xs
xsm
sm
md
lg

หลุมพรางของ “ตูซิดิตี” และแนวโน้มสงครามสหรัฐฯ-จีน ในศตวรรษที่ 21

เผยแพร่:   โดย: พรมแดนสื่อใหม่ (New Media, New Frontier)

โดนัลด์ ทรัมป์ และ สี จิ้นผิง สองผู้นำจากสองชาติมหาอำนาจแห่งศตวรรษที่ 21(ภาพเอเอฟพี)
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


“มันเป็นการผงาดขึ้นมาของเอเธนส์ และความหวาดกลัวที่ซึมลึกลงไปในหมู่สปาร์ตา ทำให้สงครามกลายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” --- ตูซิดิตี, ประวัติศาสตร์ของสงครามเพโลพอนนีเชียน
"It was the rise of Athens and the fear that this instilled in Sparta that made war inevitable." --- Thucydides, History of the Peloponnesian War

ตูซิดิตี (Thucydides) เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกที่มีชีวิตอยู่ในช่วง 460-400 ปีก่อนคริสตศักราช ถูกยกย่องว่าเป็นบิดาของประวัติศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์

ตูซิดิตีเขียนประวัติศาสตร์เล่าเรื่องราวของสงครามเพโลพอนนีเซียน ซึ่งบรรยายถึงชนวนสาแหตุ และเหตุการณ์ ของสงครามอันเกิดจากความขัดแย้งทางทหารระหว่างนครรัฐสปาร์ตากับนครรัฐเอเธนส์ในช่วงระหว่าง ปี 500 ถึง 411 ก่อนคริสต์ศักราช
ตูซิดิตี (Thucydides) เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวกรีก กับ ภาพวาดสงครามเพโลพอนนีเซียน
เมื่อเดือนกันยายน 2561 บนเวที TED Talk ที่มหานครนิวยอร์ก ศาสตราจารย์เกรแฮม ที. อลิสัน นักรัฐศาสตร์ชั้นครูแห่ง John F. Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยกเอาข้อความข้างต้นที่บันทึกไว้ตูซิดิตี เกี่ยวกับสงครามระหว่างมหาอำนาจเมื่อราวสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ และแนวโน้มในการปะทะกันระหว่างสองมหาอำนาจจากสองซีกโลกแห่งศตวรรษที่ 21 นั่นก็คือ สหรัฐอเมริกาและจีน*

"เรื่องนี้จะเป็นเรื่องระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของคุณในช่วงชีวิตนี้ และจะเป็นความท้าทายในของการต่างประเทศที่สำคัญที่สุดที่โลกจะต้องเผชิญเท่าที่ผมพอจะมองเห็น แน่นอนว่าเรื่องนี้คือเรื่อง ‘การผงาดขึ้นของจีน’ เพราะไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ที่คนจำนวนมหาศาล จะสามารถก้าวหน้าพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ในหลากหลายมิติเช่นนี้" ศ.อลิสันกล่าว

นักวิชาการอาวุโสจาก ม.ฮาร์วาร์ด ระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจจากการผงาดขึ้นของมหาอำนาจใหม่ที่กลายมาเป็นสงครามนั้นอาจจะเข้าสู่ ทฤษฎีหลุมพรางของตูซิดิตี (The Thucydides Trap)
ศาสตราจารย์เกรแฮม ที. อลิสัน (ภาพจากทวิตเตอร์ @grahamtallison)
“ในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา มีกรณีศึกษา 16 กรณีที่มหาอำนาจใหม่ที่ผงาดขึ้นมา เป็นภัยคุกคามต่อมหาอำนาจเดิม ซึ่งผลของมันก็คือ 12 จาก 16 กรณีตัดสินกันด้วยสงคราม”** ศ.อลิสันระบุกางสถิติเพื่อรองรับทฤษฎีของเขา และว่าหลังสิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา โลกตกอยู่ภายใต้ระบบขั้วอำนาจเดียว (Unipolarity) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ การพัฒนาอย่างรวดเร็วของจีนในเกือบทุกด้าน และมีทีท่าว่าจะก้าวล้ำแซงสหรัฐอเมริกาในหลายด้าน จึงเป็นภัยคุกคามระบบขั้วอำนาจเดียวอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

ความหวาดกลัว การตอบโต้ และการขัดแข้งขัดขาของสหรัฐฯ ต่อขั้วอำนาจใหม่ที่กำลังขยับสถานะก้าวขึ้นมากระทบไหล่ตัวเองสะท้อนออกมาผ่านเหตุการณ์อย่าง เช่น การที่พี่ใหญ่สหรัฐฯ ขอให้ทางการแคนาดาจับกุมเมิ่ง หว่านโจว (孟晚舟) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของบริษัทหัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยีและโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน และบุตรีของผู้ก่อตั้งบริษัท ในข้อหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ รวมไปถึงการเรียกร้องและกดดันทั้งแบบบนดินและใต้ดินให้รัฐบาลทั่วโลก เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมนี ร่วมกันบอยคอตไม่ใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ย ในเครือข่ายสื่อสารไร้สายระบบ 5จี ด้วยข้อกล่าวหาด้านความมั่นคง
ภาพวาดการขึ้นศาลแคนาดาของ เมิ่ง หว่านโจว ซีเอฟโอหัวเว่ยหลังจากถูกจับกุมในข้อหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ (ภาพเอเอฟพี)
สิ่งเหล่านี้นำมาสู่การตอบโต้กลับคืนอย่างทันควันของจีน อย่างเช่น การจับกุมนักธุรกิจพลเมืองแคนาดาในข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของจีน และ การที่ศาลประชาชนชั้นกลางในฝูโจว มณฑลฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) สั่งระงับการขายไอโฟนตั้งแต่รุ่น 6S จนถึง X ในจีนทันทีเนื่องจากละเมิดสิทธิบัตรสองรายการของควอลคอมม์ ซัปพลายเออร์ชิปสำหรับโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของโลก เกี่ยวกับคุณสมบัติในการปรับขนาดภาพและการจัดการแอปพลิเคชันบนหน้าจอสัมผัส

การปะทะกันเหล่านี้ โหมให้ไฟสงครามการค้า (Trade War) ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงของเศรษฐกิจโลกกระพือลุกลามขึ้นไปอีก และยังไม่มีทีท่าว่าจะดับลงได้ง่าย ๆ

ดร.ยูวาล เว็บเบอร์ นักวิชาการจากบัณฑิตวิทยาลัยด้านความมั่นคงแห่งชาติแดเนียล มอร์แกน (Daniel Morgan Graduate School of National Security; DMGS) วาดภาพสถานการณ์การเมืองโลกในปัจจุบันและอนาคต ให้ผมและเหล่านักข่าวไทยกลุ่มเล็ก ๆ ฟังที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หลังการบรรยายเกี่ยวกับการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเมืองของสหรัฐฯ โดยรัสเซียว่า

ในความคิดของเขา สงครามเย็นครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับ รัสเซีย ผ่านการแทรกแซงด้วยปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร (Information Operation; IO) น่าจะจบลงหลังสิ้นสุดยุคสมัยของนายวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งในอดีตเคยเป็นสายลับเคจีบี เพราะการปะทะกันระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียครั้งนี้อยู่ในกรอบอุดมการณ์ของสงครามในรูปแบบเดิม ซึ่งปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของรัสเซียไม่เอื้ออำนวยให้เกิดสถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างสองชาติใน เช่น ช่วงสงครามเย็นในศตวรรษที่ 20 อีกแล้ว

คลิกอ่าน >> สหรัฐฯ vs รัสเซีย ในสงครามเย็นยุคดิจิทัล <<

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับ ศ.อลิสัน ดร.ยูวาลชี้ว่าคู่ปรับใหม่ของสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 21 น่าจะเป็นประเทศจีนมากกว่า โดยสงครามเย็นครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจจะไม่ได้เป็นสงครามที่ฟาดฟันกันผ่านการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ สงครามตัวแทน สงครามจิตวิทยา สงครามโฆษณาชวนเชื่อ หรือการจารกรรม แต่จะเป็น สงครามของเผด็จการบิ๊กดาต้า (Big data authoritarian) โดยสงครามนี้จะเกิดขึ้นใน 3 สนามรบด้วยกันคือ คู่แข่งในด้านความมั่นคง (Security Rivalry), คู่แข่งในทางการเมืองระดับโลก (Political Rivalry) และคู่แข่งในทางเศรษฐกิจ (Economic Rivalry)

“สงครามเย็นครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก่อตัวขึ้นแล้วและกำลังจะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงอีกหลายสิบปีข้างหน้า” ดร.ยูวาลให้ความเห็น

คำถามสำหรับผลกระทบกับโลกในทุกวันนี้ก็คือ เราจะเดินตามรอยเดิมของกงล้อของประวัติศาสตร์ หรือ เราจะจับมือกันผสานรวมเอาจินตนาการ สามัญสำนึก และความกล้าหาญ ช่วยกันคิด พูดคุย เจรจาและลงมือปฏิบัติ เพื่อหาทางหลีกเลี่ยงสงครามที่ไม่มีใครต้องการ และทุกคนรู้ดีว่าจะนำมาสู่หายนะ

หมายเหตุ :
*Is war between China and the US inevitable? | Graham Allison; https://www.youtube.com/watch?v=XewnyUJgyA4&t=2s
**The Thucydides Trap; https://foreignpolicy.com/2017/06/09/the-thucydides-trap/



กำลังโหลดความคิดเห็น