ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สื่อมวลชนอิสระชายแดนใต้ ชี้หนังสือจาก “ผบ.มทบ.42” จี้ “อธิการบดี ม.อ.” ทำความเข้าใจบุคลากรที่เคลื่อนไหวค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ถือเป็นการคุกคามทางวิชาการชัดเจน วอนผู้บริหารมหาวิทยาลัยทำตามคำปณิธานของพระบิดา “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”
ภายหลังจากที่มีข่าว พล.ต.วิรัชช์ กมลศิลป์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 (มทบ.42) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ส่งหนังสือขอความร่วมมือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ให้แก่อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยระบุทำนองว่า มีบุคลากรในหน่วยงานของท่านบางคนไม่เข้าใจการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อาจหันไปให้การสนับสนุนให้ความร่วมมือกับฝ่ายต่อต้าน จึงขอความร่วมมือจากท่านทำความเข้าใจต่อบุคลากร และท้ายหนังสือมีการเกษียนของผู้บริหาร ม.อ.ให้แจ้งต่อ ดร.สมพรม ช่วยอารีย์ รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ และอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ ม.อ.ปัตตานี ทราบด้วยนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงดึกของวันนี้ (24 พ.ค.) ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Thitinob Komalnimi (ฐิตินบ โกมลนิมิ) สื่อมวลชนอิสระที่เฝ้าจับตาสถานกาณณ์ภาคใต้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้โพสต์ที่หน้าเฟซบุ๊กตนเองด้วยข้อความ “#หยุดคุกคามทางวิชาการ” พร้อมกับให้รายละเอียดดังนี้
“ดร.สมพร ช่วยอารีย์ Somporn Chuai-Aree นั้น เป็นบุคลากรมีคุณภาพอย่างยิ่งใน ม.อ. เคยได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นจากการรับใช้สังคมหลายวาระเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ถึงการคำนวณสูตรคณิตศาสตร์สร้างแบบจำลองทำนายภัยพิบัติ การจัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวังภัยพิบัติ (PB Watch) และการทุ่มเทใช้ชีวิตตนเองเป็นต้นแบบการใช้พลังงานทางเลือกในชีวิตประจำวัน ทำห้องเรียนพลังงานทางเลือกเคลื่อนที่ ฯลฯ…
“บทบาทสำคัญในห้วงเวลานี้ของ ดร.สมพร คือ การเป็นอนุกรรมการฯ ฝ่ายที่สามในการหาพลังงานทางเลือกทดแทนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และคอยติดตามตรวจสอบข้อมูลวิชาการ และกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อาจารย์พยายามเป็นตัวกลางเพื่อเปิดพื้นที่พูดคุยระหว่างผู้บริหาร กฟผ.กับชาวบ้าน ผ่านรายการเวทีสาธารณะ ThaiPBS แต่สุดท้ายตัวแทน กฟผ.ก็ผิดสัญญากับที่รับปากไว้กับชาวบ้าน...
“ที่ผ่านมา ดร.สมพร ใช้ความรู้ทางวิชาการถาม กฟผ.อย่างมีเหตุมีผลในหลายประเด็น (โปรดติดตามย้อนหลังได้ในสเตตัสของอาจารย์) และยังชี้ให้เห็นทางออกในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วยทางเลือกอื่นๆ และที่ผ่านมา ทราบดีว่ามีหน่วยข่าว และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงพยายามไปพบอาจารย์ที่ ม.อ. เจอกันบ้าง คลาดแคล้วกันบ้าง…
“หากมีประเด็นใดที่ ดร.สมพร เข้าใจผิดคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงของ กฟผ.ก็ควรชี้แจงกลับมา มิใช่อาศัยอำนาจทหารกดดันให้อาจารย์ต้องเลิกบทบาทนั้น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ควร “ปิดพื้นที่ความรู้” เพื่อให้ “เหลือพื้นที่สันติเสวนา” ในประเด็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานี้ หากพื้นที่ทางการเมือง และพื้นที่สนทนาเหล่านี้หดหายไปแล้ว ภายหลังอาจกล่าวได้ว่า ม.อ.ไม่ยืนข้างประชาชนในพื้นที่ และมีส่วนในการเพิ่มเงื่อนไขความขัดแย้งใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้”
ในตอนท้ายการโพสต์ข้อความของ Thitinob Komalnimi (ฐิตินบ โกมลนิมิ) ยังระบุด้วยว่า
“ขอความกรุณาผู้บริหาร ม.อ.สนับสนุนให้ ดร.สมพร ได้ใช้ความรู้ทางวิชาการก่อประโยชน์ต่อสังคม และพี่น้องในพื้นที่ชายแดนใต้ ในฐานะนักวิชาการของ ม.อ.อย่างสง่างามด้วยเถอะค่ะ นักวิชาการที่รับใช้ชาวบ้านไม่ควรถูกคุกคามเช่นนี้ หากเช่นนั้นแล้วบุคลากรอื่นๆ ใน ม.อ.ก็จะหวาดกลัวไม่กล้ายืนเคียงข้างชาวบ้าน ดังคำปณิธานของพระบิดาที่ดำรัสไว้ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” ดังที่ ม.อ.ยึดมั่นถือมั่น”
----------------------------------------------------------------------------------------
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง
- มทบ.42 ร่อนหนังสือจี้อธิการ มอ.ทำความเข้าในกลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา “ดร.สมพร ช่วยอารีย์” เจอแจ็กพอร์ต