพาะชั่วโมงไม่เร่งด่วน หลัง 9 โมงเช้า เพราะถึงที่หมายเร็วพอๆ กัน

ช่วงที่เปิดรถไฟฟ้าสายสีม่วงใหม่ๆ ในปี 2559 มีผู้โดยสารเพียงแค่ 2-3 หมื่นคนต่อวัน กระทั่งต้องใช้กลยุทธ์ลดค่าโดยสาร จึงจะเริ่มมีผู้โดยสารขยับขึ้นไปเป็น 6 หมื่นคนต่อวันขึ้นมาบ้าง แต่ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่แพ้กัน

หากมีผู้ใช้บริการน้อยกว่าเป้าหมาย น่าเป็นห่วงว่า เมื่อผู้ให้บริการเรือโดยสารทั้งสองเจ้าเลิกรับ-ส่งผู้โดยสารที่ท่าเรือพระนั่งเกล้าแล้ว อนาคตท่าเรือที่ก่อสร้างด้วยงบเกือบร้อยล้านบาทแห่งนี้ อาจจะถูกปล่อยร้างอย่างน่าเสียดายในอนาคต

ถึงเวลาที่ รฟม. ควรจะเอาจริงเอาจังกับท่าเรือพระนั่งเกล้าเสียที


กำลังโหลดความคิดเห็น