ชาวบ้านทั่วไปอาจจะได้ยินคำว่า “นาโน ไฟแนนซ์” (Nano Finance) เป็นสินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพ สำหรับผู้มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น พ่อค้า แม่ค้า เพื่อนำเงินไปประกอบอาชีพ ต่อยอดกิจการ หรือแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
แต่สำหรับชื่อของ “พิโค ไฟแนนซ์” (Pico Finance) หรือ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ ชาวบ้านทั่วไปส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพิ่งจะออกมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมานี้เอง
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผลักดันการจัดตั้ง “พิโค ไฟแนนซ์” ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยให้เจ้าหนี้ไปจดทะเบียนนิติบุคคล บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด แล้วขึ้นทะเบียนเพื่อทำธุรกิจออกเงินกู้แบบถูกกฎหมาย
“พิโค ไฟแนนซ์” จะให้ปล่อยกู้เพื่อการบริโภคหรือจำเป็นฉุกเฉิน ในรูปแบบ “สินเชื่อเอนกประสงค์” สูงสุดรายละ 50,000 บาท
แตกต่างจาก “นาโน ไฟแนนซ์” ที่ให้กู้สูงสุด 100,000 บาท เน้นนำไปต่อยอดการประกอบอาชีพมากกว่า
และเพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชน พิโค ไฟแนนซ์ กำหนดให้คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมไม่เกิน 36% ต่อปี
หรือหากกรณีผิดนัดชำระหนี้ เรียกเก็บได้ไม่เกิน 80 บาทต่อเดือน
ถูกกว่าการกู้นอกระบบ ที่ส่วนใหญ่ดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน
แต่หากพิจารณาสาระสำคัญของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ประกาศสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ
จะพบว่ามีเงื่อนไขที่ “หยุมหยิม”
กระทั่งเจ้าหนี้นอกระบบจำนวนมาก เห็นแล้วอาจจะถึงกับส่ายหน้า ไม่อยากถูกจับใส่ตะกร้าล้างน้ำ แปลงโฉมจากอาชีพเสริม ปล่อยกู้แบบดอกเบี้ยโหด เป็นสถาบันการเงินขนาดเล็ก แต่ถูกกฎหมายได้
เริ่มจาก ... จะต้องเข้าใจก่อนว่า ถ้าเจ้าหนี้จะทำบริษัทปล่อยกู้ถูกกฎหมาย ต้องไปยื่นคำขออนุญาตเฉพาะพื้นที่นั้น ๆ และปล่อยกู้เฉพาะคนที่มีทะเบียนบ้าน ในพื้นที่ที่ยื่นคำขออนุญาตเท่านั้น
สมมติว่า เป็นคน จ.สมุทรสาคร ไปยื่นขออนุญาตทำ พิโค ไฟแนนซ์ ที่สมุทรสาคร จะปล่อยกู้ได้เฉพาะคนที่มีทะเบียนบ้านหรือที่ทำงานใน จ.สมุทรสาครเท่านั้น
จะไปปล่อยกู้ที่กรุงเทพฯ หรือสมุทรสงคราม เชียงใหม่ ขอนแก่น ฯลฯ ทำไม่ได้
สถานที่ยื่นขออนุญาต ในกรุงเทพฯ จะเป็นที่ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อาคารธุรกิจบัณฑิตย์ ชั้น 4 กระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6
ส่วนต่างจังหวัด ยื่นขออนุญาตที่สาขาของธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั่วประเทศ ใช้เวลาพิจารณาอนุมัติประมาณ 60 วัน หลังได้รับเอกสารครบถ้วน
ประการต่อมา ... นอกจากจะมีฐานะทางการเงิน มีความสามารถเพียงพอที่จะปล่อยกู้ได้แล้ว ยังต้องไปจดทะเบียนนิติบุคคล ในรูปแบบ บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด
ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทขึ้นไป และต้องมีผู้สอบบัญชี
ค่าบริการผู้สอบบัญชีไม่ใช่ถูก ๆ ราคาตั้งแต่หลักพันขึ้นไป จนถึงหลักหลายหมื่นบาทก็มี
ที่สำคัญ จะต้องมีงบการเงินที่รับรองโดยผู้สอบบัญชีปีล่าสุด หรือไม่เช่นนั้น ต้องมีหนังสือรับรองเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ จำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ก่อนวันยื่นขอหนังสืออนุญาตไม่เกิน 7 วัน
คนที่มีเงินฝากในบัญชีธนาคารจำนวนนี้ หากไม่ใช่เศรษฐีที่มีเงินนอนบัญชี การจะฝากเงิน 5 ล้านบาทรวดเดียว ต้องถูกธนาคารเพ่งเล็งเป็นพิเศษ
เพราะธนาคารจะต้องรายงานธุรกรรมต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
ใครที่มีธุรกิจสีเทา คงไม่มีใครอยากเสี่ยงทำแบบนั้นแน่ เพราะไม่อยากถูก ปปง. เช็กบิล
เจ้าหนี้ จะต้องไม่ใช่บุคคลล้มละลาย ไม่เคยได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุด ในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต เคยเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือกรรมการ ที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนการอนุญาต
และที่ยุ่งยากก็คือ เจ้าหนี้ จะต้องรายงานข้อมูลบัญชีลูกหนี้ ต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลังทุกเดือน ต้องส่งงบการเงินของรอบปีปฏิทินทุกปี และต้องจัดเก็บข้อมูลประกาศดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม ฯลฯ ไม่ต่ำกว่า 10 ปี
เจ้าหนี้ จะต้องลงทุนทำใบแจ้งหนี้ วันถึงกำหนดชำระหรือหักบัญชีในแต่ละงวด ใบเสร็จรับเงินที่แสดงเงินต้น ดอกเบี้ย เหมือนธุรกิจบัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคล แม้ในอนาคตอาจมีผู้เขียนซอฟท์แวร์ตัวนี้ แต่ก็มีความยุ่งยากและค่าใช้จ่าย
อีกประการหนึ่ง เจ้าหนี้จะต้องทำหนังสือแจ้งเตือนผิดนัดชำระหนี้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ค่าใช้จ่ายติดตามทวงถามหนี้คิดไม่เกิน 80 บาทต่อเดือน และต้องทวงหนี้ภายใต้กฎหมายทวงหนี้ที่มีอยู่ คือ พ.ร.บ. ทวงหนี้ ปี 2558
จะใช้วิธีทวงหนี้แบบคลาสสิก ข่มขู่ให้อับอาย หรือทวงหนี้ตอนดึก หลังสองทุ่มในวันธรรมดา หลัง 6 โมงเย็นวันหยุด ทำไม่ได้
หรือจะใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกายลูกหนี้ คนลงมือจะต้องเจอโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท
กฎเกณฑ์หยุมหยิมแบบนี้ เจ้าหนี้ที่ไหนเขาอยากจะไปปล่อยกู้
ที่ผ่านมา ธุรกิจสีเทาอย่างการออกเงินกู้นอกกฎหมาย เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเศรษฐีถึงขั้นมีเงินเก็บตั้ง 5 ล้านบาท
ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่เงินเก็บ จะเป็นวิธีการ “เงินต่อเงิน” เอาเงินจากสถาบันการเงินด้วยดอกเบี้ยที่ถูก แล้วไปปล่อยกู้อย่างแพง
พวกเขาไม่มีเครื่องมือ หรือเข้าถึงข้อมูลอย่างข้อมูลเครดิต ที่สถาบันการเงินไปขอเครดิตบูโรเพื่อนำมาคำนวณสกอร์อีกที
ส่วนใหญ่จะเน้นปล่อยกู้กับคนรู้จัก หรือคนที่เจ้าหนี้ควรเชื่อได้ว่าไม่เคยทำเรื่องเสื่อมเสีย เช่น ไปเบี้ยวคนโน้นคนนี้
วิธีคิดดอกเบี้ยของเงินกู้นอกระบบ ส่วนใหญ่จะคิดกันร้อยละ 20 ต่อเดือน หรือ 240% ต่อปี
สมมติว่าเดือนนี้กู้เงินเจ้าหนี้ 1,000 บาท เดือนหน้าจะต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้ 1,200 บาท แต่ส่วนใหญ่ถ้ากู้เงินในจำนวนมาก ๆ หลักหมื่นบาท มักจะส่งดอกไปเรื่อยๆ
สร้างรายได้แก่เจ้าหนี้ เยอะกว่าการเอาเงินนอนในบัญชีธนาคาร
แต่การปล่อยเงินกู้ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมาย ไม่มีที่ไหนไม่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะเมื่อลูกหนี้ชักดาบ
ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเงินกู้นอกระบบ ก็มักจะใช้วิธีทวงหนี้นอกเหนือจากกฎหมายกำหนด เช่น การข่มขู่ต่อหน้าธารกำนัล ใครเจอเป็นต้องอับอาย
หรือหากขัดขืนเอามาก ๆ ก็ส่งชายฉกรรจ์มารุมทำร้ายจนเลือดตกยางออกก็มี
ส่วนการปล่อยกู้อีกรูปแบบหนึ่ง คือปล่อยกู้กับคนไม่รู้จัก โดยใช้วิธีติดประกาศ แจกนามบัตร หรือโฆษณาชิ้นเล็ก ๆ ตามเสาไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ ตู้โทรศัพท์ ฯลฯ
มาด้วยสโลแกน “วันนี้ไม่มีค่า วันข้างหน้าอาจจำเป็น”
การปล่อยกู้แบบนี้มีหลายลักษณะ เช่น ใช้วิธีนิติกรรมอำพราง ในรูปแบบของการซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ไม่ได้สินค้า การให้ยืมทองรูปพรรณ แต่ไม่ได้ทอง แท้ที่จริงคือการปล่อยเงินกู้
เช่น สมมติลูกหนี้มีบัตรผ่อนสินค้า กู้เงินด้วยการซื้อทีวีราคา 20,000 บาท รูดบัตร 20,000 บาท ผู้กู้จะได้รับเงินเพียงแค่ 17,000 บาท พร้อมหนี้สินจากบัตรผ่อนสินค้าอีก 20,000 บาท คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันแรกที่รูดบัตร
ส่วนนายทุนรับซื้อทีวีราคาถูกไปขายต่อ แถมได้ดอกเบี้ยไป 3,000 บาทอีกต่างหาก
หรืออาจมาในรูปแบบบีบให้ทำสัญญาเงินกู้เกินจริง เช่น ต้องการกู้เงิน 30,000 บาท แต่ต้องเขียนในสัญญาว่ากู้เงิน 240,000 บาท ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้เงิน
เวลาถูกฟ้องศาลก็จะต้องชดใช้ 240,000 บาทไปโดยปริยาย
หรือเจ้าหนี้บางรายตั้งเงื่อนไขเอาไว้ว่า เก็บเงินรายวัน สมมติว่ากู้เงิน 10,000 บาท ต้องจ่ายรายวัน วันละ 150 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
เท่ากับว่าเขาต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมกันถึง 3,500 บาทเลยทีเดียว
ที่ผ่านมาตำรวจรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง แต่เวลาจับกุมคนที่ลงมือข่มขู่ ทำร้ายลูกหนี้ มักจะไม่ยอมซัดทอดว่าเจ้าหนี้เป็นใคร
ขณะที่ฝ่ายลูกหนี้ก็ไม่กล้าเป็นพยานให้ตำรวจ เพราะกลัวอิทธิพลของเจ้าหนี้ ข่มขู่ถึงขั้นเอาชีวิต
การที่ประชาชนเข้าหาเงินกู้นอกระบบ สะท้อนถึงความล้มเหลวของธนาคารพาณิชย์ ที่ต่างระมัดระวังตัวในการให้สินเชื่อมากขึ้น
สวนทางกับการให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำ แล้วแสวงหารายได้จากค่าธรรมเนียม บัตรเครดิต ประกันอุบัติเหตุ เอาเปรียบลูกค้าแทน
การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ด้วยการออกกฎหมายเปิด “พิโค ไฟแนนซ์” ไม่น่าดึงดูดใจสำหรับเจ้าหนี้ขาโหด ที่คิดจะกลับตัวกลับใจเป็นคนดี
เพราะผลตอบแทนที่ต่ำกว่าหลายร้อยเท่า หนำซ้ำยังต้องลงทุน “ค่าบริหารจัดการ” ที่สูง
ส่วนคนที่กล้าลงมาเปิดกิจการพิโค ไฟแนนซ์ อาจจะต้องรับความเสี่ยง ที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระเยอะขึ้น ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เผลอ ๆ อาจจะมีลูกหนี้ที่ชักดาบ ต้องเข้าสู่กระบวนการทางศาลที่กินเวลานานอีกด้วย
ไม่รวดเร็วทันใจเหมือนพวกปล่อยกู้นอกระบบ ลูกหนี้ชักดาบเมื่อไหร่ ใช้ศาลเตี้ยรุมกระทืบเมื่อนั้น
จะมีก็แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบริษัทที่มีฐานะทางการเงินดี ตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา เอาไว้เป็นสวัสดิการเงินกู้แก่พนักงานที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่นั้น ๆ ก็ได้ เพราะปล่อยกู้พนักงานด้วยกันเองในบริษัทฯ ความเสี่ยงน่าจะน้อยกว่า
ปัจจุบันสถาบันการเงินที่ได้รับความนิยมในต่างจังหวัดก็คือ สินเชื่อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก รถใหญ่ทุกชนิด
แต่ก็เป็นไปในลักษณะสินเชื่อที่มีหลักประกันเท่านั้น
สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ยังมีช่องว่างที่นายทุนจะเข้ามาตรงนี้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะกล้าลงมาเล่น
ตัวเลขหนี้สินครัวเรือนของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไตรมาส 2/2559 ที่ออกมาล่าสุด เท่ากับ 11.23 ล้านล้านบาท
และพบว่า การผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ เกิน 3 เดือนขึ้นไปลดลง 31% แต่การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตกลับเพิ่มสูงขึ้นกว่า 16%
ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามบีบให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้าร่วมไกล่เกลี่ยประนอมหนี้กับลูกหนี้ คิดดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 15% ต่อปี
รวมทั้งเปิดช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยรูปแบบต่าง ๆ
แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นควรแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ก็คือ ดำเนินการกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย
ที่ผ่านมาการออกกฎหมายเพิ่มบทลงโทษสำหรับเจ้าหนี้นอกระบบนั้น ไม่เพียงพอที่เจ้าหนี้นอกระบบเหล่านั้นจะเกรงกลัวกฎหมายได้
เพราะทราบกันดีว่า เจ้าหนี้นอกระบบส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็น “ผู้มีอิทธิพล”
และที่กล้าทวงหนี้แบบโหดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย อาจเชื่อได้ว่ามีนายตำรวจ หรือนายทหารอยู่เบื้องหลังหรือให้การสนับสนุน ไม่เช่นนั้นทำแบบนี้ไม่ได้
คงต้องลุ้นกันต่อไปว่า ธุรกิจสินเชื่อพิโค ไฟแนนซ์ จะเกิดขึ้น และได้รับความนิยมจากประชาชนมากน้อยขนาดไหน
รวมไปถึงธุรกิจสีเทาอย่างเงินกู้นอกระบบ จะแก้ปัญหาหมดไปได้จริงหรือไม่
ตราบใดที่ระบบอุปถัมภ์ โดยเฉพาะนักการเมือง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ยังคงฝังรากลึกในสังคมไทย!