xs
xsm
sm
md
lg

ให้เขาโกงกันไป ดีกว่าเศรษฐกิจแย่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

เมื่อสักอาทิตย์มีการเผยแพร่ข้อเขียนที่เรียกว่าเป็นเหมือน “คำสารภาพ” ของนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ท่านหนึ่งที่ทำงานในหนังสือพิมพ์ฉบับที่กำลังจะปิดตัวลงสิ้นปีนี้

คำสารภาพของนักหนังสือพิมพ์ท่านนั้นอ่านแล้วสรุปความได้ว่า การที่สื่อสิ่งพิมพ์นั้นปิดไปหลายสำนักเป็นผลพวงมาจากการ “ปิดบ้านปิดเมือง” หรือการประท้วงของกลุ่ม กปปส.ในปลายปี 2556 คาบเกี่ยวต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2557 ทำให้เศรษฐกิจพัง จนกระทั่งสื่อหลายสำนักเริ่มหมดหน้าตัก เงินขาดมือ

ในฐานะที่เขาเองเข้าร่วมกับ กปปส. (แม้เขาจะออกตัวว่าเพียงเพื่อการไปเนียนกินอาหารในม็อบฟรี) นั้นก็ถือเป็นบาปที่เขาต้องมาชดใช้ในวันนี้

ผู้เขียนคอลัมน์นั้นสรุปว่า สื่อมวลชนจะเจริญรุ่งเรืองอยู่ได้ก็ด้วยบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อยู่ในยุคเผด็จการอย่างไรก็อยู่ไม่ได้

คอลัมน์คำสารภาพนั้นเป็นที่ฮือฮา ถูกส่งต่อกันไปถ้วนทั่วทั้งในแวดวงของสื่อและคนส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับ กปปส. และการรัฐประหารของคณะ คสช.เอาไว้เยาะเย้ยสมน้ำหน้าคนที่เคยไปร่วมประท้วงกับ กปปส.หรือเป็นสื่อที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลของกลุ่มอำนาจเก่า

โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า คำสารภาพที่ว่านั้นยังมีช่องที่อาจจะยังผิดฝาผิดตัว เป็นเหตุเป็นผลเท่าไรอยู่สองเรื่อง

ที่เห็นด้วยอย่างหนึ่ง คือ คนทำสื่อไม่ควรฝักใฝ่เผด็จการแต่เรื่องที่อยากจะต้องขอ “เติม” ลงไปก็คือว่า เผด็จการนั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องมาในชุดฟอร์มสวมท็อปบู๊ทเสมอไป

คือใครก็ตามที่มีอำนาจรัฐล้นพ้นและไม่ชอบการตรวจสอบ นั่นก็มีแนวโน้มจะเป็นเผด็จการได้ทั้งสิ้น

ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับสื่อละว่า ใครจะต้าน “เผด็จการ” กันแบบไหน

ด้วยสภาวะเช่นนี้ จริงอยู่ว่าเศรษฐกิจถดถอยและเสรีภาพสื่อลดลง ทำให้วงการสื่อสิ่งพิมพ์ทรุดเซกัน มีการปิดตัวหนังสือพิมพ์บ้าง นิตยสารบ้าง เป็นข่าวกันแบบต่อเนื่อง จนแทบจะเหมือนกับรอลุ้นกันทุกเดือนทุกสัปดาห์ว่า วันนี้จะมีข่าวสื่อไหนปิดตัวลง

หากไปตรวจสอบบัญชีกำไรของสื่อทุกเจ้าทุกสำนักทั้งใหญ่ทั้งเล็กที่ยังอยู่ในวงการสิ่งพิมพ์ ก็จะเห็นได้ว่าเจ็บตัวกันทุกเจ้า จะมากจะน้อยนั่นเรื่องหนึ่ง

ขนาด “ยักษ์ใหญ่” แห่งวงการหนังสือเล่มและนิตยสารรวมถึงมีสายส่งของตัวเองอย่างอมรินทร์ยังต้องขายกิจการให้ทุนใหญ่ไป หรือนิตยสารเก่าแก่อย่าง “สกุลไทย” ก็ต้องปิดตัวลง

แต่การปิดตัวลงของสื่อเกี่ยวกับเรื่องความเป็นประชาธิปไตยกับเผด็จการอะไรนั้นจริงหรือ เพราะข้อสรุปแบบเหมารวมนี้ไม่สามารถอธิบายกับการปิดตัวล้มเลิกของนิตยสารหลายหัว ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องการบ้านการเมืองเลย เช่นนิตยสารที่เน้นข่าวสารสารคดีและนิยายอย่างสกุลไทย หรือแม้แต่นิตยสารในวงการแฟชั่นต่างๆ ที่ทยอยปิดตัวลงไปก่อนหน้า

นิตยสารเหล่านี้ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะมีการปกครองอะไรระบอบไหนเนื้อหาหรือการนำเสนอของนิตยสารสื่อเหล่านั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นนัยสำคัญอะไร

ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นกระดาษนั้นซวดเซ แต่ก็มี “สื่อใหม่” โผล่ผงาดขึ้นมาในช่องทางเทคโนโลยีใหม่ที่ผู้คนใช้เสพสื่อ เช่น เว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย และสื่อเหล่านั้นก็เล่นประเด็นสังคมและการเมืองด้วย แต่ก็ยังสามารถที่จะทำหน้าที่นำเสนอไปได้ในช่องทางของเขา ถึงกับมีออกมาแข่งกันสองเจ้าชื่อคล้ายๆ กัน เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้เห็นข่าวจากสำนัก The Matter และ The Momentum กันแล้วทุกคน

สื่อเหล่านี้กำลังมีบทบาท และในหลายๆ ครั้งก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วย (เช่นเรื่องกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่) แต่พวกเขาก็ยังอยู่กันได้มีความเติบโตมีอนาคตให้เห็น

การจะโทษว่าเพราะภาวะเผด็จการโดย คสช.ก็ดี หรือเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม เป็นสาเหตุให้สื่อสิ่งพิมพ์ต้องจากไปนั้นก็อาจจะเป็นข้อกล่าวโทษที่อาจจะไม่เชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลเท่าไรนัก หากมองกันในภาพรวมของสภาวะวิกฤตนี้

อีกประการนั้นจริงอยู่ว่าหลังการรัฐประหารและการปกครองในระบอบ คสช.ที่เริ่มต้นในปี 2557 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของประเทศนั้นไม่ดีเท่าที่ควร การส่งออกหดตัวลง อัตราว่างงานสูงขึ้น และการเงินของประชาชนออกจะฝืดๆ ไปจนต้องออกมาตรการมากระตุ้น

ส่วนที่อาจจะถือว่าเป็นผลโดยตรง ก็คงจะเป็นเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่หลายประเทศมีนโยบายไม่เจรจากับประเทศที่ปกครองในระบอบทหาร ไม่มีรัฐบาลพลเรือน อันนี้คงเป็นส่วนที่กล่าวได้ว่าการรัฐประหารของ คสช.นั้นส่งผลกระทบอย่างปฏิเสธไม่ได้

แต่การซบเซาของเศรษฐกิจที่เหลือนั้น อาจจะมีส่วนมาจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ยังไม่เข้าตาก็ตามแต่ อย่างไรก็ดี การสรุปว่าเพราะการรัฐประหารทำให้ได้ทีมเศรษฐกิจนี้มาทำงานทำให้เกิดภาวะเช่นนี้ ก็เป็นลักษณะของการใช้ตรรกะแบบเอาผลมาสรุปเหตุหรือไม่ และเป็นผลที่เราได้รู้อยู่ในปัจจุบันแล้ว ซึ่งหากไม่มีการรัฐประหารโดย คสช. หากตอนนี้รัฐบาลที่ปกครองประเทศอยู่เป็นรัฐบาลของกลุ่มอำนาจเก่า มันมีอะไรรับประกันหรือว่าเศรษฐกิจจะดีกว่านี้

หากการดำเนินนโยบายจำนำข้าวยังดำเนินต่อไปจนถึงวันนี้โดยปกปิดความเสียหายจำนวนมหาศาลเอาไว้ หรือการดำเนินนโยบายประเภทกู้เงินมาอย่างโครงการคมนาคมพื้นฐานสองล้านล้านดำเนินการอยู่ แน่ใจหรือว่าสภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้จะดีกว่าที่เป็นอยู่

นอกจากนี้ การออกไปประท้วงต่อต้านการปกครองของรัฐบาลกลุ่มอำนาจเดิมของประชาชนนั้นเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนจะประท้วงรัฐบาลของตัวเองได้หากไม่พอใจ

เช่นนี้เราจะบอกกับผู้คนหรือว่า จงอย่าออกมาประท้วง เพราะการประท้วงของพวกท่านจะทำให้เศรษฐกิจแย่

และปล่อยให้นักการเมืองโกงกินกันไป ให้เศรษฐกิจดีในภาพลวงๆ ในขณะที่พวกเขายังพอตกแต่งตัดปะกันไปได้ แต่เกิดรูกลวงขึ้นในโครงสร้างขนาดใหญ่ภายใน เพราะการทุจริตแบบทุกขั้นตอน ทุกหย่อมหญ้า รอวันที่ฝีจะแตกออกมาพังพินาศกันไปพร้อมๆ กันทั้งประเทศอย่างนั้นหรือ

เช่นนี้แล้ว การใช้เสรีภาพของประชาชนที่จะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล จึงไม่ควรที่จะเอาเรื่อง “เศรษฐกิจ” มาเป็นตัวประกันหรือข้อต่อรอง

พาให้นึกถึงคำพูดของคนขับรถแท็กซี่คนหนึ่งที่เคยได้ยินได้ฟัง คุณแท็กซี่คนนี้เขาเป็น กปปส.เต็มตัว แต่เขาก็บ่นว่า เศรษฐกิจของเขาไม่ดีเช่นกัน คนขึ้นรถน้อย มีตัวแข่งเยอะขึ้น (ซึ่งตัวแข่งก็มาจากเทคโนโลยีพวกการเรียกรถผ่าน App เช่นกัน อาจจะเป็นสภาพคล้ายๆ สื่อสิ่งพิมพ์ที่ต้องพบกับคู่แข่งในรูปแบบใหม่ก็ได้

สุดท้ายคนขับแท็กซี่ท่านนั้นก็สรุปออกมาว่า “เรื่องมันแย่เพราะคนดีก็ทำงานไม่เก่ง ส่วนคนที่เก่งก็ขี้โกง”

บางครั้งอาจจะเป็นเรื่องที่ “คนดี” และ “คนเก่ง” ในประเทศนี้ต้องช่วยกันแก้ปัญหา ต้องแสดงตัวออกมาเยอะๆ มาทำงานเพื่อประเทศชาติกันอีกบ้าง ไม่ให้ประเทศเราเหลือตัวเลือกอันบีบคั้นแค่จะเอาคนเก่งแต่โกง หรือเอาคนดีแต่ไม่เก่งมาดูแลประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น