xs
xsm
sm
md
lg

จากเมืองไทยไปปีนัง (2) : "บัตรเดบิตไทย" ถอนฟรีที่มาเลเซีย | เยือนโรงแรมราคาประหยัด "ทูน โฮเทล"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ความเดิมตอนที่แล้ว : จากเมืองไทยไปปีนัง (1) : ทริปไฟไหม้ เตรียมตัวอย่างไรก่อนนั่งรถไฟที่ปาดังเบซาร์

ก็อย่างที่บอกกับคุณผู้อ่านตั้งแต่ต้นว่า บทความนี้ไม่ใช่รีวิวแหล่งท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นขออนุญาตเขียนในสิ่งที่ถนัด เกี่ยวกับการใช้ชีวิตช่วงสั้นๆ หากมีโอกาสได้มาเยือนอีก จะเก็บรายละเอียดมาฝากให้มากกว่านี้

ทันทีที่ก้าวเดินออกจากเรือเฟอร์รี่ เข้าสู่เกาะปีนัง ความรู้สึกแรกก็คืองงเล็กน้อย เพราะเป็นการเดินทางแบบกะทันหัน โดยที่เราไม่ได้ทำการบ้านมาก่อน กลุ่มรถรับจ้างที่ยืนรอผู้โดยสารอยู่ตรงหน้าถามว่าจะไปไหน

หลักคิดที่ว่า “ไม่สบตา ไม่เจรจา ปัญหาไม่เกิด” จากไกด์ตอนไปดูงานที่เวียดนาม ถูกหยิบขึ้นมาใช้อีกครั้ง เราเดินหน้าขึ้นสะพานลอยไปฝั่งตรงข้ามทันที ไม่เผื่อใจให้พวกเขาแม้แต่น้อย

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีคนแนะนำว่า ไปมาเลเซียอย่าหลงเชื่อรถแท็กซี่ที่จอดอยู่ตามสถานีรถไฟ สถานีขนส่งรถปรับอากาศ หรือตามสนามบิน เพราะมักจะคิดค่าโดยสารเกินราคาและแพงเกินจริง

ระหว่างนั่งเรือเฟอร์รี่ เราวางแผนไว้ว่าจะกดเงินสดก่อน โดยค้นหาตู้เอทีเอ็มด้วย Google Maps แล้วค่อยไปเช็กอินที่โรงแรม เผื่อว่าทางโรงแรมจะไม่รับบัตรเดบิตของไทย จะได้จ่ายด้วยเงินสดไปเลย

คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า กดเงินสดที่ต่างประเทศไม่ถูกชาร์จเหรอ?

ปัจจุบัน มีธนาคารที่ถอนเงินสดข้ามประเทศได้ฟรี 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารยูโอบี ผู้ถือบัตรเดบิตยูโอบีทุกประเภท และบัตรเดบิต TMRW (ทูมอร์โรว์) ถอนเงินสดได้ที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารยูโอบีในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

และ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ผู้ถือบัตรเดบิต ซีไอเอ็มบี ไทย ถอนเงินสดได้ที่ตู้เอทีเอ็มของกลุ่มธนาคารซีไอเอ็มบี 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย และกัมพูชา ไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น

ตู้เอทีเอ็มที่เราจะไปกดเงิน ตั้งอยู่ใน ธนาคารยูโอบี สาขาเลบูห์ บิชอป (Lebuh Bishop) ซึ่งใกล้ท่าเรือเฟอร์รี่มากที่สุดแล้ว แต่ต้องเดินเท้าเกือบ 1 กิโลเมตร
WISMA KASTAM
ระหว่างทางจะผ่านอาคารที่ชื่อว่า วิสมา กาสตัม (WISMA KASTAM) หนึ่งในอาคารเก่าแก่ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1909 (พ.ศ. 2452) มีอายุกว่า 100 ปี ด้านบนจะเป็นหอนาฬิกาโดดเด่นเมื่อเห็นจากเรือข้ามฟาก ปัจจุบันเป็นที่ทำการศุลกากรปีนัง

สักพักหนึ่งเรามาถึงสี่แยก สังเกตได้ว่าบริเวณนี้มีธนาคารเต็มไปหมด หนึ่งในนั้นคือ “ธนาคารซีไอเอ็มบี” เพราะฉะนั้นใครที่พกบัตรเดบิตซีไอเอ็มบี ไทย คงโชคดีกว่าเพราะถึงตู้เอทีเอ็มก่อน

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจึงพบว่า ย่านนี้เรียกว่า “จอร์จ ทาวน์” (George Town) ที่ กัปตันฟรานซิส ไลท์ (Captain Fransis Light) ผู้ค้นพบเกาะชาวอังกฤษ ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นเมืองท่าปลอดภาษี ถือเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของปีนังก็ว่าได้

จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมสถาบันการเงินต่างๆ ถึงมาตั้งสาขาตรงจุดนั้น

น่าสังเกตว่า ตู้เอทีเอ็มของธนาคารต่างๆ มักจะไม่ได้อยู่ด้านนอกอาคาร แต่อยู่ภายในสาขาของธนาคารนั้นๆ นอกนั้นจะอยู่ตามศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ ศูนย์คมนาคมขนส่งต่างๆ ต่างจากธนาคารในไทย ตู้เอทีเอ็มจะอยู่นอกสาขาและมีเยอะ

เช่นเดียวกับธนาคารยูโอบี ปกติแล้วเวลาทำการของที่นี่ 9.30-16.00 น. (ตามเวลามาเลเซีย) แต่ก็จะมี “ล็อบบี้บริการทางการเงินด้วยตัวเอง” (24-Hour Self-Service Banking lobbies) มีทั้งตู้เอทีเอ็ม กับตู้ฝากเงินและถอนเงิน (RCDM)
UOB Lebuh Bishop
บ่ายสามโมงกว่า เราเดินเข้าไปที่สาขา สัมผัสได้ถึงแอร์เย็นฉ่ำ หลังเดินตากแดดจากท่าเรือเฟอร์รี่มานาน ทันใดนั้นก็หยิบ “บัตรเดบิต TMRW” ที่พกไว้ในกระเป๋าเพื่อถอนเงินสด ที่โอนใส่บัญชี TMRW Everyday Savings ไปก่อนหน้านั้นแล้ว

การทำรายการผ่านตู้เอทีเอ็ม เราใช้เมนูภาษาอังกฤษ ขั้นตอนไม่ต่างจากไทยมากนัก เลือกได้ว่าจะถอนเงินสดกี่ริงกิตมาเลเซีย หลังจากนั้นบัตรจะเด้งออกมาก่อน รับบัตรคืนแล้ว เงินถึงออกมาจากช่องรับเงิน ก่อนทิ้งท้ายด้วยสลิปเอทีเอ็ม

ธนบัตรริงกิตที่จ่ายผ่านเครื่องเอทีเอ็ม จะมีทั้งหมด 5 ราคา เริ่มต้นที่ 5 ริงกิต, 10 ริงกิต, 20 ริงกิต, 50 ริงกิต และสูงสุด 100 ริงกิต ไม่มีธนบัตรราคา 1 ริงกิต แต่สามารถซื้อของเพื่อแตกแบงก์ย่อยได้ตามร้านค้า และร้านสะดวกซื้อทั่วไป

ในวันนั้น (17 เม.ย. 2562) เรากดเงินไป 50 ริงกิต ระบบคิดเป็นเงินไทย 398.15 บาท คำนวณแล้วเท่ากับ 7.963 บาท ต่อ 1 ริงกิตมาเลเซีย ไม่มีค่าบริการถอนเงินสดระหว่างประเทศ จากปกติถ้าใช้บัตรของธนาคารอื่นจะเสีย 75-100 บาท
ในสลิปจะระบุ 50 ริงกิต เท่ากับ 398.15 บาท คำนวณแล้วเท่ากับ 7.963 บาท ต่อ 1 ริงกิต
เปรียบเทียบระหว่างธนาคารยูโอบี กับธนาคารซีไอเอ็มบีในปีนัง พบว่าบนเกาะมีเพียง 2 สาขาเท่านั้น นอกจากสาขาเลบูห์ บิชอปแล้ว อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่สาขาจาลัน เกอลาไว (Jalan Kelawai) ใกล้กับโรงแรมเอเวอร์กรีน ลอเรล ปีนัง

ต่างจากธนาคารซีไอเอ็มบี นอกจากบนเกาะปีนังจะมีมากกว่า 15 สาขา ตู้เอทีเอ็มนับสิบเครื่องแล้ว ยังมีสาขาในห้าง เช่น ศูนย์การค้าควีนส์เบย์ มอลล์ (Queensbay Mall) เปิดทุกวันถึง 6 โมงเย็น และมีสาขาในสนามบินปีนังอีกด้วย

ถึงอย่างไรก็ตาม จอร์จทาวน์ก็เป็นย่านที่อยู่ใกล้ท่าเรือเฟอร์รี่มากที่สุด ก็มีธนาคารยูโอบี และธนาคารซีไอเอ็มบีทั้งคู่ เพราะฉะนั้นถ้าคนที่ไม่ได้เที่ยวเกาะปีนังบ่อยครั้ง สะดวกแบงก์ไหนก็เลือกใช้ไปเถอะ
เอทีเอ็มที่นี่ บัตรจะออกมาก่อน เมื่อรับบัตรคืน เงินถึงจะออกมา
เราเดินทางต่อไปยังโรงแรมที่พัก แต่ดูจาก Google Maps แล้วพบว่าห่างกันตั้ง 2 กิโลเมตร นึกขึ้นได้ว่าอยู่เมืองไทยเราก็ใช้ “แกร็บ” (Grab) นี่นา ประเทศที่ถูกกฎหมายอย่างมาเลเซียก็ต้องใช้ได้

จึงลอง “เรียกแกร็บ” ที่ปีนังดูบ้าง คำนวณแล้วค่าโดยสาร 5 ริงกิต (เกือบ 40 บาท)

ด้วยความไม่คิดมาก กดเรียกรถไปแล้ว ปรากฎว่ามีรถวิ่งอยู่ในย่านจอร์จทาวน์พอดี เราได้พูดคุยกับคนขับซึ่งพูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว เก่งกว่าเราอีก ถามว่ามาจากไหน มาเที่ยวคนเดียวเหรอ จะพาทัวร์รอบเมืองไหม แต่ปฏิเสธไป

อันที่จริงค่าโดยสารแกร็บที่นี่ไม่แพงนัก ถ้าในย่านจอร์จทาวน์ก็ประมาณ 5-7 ริงกิต ออกไปด้านนอกอย่างปีนังฮิลล์ (Penang Hill) ก็ประมาณ 10-11 ริงกิต แถมยังสะดวกตรงที่ถ้าผูกบัตรเครดิตเอาไว้แล้วก็ไม่ต้องจ่ายเงินสด
เครื่องสั่งอาหาร ร้านแมคโดนัลด์ สาขา Birch House ที่นี่รับบัตรเดบิตของไทย
แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ เนื่องจากการเรียกแกร็บที่ต่างประเทศ โดยผูกกับบัตรเครดิตไทย เป็นการใช้จ่ายสกุลเงินต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเครือข่ายรับบัตรอย่างวีซ่า มาสเตอร์การ์ด จะคิดค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน 2.5%

บัตรเดบิตที่ไม่คิดค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน รูดบัตรที่ร้านแมคโดนัลด์ 6 ริงกิต 46.37 บาท ตกอยู่ที่ 7.72 บาท แต่พอนั่งแกร็บจ่ายไป 7 ริงกิต บัตรเครดิตจากธนาคารเดียวกัน คิดเป็นเงินไทย 55.37 บาท ตกอยู่ที่ 7.91 บาท

เพราะฉะนั้น ถ้ารูดบัตรเครดิตที่คิดค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน ต้องจ่ายแพงกว่าเกือบ 20 สตางค์ต่อ 1 ริงกิตมาเลเซีย
โรงแรมทูน โฮเทล จอร์จทาวน์ ปีนัง
เรามาถึงที่พัก โรงแรมทูน โฮเทล จอร์จทาวน์ ปีนัง (Tune Hotel George Town Penang) จองผ่านแอปพลิเคชัน Booking.com เอาไว้ เป็นห้องเตียงเดี่ยวแบบไม่มีหน้าต่าง ราคาอยู่ที่ 87.74 ริงกิต

ไม่รวม ภาษีท่องเที่ยว (Tourism Tax) ที่รัฐบาลมาเลเซียเก็บจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มอีก 10 ริงกิตต่อคืน เพราะฉะนั้นจ่ายจริงอยู่ที่ 97.74 ริงกิต เพราะเราพักเพียงแค่คืนเดียว

เราทดลองจ่ายค่าห้องพักด้วย บัตรทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี (TMB ALL FREE) ธนาคารทหารไทย ที่ประกาศว่าถ้าใช้งานที่ต่างประเทศ โดยเลือกเป็นสกุลเงินท้องถิ่น จะได้อัตราแลกเปลี่ยนถูกที่สุด ไม่มีค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน
ทดลองใช้บัตร TMB All Free จ่ายค่าโรงแรม 97.74 ริงกิต กลับมาเช็กยอด เงินในบัญชีหักไป 757.75 บาท ตกอยู่ที่ 1 ริงกิตเท่ากับ 7.75 บาท
กลับมาเช็กยอด เงินในบัญชีหักไป 757.75 บาท ตกอยู่ที่ 1 ริงกิต 7.75 บาท เทียบกับวันเดียวกัน นั่งแกร็บตกอยู่ที่ 1 ริงกิต 7.92 บาท ถอนเงินสดจากบัตรเดบิต TMRW ที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารยูโอบี ตกอยู่ที่ 1 ริงกิต 7.96 บาท

เพราะฉะนั้น ส่วนต่างระหว่างรูดบัตร TMB ALL FREE กับถอนเงินสดจากบัตรเดบิต TMRW จะอยู่ที่ 0.21 บาท ไม่รู้ว่าเป็นเพราะธนาคารยูโอบีคิดค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินหรือเปล่า

ถึงกระนั้น บัตรเดบิต TMRW ถอนเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารยูโอบีในมาเลเซีย ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ส่วนบัตรเดบิต TMB ALL FREE แม้จะรูดบัตรในอัตราที่ถูกกว่า แต่ถ้าถอนเงินสด เสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 75 บาท

แต่ละผลิตภัณฑ์ทางการเงิน จึงมีจุดแข็ง จุดอ่อนแตกต่างกันไป ใครสะดวกแบบไหนเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แบบนั้น สำหรับเรานับว่าโชคดีที่มีบัตรเดบิตของทั้งสองธนาคาร จึงได้โอกาสนำมาใช้ที่มาเลเซียด้วยกันทั้งคู่
ลิฟท์ชั้นล่าง
มากันที่ โรงแรมทูน โฮเทล จอร์จทาวน์ ปีนัง เปิดให้บริการเมื่อปี 2555 สูง 9 ชั้น รวม 246 ห้อง ชั้นล่างเป็นร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เคาน์เตอร์เช็กอินอยู่ชั้น 2 ราคาถูกที่สุดคือห้องเตียงเดี่ยวแบบไม่มีหน้าต่าง แพงที่สุดคือห้องสำหรับ 4 คน

เราเลือกห้องเตียงเดี่ยวแบบไม่มีหน้าต่าง เป็นห้องแคบๆ ไม่มีทีวี ไม่มีวิวอะไรเลย ประกอบด้วยเตียงขนาดใหญ่ มีโคมไฟ ตู้เซฟ ที่วางของพับเก็บได้ ห้องน้ำแยกส่วนแห้งและเปียก ไดร์เป่าผม มีเครื่องปรับอากาศและพัดลมบนเพดาน

เป็น “โรงแรมราคาประหยัด” (Budget Hotel) หนึ่งในธุรกิจของมหาเศรษฐี “โทนี่ เฟอร์นานเดส” (Tony Fernandes) เจ้าของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ชื่อดังอย่าง สายการบินแอร์เอเชีย ที่มีเส้นทางครอบคลุมทั่วเอเชีย
ห้องเตียงเดี่ยวแบบไม่มีหน้าต่าง
ก่อนหน้านี้ ทูน โฮเทล เคยร่วมทุนกับกับ เรด แพลนเนต เปิดโรงแรมทูน โฮเทล 5 แห่งในไทย ที่กรุงเทพฯ หาดใหญ่ ภูเก็ต และพัทยา แต่เมื่อหมดสัญญาร่วมทุน จึงเปลี่ยนเป็นโรงแรมเรด แพลนเนต ในไทย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

ปัจจุบัน ทูน โฮเทล มีโรงแรมในมาเลเซีย 11 แห่ง ที่อินเดีย 1 แห่ง ในเมืองอาห์มาดาบัด รัฐคุชราฏ และที่อังกฤษ 1 แห่ง ในเมืองลิเวอร์พูล นอกจากนี้ยังมีห้องพักชั่วคราว (Day Use Transit Rooms) ในท่าอากาศยานเคแอลไอเอ 2 อีกด้วย
โรงแรมราคาประหยัด พื้นที่ใช้สอยจะน้อย เน้นความคุ้มค่าในการพักผ่อน
อ่างล้างหน้า พร้อมแชมพูและสบู่
ห้องน้ำแยกส่วนแห้งและเปียก พร้อมระบบน้ำอุ่นและน้ำเย็น มีประตูกระจกกั้นอยู่
ทีแรกโรงแรมนี้พยายามแยกสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เช่น เตียง ห้องน้ำส่วนตัว ระบบน้ำร้อน-น้ำเย็น กับสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นบริการเสริม เช่น เครื่องปรับอากาศ จอแอลซีดี ผ้าขนหนู อินเตอร์เน็ตไว-ไฟ เพราะบางอย่างผู้เข้าพักไม่ได้ใช้

ปรากฎว่า ที่ไปเข้าพักล่าสุด นอกจากจอแอลซีดีและวิวหน้าต่างที่ไม่มีแล้ว เครื่องปรับอากาศยังคงเปิดตามปกติพร้อมกับพัดลม และมีไดร์เป่าผมในห้องน้ำ อีกทั้งสมัยก่อนผนังทึบที่จะติดแผ่นป้ายโฆษณา เดี๋ยวนี้กลับไม่มีอีกต่อไป
อาคารกอมตาร์ สูงที่สุดในปีนัง มองจากถนน Jalan Transfer
โรงแรมนี้มีข้อดีตรงที่อยู่ในย่านจอร์จทาวน์ เดินเท้า 5 นาทีถึง “อาคารกอมตาร์” (Komtar) ตึกสูงที่สุดในเกาะปีนังถึง 68 ชั้น ภายในมีทั้งส่วนราชการรัฐปีนัง ศูนย์การค้า ภัตตาคาร แหล่งช้อปปิ้ง

รวมทั้งเป็นสถานีขนส่งรถประจำทาง “แรพิด ปีนัง” (Rapid Penang) ไปยังสถานที่สำคัญต่างๆ ถ้าจะไปวัดเก็กลกสี่ ไปปีนัง ฮิลล์ นั่งรถเมล์สาย 204 ถ้าจะไปศูนย์การค้าควีนส์เบย์ หรือสนามบินปีนัง นั่งรถเมล์สาย 401E

แต่ถ้าจะนั่งรถเมล์ฟรี จากโรงแรมเดินเท้าย้อนกลับไป เลี้ยวซ้ายเข้า ถนนจาลัน ทรานสเฟอร์ (Jalan Transfer) จะมีป้ายรถเมล์เล็กๆ สังเกตรถเมล์จะมีคำว่า CAT (Central Area Transit) ขึ้นไปได้เลยไม่ต้องจ่ายเงิน
รถประจำทางฟรี CAT วิ่งวนรอบแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในย่านจอร์จทาวน์
แผนที่เส้นทางรถเมล์ CAT ในย่านจอร์จทาวน์ ปีนัง (ภาพจาก การท่องเที่ยวมาเลเซีย)
เส้นทางนี้จะผ่านอาคาร ศาลาว่าการเมืองปีนัง (Town Hall) ซึ่งจะเห็นวิวทะเล เหมาะแก่การชมพระอาทิตย์ขึ้น ถัดมาเป็น ป้อมปราการคอร์นเวลลิส (Fort Cornwallis) และหากเลยไปอีกหน่อยจะเป็นย่านสตรีทอาร์ตชื่อดัง

ใครที่มีเวลา ไม่ได้ไปแบบกะทันหันเหมือนผู้เขียน แนะนำให้ศึกษาแหล่งท่องเที่ยวได้ที่เว็บไซต์การท่องเที่ยวมาเลเซีย http://malaysia.travel ซึ่งจะมีแผ่นพับให้ดาวน์โหลดอีกด้วย

สองวันหนึ่งคืนที่ปีนังอาจไม่พอ สำหรับเกาะที่กว้างใหญ่ในมาเลเซียแห่งนี้ บางทีหากได้ทำความเข้าใจท้องถิ่นเพิ่มเติมแล้ว เราก็เริ่มมีความรู้สึกว่าอยากจะไปอีก แม้ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเปลี่ยนไปหรือไม่ก็ตาม
ศาลาว่าการเมืองปีนัง
อนุสรณ์สถานทหารผู้เสียชีวิตในสงคราม อยู่ริมเขื่อนตรงข้ามศาลาว่าการเมืองปีนัง
ป้อมปราการคอร์นเวลลิส (Fort Cornwallis)
หอนาฬิกาควีนวิคตอเรีย (Queen Victoria Clock Tower) สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองพระชนม์มายุ 60 พรรษาของพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ ในปี ค.ศ.1897
ถนนเลบูห์ พันตาย (Lebuh Panai) หรือถนนชายหาด (Beach Street) เป็นย่านการค้าและสถาบันการเงินในอดีตของปีนัง
มัสยิดกาปิตัน เคลิง (Kapitan Keling Mosque) สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 19 โดยมุสลิมจากอินเดียกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากในปีนัง
โบสถ์เซนต์จอร์จ ปีนัง (St. Georges Church) เป็นโบสถ์แองกลิกันที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยามเช้าริมทะเลปีนัง
กำลังโหลดความคิดเห็น