กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
“… จากการประชุมเช้านี้ เราว่าอีกไม่นาน เคอรี่น่าจะแย่แล้วล่ะ เพราะเจ้าที่ทำ Marketplace เริ่มหันมาทำจัดส่งภายใต้แบรนด์ตัวเองจริงจังล่ะ …”
ข้อความนี้ปรากฎในผู้ใช้ทวิตเตอร์ @nunakuza ถูกรีทวีตจำนวนมาก พร้อมกับบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับบริษัทขนส่งสีส้มอย่าง “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” ซึ่งนับว่าปีนี้ เป็นปีที่ธุรกิจขนส่งสินค้ามีความท้าทายรอบด้าน
จากประชุมเช้านี้ เราว่าอีกไม่นาน kerry น่าจะแย่ละล่ะ เพราะเจ้าที่ทำ marketplace เริ่มหันมาทำจัดส่งภายใต้แบรนด์ตัวเองจริงจังละ
— NANA (@nunakuza) June 15, 2020
เริ่มมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่พบว่าประสบปัญหาพัสดุเต็มคลังสินค้า เนื่องจากช่วงที่ภาครัฐประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนที่ไม่ออกจากบ้าน หันมาสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
จากที่ก่อนหน้านี้ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส มีปริมาณพัสดุ 1 ล้านชิ้นต่อวัน แต่เมื่อประชาชนนิยมสั่งสินค้าออนไลน์ ทำให้มีพัสดุมากถึง 1.5 ล้านชิ้นต่อวัน รถขนส่งพัสดุตอนนี้วิ่งไม่ทัน มีภาพกองวัสดุจำนวนมากในคลังสินค้าแห่งหนึ่ง
พร้อมเสียงวิจารณ์ว่า พนักงานส่วนหนึ่งลาออก เพราะปริมาณงานเพิ่มขึ้น แต่ค่าคอมมิชชันน้อยลงจนอยู่ไม่ได้ แต่ทางเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ยังไม่มีพนักงานแห่ลาออกแต่อย่างใด
แม้จะโชคดีที่มีผู้ประกอบการแท็กซี่ นำโชเฟอร์มาช่วยส่งพัสดุเพื่อหารายได้พิเศษ ในช่วงที่รายได้หลักลดลงเพราะคนไม่ออกจากบ้าน แต่ภาพกองพัสดุเท่าภูเขา รวมทั้งเสียงวิจารณ์ว่าส่งช้ากว่าที่เคย ก็กระทบต่อภาพลักษณ์พอสมควร
“เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” เป็นบริษัทขนส่งสินค้ารายใหญ่ ก่อตั้งโดยชาวจีนที่มาตั้งรกรากในมาเลเซีย ที่ปัจจุบัน “กลุ่มบริษัทบีทีเอส” ของตระกูลกาญจนพาสน์ ถือหุ้นอยู่ 23% ผ่านบริษัทลูกอย่างวีจีไอ ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อโฆษณาในเครือ
ชื่อเสียงของเคอรี่ เอ็กซ์เพรส เกิดขึ้นมาจากสมัยก่อน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการขนส่งกึ่งผูกขาดในขณะนั้น มีภาพลักษณ์ที่แย่ในสายตาผู้บริโภค โดยเฉพาะภาพจำที่พนักงานมักโยนพัสดุของลูกค้าจนพังเสียหาย
ในปี 2562 เคอรี่ เอ็กซ์เพรส มีรายได้รวม 19,894.60 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,328.55 ล้านบาท โดยมีขีดความสามารถรับ-ส่งพัสดุได้สูงที่สุดถึง 2 ล้านชิ้นต่อวัน จากเมื่อปี 2555 ที่มีประมาณ 8,000 ชิ้นต่อวัน
ปัจจุบัน ธุรกิจขนส่งสินค้าเริ่มมีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามามากขึ้น จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส (Marketplace) เว็บไซต์ร้านค้า รวมทั้งผ่านโซเชียลมีเดีย
ผู้ประกอบการบางรายถึงกับจ้างพรีเซ็นเตอร์ เพื่อให้แบรนด์เป็นที่รู้จักเร็วยิ่งขึ้น โดยอาศัยชื่อเสียงของดารานักแสดงเป็นที่บอกต่อ จากปัจจุบัน เคอรี่ เอ็กซ์เพรส มีพรีเซ็นเตอร์อย่าง เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ
คู่แข่งหน้าใหม่ก็มีดารานักแสดงชื่อดัง เช่น เจแอนด์ที (J&T) ดึงนักแสดงหนุ่มลูกครึ่งอย่าง มาริโอ้ เมาเร่อ หรือจะเป็น แฟลช เอ็กซ์เพรส (Flash Express) ก็มี ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี และ เบสท์ เอ็กซ์เพรส (Best Express) ก็มี ณเดชน์ คูกิมิยะ
บางรายอาศัยแบรนด์ที่แข็งแกร่งดึงดูดลูกค้า เช่น เอสซีจี เอ็กซ์เพรส (SCG Express) ที่ร่วมทุนกับ ยามาโตะ หรือ แมวดำ บริษัทขนส่งรายใหญ่ของญี่ปุ่น หรือจะเป็น ดีเอชแอล (DHL) บริษัทขนส่งระหว่างประเทศ ก็ลงมาแข่งขันในประเทศ
ไม่นับรวมผู้ประกอบการระดับภูมิภาค เช่น นิ่มซี่เส็ง ขนส่งรายใหญ่จากภาคเหนือก็มีแบรนด์ นิ่ม เอ็กซ์เพรส (NIM Express) และจากธุรกิจอื่น เช่น ผู้ประกอบการรถทัวร์ นครชัยแอร์ ก็มีบริการส่งพัสดุด่วน เอ็นซีเอ เอ็กซ์เพรส (NCA Express)
ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่อย่าง เซเว่น อีเลฟเว่น ที่มีสาขากว่า 13,000 แห่งทั่วประเทศ ก็มีบริการรับ-ส่งพัสดุ สปีดดี (Speed D) สามารถเลือกปลายทางที่ต้องการรับพัสดุได้ทั้งที่บ้าน หรือถ้ารับที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นใกล้บ้าน ค่าขนส่งจะถูกกว่า
บริษัทขนส่งบางแห่งยังมีบริการพิเศษ เช่น ขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ โดยใช้รถห้องเย็นเข้ารับสินค้าถึงที่ รองรับสินค้าประเภทอาหารสด เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ อาหารแช่แข็ง มีให้บริการที่เอสซีจี เอ็กซ์เพรส และ นิ่ม เอ็กซ์เพรส
ส่วนผู้ประกอบการเดิมอย่าง ไปรษณีย์ไทย หลังจากที่มีคู่แข่งอย่าง เคอรี่ เอ็กซ์เพรส และขนส่งรายอื่นเข้ามาแข่งขัน ปัจจุบันได้แก้ไขภาพลักษณ์ที่แย่ เช่น การโยนพัสดุในอดีต ให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พร้อมกับเพิ่มบริการใหม่ๆ
ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์พร้อมโพสต์ (PromptPost) ระบบเตรียมการฝากส่งล่วงหน้า โดยคิดค่าใช้จ่ายตามขนาดของกล่องแบบไม่ต้องชั่งน้ำหนัก หรือจะเป็นขยายเวลาให้บริการที่ทำการไปรษณีย์บางแห่งถึง 5 ทุ่ม และเปิด 24 ชั่วโมง
และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไปรษณีย์ไทยก็ปรับราคาโดยจัดโปรโมชัน “ยิ้มสู้-19” ส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค อาหารแห้ง หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า แอลกอฮอล์เจล น้ำหนักไม่เกิน 1 กิโลกรัม ในอัตราเหมาจ่าย 19 บาทต่อชื้น
จุดแข็งของไปรษณีย์ไทยที่ขนส่งเจ้าอื่นทำไม่ได้ก็คือ ความชำนาญในการขนส่ง เพราะในขณะที่ขนส่งเจ้าอื่นยังต้องโทรศัพท์ถามทาง สร้างความรำคาญอยู่นั้น ไปรษณีย์ไทยส่งถึงบ้านแทบไม่ต้องเรียก ต่อให้จ่าหน้าถึงผู้รับแบบผิดๆ ถูกๆ ก็ตาม
องค์ประกอบสำคัญนอกจากภาพลักษณ์ของแบรนด์แล้ว อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ “สงครามราคา” ปัจจุบันเคอรี่ เอ็กซ์เพรส คิดค่าขนส่งเริ่มต้นที่ 30 บาท ก็มีผู้ประกอบการบางรายตัดราคาเริ่มต้นที่ 25-28 บาท
ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงวิจารณ์ว่า ค่าขนส่งเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ขณะนี้เริ่มแพงมากกว่าเจ้าอื่น โดยเฉพาะการส่งไปยังต่างจังหวัด เช่น กล่องขนาดเล็ก (ขนาด S) ราคาเริ่มต้นที่ 80 บาท ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่น ราคาถูกกว่าเกือบครึ่ง
จุดเปลี่ยนสำคัญของ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ ผู้ประกอบการมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ เริ่มที่จะทำ “บริษัทขนส่ง” เป็นของตนเอง เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดโปรโมชัน และสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่งด้วย
ไม่ว่าจะเป็น ลาซาด้า (Lazada) ซึ่งมีกลุ่มอาลีบาบา (Alibaba) บริษัทอีคอมเมิร์ชยักษ์ใหญ่จากจีนซื้อกิจการ ก็มีบริษัทขนส่ง ลาซาด้า อีโลจิสติก เอ็กซ์เพรส (LEL Express) ให้บริการเป็นของตัวเอง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ลาซาด้าประกาศเปลี่ยนผู้ให้บริการขนส่งเป็น ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส ดรอป-ออฟ (LEX Drop-off) แทนเคอรี่ เอ็กซ์เพรส และดีเอชแอล โดยมีทั้งให้รถมารับสินค้าถึงที่ หรือให้ผู้ขายส่งสินค้าตามจุดที่กำหนด
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ลาซาด้าประกาศถึงผู้ขายสินค้าทุกราย เปลี่ยนผู้ให้บริการรับสินค้าถึงบ้าน (Pick-up) จาก เคอรี่ เอ็กซ์เพรส มาเป็น แฟลช เอ็กซ์เพรส เพื่อให้ร้านค้ามีค่าขนส่งที่ถูกลง และสามารถแข่งขันในการขายสินค้าได้
ถึงกระนั้น เมื่อลาซาด้า เอ็กซ์เพรส ยังไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง จึงต้องอาศัยผู้ให้บริการขนส่งรายอื่น เข้ามาเป็นจุดให้บริการ “ลาซาด้า ดรอป-ออฟ” (Lazada Drop-Off) รวมทั้งยังดีลกับเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส ให้บริการในบางสาขาอีกด้วย
ขณะที่ ชอปปี้ (Shopee) ก็มีบริษัทขนส่ง ชอปปี้ เอ็กซ์เพรส (Shopee Express) ซึ่งเป็นบริการเสริมสำหรับการจัดส่งสินค้าเพิ่มเติม คิดค่าขนส่งถูกกว่ารายอื่น เริ่มต้นที่ 22 บาทสำหรับกรุงเทพฯ และ 27 บาทสำหรับต่างจังหวัด
ปัจจุบันกำลังทยอยเปิดให้ร้านค้าใช้บริการ ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) ต่างจังหวัดในบางพื้นที่ และกำลังขยายพื้นที่ในการจัดส่งให้ครอบคลุมต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น
และเนื่องจากพื้นที่ให้บริการยังจำกัด ปัจจุบันยังคงให้ขนส่งอีก 6 ราย เข้าร่วมโปรโมชัน สำหรับลูกค้าที่กดโค้ดส่งฟรี โดยให้ร้านค้าออกค่าส่งตามปกติ แล้วกรอกเลขติดตามพัสดุ (Tracking No.) ทางชอปปี้จะโอนค่าส่งให้พร้อมค่าสินค้าต่อไป
แม้โค้ดส่งฟรีของชอปปี้จะช่วยออกค่าส่งผ่านเคอรี่ เอ็กซ์เพรส สูงสุด 40 บาท แต่เมื่อเคอรี่ เอ็กซ์เพรส คิดค่าขนส่งที่แพงกว่ารายอื่น (เริ่มต้นที่ 29 บาทสำหรับกรุงเทพฯ และ 39 บาทสำหรับต่างจังหวัด) ลูกค้าอาจตัดสินใจเลือกขนส่งเจ้าอื่นก็ได้
ใครจะไปรู้ว่าแนวโน้มในอนาคต หากชอปปี้ เอ็กซ์เพรส ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ ชอปปี้อาจจะเปลี่ยนให้ผู้ขายทุกรายใช้บริการขนส่งผ่าน ชอปปี้ เอ็กซ์เพรส บริหารจัดการแต่เพียงผู้เดียว เหมือนที่ลาซาด้าทำอยู่ในขณะนี้ก็ได้
สำหรับชอปปิ้งออนไลน์รายอื่น เช่น เซ็นทรัลออนไลน์ โรบินสันออนไลน์ ฯลฯ ส่วนหนึ่งยังคงเลือกใช้บริการเคอรี่ เอ็กซ์เพรส โดยพบว่าหากเป็นเซ็นทรัลออนไลน์ ยอดสั่งซื้อต่ำกว่า 699 บาท คิดค่าจัดส่งสูงถึง 80 บาทเลยทีเดียว
แม้เคอรี่ เอ็กซ์เพรส อาจสูญเสียลูกค้าจากมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ ที่เปิดให้บริการขนส่งสินค้าเป็นของตัวเอง แต่ยังเหลือลูกค้าในกลุ่มโซเชียลคอมเมิร์ช หรือกลุ่มผู้ขายจากโซเชียลมีเดีย ที่ไม่ได้ขึ้นกับมาร์เก็ตเพลสรายใดรายหนึ่ง
โดยมีจุดแข็งก็คือ มีจุดให้บริการมากกว่า 10,000 จุดทั่วประเทศ นอกจากร้านพาเซลชอป (Parcel Shop) และจุดบริการร้านค้ารายย่อยแล้ว ยังมีจุดบริการร้านค้าพาร์ทเนอร์อย่างค้าปลีกชั้นนำ เช่น กลุ่มเซ็นทรัล บิ๊กซี ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังเสริมด้วยลอยัลตี โปรแกรม อย่าง เคอรี่ คลับ (Kerry Club) ให้ลูกค้าสะสมคะแนนจากค่าส่งสินค้าทุก 50 บาท ที่ร้านพาร์เซลชอป สาขาที่ร่วมรายการ จะได้คะแนนสะสม 1 คะแนน เพื่อแลกเป็นคูปองเงินสด หรือของพรีเมียมต่างๆ
แต่ในบรรดาจุดให้บริการต่างๆ พบว่ายังมีทำเลที่ซ้ำซ้อน แม้กระทั่งร้านพาเซล ชอป ก็ยังมีร้านที่ห่างกันเพียงไม่กี่ร้อยเมตร และเมื่อมีผู้ให้บริการรายอื่นเปิดแข่งกัน จากจุดแข็งก็อาจจะกลายเป็นภาระของเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ที่ต้องแบกต้นทุนเสียเอง
2563 อาจเป็นปีที่ท้าทายสำหรับเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ท่ามกลางการแข่งขันของผู้ให้บริการที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งข้อบกพร่องอย่างการส่งสินค้าล่าช้า และค่าบริการที่แพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงไปอย่างช้าๆ
แม้จะเคยเป็นผู้บุกเบิกให้ไปรษณีย์ไทยได้ปรับปรุงตัวเอง รวมทั้งเกิดการแข่งขันในธุรกิจขนส่งสินค้ามากกว่า 20 แบรนด์ แต่หากไม่แก้ไขข้อบกพร่องหรือปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขัน สุดท้ายก็อาจจะสายเกินไป