กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ประสบการณ์โรงแรมในปั๊มน้ำมัน เกิดขึ้นเมื่อคราวกลับจากมาเลเซีย จะไปต่อที่สุราษฎร์ธานี
กะว่าจะขึ้นรถตู้จากสถานีขนส่งผู้โดยสารหาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งมีรถตู้ประจำทางสายหาดใหญ่-สุราษฎร์ธานี ให้บริการอยู่
ปรากฎว่าเย็นวันนั้น ได้รับคำตอบว่า “รถตู้หมดแล้ว” แนะให้ไปนั่งรถชุมพร (รถทัวร์สายหาดใหญ่-ชุมพร) แทน
เดินมาที่ช่องจำหน่ายตั๋วหาดใหญ่-ชุมพร ปรากฎว่าเหลือแต่รอบสุดท้าย 3 ทุ่ม อีกทั้ง “รถไม่เข้าสุราษฎร์ธานี”
ถามว่าจอดที่ไหน ก็ตอบว่า “ลงได้แค่โคอ๊อป” หมายถึงจะจอดส่งที่ “สหกรณ์สุราษฎร์ธานี” (CO-OP) อ.พุนพิน
เมื่อไม่มีทางเลือก จึงยอมซื้อตั๋ว จ่ายไป 252 บาท ก่อนที่จะไปกินข้าว เดินเล่นฆ่าเวลาที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ ไม่ไกลจากสถานีขนส่งหาดใหญ่มากนัก
ระหว่างนั้นนั่งเสิร์ชหาข้อมูลว่า แถวโค-อ๊อป มีห้องพักที่ไหนพอจะซุกหัวนอนได้บ้าง
พบว่ามีอยู่ที่หนึ่ง ชื่อว่า “โรงแรมเคทู” (K2 HOTEL) ในปั๊มน้ำมันละแวกโค-อ๊อปนี่แหละ
เลยพอมีความหวังระดับหนึ่งว่า จะได้ที่ซุกหัวนอนคืนนี้
21.00 น. รถทัวร์ออกจากหาดใหญ่ แวะรับผู้โดยสารที่พัทลุง แล้วขับรถกันไปยาวๆ บนถนนสายเอเชีย 41 ท่ามกลางความมืด ได้แต่นั่งหลับด้วยความอ่อนเพลีย
กระทั่งรถทัวร์จอดแวะให้ทานข้าวต้มฟรีที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
01.45 น. พนักงานกวักมือเรียกให้เตรียมตัวลงจากรถ ผ่านสามแยกหนองขรี ข้ามทางรถไฟไปแล้ว จะเห็นปั๊ม ปตท. หน้าสหกรณ์สุราษฎร์ธานี
รถค่อยๆ ออกทางขนาน แล้วจอดให้เราลงจากรถ ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปยังชุมพรท่ามกลางความมืด
ในตอนนั้นรู้สึกงงเล็กน้อย เพราะไม่รู้ว่าโรงแรมอยู่ตรงไหน เห็นแต่เซเว่นอีเลฟเว่น กับร้านเคเอฟซีซึ่งปิดแล้ว
ปรากฎว่าเช็กอีกที อยู่ที่ปั๊ม ปตท. อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีก
มองไปข้างหน้าเห็นกล่องไฟปั๊ม ปตท. อยู่ไกลๆ พร้อมกับไฟประดับ บ่งบอกว่าโรงแรมอยู่ตรงหน้าเรานี่แหละ แม้เส้นทางจะเปลี่ยว ไร้ผู้คน มีแต่รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขับผ่านเราไปทีละคันสองคัน
เราเดินเท้าจากโค-อ๊อป ท่ามกลางความมืดมิดของถนนสายเอเชีย 41 รถบรรทุกขับผ่านเราไปด้วยความเร็วสูง คันแล้วคันเล่า
หวาดเสียวว่าเราจะมีชีวิตรอดไปถึงโรงแรมหรือไม่
5 นาทีผ่านไป เรามาถึงโรงแรมเคทู ตั้งอยู่ใน ปั๊มน้ำมัน ปตท. ก.กิจปิโตรเลียม อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี บริเวณโดยรอบมีร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านขายของที่ระลึก ศูนย์อาหาร และร้านกาแฟคาเฟ่อะเมซอน
แต่เนื่องจากเรามาถึงเกือบตีสองแล้ว จึงต้องสั่นกระดิ่งเพื่อเรียกพนักงานให้ออกมารับลูกค้า สักพักพนักงานลุกขึ้นมาให้บริการ
เราถามว่า “ยังมีห้องพักเหลืออยู่ไหมครับ”
พนักงานตอบว่า “ตอนนี้เหลือแต่เตียงเดี่ยวนะคะ”
เมื่อถามว่าเท่าไหร่ ได้คำตอบมาว่า “700 บาทค่ะ”
ด้วยความที่ไม่มีทางเลือก จึงต้องยอมเช็กอิน จ่ายเงิน ก่อนที่จะรับกุญแจห้อง มีอยู่ 3 อย่าง คือ คีย์การ์ดอันเล็กๆ สำหรับเปิดประตูทางเข้า ลูกกุญแจสำหรับไขลูกบิดประตูเข้าห้อง และคีย์แท็ก (Key Tag) สำหรับเปิด-ปิดไฟฟ้าในห้องพัก
ทีแรกไม่คาดคิดว่าโรงแรมในปั๊มน้ำมันแห่งนี้จะเป็นอย่างไร คิดว่าคงเป็นห้องพักแบบชั่วคราว
ปรากฎว่าพอเข้าไปในห้องพัก ความรู้สึกเหมือนเราอยู่ที่โรงแรมจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ปั๊มน้ำมัน
เสียอย่างเดียวคือในห้องร้อนอบอ้าวไปหน่อย ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศสักพัก
ห้องที่เราพักประกอบด้วย เตียงเดี่ยวขนาดใหญ่ พร้อมด้วยโทรทัศน์ ตู้เย็น มีน้ำดื่มกาต้มน้ำร้อน พร้อมกาแฟเขาทะลุแบบทรีอินวัน
ห้องน้ำในตัวพร้อมระบบน้ำอุ่น-น้ำเย็น หน้าต่างพร้อมม่านเห็นวิวปั๊มน้ำมัน แต่ไม่มีระเบียง
เราหลับไปด้วยความอ่อนเพลีย ตื่นขึ้นมาราว 10 โมงเช้า ก็อาบน้ำ จัดการธุระส่วนตัวให้เรียบร้อย
ก่อนเช็กเอาท์ มองจากภายนอกพบว่าอาคาร 2 ชั้นในปั๊มน้ำมันแห่งนี้ แบ่งออกเป็น 2 อาคาร ชั้นล่างเป็นร้านค้า ศูนย์อาหาร ชั้นบนเป็นโรงแรม
เท่าที่คุยกับพนักงานโรงแรม พบว่าห้องพักที่นี่มีทั้งหมด 43 ห้อง รวมห้องพักรายเดือนสำหรับบริษัทเอกชนชื่อดัง
สนนราคาชั่วคราว 3 ชั่วโมง 300 บาท ค้างคืนราคาเริ่มต้นที่ 590 บาทต่อคืน
กลุ่มลูกค้าที่นี่จะเป็นนักท่องเที่ยวและนักเดินทาง เพราะอยู่ใกล้สนามบินสุราษฎร์ธานี เพียง 3 กิโลเมตร
เราถามว่าจากตรงนี้ จะไปตัวเมืองสุราษฎร์ธานียังไง พนักงานแนะว่า ให้ข้ามถนนรอรถประจำทางสายพุนพิน-ไชยา เพราะถ้านั่งแท็กซี่ราคาจะแพง 500 บาท ก่อนที่จะร่ำลากันไป
โรงแรมในปั๊มน้ำมันเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการท้องถิ่น ที่เป็นผู้แทนจำหน่ายประเภทสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง นำพื้นที่โดยรอบมาต่อยอดธุรกิจโรงแรมเพิ่มเติม
ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมนาราคอร์ท ภายในปั๊มน้ำมัน ปตท. ถนนพระราม 2 (ขาล่อง) ต.บางแก้ว อ.เมืองฯ จ.สมุทรสงคราม เป็นอาคาร 4 ชั้น มีห้องพัก 48 ห้อง พร้อมห้องโถงขนาดใหญ่สำหรับประชุม สัมมนา
โรงแรมวังทองคำ ภายในปั๊ม ปตท. ลุงเท่ง ถนนเพชรเกษม (ขาล่อง) ก่อนถึงทางแยกต่างระดับชะอำ ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ภายในแบ่งออกเป็น 5 โซน ทั้งแบบห้องแถวและแบบบ้านน็อกดาวน์
โรงแรมจิงโจ้โฮเต็ล ภายในปั๊มน้ำมัน ปตท. หลังสวนปิยะแก๊ส ริมถนนสายเอเชีย 41 (ขาขึ้น) ต.ขันเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร เป็นอาคาร 3 ชั้น 2 อาคาร มีห้องพักรวม 87 ห้อง
ภายหลังได้ขยายกิจการโรงแรมจิงโจ้ และปั๊มน้ำมัน ปตท. ไปที่ อ.ปะทิว จ.ชุมพรอีกด้วย
หากใครได้นั่งรถบนถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าสู่ใต้ ช่วงที่น่าเบื่อที่สุด คือช่วงที่ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพราะต้องผ่าน 8 อำเภอ เป็นระยะทางยาวถึง 212 กิโลเมตร
กว่าจะผ่านตรงจุดนี้ไปถึงจังหวัดชุมพรได้ ก็กินเวลากว่า 3 ชั่วโมง
น่าสังเกตว่า เมื่อผ่านแยกเข้าเมืองประจวบคีรีขันธ์ จะเริ่มมีห้องพักให้บริการรายทาง และเริ่มเยอะขึ้นเมื่อเข้าเขตอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
ถือว่ามาได้ครึ่งทาง เพราะกว่าจะถึง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ต้องตรงไปอีก 480 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่เคยเข้าพักในห้องพักริมทางแบบนั้น พบว่าแต่ละแห่งมาตรฐานให้บริการไม่เหมือนกัน รวมทั้งความสะอาด
ครั้งหนึ่งเคยพักห้องพัก 24 ชั่วโมง ที่ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ปรากฎว่าที่นั่นใช้น้ำบาดาล เวลาอาบน้ำหรือแปรงฟัน น้ำยังเป็นสีขุ่นอยู่เลย
ธุรกิจสำหรับนักเดินทางตลอดเส้นทางถนนเพชรเกษม ระหว่างหัวหินถึงชุมพร นอกจากจะมีห้องพัก ปั๊มน้ำมันแล้ว ธุรกิจจุดพักรถ สำหรับรถทัวร์ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
ตัวอย่างเช่น “ห้องอาหารคุณสาหร่าย” ถนนเพชรเกษม (ขาล่อง) อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ถือเป็นจุดพักรถของบรรดารถทัวร์สายใต้เลยก็ว่าได้
ที่นี่มีศูนย์อาหาร ร้านของฝาก ร้านกาแฟ ห้องน้ำ และห้องละหมาดสำหรับชาวมุสลิม มีชื่อเสียงถึงขนาดทำค่ายเพลง และมีเพลงประจำร้านอย่าง “เพลงคุณสาหร่าย” ให้ได้ติดหูกันไปข้างหนึ่ง
แต่ก็มีรถทัวร์บางบริษัท เลือกจุดพักรถอื่นๆ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงกับทางร้าน เช่น “ร้านอาหารวังกุ้ง” ถนนสายเอเชีย 41 (ขาขึ้น) อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี, “ร้านอาหารสุภาพชน” ถนนเพชรเกษม (ขาล่อง) อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ
ร้านใหม่ที่สุด คือ “ร้านอาหารคุณต้น” ถนนเพชรเกษม (ขาขึ้น) อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าของเดียวกับร้านข้าวต้มโต้รุ่งที่เปิดมานานกว่า 40 ปี ภายในตกแต่งทันสมัย มีทั้งห้องอาหาร ร้านของฝาก มีอาคารละหมาดแยกกันต่างหาก
ถึงกระนั้น จุดพักรถสำหรับรถส่วนตัวที่ไม่ใช่กลุ่มลูกค้ารถทัวร์ ตัวอย่างเช่น “พอร์โต้ โก บางปะอิน” จ.พระนครศรีอยุธยา ที่นำร้านดังๆ มาลง อย่างฟาสฟู้ด ร้านกาแฟแบบไดร์ฟทรู ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ
ทราบว่า ถ้าจะทำจุดพักรถแบบนี้ จะต้องใช้งบลงทุนประมาณ 400 ล้านบาทต่อแห่ง
เส้นทางเพชรเกษม พ้นตัวเมืองหัวหินซึ่งเป็นย่านศูนย์การค้าไปแล้ว ถ้าไม่นับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งมีในปั๊มน้ำมัน ปตท. ทุกแห่งแล้ว พบว่ายังไม่มีจุดพักรถแบบนั้น นอกจากศูนย์บริการทางหลวงเขาโพธิ์ รอยต่อระหว่าง จ.ประจวบคีรีขันธ์ กับ จ.ชุมพร ปัจจุบันมีปั๊มน้ำมันพีทีเข้าไปเปิดให้บริการอยู่
กลับมาที่ธุรกิจโรงแรมในปั๊มน้ำมัน เมื่อประมาณปี 2560 “กลุ่ม ปตท.” คิดที่จะทำโรงแรมราคาประหยัด (บัดเจ็ตโฮเต็ล) ในปั๊มน้ำมัน ปตท. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทาง นอกเหนือจากร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และร้านคาเฟ่อะเมซอน
รูปแบบจะเป็นโรงแรมจำนวนไม่เกิน 80 ห้อง ราคาค่าห้องอยู่ที่ 500-800 บาทต่อคืน โดยจะจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการด้านโรงแรมเพื่อให้ได้มาตรฐาน
โดยจะให้เจ้าของปั๊มน้ำมัน หรือที่ดินติดกับปั๊มน้ำมันเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด
ภายหลังเจรจาหาพันธมิตรร่วมธุรกิจไม่ลงตัว จึงได้ชะลอเอาไว้ก่อน
ล่าสุดยืนยันว่า ปีนี้ (2562) ยังไม่ล้มแผนลงทุน แต่ขอดูทำเลให้ละเอียดก่อน อีกทั้งบริษัทในเครืออย่าง ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
คงต้องรอลุ้นกันว่า โรงแรมในปั๊มน้ำมัน “มาตรฐาน ปตท.” ถ้าเกิดขึ้นได้จริง หน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร และจะได้รับความนิยมจากนักเดินทางหรือไม่?
ถึงตอนนั้น บรรดาห้องพัก 24 ชั่วโมง ห้องพักรายวันคืนละ 400-500 บาท คงต้องหวั่นไหวกันบ้างล่ะ