ความเคลื่อนไหวในแวดวงการเงินการธนาคารที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคโดยตรง เริ่มต้นตั้งแต่การเปลี่ยนบัตรเดบิตเป็นชิปการ์ด การเปิดให้บริการระบบชำระเงิน "พร้อมเพย์"
รวมไปถึงคดีขโมยเงินผ่านอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และตู้เอทีเอ็มธนาคารออมสิน ถูกกลุ่มคนร้ายชาวต่างชาติแฮกโดยใช้มัลแวร์
ถึงกระนั้น กระแสการพัฒนา ระบบเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ “ฟินเทค” ซึ่งย่อมาจาก Financial Technology ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแวดวงธนาคารอย่างมีนัยยะสำคัญ
ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์จะแห่ปิดสาขามากขึ้น และจะหันมาเปิดบัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แทน
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ เพราะเราเคยผ่านยุคที่ธนาคารพาณิชย์แห่เปิดสาขาราวกับร้านสะดวกซื้อ
เริ่มจาก ธนาคารกรุงเทพ เป็นต้นแบบในการเปิดสาขาไมโครตามห้างค้าปลีก โดยเริ่มจากห้างสรรพสินค้าโลตัส สาขาเอกมัย-รามอินทรา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543
ผ่านไป 16 ปี ปัจจุบันมีสาขาไมโครประมาณ 330 แห่งทั่วประเทศ
จากนั้นธนาคารกรุงไทย กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ ก็แห่เปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน สถานที่ราชการ โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และย่านชุมชน
โดย ธนาคารไทยพาณิชย์ สามารถขยายสาขาได้มากถึง 1 พันสาขา และฉลองด้วยการเปิดสาขา “หนึ่งพัน” ในศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของห้างค้าปลีก ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ แม้จะทำให้ธนาคารมีสาขาเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังพิสูจน์ถึงความอยู่รอด
สาขาไหนลูกค้าไม่เข้าเป้า ก็จะยุบสาขานั้นทิ้ง แล้วควบรวมไปยังสาขาที่มีศักยภาพมากกว่า
นับตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง กรกฎาคม 2559 จำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง แม้จะลดลงจาก 7,063 แห่ง เหลือ 7,059 แห่ง
แต่ก็พบว่าธนาคารพาณิชย์มีการยุบสาขาไปบ้างแล้ว บางแห่งมากถึง 20 แห่ง
เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ยุบไปแล้ว 10 แห่ง จาก 1,210 แห่ง เหลือเพียง 1,200 แห่ง กรุงเทพฯ ยุบไป 2 แห่ง ภาคกลางยุบไป 4 แห่ง ภาคอีสานยุบไป 3 แห่ง ภาคเหนือยุบไป 2 แห่ง
จะมีแต่ภาคใต้เพิ่มขึ้น 1 สาขา ได้แก่ สาขาบิ๊กซี ตรัง
ธนาคารธนชาต ยุบไปแล้ว 9 แห่ง จาก 616 แห่ง เหลือ 607 แห่ง กรุงเทพฯ ยุบไป 6 แห่ง ภาคกลางยุบไป 1 แห่ง และภาคเหนือยุบไป 2 แห่ง
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทำเลซ้ำซ้อนกับสาขาที่เป็นของธนาคารนครหลวงไทยเดิม หลังควบรวมกิจการ
ส่วน ธนาคารกรุงไทย แม้จำนวนสาขาจะคงที่ เหลือ 1,213 แห่ง แต่ก็พบว่าได้ยุบสาขาในกรุงเทพฯ ไปแล้ว 5 แห่ง
แล้วไปเพิ่มสาขาในภาคกลาง 2 แห่ง ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้อย่างละ 1 แห่ง
ธนาคารกสิกรไทย แม้จำนวนสาขาจะเพิ่มขึ้น 3 แห่ง เป็น 1,124 แห่ง แต่ก็พบว่าได้ยุบสาขาในภาคกลางไป 2 แห่ง ภาคใต้ 1 แห่ง
นอกนั้นก็เพิ่มสาขาในกรุงเทพฯ 3 แห่ง ภาคอีสาน 2 แห่ง และภาคเหนือ 1 แห่ง
ถ้าเป็นธนาคารขนาดเล็ก พบว่า ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ยุบสาขาไปมากถึง 25 แห่ง จาก 123 แห่ง เหลือเพียงแค่ 98 แห่ง
โดยกรุงเทพฯ ยุบไป 14 แห่ง ภาคกลางยุบไป 5 แห่ง ภาคอีสานยุบไป 4 แห่ง ภาคเหนือและภาคใต้ยุบไปภาคละ 1 แห่ง
ในทางตรงกันข้าม ธนาคารบางแห่งยังคงขยายสาขาไม่หยุด เช่น ธนาคารกรุงเทพ เปิดสาขาใหม่ไปแล้ว 9 แห่ง เป็น 1,149 แห่ง ส่วน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดสาขาใหม่ไปแล้ว 10 แห่ง เป็น 646 แห่ง
เหตุผลที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งยุบสาขา มักจะชี้แจงว่าเป็นการควบรวมไปยังสาขาที่อยู่ใกล้เคียง
บางแห่งมีแผนที่จะยุบสาขามากกว่า 50 แห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมที่ลูกค้าจะไปใช้บริการออนไลน์ โดยเฉพาะบริการพร้อมเพย์
นอกจากนี้ บางธนาคารเริ่มที่จะเข้าหาลูกค้ารายย่อยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่ให้ลูกค้าเปิดบัญชีออนไลน์ Beat Banking และยืนยันตัวตนเพื่อรับบัตรเดบิต ที่ AIS Shop นอกจากสาขาของธนาคาร
ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ ธนาคารบางแห่งใช้วิธียกเลิกเลขที่บัญชีเดิม และเปลี่ยนเลขที่บัญชีใหม่ขึ้นตรงกับสาขาที่ควบรวม ลูกค้าต้องเสียเวลาเปลี่ยนหลักฐานทางบัญชีเพื่อรับเงินโอน หรือบริการหักบัญชีอัตโนมัติ
ที่น่าสนใจก็คือ ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์สำหรับสถาบันการเงินในการรับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา
สาระสำคัญ คือ แบงก์ชาติเขาจะไฟเขียวให้สถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารแต่ละแห่ง สามารถเปิดบัญชีธนาคารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ 100% โดยไม่ต้องไปสาขาอีกต่อไป
เงื่อนไขตามประกาศไม่มีอะไรมาก คือ อนุญาตให้เปิดบัญชี เฉพาะลูกค้าบุคคลธรรมดา และให้ใช้ชื่อจริง นามสกุลจริง เป็นชื่อบัญชีเท่านั้น จะปกปิดชื่อจริง ใช้ชื่อแฝง หรือชื่อปลอมไม่ได้
นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังกำหนดให้ต้องมี กระบวนการรู้จักลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า E-KYC (Electronic Know Your Customer) และต้องติดตามความเคลื่อนไหว ปรับปรุงข้อมูลลูกค้าให้เป็นปัจจุบัน
แต่ที่น่าสังเกต คือ แบงก์ชาติกำหนดให้แต่ละธนาคารต้องจัดให้มี ระบบวีดีโอ คอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) ทดแทนการพบเห็นลูกค้าต่อหน้า และต้องจัดให้มีการลงลายมือชื่อเพื่อยืนยันการทำธุรกรรม
แต่ถ้าเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ แบงก์ชาติกำหนดให้ใช้ระบบการตรวจสอบสถานะของข้อมูลและบัตรประจำตัวประชาชนของลูกค้าที่เป็นปัจจุบัน พร้อมกับระบบตรวจสอบลายนิ้วมือของลูกค้าเป็นหลักฐาน
ซึ่งการตรวจสอบสถานะ หมายถึง ระบบการตรวจสอบข้อมูลและเอกสารแสดงตนของลูกค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบสถานะของข้อมูลและบัตรประจําตัวประชาชนของลูกค้า
แต่ถ้าจะใช้วิธีการหรือเทคโนโลยีอื่น เพื่อตรวจสอบข้อมูลและเอกสารแสดงตนของลูกค้าทดแทน ให้ธนาคารยื่นขออนุญาตต่อฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นรายกรณี
นอกจากนี้ ต้องมีกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพเข้มขึ้นกว่าเดิม เช่น การติดตามความเคลื่อนไหว การปรับปรุงข้อมูลลูกค้าให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น ตามแนวทางของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กำหนด
รวมถึงการบริหารความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี ที่อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือและเสถียรภาพของสถาบันการเงินได้
อ่านจากประกาศฉบับนี้ เป็นไปได้ว่า ธนาคารอาจจะใช้วิธีตรวจสอบความถูกต้องกับระบบของสำนักทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อทำการตรวจสอบความถูกต้องของบุคคล
หรือหากต้องการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล อาจต้องใช้ “เลขควบคุมหลังบัตรประจำตัวประชาชน” (Laser Code)
เหมือนเว็บของหน่วยงานราชการ อาทิ กรมสรรพากร กรมการจัดหางาน หรือการลงทะเบียนประชามตินอกเขตจังหวัด
ส่วนการสแกนลายนิ้วมือ บางธนาคารหันมาใช้ระบบ “ไบโอเมตริก แบงก์กิ้ง” (Biometric Banking) แต่ส่วนใหญ่ใช้เฉพาะการเข้าใช้งานแอปพลิเคชั่นแทนการกรอกรหัสผ่านเท่านั้น
จากประสบการณ์ส่วนตัว บางธนาคารจะใช้วิธียืนยันตัวตนโดยใช้ SMS OTP เพื่อเปิดบัญชีใหม่
เมื่อได้เลขที่บัญชีใหม่แล้ว ก็จะส่งหลักฐานการเปิดบัญชีทางอีเมล ก่อนจะส่งบัตรเดบิตผ่านไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ไปยังที่อยู่ที่ลูกค้าให้ไว้
เมื่อได้รับบัตรเดบิตแล้ว จะไม่มีซองรหัสผ่านเหมือนธนาคารอื่น แต่ให้ลูกค้าเปิดใช้บัตร ผ่าน ATM อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง หรือแอปพลิเคชั่น
โดยจะมี SMS OTP ยืนยันตัวตน แล้วตั้งรหัสผ่านส่วนตัว 4 หลัก เป็นอันเปิดใช้งานบัตรได้แล้ว
การลงทะเบียนพร้อมเพย์ครั้งล่าสุด ธนาคารยังมีช่องทางตรวจสอบข้อมูลเบอร์โทรศัพท์มือถือ กรณีที่มีผู้ลงทะเบียนซิมการ์ด หรือใช้เลขหมายรายเดือน โดยได้ประสานข้อมูลกับสำนักงาน กสทช. ก่อนหน้านี้
ประชาชนทั่วไปที่จะลงทะเบียนพร้อมเพย์ สามารถตรวจสอบได้ว่า เบอร์มือถือที่ใช้อยู่ตรงกับเลขที่บัตรประชาชนของเราหรือไม่ ด้วยการกด *179*เลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก# แล้วโทรออก
ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ในไทย สามารถเปิดบัญชีผ่านอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งได้โดยไม่ต้องไปธนาคาร เช่น ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ไทย
แต่ส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะเฉพาะลูกค้าที่เคยมีบัญชีกับธนาคารนั้นๆ อยู่แล้ว
โดยดึงข้อมูลจากสาขาที่เราเปิดบัญชี แล้วออกเลขที่บัญชีใหม่ ไม่มีสมุดคู่ฝากกับบัตรเอทีเอ็ม ยกเว้นธนาคารทหารไทย สามารถขอรับสมุดคู่ฝากในภายหลังได้
ส่วนลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยเปิดบัญชีกับธนาคารนั้นๆ มาก่อน พบว่ามีเพียงบางธนาคารที่มีบริการเปิดบัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
แต่ยังมีข้อจำกัดตรงที่ช่องทางการให้บริการ รวมทั้งข้อกำหนดของบัญชียังมีข้อจำกัด เช่น จำนวนเงินฝากขั้นต่ำ หรือ ไม่สามารถใช้บัตรเดบิตได้ ฯลฯ
เช่น ธนาคารกรุงไทย ได้ติดตั้งเครื่อง VTM (Virtual Teller Machine) ที่สยามพารากอน
สามารถเปิดบัญชีใหม่แบบอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่มีสมุดบัญชี) พร้อมทำบัตร ATM โดยให้ลูกค้าติดต่อพนักงานผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ตลอดการทำรายการ
ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ออกแอปพลิเคชั่น SCB UP 2 ME โดยลูกค้าที่ไม่มีบัญชีไทยพาณิชย์ จะให้ใช้บริการเสริมที่เรียกว่า Wallet (กระเป๋าเงิน)
ซึ่งจะมีเลขที่ Wallet 10 หลัก สามารถใช้เพื่อฝากเงินผ่านเครื่อง CDM และรับเงินโอนได้
โดยให้กรอกโทรศัพท์มือถือเพื่อรับ OTP แล้วกรอกข้อมูลบัตรประชาชน ซึ่งรวมถึงเลขเลเซอร์หลังบัตรประชาชน และกรอกข้อมูลส่วนตัวพร้อมอีเมล
หลังจากนั้นธนาคารจะนำข้อมูลไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลทะเบียนกลาง ก่อนอนุมัติ Wallet
Wallet จะแตกต่างกับบัญชีไทยพาณิชย์ ตรงที่สามารถใช้เงินในกระเป๋าช้อปปิ้ง จ่ายบิล เติมเงิน หรือโอนเงินได้เพียงแค่วันละ 20,000 บาท
และจำกัดยอดเงินเข้า Wallet สูงสุดที่ 50,000 บาทเท่านั้น
ในต่างประเทศ การเปิดบัญชีธนาคารออนไลน์ค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร เฉกเช่น ธนาคารเซเว่นแบงก์ ประเทศญี่ปุ่น
แม้จะมีบริการเปิดบัญชีออนไลน์ แต่ก็ต้องใช้กระบวนการทางไปรษณีย์นานถึง 3 สัปดาห์กว่าที่บัญชีจะพร้อมใช้งาน
การเปิดบัญชีออนไลน์ของญี่ปุ่น จะให้ลูกค้ากรอกข้อมูลผ่านเว็บไซต์ จากนั้นประมาณ 4-6 วัน ใบสมัครจากธนาคารจะส่งทางไปรษณีย์
เราต้องกรอกข้อมูลที่จำเป็น ลงลายมือชื่อ และแนบเอกสารจากทางการ ส่งกลับทางไปรษณีย์อีกครั้ง
เมื่อธนาคารได้รับใบสมัครแล้ว ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ธนาคารจะจัดส่งบัตรเอทีเอ็ม และรหัสผ่านชั่วคราวทางไปรษณีย์มาให้ถึงบ้าน เป็นอันเสร็จสมบูรณ์
ก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ชื่อว่า ME by TMB ของ ธนาคารทหารไทย เคยออกมาระบุว่า จะเพิ่มบริการใหม่
คือ การลงทะเบียนเพื่อเปิดบัญชีเงินฝาก ME ผ่านทางออนไลน์ได้ 100% ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้
โดยจะใช้วิธีให้ลูกค้ากรอกข้อมูล แล้วอัปโหลดเอกสาร เช่น บัตรประชาชน สมุดบัญชีธนาคารผ่านเว็บไซต์
จากนั้นทางธนาคารฯ จะตรวจสอบข้อมูลกับกรมการปกครอง และตรวจสอบบัญชีที่จะผูกเพื่อใช้รับเงินที่ถอนกับ ATM Pool
จากนั้นภายใน 24 ชั่วโมง ก็จะมี SMS แจ้งยืนยันการเปิดบัญชี ME พร้อมใช้ได้ทันที
โดยจะเปิดบริการนี้ภายในไตรมาส 3 ของปี 2559 พร้อมกับเตรียมยุบสาขา ME Place ที่มีอยู่ 4 แห่ง เหลือเพียงแค่เซ็นทรัลเวิล์ดเพียงแห่งเดียว
อย่างไรก็ตาม บัญชีนี้เป็นระบบปิด คือ ถอนเงินโดยตรงไม่ได้ แต่จะใช้วิธีโอนเงินไปยังบัญชีที่ผูกเอาไว้ แม้จะไม่คล่องตัวสำหรับคนที่ต้องการใช้บัญชีเพื่อถอน โอน จ่าย เหมือนที่เปิดจากสาขาธนาคาร
แต่หากนำระบบเปิดบัญชีออนไลน์มาใช้ ถ้าเป็นบัญชีที่เน้นการออม ก็ถือว่ายังมีความเสี่ยง "น้อยกว่า" บัญชีที่ใช้หมุนเวียนในชีวิตประจำวัน
โดยเฉพาะการใช้ร่วมกับบัตรเอทีเอ็มและอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งแบบตรงๆ เมื่อดูจากความเสี่ยงแล้วจะดูน่ากลัวยิ่งกว่า
สิ่งที่น่าคิด หากธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารของรัฐ จะมีบริการเปิดบัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จริงๆ จะมีความปลอดภัยหรือไม่ กระบวนการตรวจสอบข้อมูล และการจัดเก็บข้อมูลจะมีความรัดกุมมากน้อยขนาดไหน
และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเป็นลูกค้าที่ต้องการเปิดบัญชีจริงๆ ไม่ใช่บุคคลอื่นแอบอ้าง หรือถูกรับจ้างเปิดบัญชี
คดีล่าสุดที่ธนาคารกสิกรไทยเพิ่งประสบก็คือ นักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยารายหนึ่ง เป็นชาว จ.ขอนแก่น ทำบัตรประชาชนหายปี 2558
จากนั้นคนร้ายก็นำบัตรประชาชนดังกล่าว ไปเปิดบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขา อ.พาน จ.เชียงราย
ก่อนที่จะใช้บัญชีดังกล่าวหลอกลวงนักธุรกิจให้โอนเงิน 1 ล้านบาท แล้วนำสมุดบัญชีพร้อมบัตรประชาชนของนักศึกษามาถอนเงินจำนวน 1 ล้านบาท ที่ไปหลอกมาจากนักธุรกิจ และได้ขอปิดบัญชี ที่สาขาบิ๊กซี น่าน
(ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยสามารถปิดบัญชีต่างสาขาได้แล้ว นอกเหนือจากธนาคารกรุงไทย ที่เจ้าของบัญชีสามารถใช้บัตรประชาชนและสมุดบัญชีไปติดต่อธนาคารสาขาไหนก้ได้เพื่อปิดบัญชีได้เลย แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมถอนเงินข้ามเขต)
ไม่นับรวมกรณีที่ผู้ก่อเหตุอาชญากรรมว่าจ้างเยาวชนอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป นักเรียน นักศึกษา สาวโรงงาน ลูกจ้างสถานบริการ หรือประชาชนในชนบทที่ห่างไกล เปิดบัญชีพร้อมทำบัตรเอทีเอ็ม
แล้วก็เอาบัตรเอทีเอ็มไปใช้สมัครบริการต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง โมบายล์แบงก์กิ้ง โดยไม่ต้องยืนยันตัวตนกับธนาคาร เพื่อใช้ในการทุจริต เช่น แก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ แฮกเฟซบุ๊ก หลอกซื้อสินค้า แม้กระทั่งแฮกบริการอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง
หากต่อไปมีการรับจ้างเปิดบัญชีพร้อมลงทะเบียนซิมการ์ดใหม่ ผูกกับเบอร์มือถือ ลงทะเบียน “บริการพร้อมเพย์” ได้อีก ทีนี้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อก็ไม่รู้เลยว่าบัญชีธนาคารปลายทางอยู่ที่ไหน จะแกะรอยเพื่อดำเนินคดีก็ยากลำบากกว่าเดิม
บทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีตเชื่อว่า หากในอนาคตการเปิดบัญชีธนาคาร ไม่ต้องไปสาขาหรือเปิดผ่านพนักงานธนาคาร ก็น่าที่จะหาทางป้องกันภัยคุกคามระบบธนาคารให้เกิดความมั่นใจไปด้วย
ก่อนที่ความสะดวกสบายของเทคโนโลยี จะทำให้ประชาชนทุกคนตกอยู่ในความเสี่ยง กลายเป็นผู้เสียหาย หรือเลวร้ายที่สุดกลายเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัว