xs
xsm
sm
md
lg

เยือน “เมืองโคราช” หลังคลายล็อก และฝันร้ายเมื่อวันวาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

นับตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา เมืองโคราช จ.นครราชสีมา ศูนย์กลางของจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย และเป็นหัวเมืองเศรษฐกิจหลัก ถือว่าผ่านเรื่องราวบอบช้ำมากที่สุด

เริ่มต้นจากโศกนาฎกรรม "เหตุกราดยิง" กลางเมืองโคราช เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 มีผู้เสียชีวิตมากถึง 30 ราย บาดเจ็บ 57 คน เป็นที่จับตามองและลุ้นระทึกของคนไทยทั้งประเทศ ตลอดระยะเวลากว่า 15 ชั่วโมง

หลังเหตุการณ์สงบลง คนโคราชต่างออกมาแสดงพลังที่ลานย่าโม อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี นอกจากจะจุดเทียนไว้อาลัยผู้เสียชีวิต และขอขมาต่อท้าวสุรนารีหากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ล่วงเกินแล้ว ยังมีกิจกรรมคอนเสิร์ตพลังบวกเพื่อฟื้นฟูจิตใจอีกด้วย

แม้จะเป็นเรื่องที่สลดหดหู่ แต่ชีวิตยังคงต้องเดินต่อไป หลังศูนย์การค้าใจกลางเมืองโคราชได้รับการฟื้นฟู และทำบุญใหญ่เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ผู้คนต่างก็เริ่มออกมาใช้ชีวิต จับจ่ายใช้สอยกันตามปกติ

เหตุสลดยังไม่ทันจางหาย การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จังหวัดนครราชสีมาเริ่มมีผู้ติดเชื้อจากนักศึกษาที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ แม่ค้าจากปอยเปต ประเทศกัมพูชา และนักการเมืองท้องถิ่นที่ไปสนามมวยลุมพินี

นำไปสู่การออกคำสั่งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ปิดสถานบันเทิง สถานบริการ สนามม้า สนามชนไก่ งดกิจกรรมรวมตัวกัน การแสดงคอนเสิร์ต ประชุมสัมมนาต่างๆ ตามมาด้วยสั่งปิดห้างสรรพสินค้าทุกแห่งในพื้นที่ และสั่งปิดโรงแรมที่พัก

หนำซ้ำ รัฐบาลยังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์ ห้ามออกนอกเคหะสถานตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตี 4 แถมยังมีคำสั่งระงับการเดินรถโดยสารประจำทางไปกรุงเทพฯ รถทัวร์หมวด 3 ข้ามภูมิภาค และงดเดินรถไฟทางไกลอีก

เมืองโคราช ประตูสู่ภาคอีสานที่เคยคึกคัก กลับเงียบเหงาลงไปถนัดตา เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ถือเป็นวิกฤตที่หนักที่สุด เมื่อเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา


เมื่อรัฐบาลออกมาตรการผ่อนคลายด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต มาตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2563 กระทั่งยกเลิกเคอร์ฟิว และอนุญาตให้เดินทางข้ามเขตจังหวัดได้ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 ผู้คนต่างก็เริ่มออกมาใช้ชีวิตตามปกติ

ก่อนหน้านี้เคยมีสัญญาใจกับตัวเองว่า หลังเหตุการณ์กราดยิงผ่านพ้นไปแล้ว จะหาเวลาไปเยือนเมืองโคราชสักครั้ง แต่สถานการณ์โควิด-19 ที่ต้อง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ก็ทำให้แผนที่คิดอยู่ในหัวก็ต้องถูกระงับลงไปก่อน

แต่มาตรการผ่อนคลายระยะที่ 5 ที่เปิดให้ทำกิจการและกิจกรรมทุกประเภท ภายใต้มาตรการตามหลัก “ชีวิตวิถีใหม่” (New Normal) ทำให้เราเริ่มเห็นประชาชนออกมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติกันบ้างแล้ว

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว วันอาสาฬหบูชา และในปีนี้ให้เพิ่มวันเข้าพรรษา รวม 4 วัน ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้มาเยือนเมืองโคราชตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก


การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา ยังคงใช้บริการรถทัวร์จากสถานีขนส่งหมอชิต 2 เป็นหลัก ปัจจุบันค่าโดยสารอยู่ที่ 209 บาท โดยมีผู้ให้บริการอยู่ 4 เจ้า คือ แอร์โคราชพัฒนา เชิดชัยโคราช สุรนารีแอร์ และ นครชัย 21

แม้จะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ แต่ก็จำกัดเที่ยววิ่งลง จากเดิมมีรถให้บริการ 24 ชั่วโมง เหลือแต่เช้าจรดค่ำ เนื่องจากยังมีผู้โดยสารใช้บริการในจำนวนน้อย อีกทั้งก่อนหน้านี้กรมการขนส่งทางบก บังคับให้ขายตั๋วแบบเว้นที่นั่ง

กระทั่งมาตรการคลายล็อกระยะที่ 5 อนุญาตให้ขายที่นั่งแบบคู่ได้ สำหรับคนที่เดินทางมาด้วยกัน แต่ต้องไม่เกิน 70% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด บางบริษัทจึงเริ่มเพิ่มเที่ยววิ่งขึ้นมาบ้าง แต่ก็ถือว่ายังไม่เต็มรูปแบบนัก

ยิ่งถ้าเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาแห่งที่ 2 (บขส. 2) รถทัวร์ แอร์โคราชพัฒนา มีให้บริการ ถึง 2 ทุ่มเท่านั้น หากผู้โดยสารเต็มเร็วก็จะออกก่อนกำหนด รออีกทีก็รอบตี 2 - ตี3 กับ 6 โมงเช้า คงต้องค้างคืนไปก่อน

ยังเหลือ เชิดชัยโคราช ของ ดร.อัสนี เชิดชัย ทายาทเจ๊เกียว-สุจินดา เชิดชัย มีรถทัวร์เข้ากรุงเทพฯ เที่ยวสุดท้าย 3 ทุ่ม หลายคนอาจมีภาพจำเกี่ยวกับรถเจ๊เกียว แต่เดี๋ยวนี้เขาพัฒนาขึ้น รถทัวร์ใหม่เอี่ยม เบาะนั่งมีช่องเสียบ USB ไว้ชาร์จแบตเตอรี


การบริการรถทัวร์แบบนิวนอร์มัลยุคนี้ จากเดิมจะแจกน้ำดื่ม แจกขนมปัง แจกผ้าเย็น ตอนนี้เหลือเฉพาะผ้าเย็น แต่ก็มีบางบริษัทที่แจกน้ำดื่มก่อนขึ้นรถ และต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง

ทีแรกตั้งใจว่าจะเดินทางแบบเช้าไป-เย็นกลับ ปรากฎว่าเมื่อเดินทางจริง เที่ยวไปนั่งแอร์โคราชพัฒนา ออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 เวลา 09.10 น. ถึงจุดลงรถเดอะมอลล์ โคราช 13.20 น. กินเวลากว่า 4 ชั่วโมงเศษ

สาเหตุหลักเพราะรถมากเคลื่อนตัวช้า เนื่องจากการก่อสร้างถนน เช่น บริเวณประตูน้ำพระอินทร์ ทางแยกต่างระดับบางปะอิน รวมทั้งบริเวณโครงการถนนวงแหวนรอบเมือนครราชสีมา ที่มีการทำถนนใหม่ฝั่งถนนมิตรภาพอีกต่างหาก

ส่วนขากลับ ออกจาก บขส. 2 โคราช เวลา 21.00 น. ถึงหน้าศูนย์บริการนครชัยแอร์ กรุงเทพฯ 00.40 น. ใช้เวลารวม 3 ชั่วโมง 40 นาที เพราะในวันนั้นตั้งแต่ถนนมิตรภาพ ถึงถนนพหลโยธินมีฝนตกตลอดทาง จึงทำความเร็วได้ช้า

(ที่แนะนำให้ลงหน้านครชัยแอร์ เพราะมีวินรถแท็กซี่จอดเรียงกันอยู่ คิดราคาตามมิเตอร์ ดีกว่าไปเสี่ยงดวงที่หมอชิต 2 อาจจะเจอแท็กซี่ที่เรียกราคาเหมาแพงหูฉี่ แบบขูดรีดเลือดเนื้อคนอื่น)

ในความเป็นจริง รถทัวร์สายอีสานทำความเร็วได้ไม่เกิน 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะตำรวจทางหลวงเข้มงวด ทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปโคราช ถ้าไม่ใช่ช่วงเทศกาลจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 40 นาที ถึง 4 ชั่วโมง 30 นาที

การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปโคราชแบบ “เช้าไป-เย็นกลับ” อาจไม่เวิร์ค นอกเสียจากว่าจะพักค้างคืน ซึ่งปัจจุบันโรงแรมในจังหวัดนครราชสีมาเริ่มทยอยกลับมาให้บริการแก่นักท่องเที่ยวแล้ว

ส่วนใครที่คิดจะนอนบนรถทัวร์ก็นอนได้เลย เพราะรถทัวร์ทุกเจ้ามีบริการผ้าห่มให้ แต่หมอนต้องไปถอยเอาเอง!


แลนด์มาร์คหลักของเมืองโคราชคือ “ลานย่าโม” สถานที่สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือ "ท้าวสุรนารี" วีรสตรีผู้กอบกู้เมืองนครราชสีมาในประวัติศาสตร์ชาติไทย ศูนย์รวมจิตใจของคนโคราชและพี่น้องภาคอีสาน

ช่วงนี้บริเวณลานย่าโมอาจจะดูวุ่นวายไปบ้าง เนื่องจากขณะนี้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ แต่ก็มีประชาชนเดินทางมาสักการะ ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกันอย่างไม่ขาดสาย และยังมีช่างภาพบริการถ่ายรูปใส่กรอบให้อีกด้วย

ฝั่งตรงข้ามลานย่าโม มีร้านกาแฟอยู่ 2 ร้าน ร้านหนึ่งคือ “คาเฟ่ อเมซอน” เดิมคือ "ร้านหมอยาพลาซ่า" ซึ่งเป็นร้านขายยาชื่อดังกลางเมืองโคราช แต่ได้ขยายสาขาไปยังชุมชนต่างๆ ในเมืองเพื่อสู้ศึกกับกลุ่มทุนค้าปลีกยักษ์แทน

อีกร้านหนึ่งคือ “คลาส คาเฟ่” สาขาเฉลิมวัฒนา หน้าโครงการ เรือนโคราช-เฉลิมวัฒนา เดิมคือร้านเมซโซ่ แต่ได้ย้ายออกไป กระทั่งนักธุรกิจคนโคราชอย่าง “มารุต ชุ่มขุนทด” มาเปิดร้านคลาส คาเฟ่ ในรูปแบบ 24 ชั่วโมง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา

เดิมร้านคลาส คาเฟ่ ทดลองให้บริการในรูปแบบ 24 ชั่วโมงครั้งแรกที่สาขาวัดบูรพ์ในปี 2559 เมื่อได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงได้ขยายรูปแบบ 24 ไปยังสาขาอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.), ขอนแก่น, บุรีรัมย์, อุดรธานี

แม้จะเคยอาศัยคลาสวัดบูรพ์นั่งเล่นยามค่ำคืน เพราะรอนัดหมายในตอนเช้า แต่เอาเข้าจริงถ้าไม่มีรถส่วนตัว การเดินเท้าจากลานย่าโมไปยังคลาสวัดบูรพ์ ถือว่าไกลและเปลี่ยวมาก แถมยังต้องเจอสุนัขเจ้าถิ่นคอยเห่าอยู่เรื่อย


การที่คลาส คาเฟ่ มาเปิดสาขาในรูปแบบ 24 ชั่วโมงที่นี่ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะบริเวณลานย่าโม ถ้าสถานการณ์ปกติ ที่ไม่มีการประกาศเคอร์ฟิว ก็มีผู้คนออกมาทำกิจกรรมนันทนาการ และนั่งเล่นกันเป็นประจำทุกค่ำคืนอยู่แล้ว

ก่อนหน้านี้เคยมีโอกาสเยี่ยมชมโครงการเรือนโคราช-เฉลิมวัฒนา ซึ่งแต่เดิมเป็นโรงภาพยนตร์เฉลิมวัฒนา ได้ปรับปรุงโดยจำลองบ้านโบราณอายุมากกว่า 100 ปี ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าเที่ยวชมและศึกษา

น่าเสียดายที่เรือนโคราช-เฉลิมวัฒนา ปิดให้บริการชั่วคราว เพราะยังมีข้อจำกัดในการคัดกรองผู้เข้าชม และดูแลพื้นที่ให้ปลอดเชื้อตลอดเวลา ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นลูกค้าซื้อกาแฟร้านคลาส คาเฟ่ สามารถนำแก้วมาแสดงเพื่อเข้าชมฟรีได้เลย

จริงๆ ร้านกาแฟที่มีชื่อเสียงของโคราชยังมี “ร้านกาแฟฮูย่า” แต่อยู่บนถนนสรรพสิทธิ์ ห่างจากสถานีตำรวจประมาณ 400 เมตร ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมจีน กาแฟเย็นที่นี่จะเหมาะกับคนที่ชอบรสชาติหวานมัน และขนมปังปิ้ง

ฝั่งตรงข้ามลานย่าโมยังมีร้านของฝากอยู่ 2-3 ร้าน มีทั้งหมูหยอง หมูแผ่น กุนเชียง ชุดผัดหมี่โคราช ฯลฯ แต่ถ้าคนมีรถ จะจอดแวะซื้อที่ร้านขายของที่ระลึกมากกว่า เช่น ร้านปึ่งหงี่เชียง แถวสี่แยกปักธงชัย หรือศูนย์เจ้าสัว ถนนมิตรภาพ

ที่เมืองโคราชมีร้านอาหารเปิดให้บริการที่หลากหลาย ตั้งแต่อาหารจีน เช่น ภัตตาคารเสี้ยวเลี้ยว ยันสตรีทฟู้ดที่มีกระจายทั่วเมือง แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มักจะทานอาหารนอกบ้านและชอปปิ้งตามศูนย์การค้าต่างๆ ที่อยู่รอบทิศ

ร้านสตรีทฟู้ดที่เคยมาชิม ร้านแรก “ข้าวมันไก่รักกาแฟ” มีอยู่สองร้าน ร้านแรกคือ “เฮียเอ้” ข้างห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า อัษฎางค์ เปิดมานานกว่า 60 ปี กับอีกร้านหนึ่งคือ “เฮ้ยเบ้” อยู่หน้าปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา

เมนูเด็ดของร้านนี้คือข้าวมันไก่ ที่ข้าวมันร่วนกำลังดี ไม่แฉะ เนื้อไก่หั่นชิ้นพอดีคำ ไม่ทุบให้แบน พร้อมกับน้ำจิ้มข้าวมันไก่รสชาติเผ็ดๆ เค็มๆ และยังมีหมูสะเต๊ะ รสชาติหอมมัน ร้านนี้เปิดขายในช่วงเช้าจรดบ่าย


แต่ถ้าใครคิดถึงมื้อเย็น ร้านข้าวมันไก่รักกาแฟ เฮ้ยเบ้ ยังมีขายที่ ศูนย์อาหาร PIER 21 ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช มีให้เลือกระหว่างธรรมดา 38 บาท พิเศษ 48 บาท ตามไปชิมกันได้จนถึงช่วงค่ำของทุกวัน

อีกร้านหนึ่งก็คือ “ขั่วหมี่โคราชป้าอ้อม” ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ บริเวณชุมชนบ้านพักทหารหนองบัวรอง เป็นร้านผัดหมี่โคราชที่รสชาติถึงเครื่อง เลือกระดับความเผ็ดได้ตั้งแต่อนุบาล คือเผ็ดน้อย ยันปริญญาใจ คือเผ็ดที่สุด

ตอนนั้นสั่งแบบเทคโฮมกับเพื่อนคนโคราช เพื่อไปรับประทานที่อื่น ทีแรกคิดว่าผัดหมี่โคราชที่ไหนก็เหมือนกัน ไม่คิดว่าจะต้องเลือกระดับความเผ็ด ปรากฎว่าพอรับประทานเข้าจริง แม้จะอร่อยแต่ก็เผ็ดแบบน้ำหูน้ำตาไหลไม่น้อย

เพื่อนคนโคราชสารภาพว่า “ลืมบอกป้าอ้อมให้ทำแบบเผ็ดอนุบาล” ...


การแข่งขันด้านศูนย์การค้าจากกลุ่มทุนใหญ่ 3 แห่ง ระหว่าง ศูนย์การค้าเดอะมอลล์โคราช ของกลุ่มเดอะมอลล์ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช และ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ของกลุ่มเซ็นทรัล ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

เดอะมอลล์โคราช จุดลงรถจุดใหญ่ของรถทัวร์สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะมีอายุครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ก่อนหน้านี้ผ่านการรีโนเวตไปหลายครั้ง สร้างอาคารใหม่และเพิ่มแมกเนตเพิ่มเติมด้านทิศตะวันออก

ท่ามกลางการแข่งขันกับอีกสองศูนย์การค้าที่เหลือ เดอะมอลล์จึงเนรมิตพื้นที่ชั้น 2 อาคารใหม่ 4,800 ตารางเมตร ให้กลายเป็น “โคราช เอาท์เล็ต” แหล่งรวมสินค้ากีฬา แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ดึงแบรนด์กีฬาชื่อดังอย่างอาดิดาส ไนกี้ เอสิค


ล่าสุด มีร้าน ดีแคทลอน (Decathlon) สโตร์สินค้าอุปกรณ์กีฬาสัญชาติฝรั่งเศส เปิดเป็นสาขาแรกในภาคอีสาน ต่อจากภาคเหนือ สาขาหางดง กับสาขาประตูท่าแพ (คลิกแอนด์คอลเลคท์) ภาคตะวันออก สาขาพัทยา และภาคใต้ สาขาภูเก็ต

เท่าที่สังเกต ดีแคทลอน โคราช มีพื้นที่เล็กกว่าสาขาอื่น ซึ่งเช่าพื้นที่ในห้างเทสโก้ โลตัส แต่ก็มีสินค้าให้เลือกพอๆ กับสาขาในกรุงเทพฯ ด้านนอกติดกับสวนน้ำแฟนตาเซีย ลากูน จะมีพื้นที่เล่นสเกต ฟุตซอล และเครื่องออกกำลังกายให้ทดลองใช้

จุดแข็งของดีแคทลอนก็คือ มีสินค้ากีฬามากกว่า 60 ประเภท จาก 20 แบรนด์ย่อย เช่น คาเลนจิ (Kalenji) สำหรับกีฬาวิ่ง หรือ เคชัว (Quechua) อุปกรณ์เดินป่า จำหน่ายในราคาถูกกว่าแบรนด์ชื่อดังประมาณ 20%

ถือเป็นข่าวดีของสมาชิกดีแคทลอนที่อยู่ในภาคอีสาน ต่อไปนี้คงไม่จำเป็นต้องเข้าไปซื้อที่กรุงเทพฯ อีกต่อไป


เทอร์มินอล 21 โคราช ศูนย์การค้าอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ ทั้งเหตุกราดยิง และสถานการณ์โควิด-19 ช่วงล็อกดาวน์ร้านค้ากว่า 600 ร้านต้องปิดให้บริการ เหลือเฉพาะฟู้ดแลนด์ ธนาคารต่างๆ และบูธร้านอาหารให้สั่งแบบกลับบ้านเท่านั้น

ล่าสุดกลับมาเปิดให้บริการบางส่วนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระทั่งโรงภาพยนตร์เอสเอฟ และสวนสนุกก็กลับมาเปิดอีกครั้งในครั้งถัดมา พร้อมกับจัดโปรโมชันนำสินค้ากว่า 30 แบรนด์ดัง ลดราคาที่ลานไอเฟล สแควร์ ชั้น G

เท่าที่สำรวจพบว่า ร้านค้าส่วนใหญ่กลับมาเปิดให้บริการกันแล้ว ส่วนฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ยังคงปิดปรับปรุงอยู่ หลังได้รับความเสียหายจากเหตุกราดยิง แต่ได้เปิดเป็นบูธที่ลานชั้นล่างจัดโปรโมชัน 1 แถม 1 พร้อมกับมีร้านอาหารถูกและดี

ปกติเวลาไปเที่ยวเทอร์มินอล 21 โคราช ชอบขึ้นไปบน หอคอยชมเมือง (SKYDECK) บนความสูง 110 เมตร เห็นวิวทิวทัศน์เมืองโคราชแบบ 360 องศา พร้อมไฟแอลอีดีด้านบนหอคอยที่เปลี่ยนสีได้ตลอดคืน

ที่นี่เปิดให้เข้าชมฟรีถึง 3 ทุ่มครึ่ง โดยขึ้นลิฟท์ที่ชั้น 5 เหมาะที่จะชมพระอาทิตย์ตกดินในยามเย็น คราวนี้มีโอกาสลองนั่งถ่ายวีดีโอคลิปพระอาทิตย์ตกแบบ ไทม์แลปส์ (Time-lapse) จากโทรศัพท์มือถือไปเรื่อยๆ แม้ผลที่ออกมาจะไม่เวิร์คก็ตาม





ถ้าจะถ่ายภาพไทม์แลปส์ เพื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์และมวลเมฆชัดเจน แนะนำให้หาฟิวเจอร์บอร์ดหรือกระดาษสีดำขนาด A4 ติดกระเป๋ามาด้วย แล้วนำมาถือเพื่อปิดเงาสะท้อนตัวเองจากกระจกปรากฎเข้ามาในคลิป

การนั่งถ่ายไทม์แลปส์อยู่กับที่ ก็เหมือนกับการ "อยู่กับตนเอง" สายตามองเห็นความเปลี่ยนแปลงบนท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ มวลเมฆ และสายฝนในช่วงฤดูฝน กว่าจะได้ไทม์แลปส์สวยๆ สัก 30 วินาที ต้องใช้เวลานั่งอยู่กับที่นานถึง 1 ชั่วโมง

จากที่นั่งเฉยๆ ช่วงพระอาทิตย์ตกดิน พบว่าผู้คนที่มาเที่ยวชมสกายเด็ค ยังมีอย่างไม่ขาดสาย มีทั้งมากันแบบครอบครัว คู่รักหนุ่มสาว รวมทั้งวัยรุ่นมาถ่ายรูปเล่นก็มี ถือเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คของเมืองโคราชที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง


เราเดินออกจากห้างฯ เทอร์มินอล 21 โคราช ต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปสถานีขนส่ง บขส. 2 กลับกรุงเทพฯ มองไปที่หอคอยแห่งนี้อีกครั้ง ไฟแอลอีดียังคงเปลี่ยนสีระยิบระยับโดดเด่นไม่เคยเปลี่ยน เสมือนรอคอยให้กลับมาเยือนอีกครั้ง

บางครั้ง กาลเวลาจะช่วยเยียวยาทุกสิ่งให้ผ่านพ้นไป แม้ในช่วงเปลี่ยนผ่านอาจรู้สึกเจ็บปวดบ้างก็ตาม ได้แต่คิดว่า "ฝันร้าย" และ "คราบน้ำตา" เมื่อวันวานผ่านไปแล้ว ยังมีความเชื่อว่า วันข้างหน้าทุกอย่างคงจะดีขึ้น...


กำลังโหลดความคิดเห็น