xs
xsm
sm
md
lg

ศึกชิงเจ้าสายน้ำ เรือด่วนเจ้าพระยา VS MINE Smart Ferry

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง วันพุธที่ 5 พฤษภาคม 2564 เรือไฟฟ้าที่ชื่อว่า “ไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่” (MINE Smart Ferry) จะเริ่มให้บริการ เส้นทางท่านนทบุรี-ท่าสาทร หลังทดลองให้บริการมานาน

โดยในช่วงโปรโมชัน คิดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ชำระผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิตที่มีสัญลักษณ์ Contactless และบัตรโดยสารแบบเติมเงินที่ชื่อว่า “ฮ็อปการ์ด” (HOP Card) ซึ่งจะมีแจกแต่จำนวนจำกัด

MINE Smart Ferry ให้บริการโดย บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เทคโอเวอร์ บริษัท เจ้าพระยาริเวอร์ไลน์ จำกัด ที่ทำเรือท่องเที่ยว Hop on Hop off Boat 4U ก่อนหน้านี้

รูปแบบเป็น เรือสองท้อง (Catamaran) เพื่อช่วยการทรงตัวไม่ให้โคลงเคลง วัสดุลำตัวเรืออลูมิเนียม กว้าง 7 เมตร ยาว 24 เมตร ห้องโดยสารติดระบบปรับอากาศและฟอกอากาศ มีที่นั่งทั้งหมด 104 ที่นั่ง รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 250 คน

เดินเรือด้วยความเร็วสูงสุด 18 น็อต ให้การทรงตัวดี เกิดคลื่นน้อยเวลาขับเคลื่อน ใช้พลังงานไฟฟ้าผ่านแบตเตอรีลิเธียมไอออน และเทคโนโลยีฟาสต์ชาร์จ ด้วยการชาร์จพร้อมกัน 26 หัวชาร์จ ใช้เวลา 15-20 นาที


MINE Smart Ferry รับ-ส่งผู้โดยสารเพียงแค่ 11 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าสาทร ท่าแคท-ทาวเวอร์ ท่าสี่พระยา ท่าราชวงศ์ ท่าปากคลองตลาด (ยอดพิมาน) ก่อนจะข้ามฝั่งไปยังท่าพรานนก ท่าสะพานพระปิ่นเกล้า (ฝั่งธนบุรี)

จากนั้นข้ามฝั่งไปยังท่าเทเวศร์ ท่าพายัพ ท่าเกียกกาย ก่อนจะยิงยาวไปที่ท่านนทบุรีเลย อันที่จริงเส้นทางนี้จะหมดระยะที่ท่าสะพานพระนั่งเกล้า มีท่าเรือเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง และท่าปล่อยรถสาย 63 และ 114 แต่ยังไม่เปิดให้บริการ

น่าเสียดาย ที่เรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry เชื่อมต่อรถไฟฟ้าแค่ท่าสาทร กับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานตากสิน และท่าปากคลองตลาด กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีสนามไชย

ส่วน ท่าบางโพ ที่จะไปต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีบางโพ เพื่อไปสวนจตุจักร ห้าแยกลาดพร้าว และโซนกรุงเทพฯ เหนือ เรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry ไม่ได้จอด ต้องลงที่ ท่าเกียกกาย แล้วต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างแทน

ทราบว่าทาง MINE Smart Ferry ยังมีเส้นทางเดินเรืออีก 2 เส้นทาง คือ ท่าสะพานพระราม 7-ท่าสาทร ที่จะเชื่อมกับท่าบางโพ ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งคือ ท่าพระอาทิตย์-ท่าสาทร รวมทั้งยังมีเรือท่องเที่ยว แต่ยังไม่เปิดให้บริการ


เรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry ทดสอบเดินเรือตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา กระทั่งวันที่ 22 ธันวาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดโครงการ และให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรีเรื่อยมา

ระหว่างทดลองเดินเรือ ปรากฎว่า บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ที่ให้บริการเดินเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา มานานถึง 50 ปี ก็ออกมาร้องเรียนว่า เส้นทางและท่าเรือของเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry แทบจะทับซ้อนกัน

ที่กังวลก็คือ การเข้า-ออกท่าเรือทับซ้อนกัน เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย เพราะตามกติกาเรือแต่ละลำจอดเข้าท่าเรือได้ไม่เกิน 3 นาที ถ้าเกิดเรือด่วนเจ้าพระยา กับเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry เวลาชนกันจะทำอย่างไร

กระทั่งวันที่ 3 มีนาคม 2564 กรมเจ้าท่าเรียกตัวแทนจากเรือด่วนเจ้าพระยา และเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry มาหารือกัน เพื่อแก้ไขปัญหาเวลาทับซ้อน เส้นทางระหว่างท่าน้ำนนทบุรี กับท่าเรือสาทร

ในวันนั้นได้ข้อสรุปว่า เรือด่วนเจ้าพระยา จะต้องออกจากท่าเรือเวลา 05.30 น. ส่วนเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry จะออกจากท่าเรือในเวลาที่เหลื่อม โดยช้ากว่าหรือห่างกันประมาณ 10-15 นาที

นอกจากนี้ กรมเจ้าท่ายังให้เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry ต้องขายตั๋วหรือตั้งจุดตั๋วเรือโดยสารนอกท่า เพราะเมื่อก่อนเรือด่วนเจ้าพระยาให้บริการเพียงรายเดียว แต่เมื่อมีผู้ประกอบการมาเพิ่ม จึงให้ไปตั้งที่นอกท่าเรือแทน


เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ผู้บริหารเรือด่วนเจ้าพระยา ให้สัมภาษณ์กับทีวีดาวเทียมช่องหนึ่ง ชี้แจงว่า การตีความเรื่องทับเส้นทางหรือไม่ต้องดูในรายละเอียด ถ้าผู้ใช้บริการอยู่ในย่านเดียวกันหมด อยู่ในกลุ่มเดียวกันหมด ก็ถือว่าทับเส้นทาง

อย่างเช่น เส้นทางนนทบุรี-สาทร มีอยู่ 20 ท่าเรือ แม้จะจอดอยู่ 7 ท่า แต่การที่มีผู้ใช้บริการกลุ่มเดียวกัน เดินทางเหมือนกัน ได้ประโยชน์จากผู้โดยสารกลุ่มเดียวกัน ย่อมหมายถึงการทับเส้นทาง

การที่กระทรวงคมนาคม อนุญาตให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ เดินเรือในเส้นทางเดียวกัน แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ต้องให้น้ำหนักเรื่องความปลอดภัยของประชาชน และสามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้เพียงพอ ไม่แออัด

อีกทั้งถ้าจะเชื่อมต่อการเดินทาง ยังมีอีกหลายพื้นที่ ที่สามารถเพิ่มการเดินทางด้วยเรือได้ อย่างเช่น คลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ คลองบางซื่อ คลองลาดพร้าว ก็ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้ามาเลย

เรือปรับอากาศ ริว่า เอ็กซ์เพรส ของเรือด่วนเจ้าพระยา (ภาพ : Chao Phraya Express Boat - เรือด่วนเจ้าพระยา)
เรือด่วนเจ้าพระยา ประกอบด้วย เรือ 1 เครื่องยนต์ บรรทุกได้ 120 คน และเรือ 2 เครื่องยนต์ บรรทุกได้ 150 คน ให้บริการในรูปแบบเรือประจำทาง ธงส้ม (นนทบุรี-วัดราชสิงขร) ธงเหลือง (นนทบุรี-สาทร) และธงเขียว (ปากเกร็ด-สาทร)

กระทั่งเพิ่งจะต่อเรืออลูมิเนียม เป็นเรือปรับอากาศที่เรียกว่า ริว่า เอ็กซ์เพรส (RIVA EXPRESS) ให้บริการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ในรูปแบบ ธงแดง (นนทบุรี-สาทร) มีทั้งหมด 4 ลำ แต่ละลำบรรทุกได้สูงสุด 202 คน

จากข้อมูลจากกรมเจ้าท่า พบว่าปี 2562 ก่อนสถานการณ์โควิด-19 มีผู้โดยสารมาใช้บริการที่ท่าสาทรอยู่ที่ 4.76 ล้านคน (ปี 2563 เหลืออยู่ 1.2 ล้านคน) ขณะที่ท่านนทบุรีมีผู้โดยสารมาใช้บริการอยู่ที่ 2.8 ล้านคน (ปี 2563 เหลืออยู่ 1.5 ล้านคน)

เมื่อพิจารณาระหว่างเรือด่วนเจ้าพระยา ธงแดง กับเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry พบว่าทับซ้อนกันอยู่ 9 ท่าเรือ ได้แก่ สาทร สี่พระยา ราชวงศ์ ปากคลองตลาด (ยอดพิมาน) พรานนก สะพานพระปิ่นเกล้า เทเวศร์ เกียกกาย และนนทบุรี

แต่ก็มีท่าเรือหลักที่เรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry ไม่ได้จอด เช่น ท่าพระราม 7 ที่ตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บางกรวย ซึ่งมีผู้ใช้บริการจำนวนไม่น้อย แม้จะมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีบางอ้ออยู่ใกล้เคียงก็ตาม

ส่วนท่าบางโพ ที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีบางโพ เปิดให้บริการเมื่อปี 2563 หลังปิดมานานเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้า ปรากฎว่าเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry ไม่ได้จอด แต่เรือด่วนเจ้าพระยาได้จอดทุกธง ทุกสี


การเข้ามาของเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry คนที่นั่งเรือด่วนเจ้าพระยา ธงเขียวจากปากเกร็ดไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะกระทบกับเรือธงเหลือง คิดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายแต่ไม่มีแอร์ จะถูกเปรียบเทียบกับเรือไฟฟ้าที่ราคาเท่ากัน

ไม่นับรวม เรือธงแดง ที่เป็นเรือปรับอากาศ ปัจจุบันคิดค่าโดยสาร 30 บาทตลอดสาย จากเดิมจะคิด 50 บาทตลอดสาย เพื่อจูงใจให้คนมาใช้บริการ เมื่อถูกเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry ตัดราคาในช่วงโปรโมชัน จากปัจจุบันที่ลดเที่ยวเดินเรืออยู่แล้ว ก็อาจจะต้องแข่งขันกันเหนื่อยอยู่บ้าง

ส่วนเรือธงส้ม ที่จอดรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างทางมากกว่า 30 ท่า เนื่องจากมีท่าเรือให้จอดระหว่างทางมากกว่า คนที่เดินทางลงท่าเรือขนาดรองลงมา ที่ไม่มีเรือไฟฟ้าหรือเรือด่วนพิเศษจอด ก็ยังคงต้องใช้บริการเรือธงส้มเหมือนเดิม

แต่ข้อจำกัดของเรือ MINE Smart Ferry นอกจากจะไม่ได้จอดท่าที่เชื่อมกับรถไฟฟ้าแล้ว เมื่อวางตำแน่งเป็น "เรือไร้เงินสด" รับชำระผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรเติมเงิน HOP Card ระยะแรกอาจจะลำบาก หากต้องให้ผู้โดยสารเปลี่ยนพฤติกรรม

เมื่อเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry เข้ามา อาจจะถูกตั้งคำถามว่า เข้ามาแบบลัดขั้นตอนหรือไม่ กระทรวงคมนาคม กับกรมเจ้าท่า ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เหตุใดจึงมีความจำเป็นที่จะให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามา

เรือด่วนแหลมทอง ปี 2536 (ภาพจาก Ian Lynas / flickr.com)
แต่ต้องย้อนไปในอดีต เคยมี “เรือด่วนแหลมทอง” ให้บริการเส้นทางปากเกร็ด-ถนนตก และนนทบุรี-สาทร แต่ได้หยุดกิจการหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 จึงเหลือเพียงเรือด่วนเจ้าพระยาเพียงรายเดียวที่ให้บริการมานานกว่า 20 ปี

เมื่อไม่มีผู้ประกอบการรายใดกล้าเข้ามาเดินเรือ เพราะขนาดเรือด่วนเจ้าพระยาเดินเรือแล้วยังขาดทุนเห็นๆ ต้องแบกรับต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้น ขณะที่ประชาชนหันมาใช้รถเมล์ รถไฟฟ้า และรถส่วนตัวมากขึ้น ทำให้ถูกสังคมมองว่าเป็นผู้ประกอบการผูกขาด

ส่วนเรือที่นำมาให้บริการ พบว่าที่ผ่านมายังเป็นเรือไม้ ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลมาตลอด ทำให้เกิดมลภาวะ เพิ่งจะนำเรือปรับอากาศซึ่งมีอยู่เพียงแค่ 4 ลำ มาวิ่งให้บริการเป็นเรือธงแดง นนทบุรี-สาทร เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมานี่เอง

การที่เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry เข้ามาเดินเรือปรับอากาศ ซึ่งเป็นเรือรูปแบบใหม่ ด้านหนึ่งเป็นการจูงใจให้ประชาชนลดการใช้รถส่วนตัว หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่พัฒนาให้สะดวกสบายเพิ่มขึ้น

อีกด้านหนึ่งเป็นสัจธรรมว่า ตราบใดที่ธุรกิจมีการแข่งขัน ตราบนั้นผู้บริโภคย่อมได้รับประโยชน์ เพราะมีทางเลือกในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้มีผู้ประกอบการเพียงรายเดียว

แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการเดินเรือ รวมทั้งกรมเจ้าท่าที่กำกับดูแลการขนส่งทางน้ำไม่อาจมองข้าม คือ “ความปลอดภัยของผู้โดยสาร” ไม่ให้การแข่งขันของทั้งสองเจ้า กลายเป็นว่าเอาชีวิตประชาชนไปเสี่ยง ไม่ต่างจากรถเมล์ร่วมบริการในอดีต

เพราะความลึกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ดำดิ่งลงไปถึง 20 เมตร หากเกิดโศกนาฎกรรมขึ้นมา มันน่ากลัว!
กำลังโหลดความคิดเห็น