กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
อ่านประกาศล่าสุดของ “แรบบิท ไลน์เพย์” (Rabbit Line Pay) เรื่องคิดค่าธรรมเนียมการถอนเงินจากแรบบิทไลน์เพย์เข้าบัญชีธนาคารต่างๆ แล้ว มีแนวโน้มว่าต่อไปเงินในอี-วอลเล็ท จะมีบทบาทในการชำระเงินน้อยลง
สาระสำคัญคือ ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2562 ถ้าจะถอนเงินที่ค้างอยู่ในแรบบิท ไลน์เพย์เข้าบัญชีธนาคาร จะคิดค่าธรรมเนียม 15 บาทต่อครั้ง จากที่เมื่อก่อนไม่คิดค่าธรรมเนียม โดยมีธนาคารปลายทางที่สามารถรับเงินได้ 12 แห่ง
เมื่อทำรายการถอนเงินแล้ว เงินจะไม่เข้าบัญชีทันที แต่จะกำหนดให้วันที่เงินเข้าบัญชีปลายทางภายใน 2 วันทำการ จากประสบการณ์ส่วนตัวเคยถอนเงิน พบว่าเข้าบัญชีธนาคารในเช้าวันถัดไป จึงไม่รู้ว่าหลังประกาศออกมาจะเปลี่ยนไปหรือไม่
ประกาศฉบับนี้ยังมียกเว้นค่าธรรมเนียมการถอนเงิน 4 ครั้งต่อเดือน แต่ลูกค้าจะต้องสำรองจ่ายค่าธรรมเนียม 15 บาทไปก่อน (ไม่รวมยอดถอนเงิน) แล้วจะคืนค่าธรรมเนียมเข้าบัญชีแรบบิท ไลน์เพย์ในวันทำการถัดไป
ที่ผ่านมา แรบบิท ไลน์เพย์ เป็นบริการรับชำระสินค้าและบริการต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (Line) สามารถใช้ได้ตามร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งผูกบัญชีกับบัตรแรบบิทเพื่อใช้เดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส
รูปแบบการชำระเงินของแรบบิท ไลน์เพย์ มี 2 วิธี คือ เติมเงินลงในบัญชีแรบบิท ไลน์ เพย์ ตามห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารบีทีเอสทุกสถานี หรือตามร้านค้า เช่น แมคโดนัลด์ ร้านเคอรีเอ็กซ์เพรส ศูนย์อาหารฟู้ดฮอลล์ในกลุ่มเดอะมอลล์ ฯลฯ
อีกช่องทางหนึ่ง คือ เติมเงินจากบัญชีธนาคาร โดยต้องผูกบัญชีเพื่อสมัครบริการหักบัญชีธนาคารอัตโนมัติ (Direct Debit) ก่อน เวลาทำรายการเติมเงิน ระบบจะหักเงินในบัญชีเข้าไปในแรบบิท ไลน์เพย์โดยอัตโนมัติ
เมื่อแรบบิท ไลน์เพย์ ประกาศคิดค่าธรรมเนียมถอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ถ้าคนที่เสียดายเงินในแรบบิท ไลน์เพย์ที่ไปจมอยู่ตรงนั้น ต่อไปอาจจะต้องเติมเงินให้พอดีกับรายการที่ต้องจ่าย เช่น จะจ่ายบิลเท่านี้ ก็เติมเงินเข้าแรบบิท ไลน์เพย์เท่านี้
ส่วนการใช้จ่ายผ่านร้านค้า หรือเดินทางด้วยบีทีเอส อาจจะหันไปนิยม “ผูกบัตรเครดิต/บัตรเดบิต” เพื่อใช้จ่ายแทนเงินในบัญชีแรบบิท ไลน์ เพย์ ซึ่งปัจจุบันไม่คิดค่าธรรมเนียมและไม่มีขั้นต่ำ
กรณีนี้ทำให้นึกถึง “ทรูมันนี่ วอลเล็ท” (TrueMoney Wallet) ก่อนหน้านี้ก็ออกมาคิดค่าธรรมเนียมการถอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร 15 บาทต่อครั้ง โดยจะได้รับเงินเข้าบัญชีภายใน 2 ชั่วโมง ให้บริการระหว่างเวลา 02.00-23.00 น. ทุกวัน
กรณีของแรบบิท ไลน์เพย์ อาจจะไม่ชัดเจนเท่ากับทรูมันนี่ วอลเล็ท ตรงที่ประสบปัญหาผู้ใช้งานไม่ได้เติมเงินเข้าอี-วอลเล็ทเพื่อซื้อสินค้าและบริการ หรือจ่ายบิลตามวัตถุประสงค์ กลายเป็นการนำเงิน “ผ่านตัวกลาง” เพื่อเข้าบัญชีธนาคารอีกที
เช่น ร้านสะดวกซื้อชื่อดังมีบริการ “แบงกิ้ง เอเยนต์” (Banking Agent) ฝากเงินเข้าบัญชีธนาคาร คิดค่าธรรมเนียม 15 บาทต่อครั้ง แต่ถ้าเติมเงินเข้าบัญชีทรูมันนี่ แล้วโอนเงินผ่านรหัสพร้อมเพย์ จะเข้าบัญชีธนาคารทันที ไม่เสียค่าธรรมเนียม
ภายหลัง ทรูมันนี่จึงตัดสินใจปิดบริการโอนเงินผ่านรหัสพร้อมเพย์ ตั้งแต่ 15 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา แม้จะอ้างว่าไม่ได้ความนิยมเทียบเท่าบริการอื่น แต่ก็ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยจากผู้ใช้ว่า หรือเป็นเพราะไม่ได้ค่าบริการ ไม่ได้กำไรกันแน่
ถึงกระนั้น ทรูมันนี่ก็เริ่มมีบริการผูกบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต เพื่อใช้จ่ายแทนยอดเงินในวอลเล็ท ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ทีแรกให้ชำระขั้นต่ำ 20 บาท แต่กระแสจากลูกค้าทำให้ปัจจุบันชำระได้แบบไม่มีขั้นต่ำ
กลายเป็นสงครามที่แข่งกันเรื่องจุดรับชำระ ใครมีมากกว่าย่อมได้เปรียบ
ฝั่งทรูมันนี่ มีร้านเซเว่นอีเลฟเว่น กว่า 12,500 สาขาทั่วประเทศ และมีร้านค้าชั้นนำ 170 แห่ง ทั้งร้านอาหาร ของหวาน ร้านกาแฟ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสุขภาพและความงาม ฯลฯ รวมกันแล้วมากกว่า 200,000 จุดทั่วประเทศ
ส่วนแรบบิท ไลน์เพย์ มีร้านค้า 112 แห่ง รวม 60,000 จุดทั่วประเทศ เช่น ร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ฟู้ดคอร์ต แต่จะเน้นไปที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ส่วนต่างจังหวัดพบเห็นเฉพาะร้านแมคโดนัลด์ และเดอะพิซซ่าคอมปะนีเท่านั้น
อาจมีคนสงสัยว่า แล้วการผูกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต ทรูมันนี่และไลน์เพย์จะมีรายได้จากไหน?
แม้จะไม่ทราบแน่ชัด แต่เวลาที่เราจ่ายเงินตามร้านค้า ทั้งแรบบิท ไลน์เพย์ และ ทรูมันนี่ จะทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวกลางในฐานะเป็นผู้ให้บริการระบบรับชำระเงินแบบเทิดปาร์ตี้ (Third Party) ที่ไม่ใช่ธนาคาร
ทั้งแรบบิท ไลน์เพย์ และ ทรูมันนี่ ต่างก็มีเครื่องสแกนบาร์โค้ด, เครื่อง EDC มูลค่าราว 1 หมื่นบาท หรือเชื่อมต่อกับระบบขายหน้าร้าน (POS) รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางการตลาดมอบสิทธิพิเศษแก่ลูกค้า และโปรโมตร้านค้ารับชำระอีกด้วย
หากสังเกตในใบแจ้งยอดค่าใช้จ่าย หรือ SMS แจ้งเตือนใช้จ่ายผ่านบัตร จะมีข้อความ LINEPAY* สำหรับคนที่จ่ายผ่านแอปฯ แรบบิท ไลน์เพย์ หรือ TrueMoney* TMN* สำหรับคนที่จ่ายผ่านแอปฯ ทรูมันนี่ มีทั้งตามด้วยชื่อร้านค้าและไม่มี
เปรียบเหมือนผู้ให้บริการระบบรับชำระเงินผ่านเว็บไซต์ต่างๆ เช่น ขึ้นต้นด้วยคำว่า OMISE* เป็นของบริษัท โอมิเซะ หรือ 2 C 2 P* เป็นของบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) เป็นต้น
แตกต่างจากการติดตั้งเครื่องรูดบัตร (EDC) ของธนาคารโดยตรง ที่จะปรากฎเป็นชื่อร้านค้า ต้องแบกรับภาระทั้งค่าติดตั้ง ค่ามัดจำ ค่าเช่าเครื่อง ค่าสลิป กำหนดยอดรูดขั้นต่ำต่อเดือน แถมจะถูกหักค่าธรรมเนียมเป็นเปอร์เซ็นต์ก่อนเข้าบัญชี
การที่แรบบิท ไลน์เพย์ และทรูมันนี่ ลงมาเป็นผู้ให้บริการระบบรับชำระเงินแข่งกับธนาคาร จะเป็นการขยายฐานลูกค้าบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ให้ชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน แทนการรูดบัตรตัวจริงกับเครื่อง EDC ของธนาคาร
แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะได้รับผลกระทบ ธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต จะได้ค่าธรรมเนียมมากสุด รองลงมาคือแรบบิท ไลน์เพย์ หรือทรูมันนี่ ในฐานะผู้รับบัตร และวีซ่า หรือมาสเตอร์การ์ด ในฐานะตัวกลาง
ส่วนเงินที่ร้านค้าจะได้รับ ต้องถูกหักค่าธรรมเนียมเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งร้านค้าขนาดใหญ่ มีเงินหมุนเวียนสะพัดนับล้านบาท แลกกับลดภาระในการเก็บรักษาและนับเงินสด และสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับร้านค้า ยังไงก็ขนหน้าแข้งไม่ร่วงอยู่แล้ว
กลับมาที่เรื่องของเงินในอี-วอลเล็ท ใช่ว่าจะไม่มีผู้ให้บริการรายไหนให้ถอนเงินเข้าบัญชีธนาคารได้ฟรี เพราะยังมี “ดอลฟิน วอลเล็ท” (Dolfin Wallet) ของกลุ่มเซ็นทรัล ยังสามารถถอนเงินในวอลเล็ทผ่านรหัสพร้อมเพย์เข้าบัญชีธนาคารได้
ดอลฟิน วอลเล็ท ใช้ระบบพร้อมเพย์ อี-วอลเล็ท ที่พัฒนาโดยธนาคารกรุงเทพ ขึ้นต้นด้วย 26000 ตามด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ซึ่งคนที่ต้องการใช้งาน จะต้องนำบัตรประชาชนไปยืนยันตัวตนก่อน ที่จุดบริการลูกค้าตามร้านค้ากลุ่มเซ็นทรัล
เมื่อยืนยันตัวตนสำเร็จ จะสามารถรับ-ส่งเงินจากพร้อมเพย์ อี-วอลเลต ผ่านเบอร์มือถือหรือเลขที่บัตรประชาชน ไปยังบัญชีธนาคาร แถมยังใช้สแกนคิวอาร์โค้ด ตามร้านค้าที่รองรับไทยคิวอาร์ เพย์เมนท์ (Thai QR Payment) ได้อีกด้วย
ส่วนการเติมเงินพบว่า นอกจากจะผูกบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือหักบัญชีธนาคารแล้ว ยังสามารถเติมเงินด้วยเงินสดที่เคาน์เตอร์เซ็นเพย์ (CenPay) กว่า 1,800 จุดทั่วประเทศ เช่น ห้างเซ็นทรัล โรบินสัน ท็อปส์ บีทูเอส เพาเวอร์บาย ฯลฯ
ถ้าเป็นนอกห้างฯ นอกจากร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ทแล้ว ยังมีร้านมัตสึโมโตะ คิโยชิ ที่มีสาขานอกห้างกลุ่มเซ็นทรัล วันก่อนผู้เขียนไปเดอะมอลล์บางแค ก็มีร้านมัตสึโมโตะ คิโยชิอยู่ที่ชั้น 2 ยังได้มีโอกาสใช้บริการเติมเงินเข้าวอลเล็ทที่นั่น
ถือว่ายังมีอี-วอลเล็ท ที่ยืดหยุ่นการใช้งาน ต้องการจะใช้จ่ายก็เติมเงิน ถ้าเงินเหลือไม่ใช้ต่อก็ถอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ให้คนที่เข้าสู่สังคมไร้เงินสดอีกส่วนหนึ่งได้หายใจหายคอกันบ้าง.