วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
บ่ายวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2559 รายการ “รู้ทันสื่อ” กับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ทางคลื่น เอฟเอ็ม 100.5 อสมท. โทรศัพท์มาสัมภาษณ์ผมเกี่ยวกับเรื่อง “สื่อจะอยู่อย่างไร : ภายใต้กระแส Digital Content”
มีตอนหนึ่งผู้ดำเนินรายการทั้งสองท่าน ถามผมว่า ณ เวลานี้สื่อยืนอยู่จุดไหนของเหวแล้ว? ผมตอบไปแบบทีเล่นทีจริงว่า “สื่อมืออาชีพอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าตกเหวลงไปแล้ว”
ถัดมาเพียงไม่กี่วัน คือ เมื่อวันพุธที่ 31 สิงหาคม 2559 สำนักข่าวอิศราก็เผยแพร่รายงานข่าว “วิกฤต ศก.สื่อพ่นพิษ! เครือมติชน-เนชั่น เออลีรีไทร์พนักงาน-ชดเชยสูงสุด12-17เดือน” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงวิกฤตการณ์อันหนักหนาสาหัสที่เกิดขึ้นกับแวดวงหนังสือพิมพ์ และข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองปัจจัยที่ว่า ทั้งมติชนกับเนชั่นนั้นต่างก็เป็นบริษัทสื่อที่มีประวัติยาวนาน ถือครองสื่อที่หลากหลาย อีกทั้งทางธุรกิจต่างลงหลักปักฐานในตลาดหลักทรัพย์ด้วยกันทั้งคู่
ไม่เพียงแต่มติชนและเนชั่น แต่องค์กรสื่อที่เป็นบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทจำกัดอีกหลายแห่งก็มีสถานะย่ำแย่ไม่แพ้กันเพียงแต่อาจจะยังไม่ได้หลุดออกมาเป็นข่าวให้สาธารณชนได้รับทราบเท่านั้น
หลายตอนที่ผ่านมา ผมพยายามกล่าวถึงวิธีการ ทางเลือก และทางรอดของสื่อมืออาชีพในยุคดิจิตอล ตั้งแต่ทางเลือกใน การหาโฆษณา (Advertising) ซึ่งมีหลายรูปแบบ การสร้างเนื้อหาคุณภาพสูง (Premium Content) เพื่อนำไปต่อยอดในการหารายได้จากผู้อ่าน และในตอนล่าสุดคือเรื่อง ไมโครเพย์เมนท์ (Micropayment) หรือการหาเงินจากการเก็บค่าบริการก้อนเล็กๆ จากการขายคอนเทนต์ให้กับผู้อ่าน
นอกจากนี้วิธีการข้างต้นแล้ว ทางเลือกสำหรับสื่อมืออาชีพในการเอาตัวรอดกับการเปลี่ยนแปลงนั้นยังมีอีกมากมาย กล่าวคือ
การต่อยอดข้ามสื่อ (Cross-Media) เช่น การนำเนื้อหาที่ผลิตแล้วนำไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น จากเว็บไซต์ไปสู่สื่อดิจิตอลอื่นๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไปสู่ไลน์ ยูทิวบ์ แอปพลิเคชัน ที่ไม่ได้ทำให้เพิ่มต้นทุนขึ้นมาแต่สามารถหารายได้เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับการความคิดสร้างสรรค์ และการวางโมเดลธุรกิจ (Business Model) ใหม่ๆ
วิธีการต่อยอดข้ามสื่อจริงๆ ก็มีมานานแล้ว เช่น การนำข่าว/ภาพเหตุการณ์สำคัญไปรวมเล่ม การนำบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไปทำเป็นหนังสือเล่ม หรือ พ็อกเกตบุ๊ก การนำเนื้อหาหนังสือไปต่อยอดเป็นรายการวิทยุ โทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ แต่ในยุคดิจิตอลเนื่องจากช่องทางในการเสพสื่อนั้นมีการแยกย่อยออกไปมาก ประกอบกับต้นทุนในการผลิตที่ลดลง และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการส่งผ่านข้อมูล ทำให้การต่อยอดข้ามสื่อนั้นก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ไม่นับรวมกับการนำข้อมูลของสมาชิกไปผสานใช้กับธุรกิจโฆษณาออนไลน์เพื่อให้บรรลุผลในการนำเสนอโฆษณาแบบตรงกลุ่มเป้าหมาย (Audience Targeting)
การต่อยอดอาจรวมไปถึง การจัดประชุมสัมมนา (Conferences and events) เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ไปในวงกว้าง และอาจจะทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าจริงๆ หรือการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ต่อไป โดยในจุดนี้สื่ออาจจะต่อยอดขึ้นไปอีก โดยใช้จุดเด่นที่ตัวเองมีในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปในวงกว้าง ผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลใหม่ๆ เช่นการถ่ายทอดสดผ่าน Livestream Youtube หรือทำ Facebook Live ซึ่งมีต้นทุนต่ำลงกว่าในอดีตมาก
การขอจากแหล่งทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศล (Philanthropy) รูปแบบนี้อาจจะคล้ายคลึงกับการทำสื่อสาธารณะ อย่างเช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้เงินสนับสนุนสำนักข่าวอิศรา และนิตยสารหลายฉบับที่เผยแพร่ตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานนั้นๆ (อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยเชื่อว่า บุคคลหรือองค์กรในบ้านเราที่ให้ทุนแก่สื่อเพื่อการกุศลจะใจกว้างพอที่จะไม่เข้ามาแสดงอำนาจแทรกแซงหรือครอบงำสื่อ เมื่อมีประเด็นข่าวที่อ่อนไหวต่อผลประโยชน์ของตนเองหรือองค์กร)
ทั้งนี้หากไม่ต้องการยึดติดต่อผู้ให้ทุนคนใดคนหนึ่งก็มีทางเลือกใน การระดมทุนจากมวลชน (Crowdfunding) โดยที่ผ่านมาเราอาจจะเคยได้ยินการระดมทุนจากสาธารณะเพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการด้วยไอเดียใหม่ๆ อย่างเช่น เว็บไซต์ Kickstarter.com แต่หากเราจับไอเดียการระดมทุนจากมวลชนมาเพื่อทำข่าวเจาะลึกในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ที่มีคนจำนวนหนึ่งให้ความสนใจ และมีนัยยะต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยอาจจะระดมทุนด้วยเงินจำนวนไม่มาก แต่กำหนดแนวทางและแผนการทำข่าวไว้คร่าวๆ ให้ผู้สนใจได้รับทราบ วิธีการนี้ก็อาจจะเป็นทางเลือกและเป็นอนาคตของการทำข่าวโดยไม่ต้องพึ่งพานายทุน หรือ โฆษณา แต่ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพสูงกว่างานข่าวทั่วไป
ช่วงหลายปีหลังในแวดวงสื่อสารมวลชนทั่วโลก รวมถึงไทยมีการถกเถียงกันถึงเรื่องของการพัฒนาบุคลากรให้มีความหลากหลายของทักษะ (Multi-Skills) เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและลดต้นทุนในการผลิต แต่จริงๆ แล้วองค์กรสื่อแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยข้อจำกัดหลากหลายประการ ทั้งแนวคิดของผู้บริหารที่ยังยึดติดอยู่กับสื่อแบบเดิม บุคลากรที่ยังเคยชินกับการทำงานแบบเก่า พันธะของการลงทุนทางอาคารสถานที่ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ล้าสมัยอย่างรวดเร็ว ฯลฯ
จริงๆ แล้ว ณ เวลานี้สำหรับองค์กรสื่อขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั้งหลาย การลดต้นทุนอาจมีความจำเป็นกว่าการเสาะแสวงหาช่องทางการหารายได้เพิ่มเติม แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าจะสำคัญยิ่งไปกว่าการลดต้นทุนก็คือ การมองภาพในอนาคต เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ ทิศทาง และเข็มมุ่งขององค์กรสื่อก่อนว่ากำลังจะเดินหน้าไปในทิศทางใด มิใช่เพียงแค่การปลดหรือไล่คนออก
หมายเหตุ :
• FM 100.5 ฟังย้อนหลังรายการรู้ทันสื่อ กับสภาการหนังสือพิมพ์ ตอน “สื่อจะอยู่อย่างไร : ภายใต้กระแส Digital Content” (27 สิงหาคม 2559)
• วิกฤต ศก.สื่อพ่นพิษ! เครือมติชน-เนชั่น เออรี่รีไทร์พนง.-ชดเชยสูงสุด12-17เดือน โดย สำนักข่าวอิศรา (31 สิงหาคม 2559)