กิตตินันท์ นาคทอง Faceook.com/kittinanlive
นครสวรรค์ เป็นจังหวัดชุมทางสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นภาคเหนือตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 240 กิโลเมตร จากสะพานเดชาติวงศ์ เมื่อถึงสามแยกไฟแดงอุทยานสวรรค์แล้ว จะแยกออกเป็นสองสาย
สายแรก ถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าสู่กำแพงเพชร ตาก ลำปาง แยกซ้ายไปลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตรงไปมุ่งหน้าสู่ลำปาง และเชียงราย เหนือสุดในสยาม
อีกสายหนึ่ง ถนนสาย 117 ไปพิจิตร พิษณุโลก แยกซ้ายไปสุโขทัย แยกขวาไปเพชรบูรณ์ ตรงไปมุ่งหน้าสู่อุตรดิตถ์ แพร่ ถึงเด่นชัยแยกซ้ายไปลำปาง แยกขวาไปแพร่ ก่อนจะแยกซ้ายไปทะลุพะเยา เชียงราย หรือตรงไปจังหวัดน่าน
มีคำถามว่า ถ้าจะให้นึกถึงนครสวรรค์ จะนึกถึงอะไร?
ที่นิยมตอบกันก็คือ บึงบอระเพ็ด ทะเลสาบน้ำจืดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย, สะพานเดชาติวงศ์ ที่มักจะรถติดในช่วงเทศกาล และ ขนมโมจิ ขนมเปี๊ยะนมข้น ของฝากยอดนิยมเวลากลับกรุงเทพฯ บางคนเคยซื้อกัน 20-30 กล่องก็มี
ครั้งหนึ่งรายการ “เขาว่าอร่อย” เคยทดสอบชิมโมจิ 4 เจ้า ได้แก่ โมจิวัฒนพร โมจิเอ็มเอ็ม โมจิแม่กุหลาบ และโมจิจุฬา พบว่าโมจิแม่กุหลาบถูกจริตเรามากที่สุด ขณะที่ผู้ร่วมรายการอีก 3 คน เลือกเป็นโมจิเอ็มเอ็ม
แต่ก็มีแฟนรายการบอกกับเราว่า โมจิต้นตำรับของนครสวรรค์จริงๆ คือ “โมจิจันทร์สุวรรณ์” เกิดขึ้นในปี 2524 เริ่มต้นมาจากการทำขนมเปี๊ยะนมข้นมาใส่ขวดโหลแบ่งขายชิ้นละ 1 บาทที่หน้าร้าน กระทั่งได้รับความนิยมในเวลาต่อมา
ถึงกระนั้น โมจิที่แข่งขันกันมากที่สุด กลายเป็นโมจิทั้ง 4 เจ้า เพราะมีขายทั้งที่นครสวรรค์และบางครั้งยังพบในร้านของฝากตามเส้นทางภาคเหนือ คนที่ไม่ได้ติดใจยี่ห้อนั้นจริงๆ เวลาจอดรถลงไปซื้อ เห็นว่าเป็นขนมโมจิก็ซื้อ
แต่ตอนนี้ นครสวรรค์กำลังปั้นแลนด์มาร์คใหม่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว หลังจากที่ผ่านมาเริ่มถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ทางผ่าน ของยานพาหนะที่มุ่งหน้าสู่ภาคเหนือเท่านั้น ซึ่งเป็นผลพวงจากความเจริญของเส้นทางคมนาคม
หากไม่ทำอะไรเพื่อดึงดูดผู้มาเยือนเลย สักวันหนึ่งนครสวรรค์อาจกลายเป็น “เมืองอับ” ในอนาคต
แลนด์มาร์คแรก “พาสาน” (PASAN) สถาปัตยกรรมสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา มาจากคำว่า “ผสาน” คือ การรวมกัน แต่พาสานคือการพาคนเข้าไปสานให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างคน สถานที่ และสภาพแวดล้อม
เป็นการร่วมมือกันระหว่าง เทศบาลนครนครสวรรค์ กับประชาชนชาวนครสวรรค์และผู้สนใจ ร่วมบริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดิน 3 ไร่บนเกาะยม รวมทั้งมีเจ้าของที่ดินผู้ใจบุญบริจาค แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีพระพุทธรูปเจ้าแม่กวนอิมอยู่ด้วย
สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ ออกแบบโดย นายไกรภพ โตทับเที่ยง สถาปนิกรุ่นใหม่ ที่ส่งผลงานเข้าประกวดแล้วได้รับรางวัลชนะเลิศ ออกแบบให้เป็นสะพานโค้งมน แล้วมาบรรจบกันที่บริเวณหัวเกาะยม ที่แม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านไหลมารวมกัน
โดยฝั่งที่เป็นเนินด้านบนออกแบบเป็นโครงสร้างเหล็ก ส่วนฝั่งที่เป็นหัวเกาะยมออกแบบเป็นคอนกรีต รองรับได้แม้กระทั่งช่วงฤดูน้ำหลาก ที่บริเวณนี้มีน้ำท่วมถึงตลอดทั้งปี ก็ยังสามารถเข้าไปเที่ยวชมได้
แม้จะไม่ใช่หอคอยชมเมือง แต่ก็เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในนครสวรรค์ เมื่อตะวันลับขอบฟ้าลงมายังเขาหลวง เขตวนอุทยานเขาหลวง ทางทิศตะวันตกของจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีท้องน้ำเจ้าพระยาอยู่ตรงหน้า
ที่นี่เปิดตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 2 ทุ่มทุกวัน แต่ผู้คนนิยมมาที่นี่ช่วงเวลา 4-5 โมงเย็น เพื่อรอชมพระอาทิตย์ตกดิน ที่จะลับขอบฟ้าข้ามเขาหลวงเวลาประมาณห้าโมงเย็นเศษ ก่อน 6 โมงเย็น
การเดินทางมายังพาสานเข้าได้สองทาง คือ จากตัวเมืองนครสวรรค์ข้ามสะพานนิมมานนรดี (ข้ามแม่น้ำปิง) และจากถนนสายเอเชีย เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย 225 สามแยกบึงบอระเพ็ด-ชัยภูมิ ข้ามสะพานดุสิตาภูมิ (ข้ามทางรถไฟและแม่น้ำน่าน)
แม้ในขณะนี้โครงการพาสานยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากทางเข้าพาสานยังเป็นถนนลูกรัง ห้องน้ำยังทำไว้ชั่วคราว แต่ก็กำลังปรับปรุงสถานที่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนที่แห่งนี้มากขึ้น
แลนด์มาร์คอีกแห่งหนึ่ง “เกาะญวณ” เกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ เทศบาลนครนครสวรรค์ เนรมิตให้ลำน้ำบนเกาะญวณกลายเป็น “คลองชองเกชอนเมืองไทย” เช่นเดียวกับที่ประเทศเกาหลีใต้
โดยใช้วิธีก่อสร้างน้ำตกประดับไฟไล่ระดับสีอย่างสวยงาม นำน้ำที่ผ่านการบำบัดจากโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำต้นแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงมา พร้อมกับเลี้ยงพันธุ์ปลาคาร์ป ซึ่งเป็นปลาสวยงามเพื่อพิสูจน์ถึงคุณภาพน้ำที่ปล่อยออกมาอีกด้วย
เปรียบได้กับคลองชองเกชอน ในประเทศเกาหลีใต้ ที่เป็นคลองโบราณอายุกว่า 600 ปี ไหลผ่านกลางกรุงโซล เดิมเคยเป็นคลองน้ำเน่า แต่ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในปัจจุบัน
นักท่องเที่ยวนิยมเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจด้านในเกาะญวณ ถ่ายภาพมุมต่างๆ ของน้ำตกที่จัดแสงสีอย่างสวยงาม บ้างก็ให้อาหารปลา โดยมีชาวบ้านจำหน่ายถุงละ 10 บาท ถือเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของนครสวรรค์เวลานี้
การสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของนครสวรรค์ อย่างพาสานและเกาะญวณ ถือเป็นความพยายามที่จะฟื้นเมืองให้กลับมามีชีวิต หลังจากความคึกคักค่อยๆ จืดจางเพราะถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ทางผ่านเท่านั้น
ย้อนกลับไปสักเมื่อกว่า 60 ปีก่อน สมัยนั้นเส้นทางสู่ภาคเหนือมีเพียงถนนพหลโยธิน ผ่านสระบุรี ลพบุรี โคกสำโรง ก่อนจะเป็นถนนลูกรังไปถึงตาคลี แล้วเป็นถนนลาดยางเข้าเมืองชัยนาท แยกไปทาง อ.มโนรมย์ ก่อนจะเป็นถนนลูกรัง
รถยนต์ทุกคันที่ไปภาคเหนือต้องจอดแวะทานข้าวที่ชัยนาท พักค้างคืนที่นครสวรรค์ 1 คืน แล้วขับรถต่อไปยังกำแพงเพชร ด้วยสภาพทางที่ยิ่งกว่าทางเกวียน ค้างคืนที่ตากอีก 1 คืน ก่อนมุ่งหน้าไปเถิน ลำพูน และเชียงใหม่
กระทั่งปี 2515 เมื่อมีการเปิดใช้ถนนสายเอเชีย ซึ่งเป็นถนนตัดใหม่จากบางปะอินไปนครสวรรค์ ผ่านสิงห์บุรี อ่างทอง ย่นระยะทางได้มากกว่า 100 กิโลเมตร สร้างแบบฟรีเวย์หรือออโต้บาห์นโดยไม่ผ่านตัวเมือง
ทำให้เมืองชัยนาท ซึ่งแต่เดิมรถยนต์ที่ไปภาคเหนือทุกคันต้องผ่านจังหวัดนี้ กลายเป็นเมืองอับไปในที่สุด เพราะอยู่ห่างจากถนนสายเอเชีย 11 กิโลเมตร แม้ภายหลังจะโชคดีที่มีถนนสุพรรณบุรี-ชัยนาท เข้ามาเป็นอีกทางเลือกก็ตาม
มาถึงยุคนี้ มีถนนเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ (บายพาส) ไปกำแพงเพชร โดยไม่ผ่านสะพานเดชาติวงศ์มานานกว่า 10 ปี กระทั่งเมื่อ 3 ปีก่อนได้เปิดใช้ส่วนต่อขยาย ไปออกถนนสาย 117 (นครสวรรค์-พิษณุโลก) ระยะทางรวม 23 กิโลเมตร
ไม่นับรวมในอนาคต จะมีโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 5 จากบางปะอิน ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อ้อมเมืองนครสวรรค์ตั้งแต่อำเภอพยุหะคีรี โกรกพระ ไปโผล่แถวๆ บ้านบึงน้ำใส ทางตอนเหนือของนครสวรรค์
แม้นครสวรรค์จะมีแหล่งท่องเที่ยวตั้งแต่วัดคีรีวงศ์ หอชมเมืองนครสวรรค์ สวนสาธารณะขนาดใหญ่อย่างอุทยานสวรรค์ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ตั้งใจมาเยือนที่นี่จริงๆ ก็คงจะไม่ต่างไปจากเมืองชัยนาทที่เป็นเมืองอับ
การก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง หรือถนนมอเตอร์เวย์ในขณะนี้ การออกแบบแนวเส้นทางมักจะหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปในเขตเมืองหรือชุมชน หากพื้นที่ไหนไม่ปรับตัวก็จะกลายเป็นมุมอับ เพราะไม่มียานพาหนะผ่านทาง นอกจากคนที่ตั้งใจเข้ามาจริงๆ
ถือเป็นการบ้านให้จังหวัดหรืออำเภอต่างๆ ได้ศึกษาและพัฒนา ทั้งแลนด์มาร์คและของดีระดับพื้นที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในระยะยาว เพราะบทเรียนจากจังหวัดที่เคยรุ่งเรืองกลายมาเป็นมุมอับนั้นมีอยู่จริง