xs
xsm
sm
md
lg

กับดักเสียงข้างมาก

เผยแพร่:   โดย: โลกนี้มีคนอื่น

ภาพเอพี
ระบบประชาธิปไตยเป็นระบบการเมืองการปกครองยอดนิยมของโลก ได้รับการยอมรับกันทั่วไปโดยส่วนใหญ่ว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดที่จะใช้เป็นกรอบกติกาในการปกครองของแต่ละประเทศชาติ

ประชาธิปไตยมีการพัฒนามายาวนานตั้งแต่สมัยกรีก และมีการปรับใช้ในหลากหลายรูปแบบตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ดี หัวใจหลักที่ยอมรับกันเป็นกติกากลางก็คือเรื่องของ “เสียงข้างมาก” พูดง่ายๆ ก็คือ เสียงส่วนมากว่าไงก็เอางั้นนั่นแหละ ซึ่งเทคนิคในการบริหารจัดการกับเสียงข้างมากนั่นก็จะต่างกันออกไปในแต่ละสังคมประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี เสียงข้างมากนั้น เป็นอะไรที่จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก สำหรับการเป็นหัวใจหลักในกติกาของเกม

ทั้งนี้ก็เพราะ เสียงข้างมากจัดการหาผลสรุปได้ด้วยระบบการนับแต้ม แต่อย่างไรก็ดี ประเทศต่างๆ ที่ใช้ระบบนี้ในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่างใกล้ตัวที่สุดก็คือไทย ต่างเจอกับปัญหามาในทุกเสี้ยวนาทีของพัฒนาการประชาธิปไตย

นั่นก็คือว่า เสียงข้างมากนั้น-เลือกสิ่งที่ดีที่สุดแล้วหรือไม่?

เป็นปัญหาเรื่องความไม่แน่ใจในประสิทธิภาพของเสียงข้างมาก โดยเฉพาะที่เราหรือประเทศกำลังพัฒนาเจอก็คือประเด็นเรื่องของคุณภาพของเสียงข้างมาก ว่าดีพอที่จะมีวิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกอะไรดีหรือเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน ประชากรในบัญชีรายชื่อที่มีสิทธิลงคะแนนเพื่อกำหนดเสียงข้างมากนั้น มีความรู้ความเข้าใจดีมากน้อยแค่ไหน ต่อระบบ ต่อกระบวนการ และในสิ่งที่เขาเหล่านั้นจะต้องตัดสินใจเลือกระหว่างสองสิ่ง

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในโลกที่หยิบเอาประชาธิปไตยมาใช้หลังประเทศตะวันตกที่เป็นต้นแบบ ที่เขาพัฒนามาแต่เก่าก่อน นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า “กับดักเสียงข้างมาก” นั่นเอง พูดง่ายๆ คือ บางครั้งกับสิ่งที่ตามมา หรือผลลัพธ์ที่ออกมานั้น เป็นเรื่องที่เห็นได้ว่าเสียงข้างมากเองก็อาจจะไม่ได้เลือกสิ่งที่เหมาะสมหรือถูกต้องเสมอไป

จึงมีการพูดกันถึง “กับดักเสียงข้างมาก” ที่เกิดขึ้นกับระบบการเมืองการปกครองที่ป๊อปปิวล่าร์ที่สุดในโลกอย่างระบบประชาธิปไตย

ในอดีตที่ผ่านมาไม่ค่อยจะมีตัวอย่างกับดักเสียงข้างมากให้เห็นกับประเทศที่ระบบประชาธิปไตยพัฒนาขึ้นไปในระดับที่สูงอย่างประเทศตะวันตก

แต่ในสถานการณ์ที่ผ่านมานี้ ต่อกรณีที่เราคุ้นเคยได้ยินชื่อเรียกว่า “Brexit” หรือการโหวตของคนอังกฤษว่าจะอยู่ต่อใน EU หรือไม่ เป็นอะไรที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ไม่ได้เป็นข้อกังขาเรื่องคุณภาพของประชากรในบัญชีรายชื่อ แต่เป็นปัญหาที่อาจจะดูซับซ้อนกว่าในบางมิติของรายละเอียด

ผลที่ออกมาว่า อังกฤษจะออกจาก EU นั้น ฝ่ายให้ออกมาชนะด้วยสัดส่วน 52/48

เสียงข้างมาก 52ให้อังกฤษจงออกมาเสีย

อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสนใจอยู่ก็คือ พอลงรายละเอียดแล้วพบว่า มีความชัดเจนบางอย่างเป็นที่น่าสนใจ นั่นก็คือเรื่อง หากเราแบ่งอายุอยู่ที่ 50 ไว้ตรงกลาง สัดส่วนการลงคะแนนจะพบว่า คนอายุเกิน 50 มีเสียงข้างมากโหวตให้ออกจาก EU ส่วนคนอายุต่ำกว่า 50 นั้น เสียงข้างมากโหวตให้อยู่ใน EU ต่อ

หากแปลความหมายตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้นออกมาและตั้งคำถามตามต่อ นั่นก็คือ เรื่องของการออกจาก EU เป็นเรื่องภายหน้า เป็นอนาคตที่จะต้องเดินเส้นทางสายนี้ และกว่าจะเริ่มจริงจังว่ากันว่าใช้เวลาอย่างน้อยอีกสองปีข้างหน้า และเมื่อเป็นเช่นนั้นก็มีการตั้งคำถามว่า คนที่เลือกเส้นทางสายออกจาก EU จะเป็นกลุ่มที่ใช้อนาคตในช่วงบั้นปลายของชีวิต ในขณะที่คนที่ไม่ได้เลือกเส้นทางนั้นเพราะเป็น “เสียงข้างน้อย” ที่แพ้โหวตต่อ “เสียงข้างมาก” กลายเป็นกลุ่มคนที่จะต้องใช้ชีวิตที่กำลังเริ่มต้น หรืออยู่ในช่วงตั้งหลักปักฐาน อยู่ในช่วงเวลานั้นต่างหาก

พอนึกถึงตรงนี้ สังคมที่คิดว่าตัวเองคอนโทรลประชาธิปไตยอยู่หมัดอยู่มือถึงกับอึ้ง ว่าเจอ “กับดักเสียงข้างมาก” เข้าให้แล้วหล่ะสิ

และถ้าหากมองไปในอนาคตอันอีกไม่นาน สหรัฐอเมริกาผู้เชี่ยวชาญระบบเสียงข้างมากภายใต้ระบบประชาธิปไตยเช่นกัน แต่อยู่ในรูปแบบที่ซับซ้อนกว่า ก็กำลังจะเข้าสู่กระบวนการขอคำตัดสินเรื่องประธาธิปไตยจาก “เสียงข้างมาก” ด้วยเช่นกันในอีกเร็ววัน

ผมแค่คิดถึงเรื่องที่ว่า หากทรัมป์เกิดชนะโหวต ได้รับเสียงข้างมากขึ้นมาหล่ะก็ สังคมอเมริกันคงสนุกสนานและดูไม่จืดเป็นแน่แท้ (ซึ่งส่วนตัวผมว่าคงมีกระบวนการเซฟทีคัท-ตัดก่อนตายเตือนก่อนวายวอดเข้ามาคุมเกมในนาทีสุดท้ายก็เป็นได้ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าจะใต้ดินหรือบนดิน ผมเดาว่าอย่างนั้นนะ..)

จะว่าไป “กับดักเสียงข้างมาก” นี่ ประเทศตะวันตกถือว่าเจอช้า สังคมไทยเราผ่านประสบการณ์เรื่องนี้มาอย่างเชี่ยวชาญและโชกโชน มีประสบการณ์ในเรื่องนี้กว่าประเทศตะวันตกมากมายนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น