กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
รัฐบาลโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพิ่งดำเนินโครงการ “100 เดียวเที่ยวทั่วไทย” เพื่อกระตุ้นเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ มอบส่วนลดให้ประชาชนซื้อของขวัญ 40,000 รายการในราคาเพียง 100 บาท
ถือเป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว “ถึงเวลาทัวร์ให้ทั่วไทย” ที่ใช้งบกลางจำนวน 116 ล้านบาท แบ่งเป็น “100 เดียวเที่ยวทั่วไทย” งบประมาณ 63.5 ล้านบาท และ “วันธรรมดาราคาช็อกโลก” งบประมาณ 52.5 ล้านบาท
หนึ่งในของขวัญที่นำมาแจกในโครงการ คือ ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ สำหรับ 1 คน รวมภาษีสนามบินแล้ว มีสายการบินที่เข้าร่วมโครงการ 2 แห่ง ได้แก่ บางกอกแอร์เวย์ส และ แอร์เอเชีย
โดย สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เส้นทางบินที่เข้าร่วมโครงการมี 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สุโขทัย ภูเก็ต กระบี่ กับเส้นทางบินข้ามภาค 2 เส้นทาง พัทยา (อู่ตะเภา)-ภูเก็ต และ หาดใหญ่-ภูเก็ต รอบละ 1,000 ใบ รวม 2,000 ใบ
เปิดให้จองและชำระเงินไปแล้วเมื่อวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2562 โดยให้นำหมายเลขการจองใน Flight E-Voucher ไปสำรองที่นั่งผ่านศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า 1771 หรือสำนักงานขายบัตรโดยสารทั่วประเทศ ตั้งแต่ 15-30 พฤศจิกายน 2562
กำหนดเดินทาง 15 พฤศจิกายน-31 ธันวาคม 2562 โดยที่นั่งมีจำนวนจำกัดในแต่ละเที่ยวบิน อาจไม่มีให้บริการในบางเที่ยวบิน และไม่มีที่นั่งว่างในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันหยุดเทศกาลต่อเนื่อง
ส่วน สายการบินแอร์เอเชีย เส้นทางบินที่เข้าร่วมโครงการมี 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร พิษณุโลก อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น เลย นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี รวม 825 ใบ (ราคาไม่รวมบริการเสริม)
เปิดให้จองและชำระเงินไปแล้วในวันที่ 11-12 ธันวาคม 2562 โดยให้หมายเลขการจองใน Flight E-Voucher ไปสำรองที่นั่งผ่านศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ AirAsia Voice Booking Service Centre (AVBS) 02-576-5999
โดยต้องสำรองที่นั่งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันก่อนการเดินทาง ตั้งแต่ 13-23 ธันวาคม 2562 กำหนดเดินทาง 17-26 ธันวาคม 2562 อาจไม่มีให้บริการในช่วงที่มีอัตราการเดินทางสูง
จากประสบการณ์ส่วนตัว จองเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 พบว่าเมื่อถึงเวลา 06.00 น. ตรง หลังคลิกซื้อของขวัญ ใช้เวลารอคิวประมาณ 6 นาที ปรากฎว่าขณะนั้นตั๋วเครื่องบินเหลือประมาณ 380 ใบ เข้าใจว่าแบ่งรอบละประมาณ 400 ใบ
พอชำระเงินสำเร็จ จะได้รับ Flight E-Voucher (บัตรของขวัญจองเที่ยวบิน) ทางอีเมล แต่ต้องรอสำรองที่นั่งทางโทรศัพท์ในวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ระหว่างนั้นจึงเลือกเส้นทางและเที่ยวบินที่ต้องการจดใส่กระดาษไว้
ขณะเดียวกัน ลองส่งอีเมลแจ้งรายละเอียดการเดินทางไปที่ AVBS เพราะเคยมีประสบการณ์เคยได้รับรางวัลตั๋วเครื่องบินไป-กลับแอร์เอเชีย จากการชิงรางวัลมาก่อน ปรากฎว่าอีเมลตอบกลับมาให้สำรองที่นั่งทางโทรศัพท์เท่านั้น!
ว่ากันว่านับตั้งแต่เปิดให้สำรองที่นั่งเวลา 08.00 น. ต้องรอสายนานกว่า 2 ชั่วโมง เนื่องจากทำรายการได้เฉพาะทางโทรศัพท์แห่งเดียว สำนักงานขายบัตรโดยสารไม่สามารถทำได้ อาจจะเรียกได้ว่าค่าโทรศัพท์แพงกว่าตั๋วเครื่องบิน
แต่โชคดีที่ผู้เขียนใช้เบอร์รายเดือน ซึ่งไม่ค่อยได้ใช้โทรออก เลยไม่คิดมาก ครั้งแรกรอสาย 30 นาที ปรากฎว่าเสียงหาย ต้องต่อสายใหม่ ใช้เวลารอสายประมาณ 1 ชั่วโมง 5 นาที จึงมีพนักงานรับสาย
เมื่อแจ้งรหัส Flight E-Voucher กับเที่ยวบินที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว พนักงานจะตรวจสอบ ปรากฎว่าเที่ยวบินที่เลือกไว้ถูกจองเต็มหมดแล้ว ให้ไปเที่ยวบินใกล้เคียงให้เลือก ซึ่งอาจจะต้องเป็นวันก่อนหน้านั้นแทน
เบ็ดเสร็จใช้เวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที พนักงานแจ้งว่าจะส่งเอกสารการเดินทาง (Travel itinerary) ผ่านอีเมลเดียวกับที่ส่ง Flight E-Voucher เข้ามาภายใน 2 วัน และพนักงานจะโทรศัพท์ติดต่อกลับ พร้อมเสนอโปรโมชัน เช่น น้ำหนักกระเป๋า
ถือเป็นโปรโมชั่นที่วัดใจ “คนอยากจะเที่ยว” แท้ๆ เพราะหลังจากเลือกเส้นทางที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว มีเวลาเตรียมตัวไปเที่ยว เช่น ลางานกับฝ่ายบุคคล จองห้องพักโรงแรม ฯลฯ เพียงแค่ 4-14 วันเท่านั้น
พอมาดูในรายละเอียดการเดินทาง พบว่า ราคาบัตรโดยสารไป-กลับแอร์เอเชียในโครงการนี้ คือ 1,100 บาท ชำระเงินผ่านตัวแทนจำหน่าย (Agency Payment) เท่ากับว่ารัฐจ่ายส่วนต่างให้ 1,000 บาท
เมื่อจำกัดจำนวน 825 ใบ เท่ากับ รัฐจ่ายงบประมาณให้กับสายการบินแอร์เอเชีย 825,000 บาท ประชาชนชำระเงินคนละ 100 บาท เท่ากับ 82,500 บาท รวมรายได้ที่สายการบินแอร์เอเชียจะได้รับ 907,500 บาท
ไม่รวมรายได้จากบริการเสริมอื่นๆ เช่น น้ำหนักกระเป๋า อาหาร ฯลฯ ซึ่งพนักงานจะเสนอโปรโมชันราคาถูกพิเศษ เช่น สัมภาระ 15 กิโลกรัม จะเหลือเพียง 305 บาทต่อเที่ยว (จากปกติซื้อขณะจองตั๋ว 430 บาท ซื้อตอนจัดการบุ๊คกิ้ง 500 บาท)
ส่วนสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จากการสอบถามผู้โชคดีรายหนึ่ง พบว่า ราคาบัตรโดยสารไป-กลับบางกอกแอร์เวย์สในโครงการนี้ คือ 1,100 บาท เท่ากับว่ารัฐจ่ายส่วนต่างให้ 1,000 บาทเช่นกัน
เมื่อจำกัดจำนวน 2,000 ใบ เท่ากับ รัฐจ่ายงบประมาณให้กับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส 2 ล้านบาท ประชาชนชำระคนละ 100 บาท เท่ากับ 2 แสนบาท รวมรายได้ที่บางกอกแอร์เวย์สจะได้รับ 2.2 ล้านบาท
ไม่รวมโครงการ “วันธรรมดาราคาช็อกโลก” ที่บางกอกแอร์เวย์สเข้าร่วมโครงการ จำหน่ายบัตรโดยสารราคาเริ่มต้นที่ 990 บาทอีก แต่ไม่ระบุว่าลดราคาบัตรโดยสารเที่ยวเดียวเท่าไหร่ และมีจำนวนที่นั่ง
อาจมีคนสงสัยว่า ทำไมการบินไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งเป็นถึงสายการบินแห่งชาติ ถึงไม่ได้เข้าร่วมโครงการ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย พบว่าทั้งการบินไทยและไทยสมายล์ เข้าร่วมโครงการวันธรรมดาราคาช็อกโลก
โดยลดราคาบัตรโดยสารเที่ยวเดียว 500 บาท เส้นทางเชียงใหม่ เชียงราย หาดใหญ่ ภูเก็ต ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี กระบี่ สุราษฎร์ธานี นราธิวาส จากราคาเริ่มต้นที่ 1,300 บาท เหลือเริ่มต้นที่ 800 บาท จำนวน 2,000 ที่นั่ง
เท่ากับการบินไทยจะมีรายได้จากรัฐให้ส่วนต่าง 500 บาท จำนวน 2,000 ที่นั่ง รวมกันแล้ว 1 ล้านบาท (ไม่นับรวมประชาชนชำระเงินเอง เพราะราคาตั๋วไม่กำหนดตายตัว ต่างจากสองสายการบินที่กำหนดไว้ไป-กลับ 1,100 บาทต่อคน)
เห็นภาพแบบนี้แล้ว นึกอยากให้ ททท. ออกแคมเปญลดค่าตั๋วเครื่องบินให้ได้เหมือนโครงการนี้ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศบ้าง โดยรัฐอาจจะสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบิน แล้วให้ประชาชนจ่ายส่วนต่างเล็กน้อย
เมื่อประชาชนได้ตั๋วเครื่องบินราคาถูก ออกเดินทางแล้ว เงินที่เหลือก็จะได้ใช้จับจ่ายในจังหวัดปลายทาง กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในจังหวัดนั้นๆ เช่น โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรม รถเช่า และบริการอื่นๆ
ถ้าเกรงว่าจะกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับสายการบิน ก็อาจจะครอบคลุมไปถึงการเดินทางประเภทอื่น เช่น รถทัวร์ปรับอากาศ ที่มี บขส. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ และผู้ให้บริการรายใหญ่เดินรถอยู่แล้ว ก็จะช่วยภาคธุรกิจกลุ่มนี้ได้เช่นกัน
ปัญหาก็คือ เมื่อประชาชนได้ตั๋วเครื่องบินราคาถูก ก็จะรู้สึก “ไม่กระตือรือร้น” ที่จะออกไปเที่ยว เหมือนสายการบินโลว์คอสต์บางแห่ง ที่ประชาชนจองตั๋วล่วงหน้าข้ามปี ตัดสินใจทิ้งตั๋วโดยไม่รู้สึกเสียดาย เพียงเพราะค่าโดยสารถูก
อาจจะแก้ปัญหาด้วยการให้ผู้โดยสาร จ่ายเงินค้ำประกันการเดินทางสัก 500 บาท แล้วจะได้รับคืนเมื่อเดินทางกลับแล้ว ถ้าเดินทางไม่ได้ขอสงวนสิทธิ์ไม่คืนเงิน หรือถ้ายกเลิกก่อนกำหนดไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จะถูกหักค่าธรรมเนียม
หรือไม่อย่างนั้น แบ่งการลงทะเบียนออกเป็นรอบ เช่นเดียวกับมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ถ้าใครไม่ไปหรือไม่ได้นำ Flight E-Voucher ไปใช้ถือว่าสละสิทธิ์ แล้วยกสิทธิ์ลงทะเบียนให้ผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนอีกรอบหนึ่ง
ถ้าทำแบบนี้ได้ก็จะเกิดความเท่าเทียม สำคัญที่สุดคือระบบลงทะเบียนต้องมีความเสถียร ต้องยอมรับว่าระบบของ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทย ออกแบบได้ดีกว่า “ชิมช้อปใช้” แต่ช่วงแรกพบปัญหาระบบยังล่มอยู่ ภายหลังได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น
สุดท้าย สิ่งที่อยากจะฝากถ้าจะทำแคมเปญในลักษณะนี้ต่อไป คือ ควรประสานงานสายการบินที่ร่วมโครงการให้มีช่องทางนำ Flight E-Voucher ไปออกตั๋วเครื่องบินให้เพียงพอ เช่น คอลเซ็นเตอร์ สำนักงานขาย หรือช่องทางออนไลน์
ถ้าให้สำรองที่นั่งผ่านคอลเซ็นเตอร์อย่างเดียว นอกจากพนักงานจะรับภาระอันหนักอึ้งแล้ว ประชาชนที่ต้องรอสายนานชั่วโมง-สองชั่วโมง นอกจากจะเสียเวลาแล้วยังเสียความรู้สึกอีก