xs
xsm
sm
md
lg

The 1 กลุ่มเซ็นทรัล VS M Card เดอะมอลล์กรุ๊ป 'แอปชนแอป' ในโลกนักช้อป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลประกาศว่า ภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) จะพัฒนาธุรกิจค้าปลีกโดยเพิ่มแพลตฟอร์มดิจิตอลเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้

หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ของ “เดอะวัน” (The 1) โปรแกรมสะสมคะแนนของกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อให้กลุ่มเซ็นทรัลสร้างปฏิสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับลูกค้า และตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลได้ดียิ่งขึ้น

กระทั่งเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา แอปพลิเคชัน The 1 เวอร์ชั่นใหม่ได้เปิดให้สมาชิกดาวน์โหลดแล้ว คุณสมบัติเด่นก็คือ นอกจากเช็กคะแนนสะสมแล้ว การแลกคะแนนทำได้ง่ายขึ้นกว่าของเดิม



โดยปกติแล้ว การสะสมคะแนนจะใช้วิธีบอกเบอร์มือถือ แต่การแลกคะแนน ส่วนใหญ่จะใช้บัตรประชาชนไปแลกที่เคาน์เตอร์บริการลูกค้า มาคราวนี้ได้พัฒนาให้สามารถนำคะแนนแลกบัตรเงินสด (Cash Coupon) ภายในแอปฯ ได้ทันที

รวมทั้งการแลกคะแนนยังยืดหยุ่นกว่าเดิม สมัยก่อนต้องสะสมให้ได้ 800 คะแนน จะได้บัตรกำนัลเงินสด 100 บาท มาคราวนี้ ขั้นต่ำ 400 คะแนน แลกรับบัตรเงินสด 50 บาท ใชได้ที่ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าในกลุ่มเซ็นทรัล

นอกจากนี้ ใต้เมนู “รายการแนะนำ” ยังนำสิทธิพิเศษที่เลือกมาเฉพาะจากกลุ่มเซ็นทรัล โดยวิธีการรับสิทธิ์เพียงแค่กดปุ่ม “กดแลกคะแนนตอนนี้” แล้วใส่รหัส Passcode 6 หลัก หรือ Touch ID เพื่อรับรหัสส่วนลดได้ทันที

ความได้เปรียบของกลุ่มเซ็นทรัลก็คือ มีฐานลูกค้าอยู่ในมือถึง 14 ล้านคน กระจายไปตามค้าปลีกกลุ่มเซ็นทรัลที่มีอยู่ทั่วประเทศ นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2549 หากเปรียบเทียบกับประชากรทั้งประเทศก็มากกว่า 20%

แต่กลุ่มค้าปลีกที่ล้ำหน้าเรื่องแอปพลิเคชันไปก่อนหน้านี้ก็คือ “กลุ่มเดอะมอลล์” ที่พัฒนาแอปพลิเคชั่น M Card เวอร์ชั่นใหม่ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ให้มีลูกเล่นได้มากกว่าการเช็กคะแนนสะสม

เพราะเอาจริงๆ จากประสบการณ์ส่วนตัว รูปแบบ UX/UI ของแอปฯ M Card ใช้งานง่ายกว่า จัดหมวดหมู่โปรโมชั่นได้ดีกว่า โดยเฉพาะโปรโมชั่นจากพาร์ทเนอร์ต่างๆ แถมแลกคะแนนสะสมเพื่อรับสิทธิตามร้านค้าได้ง่ายกว่า

และในเมนู M Coupon หมวดหมู่บางอย่างยังจัดไว้ให้เฉพาะจังหวัดในพื้นที่ห้างนั้นๆ ตั้งอยู่ เหมาะกับเวลาไปเที่ยวตามพื้นที่นั้นๆ เช่น “โคราช เอ็กซ์คลูซีฟ” เฉพาะห้างเดอะมอลล์ โคราช หรือ “บลูพอร์ต เอ็กซ์คลูซีฟ” เฉพาะห้างบลูพอร์ต หัวหิน

แต่ปัญหาก็คือ ที่ผ่านมาจะแลกคะแนนสะสมก็ยุ่งยาก ต้องใช้บัตร M Card ตัวจริงพร้อมบัตรประชาชนไปแลกที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ นอกจากจะเสียเวลาแล้ว หากบัตรหาย ยังต้องทำบัตรใหม่ที่จุดบริการ เสียค่าธรรมเนียมอีก 50 บาท

มาคราวนี้เมื่อ 15 มิถุนายน 2561 แอปฯ M Card เวอร์ชั่นใหม่ได้เพิ่มเติม M Point Pay กดแลกคะแนนเป็นส่วนลดแทนเงินสด เริ่มต้นที่ 80 คะแนน แลกส่วนลด 10 บาท แล้วนำบาร์โค้ดไปแสดงที่แคชเชียร์ ไม่ต้องใช้บัตรตัวจริงอีกต่อไป



หรือจะเป็นส่วนลด On Top (หมายถึง ส่วนลดเพิ่มจากราคาที่หักส่วนลดตามโปรโมชั่นแล้ว) เริ่มต้นที่ 300 คะแนน ลด On Top 10% (สูงสุดไม่เกิน 150 บาท) สูงสุด 800 คะแนน ลด On Top 20% (สูงสุดไม่เกิน 300 บาท)

นอกจากนี้ ยังมีลูกเล่นบริการบางอย่างอีกด้วย เช่น เพิ่มเวลาจอดรถฟรี (ยกเว้นสยามพารากอน) ใช้คะแนนสะสม เริ่มต้นที่ 100 คะแนน ฟรี 6 ชั่วโมงแรก (1 ครั้งต่อเดือน) หรือแลก 200 คะแนน เพิ่มจากราคาปกติฟรี 2 ชั่วโมง (2 ครั้งต่อเดือน)

เดอะมอลล์กรุ๊ปทำโปรแกรมสะสมคะแนน M Card มาประมาณ 9 ปี มีฐานลูกค้าอยู่ในมือประมาณ 3.8 ล้านราย (ณ ปลายปี 2560) และมีผู้ดาวน์โหลดแอปฯ M Card แล้วประมาณ 3 แสนราย (ณ เดือนมิถุนายน 2561)

ไม่ใช่เพียงแค่ค้าปลีกรายใหญ่ทั้งสองกลุ่ม ที่ผ่านมามีธุรกิจค้าปลีกและบริการบางราย ลงทุนทำแอปพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวกในการสะสมคะแนน และใช้สิทธิพิเศษทดแทนบัตรพลาสติก หรือคูปองเงินสดมาบ้างแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น เทสโก้ โลตัส ทำแอปฯ Clubcard ที่แสดงคะแนนสะสมล่าสุด เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนเป็นคูปองเงินสดทุก 3 เดือน ก็สามารถนำคูปองเงินสดที่มีอยู่จากแอปฯ มาใช้แทนเงินสดได้ทันที โดยไม่ต้องรอคูปองตัวจริงส่งถึงบ้านทางไปรษณีย์

ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดกลางอย่าง วิลล่า มาร์เก็ต ได้พัฒนาแอปฯ V Plus Wallet โดยร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากจะแสดงผลรหัสบัตรสมาชิก V Plus ได้แล้ว ยังเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ในตัว

หรือจะเป็นร้านกาแฟชื่อดังอย่าง สตาร์บัคส์ ก็มีแอปฯ Starbucks Thailand เป็นได้ทั้งบัตรสตาร์บัคส์ การ์ด ใช้คิวอาร์โค้ดเติมเงิน หรือชำระเงินแทนบัตรพลาสติกก็ได้ หรือจะตรวจสอบดาวจากโปรแกรมสะสมคะแนนสตาร์บัคส์ รีวอร์ดก็ได้เช่นกัน

หากเป็น สายการบินแอร์เอเชีย ได้ออกแอปฯ AirAsia BIG LOYALTY แยกจากแอปฯ AirAsia ที่ใช้จองตั๋วเครื่องบินต่างหาก โดยนอกจากจะเป็นบัตรสมาชิกดิจิตอล รวมทั้งแสดงคะแนนคงเหลือแล้ว ยังใช้แลกบัตรโดยสารได้ในแอปฯ เดียว



และให้ร้านค้าและบัตรเครดิตต่างๆ โอนคะแนนสะสมมาเป็น BIG Points เช่น เทสโก้ โลตัส ใช้คะแนนคลับการ์ด ขั้นต่ำ 500 คะแนน แลกได้ 25 BIG Points หรือกลุ่มเซ็นทรัล ใช้คะแนนเดอะวัน ขั้นต่ำ 1,200 คะแนน แลกได้ 600 BIG Points

ถึงกระนั้น เมื่อเปรียบเทียบสายการบินอื่นๆ พบว่าถ้าเป็นนกแอร์ การบินไทย หรือ บางกอกแอร์เวย์ จะใช้วิธีเชื่อมต่อกับ Wallet ในระบบปฏิบัติการ iOS โดยการบินไทยใช้บริษัท MyWallet ทำบัตรสมาชิกดิจิตอล My ROP

ล่าสุด ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล ค้าปลีกแฟชั่นและเครื่องสำอางในเครือสหพัฒน์ ได้ออกแอปฯ His Her สำหรับสมาชิก His & Her ใช้แทนบัตรสมาชิกตัวจริง สะสมคะแนน ตรวจสอบคะแนนสะสม และแลกสิทธิพิเศษบางอย่างได้แล้ว

อีกด้านหนึ่ง หากเป็นบัตรสมาชิกปั้มน้ำมัน แอปฯ จะใช้ดูยอดคะแนนคงเหลือ ส่วนการแลกคะแนนสิทธิประโยชน์หลัก ยังคงต้องใช้บัตรตัวจริง เช่น PTT Blue Card ของกลุ่ม ปตท., Gasohol Club ของบางจาก, PT Max Card ของปั้มพีที

ถ้าเป็น กลุ่ม ปตท. ได้เปิดให้ธนาคารกสิกรไทย เชื่อมระบบ PTT Blue Card กับแอปฯ K PLUS เมื่อชำระเงินผ่าน PromptPay QR ที่ร้านคาเฟ่อะเมซอน, เท็กซัส ซิคเก้น หรือร้านค้ากลุ่ม ปตท. ก็สะสมคะแนนได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้บัตรตัวจริง

ยังเหลือเพียงแค่การสะสมคะแนนจากการเติมน้ำมัน และแลกคะแนนสะสมเท่านั้น ที่ยังคงต้องใช้บัตรตัวจริง เข้าใจว่าเพื่อเป็นการปิดช่องโหว่การทุจริตในการใช้บัตร

การแข่งขันของ “กลุ่มเซ็นทรัล” และ “กลุ่มเดอะมอลล์” ในการปรับโฉมแอปฯ ครั้งนี้ อาจจะเป็นต้นแบบให้กลุ่มค้าปลีกรายอื่นๆ ได้ใช้ช่องทางดิจิตอลในการอำนวยความสะดวก ใช้แอปพลิเคชันแทนบัตรพลาสติก สะสมและแลกคะแนน

นอกจากจะประหยัดต้นทุนในการผลิตบัตรแล้ว สมาชิกก็ไม่ต้องยุ่งยากกับการเก็บบัตรพลาสติกในกระเป๋าสตางค์หลายใบ หากเกิดบัตรหายก็เสียเวลา เสียค่าธรรมเนียมออกบัตรใหม่ หากยุ่งยากห้างร้านก็ต้องเสียฐานลูกค้าไปอีก

เพราะทุกวันนี้ มือถือสมาร์ทโฟน ไม่ใช่เพียงแค่ติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำธุรกรรมทุกอย่าง แทบจะเรียกได้ว่ากลายเป็นปัจจัยหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น