กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันก่อน มีโอกาสไปเดินดูของลดราคาที่งานสหกรุ๊ปแฟร์ (รอบพรีเซล) ปรากฎว่าพบเจอนวัตกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ เครื่องเติมน้ำยาซักผ้า และน้ำยาล้างจานแบบรีฟิลที่เรียกว่า “ไลอ้อน รีฟิล” (LION REFILL)
เครื่องดังกล่าวคิดค้นโดย บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคจำพวกผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ยาสีฟัน สบู่ แชมพู ฯลฯ หลักการก็คือนำน้ำยาซักผ้า หรือน้ำยาล้างจานใส่ขวดรีฟิล
ขวดรีฟิลขนาด 460 มิลลิลิตร ลักษณะเป็นพลาสติกอ่อนๆ สามารถรีไซเคิลได้ เมื่อไม่ใช้ก็สามารถพับได้ เพื่อลดพื้นที่ขยะอีกด้วย ภายในงานยังได้ทดลองจำหน่าย สนนราคาน้ำยาล้างจาน 15 บาท และน้ำยาซักผ้า 30 บาท
แต่ไม่รู้ว่าถ้านำไปใช้จริงจะเวิร์คหรือไม่ เพราะสังเกตตามร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญจะพบว่า บางร้านจำหน่ายผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม หรือน้ำยาซักผ้าแบบซอง ซองละ 5 บาท เมื่อฉีกซองเทน้ำยาลงเครื่องแล้ว สุดท้ายก็เป็นขยะอยู่ดี
ถึงกระนั้น มองดูแล้วเป็นนวัตกรรมน่าสนใจดี และไม่ลืมที่จะซื้อน้ำยาซักผ้าติดไม้ติดมือไปขวดหนึ่ง
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อุปโภคหลายรายการ ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์แบบถุงเติม (รีฟิล) ควบคู่กับบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดขยะจากขวดพลาสติก ซึ่งทราบกันดีว่าเมื่อกลายเป็นขยะจะย่อยสลายยากกว่าถุงพลาสติก
ผลิตภัณฑ์แบบรีฟิลที่เราพบเห็นตามท้องตลาดได้แก่ ผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน ครีมอาบน้ำ โฟมล้างมือ น้ำยาถูพื้น รวมไปถึงโลชั่นบำรุงผิวหน้าบางยี่ห้อ วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อลดต้นทุนการผลิต
บรรจุภัณฑ์แบบรีฟิลที่นำมาใส่ ส่วนมากจะเป็นถุงพลาสติกแบบซองตั้ง (Stand-Up Pouch) มีลักษณะคล้ายซองซีล 3 ทาง พับลักษณะพิเศษที่ก้นถุง สามารถตั้งได้ มีความคงทนแข็งแรง ไม่รั่วซึม รักษาคุณภาพสินค้าให้ยาวนานขึ้น
ผลิตภัณฑ์แบบรีฟิล ถ้าเป็นน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน จะเห็นแทบจะทุกยี่ห้อ แต่ถ้าเป็นครีมอาบน้ำ จะมีเฉพาะผลิตภัณฑ์ยอดนิยมในท้องตลาด ซึ่งไม่ได้มีทุกสีทุกกลิ่น
เห็นครีมอาบน้ำยี่ห้อหนึ่ง มักจะชอบจัดโปรโมชั่น ซื้อ 1 แถม 1 อยู่บ่อยครั้ง แต่ดันขายกันแบบขวดแพ็คคู่กัน ก็นึกเสียดายขวดพลาสติก เพราะเป็นยี่ห้อที่ไม่ค่อยได้รับความนิยม และไม่มีแบบถุงเติมจำหน่าย
นานมาแล้วเคยซื้อครีมอาบน้ำแบบขวด แต่ไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนี้มาก่อน เห็นว่าลดราคาเลยซื้อไปทดลองใช้ ปรากฎว่าไม่ใช่ครีมอาบน้ำที่เราชอบ ใช้ไม่กี่ครั้งก็ทิ้งไว้คาห้องน้ำ กระทั่งผลิตภัณฑ์เริ่มเสื่อมอายุ ต้องเททิ้งในที่สุด
แม้จะมีผลิตภัณฑ์แชมพู และสบู่ขนาดพกพา ไม่เกิน 100 มิลลิลิตร วางจำหน่ายตามร้านสะดวกซื้อ แต่กลับพบว่า ไม่ได้มีทุกสีทุกกลิ่นเช่นเดียวกัน สินค้าบางตัวขายเฉพาะขวดใหญ่ หรือไซส์กลางเท่านั้น
ครั้นจะไปค้างคืนที่ต่างจังหวัด เราอยากจะใช้แชมพูและสบู่เหลวที่เราอยากใช้ประจำก็ไม่มี เดินดูที่ร้านสะดวกซื้อมีแต่กลิ่นที่เรารู้สึกว่ามันจำเจ หรือกลิ่นที่เราไม่ชอบ ถ้าไม่ได้เตรียมมาจากบ้านก็ต้องจำใจซื้อ
วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นที่ทำอยู่ก็คือ ไปหาขวดรีฟิลขนาดไม่เกิน 100 มิลลิลิตรมาบรรจุแชมพู และครีมอาบน้ำที่ชอบ เพื่อให้พกพาขึ้นเครื่องบินได้ ตามมาตรการเรื่องของเหลว เจล สเปรย์ ที่มีผลบังคับใช้กับทุกสนามบิน
ปัจจุบันขวดเปล่าขนาดไม่เกิน 100 มิลลิลิตรเริ่มมีวางจำหน่ายตามร้านขายของใช้ในครัวเรือน และห้างจำหน่ายสินค้าตกแต่งบ้านบางแห่ง ถ้าซื้อเพียงไม่กี่ขวดราคาอาจจะแพง แต่ถ้าซื้อเป็นเซต ราคาต่อชิ้นอาจจะถูกลงมาหน่อย
การเลือกซื้อขวดเปล่าขึ้นอยู่กับการใช้งาน ถ้าเป็นแชมพู ครีมอาบน้ำ หรือโลชั่น จะใช้ขวดฝาฟลิปท็อป (Flip-Top) เปิดง่าย ใช้สะดวก แต่ถ้าเป็นน้ำยาต่างๆ เช่น น้ำยาซักผ้า ก็จะใช้ขวดฝาเกลียว
เมื่อจัดกระเป๋า ก็นำขวดของเหลวทุกขวดใส่รวมกันในถุงซิปล็อก ซึ่งตามกฎการบินกำหนดให้ของเหลวไม่เกิน 100 มิลลิลิตร ใส่รวมกันไม่เกิน 10 ขวด หรือ 1 ลิตร และถุงซิปล็อกขนาดกว้างและยาวไม่เกิน 20 เซนติเมตร
ปัญหาก็คือ แชมพูและสบู่เหลวบางยี่ห้อ และบางกลิ่นหรือสี ไม่มีแบบรีฟิลขาย การแบ่งใส่ขวดมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะดวก แต่สุดท้ายขวดแชมพูและขวดสบู่เหลวที่เหลือก็ต้องทิ้งเป็นขยะอยู่ดี
แต่ก็ยังรวมขวดไปขายตามร้านรับซื้อของเก่าได้ แม้จะกิโลกรัมละไม่กี่บาทก็ตาม
การใช้ผลิตภัณฑ์แบบรีฟิล แม้ด้านหนึ่งจะมองว่าเป็นการลดขยะจากขวดพลาสติก แต่ก็ยังมีขยะจากถุงพลาสติกแบบซองตั้งเกิดขึ้นอยู่ดี จะให้กลายเป็น ขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) ก็เป็นเรื่องยาก
หนำซ้ำ เมื่อเจอคนที่ทิ้งขยะแบบไร้สำนึก ถุงพลาสติกไปอยู่ในแหล่งน้ำ กระทั่งลงสู่ทะเล เมื่อสัตว์ทะเลกินเข้าไปโดยไม่รู้ว่าเป็นพลาสติก ก็ทำให้สัตว์ทะเลดังกล่าวตายอย่างน่าสงสารมาแล้ว
แม้ในชีวิตนี้เราเลือกที่จะขยะเหลือศูนย์ไม่ได้ แต่เวลานี้เราเลือกที่จะลดผลกระทบจากการใช้พลาสติกได้ อย่างน้อยคือการแยกขยะและกำจัดอย่างถูกวิธี จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเฉพาะหน้าได้
จนกว่าบ้านเราจะมีนวัตกรรมใหม่เพื่อลดขยะพลาสติกแบบ Zero Waste แบบที่ทุกคนจับต้องได้ออกมา