กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง วันพุธที่ 16 ธันวาคม 2563 รถไฟฟ้าบีทีเอสจะให้บริการถึงสถานีปลายทางคูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม วิ่งยาว 3 จังหวัด 68.25 กิโลเมตร สิ้นสุดที่สถานีเคหะ จ.สมุทรปราการ
สถานีที่เปิดใหม่เพิ่มเติม มีทั้งหมด 7 สถานี ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 59, สถานีสายหยุด ใกล้โรงพยาบาลเซ็นทรัลเยนเนอรัล ปากทางถนนเทพรักษ์ (พหลโยธิน-สุขาภิบาล 5) และห้างบิ๊กซี สะพานใหม่, สถานีสะพานใหม่ หน้าตลาดยิ่งเจริญ
สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช มีทางเชื่อมสกายวอล์กเข้าไปในอาคารคุ้มเกล้าฯ และสนามกีฬากองทัพอากาศ, สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ ไปยังโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช มีทางเชื่อมไปยังโรงเรียนฤทธิยวรรณาลัย
สถานีแยก คปอ. มีอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) สำหรับรถที่มาจากรังสิต ปทุมธานี รองรับรถยนต์ได้ประมาณ 1,042 คัน และสถานีคูคต มีอาคารจอดแล้วจรสำหรับรถที่มาจากลำลูกกา สายไหม รองรับรถยนต์ได้ประมาณ 713 คัน
น่าเสียดาย บริเวณแยก คปอ. จะมีถนนถนนธูปะเตมีย์ เชื่อมระหว่างถนนพหลโยธิน ผ่านฐานทัพอากาศดอนเมือง และรันเวย์ด้านทิศเหนือของสนามบินดอนเมือง ถึงถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทาง 2.3 กิโลเมตร
แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่กองทัพอากาศ (ทอ.) จึงอนุญาตให้เฉพาะรถยนต์ที่มีสติกเกอร์บัตรผ่านยานพาหนะเข้า-ออก เขตพื้นที่กองทัพอากาศเท่านั้น ไม่อนุญาตให้รถยนต์ที่ไม่มีสติกเกอร์ หรือรถรับจ้างสาธารณะทุกชนิดเข้าไปด้านใน
ครั้งหนึ่งเคยคิดว่า ถ้ารถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มก่อสร้างแล้วเสร็จ ถ้าจะไปขึ้นเครื่องที่สนามบินดอนเมือง ก็ลงที่สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศแล้วต่อรถเข้าไป แต่หลายคนบอกว่า “ทำไม่ได้” เพราะเป็นเขตกองทัพอากาศ ห้ามเข้า
ขอฝากไอเดียไปถึงกองทัพอากาศว่า น่าจะอนุญาตให้มีบริการรถชัตเติลบัส หรือรถโดยสารประจำทาง ผ่านถนนธูปะเตมีย์ ไปยังสนามบินดอนเมืองได้ และไม่จำกัดว่าเฉพาะข้าราชการและครอบครัว ทอ. เท่านั้น เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระประชาชน
ไม่อย่างนั้น คงต้องรอกรุงเทพมหานครตัดถนนสายใหม่ จากถนนเทพรักษ์ ข้ามคลองถนน ขนานไปกับทิศใต้ของสนามบินดอนเมือง ถึงซอยวิภาวดีรังสิต 72 เวลาไปขึ้นเครื่องที่สนามบินดอนเมือง ก็ลงสถานีสายหยุด แล้วต่อแท็กซี่เข้าไป
ความน่าสนใจของสถานีปลายทางคูคต ตรงที่ทำเลตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อระหว่างเขตสายไหม กรุงเทพฯ กับ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยมีคลองหกวาสายล่าง ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างสองจังหวัดคั่นอยู่
ถนนสายหลักของฝั่งลำลูกกา คือ ถนนลำลูกกา ซึ่งผ่านสถานีคูคต ยาวไปถึงคลอง 16 ระยะทางเกือบ 40 กิโลเมตร ส่วนถนนสายหลักของฝั่งสายไหม คือ ถนนสายไหม ตั้งแต่ซอยพหลโยธิน 54/1 ถึงแยกสายไหม-หทัยราษฎร์
สมัยก่อนสายไหมเป็นเพียงชื่อหมู่บ้านใน ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ก่อนจะยกฐานะขึ้นเป็น ต.สายไหม จากคำบอกเล่าแต่เดิมระบุว่า เคยเป็นทุ่งหญ้า ป่ากก ป่าปรือ มีหนองน้ำกว้างใหญ่ ไหลไปทางคลองบางตลาด เรียกกันว่า “ทุ่งหลวง”
คำว่า “สายไหม” มีคนสันนิษฐานว่ามาจากชาวบ้านคลองบางตลาด ปากเกร็ด ออกไปหาปลาแต่เช้าตรู่ มีคนถามว่า “ไปถึงที่ทุ่งนั้นสายไหม?” ก่อนจะมีคำเรียกทุ่งแห่งนี้ ต่อมามีชาวบ้านอพยพจากคลองบางตลาดมาอยู่ที่นี่ จึงเรียกว่าหมู่บ้านสายไหม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ให้บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ขุดคลองบริเวณทุ่งหลวงตามโครงการทุ่งรังสิตเพื่อการชลประทาน หนึ่งในนั้นคือ “คลองหกวาสายล่าง” สิ้นสุดที่แม่น้ำนครนายก มีความยาว 61 กิโลเมตร
ในปี 2441 หม่อมราชวงศ์หญิงน้อยและหม่อมหลวงนุ่ม ถวายที่ดิน 7 ไร่ 35 ตารางวา ริมคลองหกวาสายล่าง เพื่อสร้างวัด เรียกกันว่า “วัดสายไหม” ตามชื่อหมู่บ้านแห่งนี้
ต่อมาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน และนายปรีดี พนมยงค์ ตราพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงเขตต์จังหวัดปทุมธานีและจังหวัดพระนคร พุทธศักราช 2484
โดยโอน ต.สายไหม อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ขึ้นกับ อ.บางเขน จ.พระนคร เพื่อประโยชน์แก่การปกครองและราชการทหาร ในเมื่อมีเหตุฉุกเฉินจำต้องทำการป้องกันเขตต์ปลอดภัยในราชการแห่งกองทัพอากาศและเพื่อความสะดวกของราษฎร
คลองหกวาสายล่างกลายเป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัด โดยที่วัดสายไหม ฝั่งทิศเหนือ อยู่ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี แต่โรงเรียนวัดสายไหม ฝั่งทิศใต้ เกิดขึ้นในปี 2484 ก่อนจะโอนย้ายตำบลสายไหมขึ้นกับ จ.พระนคร และอยู่ฝั่งกรุงเทพมหานครถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี 2490 กระทรวงมหาดไทยได้แบ่งพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ ต.สายไหม ตั้งเป็น ต.ออเงิน รวมพื้นที่บางส่วนของ ต.อนุสาวรีย์ และ ต.ตลาดบางเขน ตั้งเป็น ต.คลองถนน ก่อนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสุขาภิบาลอนุสาวรีย์
ปี 2514 จังหวัดพระนครถูกยุบรวมกับจังหวัดธนบุรี เปลี่ยนฐานะเป็นนครหลวงกรุงเทพธนบุรี กลายมาเป็นกรุงเทพมหานครในปี 2515 ต.สายไหม อ.บางเขน จ.พระนคร ก็เปลี่ยนแปลงฐานะเป็นแขวงสายไหม เขตบางเขน กรุงเทพฯ
เมื่อเขตบางเขนเจริญมากขึ้น และมีประชากรหนาแน่น กระทรวงมหาดไทยจึงแยกพื้นที่ 3 แขวงทางตอนเหนือของเขตบางเขน ได้แก่ แขวงสายไหม แขวงออเงิน และแขวงคลองถนน กลายมาเป็นเขตสายไหม เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2540
สำนักงานเขตสายไหม เดิมเป็นอาคารชั่วคราว ตั้งอยู่แถวๆ วัดเจริญธรรมาราม โดยมีโรงเรียนสายไหม (ทัสนารมย์อนุสรณ์) สถานีตำรวจนครบาลสายไหม และโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย 2 ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดสายไหม ฝั่ง จ.ปทุมธานี
แต่ต่อมา นายพุฒ นางลมัย นายนพดล เชื้อแก้ว และนางจำปา บุญหวาน บริจาคที่ดิน 4 ไร่ บริเวณถนนสุขาภิบาล 5 ตรงข้ามตลาดออเงิน เพื่อก่อสร้างสำนักงานเขต จึงได้ย้ายมาอยู่ที่ตั้งใหม่ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นมา
ส่วนพื้นที่บริเวณสำนักงานเขตสายไหมเดิม ปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ซ่อมบำรุงและควบคุมส่วนกลาง รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม สายสะพานใหม่-ลำลูกกา บนพื้นที่ 120 ไร่ ในพื้นที่เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร
สมัยก่อน เขตสายไหมเป็นแบบกึ่งเมืองกึ่งชนบท ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีหมู่บ้านจัดสรรกระจุกตัวบนถนนสายไหม ตั้งแต่ฝั่งซอยพหลโยธิน 54/1 หรือถนนเลียบคลองสอง อยู่ใกล้กับกองทัพอากาศ และถนนพหลโยธิน
ต่อมา นายสำราญ วิเศษสัจจา เปิด ตลาดวงศกร ขึ้น บนที่ดินเชื่อมระหว่างถนนสายไหมกับถนนสุขาภิบาล 5 ก่อนถึงสามแยกสายไหม-หทัยราษฎร์ ถัดออกมาจะเป็นถนนเฉลิมพงษ์ เส้นทางไปออกถนนลำลูกกา คลอง 4
ทำเลดังกล่าวกลายเป็นที่สนใจของ กลุ่มโรงพยาบาลเซ็นทรัลเยนเนอรัล ก่อสร้าง โรงพยาบาลสายไหม บนพื้นที่ 5 ไร่ ฝั่งถนนเฉลิมพงษ์ เมื่อปี 2546 เป็นอาคาร 7 ชั้น ขนาด 100 เตียง เพื่อรองรับลูกค้าจากหมู่บ้านต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันเขตสายไหมมีหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก มีห้างสรรพสินค้าและคอมมูนิตีมอลล์ขนาดย่อมเกิดขึ้นบนถนนสายไหม ถนนสุขาภิบาล 5 และถนนหทัยราษฎร์ มีโรงเรียนชื่อดังอย่างโรงเรียนสารสาสน์วิเทศสายไหม (เอกตรา 2)
แต่ก็พบว่า คนที่นี่นิยมใช้รถส่วนตัวในการเดินทาง เนื่องจากอยู่ใกล้ทางด่วน ได้แก่ ทางพิเศษฉลองรัช (เอกมัย-รามอินทรา-กาญจนาภิเษก) และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) ใกล้กองทัพอากาศและสนามบินดอนเมือง
ทำให้ทุกวันนี้ ถนนสายไหมและถนนสุขาภิบาล 5 การจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน ขณะที่ลักษณะทางกายภาพ ถนนสายไหมแม้จะมี 4 ช่องจราจรสวนทาง ก็ไม่เพียงพอต่อปริมาณรถยนต์จากบ้านจัดสรรที่มีจำนวนมากขึ้น
ในพื้นที่เขตสายไหมมีถนนสายหลัก 10 เส้นทาง ถนนสายไหมมีซอยรวมกัน 107 ซอย ถนนสุขาภิบาล 5 มีซอยรวมกัน 56 ซอย ถนนเพิ่มสินมีซอยรวมกัน 64 ซอย และถนนจตุโชติมีซอยรวมกัน 23 ซอย
กล่าวกันเฉพาะถนนสายไหม มีซอยเชื่อมกับถนนลำลูกกามีเพียง 2 แห่ง ได้แก่ ซอยสายไหม 39 (ซอยผ่องสุวรรณ) ออกด้านข้างวัดสายไหม ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าคูคต 1 กิโลเมตร และถนนเฉลิมพงษ์ ออกถนนลำลูกกา คลอง 4 เท่านั้น
ขณะที่ระบบขนส่งมวลชนที่คาดว่าจะทำหน้าที่เป็นฟีดเดอร์ ป้อนเข้าระบบรถไฟฟ้า พบว่าฝั่งสายไหมยังมีน้อย เมื่อเทียบกับฝั่งรังสิตหรือฝั่งลำลูกกาที่มีรถประจำทางผ่านสถานีรถไฟฟ้าโดยตรงมากกว่า
นับเฉพาะสถานีสะพานใหม่ มีรถประจำทางปรับอากาศ สาย 1009 สะพานใหม่-สำนักงานเขตสายไหม โดยมีบริษัท สยามเมล์ จำกัด รับสัมปทานเดินรถจากกรมการขนส่งทางบกโดยตรง จอดอยู่ที่ป้ายรถเมล์เก่าตลาดยิ่งเจริญ
จากตลาดยิ่งเจริญ ไปตามถนนพหลโยธิน ผ่านโรงพยาบาลภูมิพล ถึงแยก คปอ. เลี้ยวขวาเข้าถนนจันทรุเบกษา เลี้ยวซ้ายเข้าซอยพหลโยธิน 54/1 เลี้ยวขวาข้ามคลองสอง ไปยังถนนสายไหม ผ่านตลาดวงศกร ถึงแยกสายไหม-หทัยราษฎร์ เลี้ยวขวาเข้าถนนสุขาภิบาล 5 ผ่านเคหะชุมชนออเงิน ตลาดทรัพย์เจริญ แยกจตุโชติ ตลาดออเงิน สิ้นสุดที่สำนักงานเขตสายไหม
นอกนั้นเป็นรถสองแถว อาทิ สายเคหะ-เพิ่มสิน-เอื้ออาทรคลองถนน จากตลาดยิ่งเจริญ เข้าซอยพหลโยธิน 54/1 เลี้ยวขวาขึ้นสะพานเข้าถนนเพิ่มสิน วัดลุ่มเจริญศรัทธา บ้านเอื้ออาทรบางเขน (คลองถนน) สามแยกเพิ่มสิน-วัชรพล วัดอยู่ดีบำรุงธรรม เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสุขาภิบาล 5 ตลาดทรัพย์เจริญ เคหะชุมชนออเงิน สิ้นสุดที่ตลาดวงศกร
สายสะพานใหม่-ห้าแยกวัชรพล จากตลาดยิ่งเจริญ เข้าซอยพหลโยธิน 54/1 เลี้ยวขวาขึ้นสะพานเข้าถนนเพิ่มสิน วัดลุ่มเจริญศรัทธา บ้านเอื้ออาทรบางเขน (คลองถนน) เลี้ยวขวาเข้าถนนวัชรพล โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 75 โรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางเขน สิ้นสุดที่ห้าแยกวัชรพล
สายสะพานใหม่-วัดเกาะ-สำนักงานเขตสายไหม จากตลาดยิ่งเจริญ เข้าซอยพหลโยธิน 54/1 ผ่านสะพานเพิ่มสิน เลี้ยวขวาสะพานวัดเกาะ เข้าซอยพหลโยธิน 54/1 แยก 4 ผ่านวัดเกาะสุวรรณาราม เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเพิ่มสิน วัดอยู่ดีบำรุงธรรม เลี้ยวขวาเข้าถนนสุขาภิบาล 5 แยกจตุโชติ ตลาดออเงิน สิ้นสุดที่สำนักงานเขตสายไหม
ขณะที่คำบอกเล่าของคนที่อยู่ย่านนี้ระบุว่า คนที่นี่ยังจำเป็นต้องใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ส่วนตัว เพราะการเดินทางในซอยย่อยซึ่งเป็นเส้นทางลัดไปยังถนนต่างๆ ในเขตสายไหม ช่วยทุ่นเวลาได้มากกว่าการใช้บริการขนส่งสาธารณะ
ไม่รู้ว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม เคหะ-คูคต ที่จะเปิดให้บริการในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ จะเข้าถึงชาวสายไหม จูงใจเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้รถส่วนตัวมาเป็นรถไฟฟ้าได้มากน้อยขนาดไหน?