กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
สารภาพกับคุณผู้อ่านว่า การเดินทางไปเกาะปีนัง ประเทศมาเลเซียครั้งนี้ ไปแบบ “ไม่มีแบบแผน” จริงๆ เหมือนคำว่า “โปรไฟไหม้” สำหรับบรรดาโปรโมชั่นทัวร์ลดราคา
สืบเนื่องมาจากวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ไม่ตรงกับชาวบ้านเขา ทำให้พอถึงวันหยุดจริงๆ ก็นึกไม่ออกว่าจะไปไหนดี แม้จะหอบเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเป้แล้วก็ตาม
ทีแรกคิดเอาไว้ว่าจะไปเที่ยวทางจังหวัดภาคใต้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปไหน ยอมรับว่า “มาเลเซีย” คือหนึ่งในตัวเลือก แต่ก็คิดว่าคงไปยาก เอาไว้แค่ลงไปชุมพร สุราษฎร์ธานี แล้วปิดท้ายที่หาดใหญ่ก่อนกลับกรุงเทพฯ
มาตัดสินใจวินาทีสุดท้าย ก่อนซื้อตั๋วรถทัวร์ที่สายใต้ นึกในใจ ... เอาวะ ไปลงที่หาดใหญ่ แล้วข้ามฝั่งมาเลเซีย ไปเกาะปีนังเลย เพราะไหนๆ ก็ลงใต้มาแล้ว ลองข้ามไปประเทศเพื่อนบ้านดู
อีกทั้งเคยอ่านรีวิวคนที่ไปเที่ยวปีนังมาแล้ว คิดว่าน่าจะไปไม่ยาก แต่ยังกังวลเรื่องเข้าประเทศแล้วจะเจออะไรบ้าง ไม่นับรวมค่าใช้จ่าย ไม่รู้ว่าถ้าถึงขนาดไปเมืองนอกแล้วจะหมดเงินเท่าไหร่
สิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ไม่ใช่รีวิวแนะนำแหล่งท่องเที่ยว เพราะมีคนรีวิวเยอะแล้ว แต่จะเล่าประสบการณ์อีกด้านหนึ่ง กับเดินทางแบบ “ไม่มีแบบแผน” เผื่อใครที่กำลังสนใจจะไปเยือนได้พิจารณา
เริ่มแรก เราเลือกใช้บริการรถทัวร์ของ บขส. เพราะคิดว่าน่าจะดีที่สุดในตอนนั้น เมื่อเทียบกับรถทัวร์สายใต้บริษัทอื่น พอดีเราเป็นสมาชิก TCL Clubcard ของ บขส. ลองถามว่า “ใช้ส่วนลดได้ไหมครับ” ปรากฎว่าได้ แค่ขอบัตรประชาชน
เผื่อคุณผู้อ่านยังไม่ทราบ ... เดี๋ยวนี้ บขส. มีบัตรสมาชิกที่เรียกว่า TCL Clubcard อย่างน้อยถ้าซื้อตั๋วโดยสารก็รับส่วนลด 5% ทุกเส้นทางในประเทศไทย แนะนำสมัครฟรีไว้ก่อน ที่จุดจำหน่ายตั๋วสถานีเดินรถ บขส. ทุกแห่ง
รถทัวร์ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ในวันนั้นเป็นรถเสริม ม.1ข ค่าโดยสารหลังหักส่วนลด 612 บาท (ณ วันที่ 16 เมษายน 2562) ออกจากขนส่งสายใต้ 17.30 น. ถึงสถานีขนส่งหาดใหญ่ จ.สงขลา 07.35 น. ใช้เวลาเดินทางรวม 14 ชั่วโมงเศษ
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เคยนั่งรถทัวร์ต่อเนื่องยาวนานที่สุด 12 ชั่วโมง (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ แต่อ้อมไปทางเส้นอุตรดิตถ์-พิษณุโลก) มาคราวนี้ทำลายสถิติเดิม แต่ก็คงไม่อยากทำลายสถิติอีก
การนั่งอยู่บนรถทัวร์นานเป็นสิบชั่วโมงไม่ได้สุขสบาย ต่อให้นั่งริมหน้าต่าง แต่รถทัวร์สายใต้ส่วนใหญ่ออกจากกรุงเทพฯ ตอนเย็นถึงค่ำ มีแวะกินข้าวต้มรอบดึกที่ประจวบคีรีขันธ์ ถึงปลายทางช่วงเช้าถึงสายของอีกวันหนึ่ง
สิ่งที่พอทำได้ คือ ต้องทำตัวแบบกบจำศีล หลับๆ ตื่นๆ ตลอดทาง บางช่วงก็อาศัยหยิบมือถือ เปิดเพลง เปิดยูทูป ดูคลิปชาวบ้านพอไม่ให้รู้สึกเบื่อ แนะนำให้พกพาวเวอร์แบงก์มาเยอะๆ ด้วย
จากกรุงเทพฯ รถทัวร์จะไปทางถนนพระราม 2 ออกถนนเพชรเกษม แวะรับผู้โดยสารที่หัวหินตอนสองทุ่มเศษ กระทั่งสามทุ่ม รถจะจอดแวะพักรับประทานข้าวต้มที่ร้านอาหารสุภาพชน อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
เมื่อปีที่แล้วนั่งรถโชคอนันต์ทัวร์ไปชุมพร แวะจอดที่ร้านอาหารนี้แหละ น้ำพริกกะปิ กับถั่วฝักยาวผัดพริกหมูทำอร่อยมาก แต่มาคราวนี้เป็นข้าวต้มกับปลากรอบ หมูหยอง ยำปูอัด แตงกวาผัดไข่ ต้มผักกาดดอง ผิดหวังเล็กน้อยแต่ก็ยอมกิน
ทานข้าวต้มอยู่ท้องแล้ว เดินทางต่อมุ่งหน้าประจวบคีรีขันธ์ เที่ยงคืนครึ่ง แวะสับเปลี่ยนคนขับรถก่อนเข้าเมืองชุมพร แล้วขับยาวแบบไม่หยุดพัก จอดส่งผู้โดยสารอีกทีที่สถานีขนส่งพัทลุงตอน 6 โมงเช้า แล้วขับต่อไปอีกชั่วโมงครึ่งถึงหาดใหญ่
การเดินทางไกลแบบกะทันหัน ไม่มีแบบแผน สิ่งหนึ่งที่ต้องมีก็คือ “สติ” พยายามคิดว่าเราขาดอะไรบ้าง
ระหว่างทางก็ค่อยๆ นั่งคิดสิ่งที่ต้องเตรียมเมื่อจะไปเมืองนอก ปรากฎว่า เงินริงกิตมาเลเซียก็ยังไม่ได้แลก ไหนจะต้องซื้อซิมการ์ดมือถือเบอร์มาเลเซีย หาปลั๊กไฟแบบสามขาแบน แม้แต่ประกันภัยการเดินทางก็ไม่มี
นึกขึ้นได้ว่าบัตรเดบิตที่ใช้อยู่ มีประกันภัยเดินทางต่างประเทศฟรี เลยเข้าไปลงทะเบียน ก่อนจะได้รับกรมธรรม์ผ่านอีเมล แต่ใช้สิทธิได้แค่ครั้งเดียวตลอดโปรโมชั่น เพราะถ้าจะใช้สิทธิครั้งต่อไป ต้องมียอดใช้จ่ายสะสมต่างประเทศ 1 หมื่นบาท
จริงๆ แล้ว จะซื้อประกันภัยการเดินทางผ่านอินเตอร์เน็ตก็ได้ จ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือจะไปที่ร้านสะดวกซื้อชื่อดังก็มีขาย ที่แนะนำให้ทำประกันไว้ เพราะเผื่อมีอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย อย่าลืมว่าเที่ยวเมืองนอกไม่มีสิทธิรักษาฟรีเหมือนอยู่ในไทย
การเดินทางจากหาดใหญ่ไปปาดังเบซาร์ มีอยู่สองตัวเลือก คือ รถไฟจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ ข้ามแดนไปสถานีฝั่งมาเลเซีย กับนั่งรถตู้ที่ บขส.หาดใหญ่ ส่งที่หน้าด่านปาดังเบซาร์ (ฝั่งไทย)
รถไฟ ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ มีให้บริการวันละ 2 เที่ยว เวลา 07.30 น. และ 13.05 น. ค่าโดยสาร 50 บาท ข้อดีคือลงจากรถไฟที่ฝั่งมาเลเซียแล้ว นำหนังสือเดินทางมาประทับตราออกจากไทย และเข้าประเทศมาเลเซียได้ทันที
ส่วน รถตู้ หาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ค่าโดยสาร 50 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง เที่ยวสุดท้ายออกจาก บขส.หาดใหญ่ 18.00 น. รถจะส่งถึงหน้าด่าน ก่อนไปจอดที่ท่ารถตู้ ส่วนฝั่งปาดังเบซาร์ เที่ยวสุดท้าย 17.30 น.
ปัญหาคือ เราไม่ได้แลกเงินริงกิตมาตั้งแต่ต้น เพราะต้องใช้ซื้อตั๋วรถไฟ ถามคนขับรถตู้ก็บอกว่า จะมีร้านแลกเงินในตลาดปาดังเบซาร์ฝั่งไทย แต่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะไม่ดีเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับแลกมาจากกรุงเทพฯ หรือหาดใหญ่
เมื่อลงรถตู้ ทีแรกเราลองไปธนาคารสีเขียวที่อยู่ตรงสามแยก ปรากฎว่ายามชี้ให้เราไปที่ร้านแลกเงินแทน อยู่ตรงข้ามธนาคารกรุงไทย เราจึงเดินข้ามไปแลกเงิน 1,000 บาท ได้ 129 ริงกิต แถมทอนให้ 5 บาท
ค่าเงินริงกิตมาเลเซีย 1 ริงกิต (Ringgit) เท่ากับ 100 เซนต์ (Sen) พยายามคิดให้เข้าใจง่าย เหมือนบ้านเรา 1 บาท เท่ากับ 100 สตางค์ แต่เวลาซื้อสินค้าบ้านเขาจะนิยมใช้เหรียญ 10 เซนต์ 20 เซนต์ และ 50 เซนต์
แลกเงินเสร็จให้พออุ่นใจ เราก็นั่งมอเตอร์ไซค์ไปด่านปาดังเบซาร์ คิด 50 บาท หรือจะเดินเท้าไปก็ได้ ห่างกัน 1.2 กิโลเมตร ถึงด่านเรายื่นหนังสือเดินทางให้ตรวจคนเข้าเมืองของไทย แล้วถ่ายรูปก่อนประทับตราขาออกเมือง
จากนั้นจะมีชาวบ้านที่หน้าด่านรับจ้างขี่มอเตอร์ไซค์ จากทางออกด่าน ไปยังป้อมตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย คิดอีก 50 บาท เรานั่งบนมอเตอร์ไซค์ ยื่นหนังสือเดินทางประทับตราขาเข้ามาเลเซีย เจ้าหน้าที่จะให้สแกนลายนิ้วมือที่นิ้วชี้ทั้งสองข้าง
ก่อนประทับตราบนสติกเกอร์ที่ติดไว้กับหนังสือเดินทาง แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งแปะกับหนังสือเดินทาง ส่วนหนึ่งมีรอยปรุ ใช้เมื่อกลับประเทศไทย จากนั้นขี่วนไปส่งที่บันไดทางขึ้นสะพานลอยเข้าสถานีรถไฟ
สถานีรถไฟปาดังเบซาร์ (Padang Besar) ฝั่งมาเลเซีย จะมีชานชาลาอยู่ 4 ฝั่ง ถ้าซื้อตั๋วรถไฟจะมีห้องจำหน่ายตั๋วที่ชั้น 2 แจ้งว่าจะไป บัตเตอร์เวิร์ธ (Butterworth) ค่าโดยสาร 11.40 ริงกิต (เกือบ 88 บาท)
ตั๋วรถไฟที่ได้จะเป็นตั๋วใบเล็ก บอกแค่วันที่ ต้นทาง Padang Besar ปลายทาง Butterworth และเวลาซื้อตั๋วเท่านั้น เวลารถออกให้สังเกตหน้าจอบอกเวลา คำว่า B’WORTH ว่าอยู่ที่ชานชาลาไหน โดยปกติจะจอดบนชานชาลาที่ 2
ขอเตือนล่วงหน้าว่า ตั๋วรถไฟที่ซื้อมาเก็บรักษาไว้ให้ดี จนกว่าจะถึงปลายทาง เพราะเมื่อถึงสถานีบัตเตอร์เวิร์ธ จะต้องคืนตั๋วให้เจ้าหน้าที่ หากไม่มีตั๋วต้องเสียค่าปรับอีก 30 ริงกิต (230.50 บาท)
ระหว่งรอเวลาก็เดินไปที่ร้านค้าด้านในสถานี จะมีของขายที่จำเป็น เจอปลั๊กไฟแบบสามขาแบน มีขายอันละ 6.50 ริงกิต (เกือบ 50 บาท) ส่วนซิมการ์ดมาเลเซีย มีขายเฉพาะเครือข่าย U Mobile ราคา 30 ริงกิต (230 บาทเศษ) ซึ่งถือว่าแพง
แต่สัญญาณมือถือจากไทย ทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟเอช เข้าถึงสถานีปาดังเบซาร์ได้ แถมสัญญาณแรงกว่าฝั่งมาเลเซียเสียอีก ยังพอมีเวลาท่องเน็ตและทำธุระส่วนตัว เช่น จองห้องพักโรงแรม ก่อนที่จะเปลี่ยนซิมการ์ดระหว่างอยู่บนรถไฟ
รถไฟระหว่างปาดังเบซาร์ไปบัตเตอร์เวิร์ธ จะเป็นรถไฟชานเมือง (Commuter) ตัวรถเป็นรถไฟฟ้าปรับอากาศ ทำความเร็ว 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้บริการวันละ 14 เที่ยว เปิดให้บริการเมื่อปี 2557
ตัวรถไฟฟ้าจะเป็นรถไฟฟ้าชุด EMU Class 92 รับไฟฟ้าจากสายส่งเหนือหัว คล้ายแอร์พอร์ตลิงก์บ้านเรา แต่วิ่งบนรางระดับดิน ตลอดเส้นทางเป็นรถไฟทางคู่ มีรั้วรอบขอบชิด ทำความเร็วได้เต็มที่ ไม่มีรถหรือคนตัดผ่าน
แม้รถไฟฟ้าจะดูเก่าไปบ้าง หลังเปิดให้บริการมาแล้ว 5 ปี แถมมีมือดีปากระจกภายนอกจนแตก ยังไม่ได้เปลี่ยน แต่ภายในขบวนรถยังสะอาด แอร์เย็นสบาย ที่สำคัญเสียงแจ้งเตือนให้ระวังขณะก้าวออกจากรถ ยังมีดนตรีประกอบอีกด้วย
รถไฟออกจากสถานีปาดังเบซาร์ มุ่งหน้าสู่สถานีบัตเตอร์เวิร์ธ ระยะทางราว 170 กิโลเมตร แบ่งเป็นช่วง ปาดังเบซาร์-บูกิตเมอร์ตาจัม (Bukit Mertajam) 157 กิโลเมตร บูกิตเมอร์ตาจัม-บัตเตอร์เวิร์ธ 12 กิโลเมตร
แวะรับ-ส่งผู้โดยสาร 11 สถานี สถานีสำคัญ ได้แก่ สถานีอลอร์สตาร์ (Alore Setar) รัฐเคดาห์ (Kedah) บ้านเกิดนายกฯ มหาธีร์ มูฮัมหมัด มีหอชมเมืองอลอร์สตาร์ ทาวเวอร์ หรือจะเป็นสถานีซูไงเปอตานี (Sungai Petani) ที่เป็นเมืองใหญ่
เกือบ 2 ชั่วโมงเราก็มาถึงสถานีบัตเตอร์เวิร์ธ เห็นสะพานและท่าเรือล้อมรอบ ลงจากรถไฟขึ้นไปด้านบนชานชาลา คืนตั๋วให้พนักงาน แล้วเดินลงมาด้านหน้าสถานี จะมีบรรดาโชเฟอร์แท็กซี่ยืนรออยู่ พยายามชักชวนให้ขึ้นแท็กซี่
แต่มีคนบอกว่า ให้เดินผ่านไปเลย เพราะท่าเรือเฟอร์รี่อยู่ไม่ไกล เดินไปตามลูกศรเท่านั้น
บริษัททัวร์ต่างๆ แนะนำให้นักท่องเที่ยวอย่าหลงเชื่อรถแท็กซี่ ที่จอดอยู่ตามสถานีรถไฟ สถานีขนส่งรถปรับอากาศ หรือตามสนามบิน เพราะแท็กซี่มาเลเซียมักจะคิดค่าโดยสารเกินราคา และแพงเกินจริง
เมื่อเดินไปตามทางเดินสักพัก จะเข้าสู่อาคาร “ปีนังเซ็นตรัล” (Penang Sentral) ศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง ชั้นล่างจะเป็นชานชาลารถทัวร์ ส่วนชั้น 2 จะเป็นช่องขายตั๋วโดยสาร ร้านค้า ร้านอาหาร และทางเชื่อมไปยังท่าเรือเฟอร์รี่
เรือเฟอร์รี่ข้ามไปปีนังมีชื่อว่า “แรพิดเฟอร์รี่” (Rapid Ferry) ก่อนอื่นต้องซื้อตั๋วโดยสารคนละ 1.20 ริงกิต (ประมาณ 9.25 บาท) เจ้าหน้าที่จะให้สลิปที่มีคิวอาร์โค้ด ให้นำไปสแกนเพื่อเปิดประตูคล้ายรถไฟฟ้า แล้วนั่งรอเวลาเปิดให้ขึ้นเรือ
ใช้เวลานั่งเรือเฟอร์รี่จากฝั่งบัตเตอร์เวิร์ธไปยังปีนัง ประมาณ 15 นาที เรือจะจอดที่ท่าเรือบริเวณจอร์จ ทาวน์ (George Town) ย่านเมืองเก่าของเกาะปีนัง ส่วนขากลับไม่ต้องจ่ายเงิน เดินขึ้นไปรอเรือเฟอร์รี่มารับกลับได้เลย
ระหว่างนั่งเรือเฟอร์รี่ มองไปทางทิศใต้ ไกลสุดลูกหูลูกตาจะเห็น “สะพานปีนัง” (Penang Bridge) ยาวถึง 8.4 กิโลเมตร มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของมาเลเซีย และอันดับ 5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นสัญลักษณ์คู่เมืองปีนังไปแล้ว
ในที่สุด ก็ใช้เวลาข้ามวันข้ามคืน มาถึงเกาะปีนัง มาเลเซียเสียที
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
หมายเหตุ : รถตู้สายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ค่าโดยสารคนละ 50 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ เที่ยวแรก 06.00 น. เที่ยวสุดท้ายออกจากหาดใหญ่ 18.00 น. ออกจากปาดังเบซาร์ 17.30 น.
รถไฟชานเมือง KTM Komuter สายปาดังเบซาร์-บัตเตอร์เวิร์ธ ให้บริการรวม 14 เที่ยวต่อวัน เที่ยวแรก 05.25 น. (หรือ 04.25 น. ตามเวลาประเทศไทย) เที่ยวสุดท้าย 21.25 น. (หรือ 20.25 น. ตามเวลาประเทศไทย)
ถ้านั่งรถตู้เที่ยวแรก 06.00 น. จะถึงหน้าด่านปาดังเบซาร์ เวลาประมาณ 07.00 น. หากซื้อตั๋วทันจะได้นั่งรถไฟเที่ยว 08.25 น. (ตามเวลามาเลเซีย) ถึงปลายทางบัตเตอร์เวิร์ธ เวลาประมาณ 10.16 น.
ส่วนช่วงเย็น แนะนำให้ออกจากหาดใหญ่ก่อน 17.00 น. ถึงปาดังเบซาร์เวลาประมาณ 18.00 น. จะได้นั่งรถไฟเที่ยว 19.25 น. (ตามเวลามาเลเซีย) ถึงปลายทางบัตเตอร์เวิร์ธ เวลาประมาณ 21.16 น.
เรือเฟอร์รี่ข้ามไปปีนัง เที่ยวแรกออกจากฝั่งบัตเตอร์เวิร์ธ 05.20 น. เที่ยวสุดท้าย 00.10 น. ส่วนฝั่งเกาะปีนัง เที่ยวแรก 05.40 น. เที่ยวสุดท้าย 00.40 น. ค่าโดยสารจ่ายเฉพาะฝั่งบัตเตอร์เวิร์ธ คนละ 1.20 ริงกิต (ประมาณ 9.25 บาท)
เที่ยวกลับ ถ้านั่งรถไฟจากบัตเตอร์เวิร์ธ เที่ยว 14.25 น. ถึงปาดังเบซาร์ 16.16 น. จะทันขึ้นรถไฟดีเซลรางไปหาดใหญ่ โดยซื้อตั๋วรถไฟที่ชั้นชานชาลา เลยด่าน ตม.ในสถานีรถไฟ ค่าโดยสารจ่ายเป็นเงินไทย 50 บาท หรือเงินมาเลเซีย 7 ริงกิตก็ได้
จำไว้ว่า เวลาในมาเลเซียจะเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง