xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจค้าปลีก “อุดรธานี” เมืองหลวงท็อปส์ ส่ง 3 โมเดลครอบคลุมทั้งจังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ ในรูปแบบสแตนด์อะโลนสาขาแรกในภาคอีสาน
แม้ว่า บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จะขายหุ้นที่เหลืออยู่ 25% ให้กับ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ไปแล้ว แต่ธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล ยังคงเหลือ “เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล” เจ้าของแบรนด์ “ท็อปส์” ที่นักช้อปคุ้นเคยกันดี

ที่ผ่านมา ท็อปส์ พยายามปั้นโมเดลใหม่ๆ พร้อมปรับภาพลักษณ์ให้ต่างไปจากซูเปอร์มาร์เก็ตออกไป เพื่อสู้ศึกค้าปลีกทั้ง “เทสโก้ โลตัส” และ “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” ที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศมาโดยตลอด

ไม่ว่าจะเป็น “เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์” เน้นสินค้านำเข้า เจาะกลุ่มลูกค้าพรีเมียม, “ท็อปส์ มาร์เก็ต” ที่มีอยู่ในศูนย์การค้าและสแตนด์อะโลน เน้นสินค้าอาหารสด อาหารแห้ง คุณภาพสูง รวมทั้ง “ซูเปอร์คุ้ม” เน้นสินค้าราคาประหยัด
ท็อปส์ มาร์เก็ต สาขาเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี
หรือจะเป็นโมเดล “ท็อปส์ เดลี่” ในรูปแบบมินิซูเปอร์มาร์เก็ต ตามอาคารสำนักงานและย่านชุมชน หรือพบเห็นในจังหวัดท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ฯลฯ

แต่จำนวนสาขาก็ไม่ได้เยอะมาก เพราะต้องหลีกทางให้กับ “แฟมิลี่มาร์ท” ร้านสะดวกซื้อที่กลุ่มเซ็นทรัลเป็นเจ้าของ ปัจจุบันมีอยู่ 1,300 สาขา และจะขยายให้ได้ 3,000 สาขา ในปี 2564

อีกด้านหนึ่ง ยังพบว่าได้ปั้นแบรนด์ “ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์” ที่ยังนำสินค้าอื่นที่ท็อปส์ไม่มีขาย โดยได้มาจากค้าปลีกในกลุ่มเซ็นทรัล เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องกีฬา เครื่องใช้สำนักงาน เสื้อผ้าบุรุษและสตรี เครื่องครัว เครื่องใช้ภายในบ้าน ฯลฯ

โมเดลนี้เปิดตัวครั้งแรกใน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ศาลายา จ.นครปฐม เมื่อ 12 สิงหาคม 2557 ก่อนที่ในปีต่อมาจะเปิดที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558

ระหว่างที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา และเซ็นทรัลพลาซา มหาชัย จ.สมุทรสาคร กำลังก่อสร้าง พบว่าได้เปิด “ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์” ในรูปแบบสแตนด์อะโลนแห่งแรก ที่ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560

อย่างไรก็ตาม พบว่าท็อปส์ ได้เปิดโมเดลใหม่ “ท็อปส์ พลาซา” เพื่อทดลองตลาดหัวเมืองรองที่มีขนาดใหญ่รองลงมา จากปกติหากเป็นจังหวัดใหญ่จะสร้างเป็น “เซ็นทรัลพลาซา-เซ็นทรัลเฟสติวัล” หัวเมืองรองจะสร้างเป็น “โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์”

เริ่มต้นจะเปิดสาขาแรกที่ จ.พิจิตร เดือนธันวาคมนี้ และ จ.พะเยา ต้นปี 2561 แต่เดิมเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จะใช้ “ท็อปส์ ซูเปอร์คุ้ม” เป็นหลัก ภายหลังทราบมาว่าได้เปลี่ยนไปใช้ “ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์” แทน

ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นอกจากท็อปส์จะปรับเปลี่ยน “ท็อปส์ ซูเปอร์” บางสาขาให้กลายเป็น “ท็อปส์ ซูเปอร์คุ้ม” ที่เน้นสินค้าขายแยกชิ้นและขายเป็นแพ็ค เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแล้ว

ในตลาดต่างจังหวัด พบว่าท็อปส์ขยายสาขาซูเปอร์คุ้มในปัจจุบันมากถึง 100 สาขา ได้แก่ นครราชสีมา 18 สาขา ขอนแก่น 16 สาขา สุราษฎร์ธานี 16 สาขา อุบลราชธานี 5 สาขา มหาสารคาม 5 สาขา

จังหวัดที่มีสาขาซูเปอร์คุ้มมากที่สุด ได้แก่ อุดรธานี มีมากถึง 26 สาขา

อำเภอเมืองฯ กุดจับ และหนองหาน มีถึงอำเภอละ 3 สาขา อำเภอบ้านผือ 2 สาขา นอกนั้นอำเภอละ 1 สาขา มีเพียง 2 อำเภอเท่านั้นที่ยังไม่มีสาขามาตั้ง

และเมื่อ จ.อุดรธานี มีโมเดล ท็อปส์ มาร์เก็ต ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อุดรธานี และ ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ ที่อำเภอหนองหาน แล้ว

แทบอยากจะเรียกจังหวัดนี้ว่าเป็น “เมืองหลวงท็อปส์” ชัด ๆ เพราะใช้กลยุทธ์ราวกับป่าล้อมเมือง
ซูเปอร์คุ้ม สาขาหนองหาน จ.อุดรธานี
ซูเปอร์คุ้ม สาขาบ้านห้วย ในตัวเมืองอุดรธานี
ซูเปอร์คุ้ม ใน อ.กุดจับ จ.อุดรธานี
เปรียบเทียบกับจังหวัดคู่แข่งทางเศรษฐกิจ บนเส้นทางถนนมิตรภาพ อย่างเช่น นครราชสีมา จังหวัดใหญ่ที่มี 32 อำเภอ หรือจะเป็นจังหวัดติดกันอย่างขอนแก่น ก็ยังเปิดสาขาได้ไม่มากเท่า

เมื่อสังเกตได้จากโมเดล ท็อปส์ ซูเปอร์คุ้ม พบว่าแต่ละอำเภอสาขาเล็กมาก หน้ากว้างเหมือนอาคารพาณิชย์ 3-4 คูหา

เปรียบเทียบแล้วน่าจะเหมือนกับ ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส ด้านบนของสาขาจะมีโลโก้ผลิตภัณฑ์ยอดนิยม ราวกับเป็นห้างภูธร

และที่สำคัญ ไม่มีคำว่า “ท็อปส์” บนป้าย เป็นไปได้ว่าเพื่อให้ลูกค้าจดจำภาพของแบรนด์ “ซูเปอร์คุ้ม” เป็นหลัก

เพื่อให้ไปเห็นด้วยตาตัวเองว่า โมเดล “ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์” แบบสแตนด์อะโลนนั้นเป็นอย่างไร เราจึงเดินทางไปยัง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ห่างจากตัวเมืองไปทางถนนนิตโย ประมาณ 35 กิโลเมตร

รถประจำทางพาเราออกจากสถานีขนส่งฯ ไปยังถนนสี่เลน มุ่งหน้าไปทาง จ.สกลนคร

แต่เพียงไม่กี่อึดใจ รถเลี้ยวเข้าไปบนถนนเส้นเล็ก ๆ เข้าตัวอำเภอ ก่อนจอดส่งผู้โดยสารที่หน้าศาลเจ้ากระหม่อมปอมหัว

เราถามมอเตอร์ไซค์รับจ้างว่า “ไปท็อปส์เท่าไหร่” ก็ตอบกลับมาว่า คิด 40 บาท เราจึงตัดสินใจนั่งรถมอเตอร์ไซค์เพราะไม่รู้จักทาง

เมื่อผ่านโรงพยาบาลหนองหาน รถเลี้ยวซ้ายสี่แยกไฟแดง ออกไปยังถนนนิตโย ซึ่งเป็นถนนสี่เลนอีกครั้ง

ประมาณ 2 กิโลเมตรจากตัวอำเภอ เราได้มาถึง “ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ สาขาหนองหาน” ในรูปแบบสแตนด์อะโลนแห่งแรกในภาคอีสาน

เปิดสาขาไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 18 ไร่ พื้นที่ขาย 7,000 ตารางเมตร ด้านหน้าห้างฯ จอดรถยนต์ได้ 200 คัน

มองจากอาคารด้านหน้า ด้วยผนังและหลังคาดูแล้วคล้ายกับโรงสีข้าวมากกว่าจะเป็นห้าง เป็นอาคารชั้นเดียว หลังคาสูงโปร่ง

ทราบมาว่าได้แรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมรูปทรงบ้านเรือนในภาคอีสาน โทนสีน้ำตาล

โซนด้านหน้า จะเป็นร้านค้าเช่า ได้แก่ เคเอฟซี มิสเตอร์ดีไอวาย ร้านแดงแหนมเนือง มิสเตอร์โดนัท บีทูเอส แว่นท็อปเจริญ เอไอเอส เทเลวิช ห้างทองเยาวราชกรุงเทพ และจะมีธนาคารกสิกรไทย ย้ายมาจากตัวอำเภอมาตั้งอยู่ที่นี่

นอกจากนั้น ยังมีพื้นที่ลานโปรโมชั่นเล็ก ๆ สำหรับจัดแสดงสินค้าเป็นครั้งคราว เช่น โชว์รูมรถยนต์ในพื้นที่ ส่วนศูนย์อาหารพบว่ามีทั้งหมด 12 ร้านค้า มีพื้นที่นั่งรับประทานอาหารขนาดย่อม ๆ

โซนด้านในจะเป็น “ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์” จำหน่ายอาหารสด สินค้าอุปโภค บริโภค 20,000 รายการ รวมทั้งเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า มีบริการส่งฟรีในระยะ 30 กิโลเมตร พร้อมบริการจ่ายบิล ถ่ายเอกสาร งานพิมพ์ และส่งแฟกซ์

นอกจากนี้ยังพบว่า มีมุมสินค้า 19 บาทจำหน่ายอีกด้วย ซึ่งคาดว่าท็อปส์คงนำเข้ามาจำหน่ายเอง เพราะป้ายบอกราคาเป็นของท็อปส์ อีกทั้งเวลาชำระเงินยังต้องผ่านแคชเชียร์

การเข้ามาของท็อปส์ หนองหาน ย่อมทำให้ “เทสโก้ โลตัส ตลาด สาขาหนองหาน” ซึ่งอยู่ติดกันอยู่นิ่งไม่ได้ ขึ้นป้ายข้อความกันเห็นๆ ว่า “ตลาดโลตัส หนองหาน สะดวกกว่า จอดรถสบาย ช้อปง่าย แบบที่คุ้นเคย”

ข้อเสียอย่างหนึ่งก็คือ บริเวณตรงนี้ไม่มีรถเมล์ผ่าน ซึ่งไลฟ์สไตล์คนต่างจังหวัดนิยมใช้รถส่วนตัว ขากลับคงต้องเดินเท้าไปยังถนนสายเก่าในตัวอำเภอราว 2-3 กิโลเมตรเพื่อรอรถเมล์กลับตัวเมืองอุดรธานี

ภัทรพร เพ็ญประพัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เคยกล่าวไว้ว่า ที่เลือกอำเภอหนองหาน เปิด ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ ด้วยเหตุผลก็คือ เป็นอำเภอใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอำเภอเมืองอุดรธานี

ที่สำคัญก็คือ ถนนนิตโย เป็นถนนที่ใช้สัญจรระหว่างอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง ใกล้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในโซนอีสานเหนือ เช่น ทะเลบัวแดง พิพิธภัณฑ์บ้านเชียง และคำชะโนด

“อุดรธานี เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ ทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางค้าปลีกและค้าส่งในโซนอีสานเหนือ และยังเป็นประตูสู่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง จึงมองเห็นศักยภาพของการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคและเส้นทางยุทธศาสตร์ทางการค้าที่โดดเด่น”

ฟังอย่างนี้แล้วพอจะเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมท็อปส์ถึงเลือกอุดรธานีปักธงค้าปลีกขึ้นมามากมายขนาดนั้น

แต่ที่น่าคิดไปอีก คือ ยุทธศาสตร์ต่อไปของท็อปส์ ที่ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่จะขยับขยายไปยังธุรกิจค้าปลีกครบวงจร เหมือนค้าปลีกสัญชาติอังกฤษอย่าง เทสโก้ โลตัส และค้าปลีกของเสี่ยเจริญ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์

เมื่อไม่นานมานี้ ภัทรพร กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจค้าปลีก ด้วยการให้ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เป็นผู้ขยายธุรกิจในจังหวัดขนาดใหญ่ หรือเทียร์ 1

ขณะที่โรบินสัน เน้นขยายสาขาในจังหวัดรอง หรือเทียร์ 2 และล่าสุดได้มอบหมายให้ “ท็อปส์ พลาซ่า” เป็นผู้ขยายธุรกิจในจังหวัดขนาดเล็ก หรือเทียร์ 3 ตามขนาดของเมืองประชากร และไลฟ์สไตล์ตามพื้นที่นั้น ๆ

นับจากนี้ ท็อปส์ จะเน้นขยายธุรกิจภายใต้แบรนด์ “ท็อปส์ พลาซ่า” ควบคู่ไปกับซูเปอร์มาร์เก็ตในเครือ ซึ่งข้อมูลที่สำคัญก็คือ สมาชิกเดอะวันการ์ด บัตรสะสมคะแนนของกลุ่มเซ็นทรัล ที่มีฐานลูกค้าอยู่ 4 ล้านคน

สาขาพิจิตรถือเป็นท็อปส์ พลาซ่าสมบูรณ์แบบ เนื่องจากมีพื้นที่ขายมากถึง 2 หมื่นตารางเมตร แบ่งเป็น ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ 7,000 ตารางเมตร และ พื้นที่เช่าร้านค้า 1.3 หมื่นตารางเมตร รวมทั้งโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์

"โมเดลนี้เราชนกับไฮเปอร์ มาร์เก็ต เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซีหรือเปล่า กลุ่มลูกค้าก็จะคล้าย ๆ กัน เราจะมีความหลากหลายของสินค้าในท็อปส์ ขณะเดียวกัน ร้านค้าจะตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ เรามีโรงหนังเข้ามาด้วย"

แม้การก้าวเข้ามาของท็อปส์ ดูเหมือนว่าจะล่าช้ากว่าเจ้าอื่น ที่ยึดหัวหาดห้างค้าปลีกไซส์ต่าง ๆ ไปทั่วประเทศ จับตากลุ่มเซ็นทรัลจะส่งแต่ละโมเดลทั้งเซ็นทรัลพลาซา โรบินสันไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ และท็อปส์ พลาซ่า ลงพื้นที่ใดตามมา

เพราะยังมีอีกหลายเมือง ที่กลุ่มเซ็นทรัลมีโอกาสเข้าไปเจาะตลาดได้อีกมาก แม้ว่าค้าปลีกสองเจ้าเดิม อย่าง เทสโก้ โลตัส และ บิ๊กซี จะเป็นที่คุ้นเคยในตลาดภูธรแล้วก็ตาม ก็คงต้องปรับตัวเพื่อช่วงชิงลูกค้าแต่ละพื้นที่คืนมา


กำลังโหลดความคิดเห็น