กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
พักนี้เราจะเห็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างคนรุ่นเก่า ที่มีบรรทัดฐานและขนบธรรมเนียมสืบทอดกันมา กับคนรุ่นใหม่ที่เห็นแย้งและไม่เชื่อว่าเป็นแบบนั้น ต้องการความเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่พวกเขาต้องการ
กลายเป็นความแตกแยกตั้งแต่ในสังคมลามมาถึงสถาบันครอบครัว ในครอบครัวที่มีแนวคิดทางการเมืองต่างกัน เราจะได้เห็นรุ่นลูกด่าพ่อแม่ว่าเป็นสลิ่ม เป็นไดโนเสาร์ กับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ด่าลูกว่าเป็นพวกชังชาติ พวกล้มสถาบัน ฯลฯ
ในโซเชียลมีเดีย เราจะเห็นคนรุ่นลูกบ่นกันในทวิตเตอร์ต่อๆ กันมาว่า พ่อแม่มักจะมีความเห็นทางการเมืองไปทาง ชอบดูทีวีฝั่งเชียร์รัฐบาล พอโต้เถียงกันหนักเข้าถึงขนาด ต่อพ่อตัดลูก ตัดแม่ตัดลูก หาเงินเรียนเอง ไม่ต้องมายุ่ง
ซึ่งเอาจริงๆ คนที่พ่อแม่มีลูกในวัยเรียน ถ้านึกเป็นห่วงลูกคงไม่มีใครใจไม้ไส้ระกำ ไล่ลูกออกจากบ้านเพราะเรื่องการเมืองหรอก (แต่ถ้ามีก็ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าเป็นยังไง) เพราะเท่าที่พบเห็น ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องผู้ชายเสียมากกว่า
เมื่อวันก่อนฟังรายการ “คุยได้คุยดี” ของ อ.วีระ ธีรภัทรานนท์ มีสายจากทางบ้านขอคำปรึกษาปัญหาครอบครัว ระบุว่า ตนสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนลูกชายวัย 30 ปี อยู่ฝ่ายตรงข้าม แต่ไม่ได้บอกว่าสนับสนุนใคร
ที่ผ่านมาเวลากินข้าวด้วยกันก็กินไม่ได้ เพราะลูกชายมักจะบ่นเรื่องการเมืองจนต้องเดินหนี เวลาดูทีวี จะดูข่าวจากช่องโทรทัศน์ที่ตนเองชื่นชอบ แต่ไม่ได้บอกว่าช่องอะไร ลูกชายก็มักจะไม่ให้ตนดูทีวี
กระทั่งมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.สมุทรปราการ เขต 5 ตนและลูกอีก 2 ไปลงคะแนน ส.ส. กลับมาต่างคนต่างไม่บอกว่าลงคะแนนให้ใคร เมื่อฟังผลการเลือกตั้ง นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ชนะการเลือกตั้ง
ปรากฏว่า ลูกชายด่าทอว่ามีการโกงการเลือกตั้ง พ่อเสียใจมากถึงขั้น “ตัดลูกตัดพ่อ”
ในวันนั้น อ.วีระ แนะนำว่า เรื่องแบบนี้จะตัดลูกตัดพ่อไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งคือการไปเลือกใครเป็น ส.ส. แนะว่าให้ทำตัวเป็นปกติ เราก็ว่าของเราไป ส่วนเรื่องดูทีวีไม่ได้ก็ไปหาทางดู ถ้ามีห้องเป็นของตัวเอง ให้ซื้อโทรทัศน์มาดูที่ห้องคนเดียว
ถ้ากินข้าวด้วยกันไม่ได้ก็ไม่ต้องกินชั่วคราว ถ้าลูกชายบ่นก็อย่าไปฟัง ไปกินที่อื่น ให้ใช้วิธีนานาสังวาส ต่างคนต่างอยู่ ไม่ต้องมานั่งถกเถียงกัน เราไม่เปลี่ยนเขา เขาก็ไม่ต้องมาเปลี่ยนเรา ต่างคนต่างคิด อย่ามาล่วงล้ำก้ำเกินกัน
ก่อนหน้านี้ในรายการ อ.วีระแนะนำเรื่อง “เอาบ้านไปฝากออมสิน” แล้วเอาเงินมาใช้ ปรากฎว่าปลายสายถามถึงเรื่องนี้ อ.วีระก็แนะนำให้ทำแบบนั้น เพราะเราเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เราจะทำยังไงกับทรัพย์สินก่อนตายก็เรื่องของเรา
“ของเรา ไม่ต้องรอเราตาย เรารู้อยู่แล้วว่าเอาไปไม่ได้ตอนตาย ระหว่างนี้เราจะใช้ประโยชน์จากมัน เราไม่อยากขาย เรื่องของเรื่องเราจะอยู่ แต่จะอยู่แบบไม่เช่าแค่นั้น อยู่แบบเป็นบ้านของกู ในระหว่างที่กูยังมีชีวิตอยู่
แต่เมื่อกูตายไปแล้วก็มีค่าเท่ากัน จะเป็นของเจ้าหนี้หรือของลูกก็ช่างมัน เรื่องของเขา แต่ระหว่างทางเราแฮปปี้แล้ว บ้านมูลค่า 3 ล้าน อาจจะได้เงิน 20,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 15 ปี บวกลบคูณหารใกล้ตายพอดี แต่ออนเดอะเวย์แฮปปี้
คนที่ไม่มีบำนาญ ไม่ได้รับราชการ เราไม่มีสักบาท เราก็ต้องหาทางทำให้เหมือนมีบำนาญดีกว่า ... โลกจะแตก ฟ้าจะทลาย กูจะใช้เงินของกูให้หมดเลย ถ้าเลิกทำงานเมื่อไหร่จะใช้เงินให้จั๋งหนับบุเรงนองเสียที”
บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องตลกทางวิทยุ บางคนไม่เห็นด้วยที่ อ.วีระ แนะนำแบบ “หักด้ามพร้าด้วยเข่า” ไปแบบนั้น แต่ก็มีคนสงสัยว่า ธนาคารมีสินเชื่อสำหรับผู้สูงอายุแบบนั้นด้วยเหรอ?
ต้องบอกก่อนว่า การเอาบ้านไปฝากออมสินที่ อ.วีระแนะนำเรียกว่า “สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ” หรือ Reverse Mortgage โดยการนำบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่ปลอดภาระไปจำนองกับธนาคาร
สินเชื่อประเภทนี้เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกามานานแล้ว มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีบ้าน แต่ไม่มีเงิน ให้นำบ้านไปกู้เงิน เพื่อให้มีเงินไว้ใช้ในการครองชีพ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินในครัวเรือน
เมื่อผู้สูงอายุเสียชีวิต สถาบันการเงินจะให้ลูกหลานหรือทายาทเป็นผู้ไถ่ถอนก่อนเป็นอันดับแรก ถ้ามีเงินไถ่ถอนบ้านก็จะตกเป็นของทายาท แต่ถ้าไม่มีใครเอา หรือไม่มีเงินไปไถ่ถอน บ้านก็จะตกเป็นของสถาบันการเงิน เอาไปขายทอดตลาดอีกที
เมื่อไม่นานมานี้ มีบางธนาคารในประเทศไทยได้เริ่มเปิดให้บริการสินเชื่อประเภทนี้ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่จะมีมากถึง 20% ของคนไทยทั้งประเทศในปี 2564 และมีแนวโน้มที่จะอายุยืนมากขึ้น ทำให้เงินที่ใช้ในยามบั้นปลายชีวิตไม่พอ
แต่ดูเหมือนว่าจะมีเฉพาะธนาคารของรัฐ อย่างธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วงเงินให้กู้สูงสุดรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท ระยะเวลาการกู้สูงสุดไม่เกิน 25 ปี และอายุผู้กู้ไม่เกิน 85 ปี
คุณสมบัติเบื้องต้นก็คือ ผู้กู้ต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 80 ปี ต้องเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุดแต่เพียงผู้เดียวโดยปลอดภาระจำนอง ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และต้องอยู่อาศัยตลอดช่วงระยะเวลาที่ได้รับเงินกู้
อีกอย่างหนึ่ง คือ ต้องไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ และต้องสามารถรับภาระค่าใช้จ่าย หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการขอสินเชื่อกับธนาคารได้
ในกรณีที่มีผู้ร่วม ธนาคารออมสินให้กู้ร่วมได้เฉพาะคู่สมรสตามกฎหมาย โดยคู่สมรสต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป สูงสุดไม่เกิน 80 ปี ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้กู้ร่วมได้เฉพาะคู่สมรสตามกฎหมาย หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
ธนาคารออมสิน จะให้กู้ได้ไม่เกิน 60% ของราคาประเมินหลักทรัพย์ สำหรับที่ดินพร้อมอาคารและห้องชุด แต่ถ้าอยู่ในโครงการจัดสรรตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน หรือในกรุงเทพฯ อำเภอเมือง เทศบาลนคร เทศบาลเมือง จะให้กู้ได้ไม่เกิน 70%
ที่ดินพร้อมอาคารที่จะจำนองต้องตั้งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพ มีสภาพคล่องสูง อยู่ในแหล่งชุมชนที่มีความเจริญ มีสาธารณูปโภคที่จำเป็น มีทางสาธารณประโยชน์ซึ่งรถยนต์ผ่านเข้า-ออกได้สะดวก ไม่ตั้งอยู่บนที่ดินที่เป็นที่สวน ที่ไร่ หรือที่นา
ส่วนห้องชุด ต้องเป็นห้องชุดในอาคารชุด ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด ราคาประเมินไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กำหนดพื้นที่นำร่องหลักประกันต้องตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น
การจ่ายเงินกู้นั้น ธนาคารจะจ่ายเงินกู้ให้ผู้กู้ที่เป็นผู้สูงอายุทุกเดือน ถ้าเป็นธนาคารออมสินจะมีอีกตัวเลือกหนึ่ง คือ ให้เงินก้อน 10% ของวงเงินกู้ในงวดแรก จากนั้นจะจ่ายเงินกู้ให้ทุกเดือน
เมื่อครบกำหนดสัญญา (อายุ 85 ปี) แล้วผู้กู้ยังมีชีวิตอยู่ บางธนาคารจะหยุดจ่ายเงินกู้และคิดดอกเบี้ยจนกว่าจะได้รับการชำระหนี้ปิดบัญชี แต่บางธนาคารสามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนด
เมื่อผู้กู้เสียชีวิต ธนาคารจะให้สิทธิทายาทชำระหนี้เพื่อปิดบัญชี แต่ถ้าไม่มี จะนำบ้านหรือห้องชุดไปขายทอดตลาด หากขายได้สูงกว่ายอดหนี้จะคืนส่วนต่างให้ทายาท แต่ถ้าต่ำกว่า ธนาคารจะรับผิดชอบส่วนต่างทั้งหมด
สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เหมาะกับพ่อแม่ที่มีลูกหลาน แล้วลูกหลานไปมีครอบครัว แยกย้ายกันไปอยู่ที่อื่น แทนที่จะยกให้ลูกหลานซึ่งบางทีไม่ต้องการ ก็นำไปกู้ธนาคารเหมือนฝากขายล่วงหน้า เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในบั้นปลายชีวิต
แต่ยังมีข้อจำกัดก็คือ ธนาคารจะรับจำนองเฉพาะบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ จังหวัดหัวเมืองหรือเขตเทศบาลเมือง ที่ชื่อผู้กู้เป็นผู้ที่อยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น ซึ่งคนที่ถือครองทรัพย์เหล่านั้นล้วนแล้วแต่ผู้ที่มีอันจะกิน
สังคมเมืองทุกวันนี้ ครอบครัวขยายที่มีเครือญาติตั้งแต่ 3 ชั่วคนขึ้นไปมีน้อยลง นอกเสียจากเป็นตระกูลใหญ่ มีแต่ครอบครัวเดี่ยวที่มีพ่อแม่ลูก พอลูกโตขึ้นส่วนหนึ่งก็แยกไปอยู่หอ ถ้ามีทางไปก็แยกไปซื้อบ้านใหม่ สร้างครอบครัวใหม่
ดูเหมือนว่าธนาคารที่ลงมาทำโครงการนี้จะเป็น “ธนาคารของรัฐ” เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ยังไม่เห็นธนาคารพาณิชย์รายใด ลงมาปล่อยสินเชื่อตรงนี้ เพราะมีความเสี่ยงจากมูลค่าการขายทอดตลาดในอนาคต
แต่เมื่อไม่มีทายาทมาปิดบัญชี ธนาคารจะได้บ้านและห้องชุดขายทอดตลาดในทำเลที่มีศักยภาพ ลงทุนเพียงแค่ปล่อยสินเชื่อให้กับเจ้าของเพียงแค่ 60-70% ของราคาประเมินหลักทรัพย์เท่านั้น และที่ดินในเมืองเริ่มมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ
คำกล่าวทำนองว่า เงินทองหรือทรัพย์สินเป็นของนอกกาย ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จึงเป็นทางออกที่ดีระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับที่สุด ตราบใดที่ยังมีความเชื่อว่าตายไปแล้ว ทรัพย์สินจะต้องตกเป็นของลูกหลาน
นอกจากจะนำบ้านไปฝากธนาคารแล้ว คนที่จะตัดพ่อตัดลูก ตัดแม่ตัดลูก อีกวิธีก็คือ “ทำพินัยกรรม” ว่าตายแล้วจะให้จัดการศพอย่างไร หรือจะยกทรัพย์สินให้ใคร ตัดลูกที่แยกทางกันออกจากกองมรดกไป
พินัยกรรมไม่ใช่ว่าจะทำได้ครั้งเดียวเสียเมื่อไหร่ ถ้าวันไหนลูกกลับมาแล้วทำตัวดีๆ พ่อแม่ยังมีโอกาสกลับมาแก้ไขพินัยกรรมได้ โดยที่พินัยกรรมฉบับหลังจะทับกับพินัยกรรมฉบับแรก แต่ถ้าพ่อแม่ตายไปยังไม่ได้แก้ไขพินัยกรรมก็ตัวใครตัวมัน
ย้อนกลับมาที่แนวคิด อ.วีระ ที่จะให้บุพการีที่ยอมถูกตัดพ่อตัดลูก ตัดแม่ตัดลูกเพราะเรื่องการเมือง นำบ้านไปฝากธนาคาร แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นทางออกที่ไม่ค่อยเข้าท่า แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ความคิดคนรุ่นใหม่ “เปลี่ยนไป” แล้ว
สมัยก่อนความแตกแยกทางการเมือง ยังพอมีบรรทัดฐานและขนบธรรมเนียมในอดีต แต่มาถึงยุคนี้ คนรุ่นใหม่เชื่อมั่นในตัวเอง กับคนที่สร้างแรงบันดาลใจและมองเห็นอนาคต ไม่เชื่อในสิ่งที่เขามองว่าล้าสมัยและรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม
ทางออกแบบ “โลกไม่สวย” ท่ามกลางความขัดแย้งแบบนี้ จึงเป็นสิ่งที่อาจหลีกเลี่ยงได้ยาก คำพูดที่ว่า “ค่อยๆ พูดค่อยๆ จากัน” เป็นคำพูดแบบขอไปที แต่ก็พยายามมองโลกในแง่ดีว่า ไม่มีใครฆ่ากันตายเพราะเรื่องการเมืองก็ดีเท่าไหร่แล้ว
คงไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการแก้ปัญหาความแตกแยกทางการเมืองในครอบครัว แต่ลึกๆ แล้วเชื่อว่าความเป็นพ่อลูก ความเป็นแม่ลูกตัดกันไม่ขาด ทางที่ดีให้เขาเรียนรู้เรื่องการเมืองของเขาเอง ถ้าลูกเป็นอะไรไป พ่อแม่ค่อยออกมาช่วย
ส่วนลูกที่มีฐานะดีกว่าพ่อแม่ที่เป็นวัยสูงอายุ ยังมีความเชื่อลึกๆ ว่าสังคมไทยไม่ต้องการให้ถึงขนาดผลักไสพ่อแม่ออกจากครอบครัวเพราะเรื่องการเมือง เพราะถ้าเป็นแบบนั้นจริง สังคมจากอีกฝ่ายจะออกมาประณามให้แทบไม่มีที่ยืน
จากประสบการณ์ส่วนตัว อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองกับคนในบ้านมานานกว่า 15 ปี ไม่สนับสนุนให้ตัดพ่อตัดลูก ตัดแม่ตัดลูกเพราะเรื่องการเมือง แต่ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะด้วยการ “ต่างคนต่างอยู่”
เช่นเดียวกับเวลาที่เพื่อนร่วมงาน หรือร่วมสังคมบ่นเรื่องการเมือง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็เป็นผู้ฟังที่ดี แย้งแต่พองาม โดยไม่ต้องไปเถียง เพราะเถียงอย่างไรเขาก็ไม่เชื่อ ออกจะรำคาญเราด้วยซ้ำ
คิดเสียว่าทุกคนต่างมีความคิด มีชีวิตเป็นของตัวเอง และเราก็ไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตใคร