วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
“คนที่เดินตามฝูงชนปกติจะไปไม่พ้นฝูงชน แต่ผู้คนที่เดินอย่างโดดเดี่ยวมักจะพบว่าตัวเองได้อยู่ในที่ซึ่งไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน (The one who follows the crowd will usually go no further than the crowd. Those who walk alone are likely to find themselves in places no one has ever been before.)” --- ใครสักคนที่อาจจะไม่ใช่ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์”
ประโยคข้างต้นมีการกล่าวถึงกันมากในสื่อ ในงานเสวนา ในเว็บไซต์ของฝรั่ง ที่มักจะเชื่อมโยงไปถึงความคิดสร้างสรรค์ และการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาบนโลกใบนี้ หลายปีมานี้ด้วยความแพร่หลายของโซเชียลมีเดียทำให้ Quote นี้ถูกอ้างอิงไปถึงยอดปราชญ์และนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 อย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ทว่า ในความเป็นจริงแล้วมีการพิสูจน์กันว่าไอน์สไตน์ไม่น่าจะเป็นเจ้าของประโยคดังกล่าว แต่เป็นนักคิดนักเขียนรุ่นหลังมากกว่า*
สาเหตุที่ผมยก Quote ข้างต้นขึ้นมาก็เพื่อที่จะเตือนใจตัวเองว่า ประการแรก “ในเรื่องจริงมีเรื่องหลอก ในเรื่องหลอกมีความจริง” ประโยคข้างต้นที่ผู้คนเชื่อกันไปว่าไอน์สไตน์เป็นผู้กล่าว ไอน์สไตน์อาจจะไม่ได้กล่าว ทุกๆ อย่างในโลกออนไลน์ และโลกโซเชียลมีเดีย ใช่จะเป็นเรื่องจริงเสียทั้งหมด ดังนั้นอย่าหูเบาเชื่อถืออะไรง่ายๆ โดยไม่ตรวจทาน ตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม ในคำพูดที่อ้างอิงหลอกๆ ถึงไอน์สไตน์ กลับมีข้อเท็จจริงประการหนึ่งแฝงอยู่ กล่าวคือ โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากโลกที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างมาก การจะเอาตัวรอดให้ได้ในยุคปัจจุบัน มิสามารถใช้แนวคิดกลวิธีเช่นแต่ก่อนที่ ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าหากเดินตามฝูงชนหรือคนหมู่มากไปเรื่อยๆ ก็จะรอดตัวได้ในที่สุด ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่า ทางรอดในยุคปัจจุบันและในอนาคต คือการค้นหาอัตลักษณ์ในตัวเองให้พบ ทำงานหนัก อดทน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่จะช่วยผลักดันตัวเอง ครอบครัว และสังคมไปสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้
คอลัมน์พรมแดนสื่อใหม่ ที่ผมขอใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า New Media, New frontier นี้ก็เช่นกัน ผมตั้งใจจะใช้พื้นที่ตรงนี้ บอกเล่าถึงสิ่งที่ตัวเองได้พบ ได้เห็น ได้อ่าน ได้พูดคุย ได้สัมผัส ได้ลงมือทำ ประสบการณ์ ตลอดจนความความสำเร็จ หรือความล้มเหลว ในแวดวงสื่อสารมวลชน ในแวดวงเทคโนโลยี ในแวดวงธุรกิจและสังคม ในยุคที่ “สื่อใหม่” กำลังโถมเข้าทับสังคม และกำลังจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา ของคนรุ่นลูก รุ่นหลาน ไปตลอดกาล
เรามิอาจปฏิเสธได้เลยว่า แรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของสื่อนั้นคือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เหมือนกับการเกิดขึ้นของวิทยุ ของโทรทัศน์ ของอินเทอร์เน็ต ความแพร่หลายของโทรศัพท์เคลื่อนที่ การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟน รวมไปถึงการประมูลคลื่นความถี่ที่นำมาใช้กับเทคโนโลยี 3G 4G ในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประมูลคลื่นความถี่ 2100MHz เพื่อนำมาใช้กับเทคโนโลยี 3G เมื่อปลายปี 2555 นำมาสู่ความแพร่หลายของโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และแอปพลิเคชัน LINE ในประเทศไทย ขยายจำนวนผู้ที่เคยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากหลักสิบล้านคน เป็น 30-40 ล้านคน ภายในห้วงเวลาเพียง 2 ปี
ส่วนการประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz และ 900MHz หรือที่เรียกว่ากันติดปากว่า “การประมูล 4G” ในปี 2558 ก็นำมาสู่ความแพร่หลายของการชมทีวี-วิดีโอ-การถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านแอปพลิเคชัน ยูทิวบ์ เฟซบุ๊ก ไลน์ทีวี ฯลฯ ในมุมกลับ “โลกหลังยุค 4G” ก็กำลังนำมาซึ่งความล่มสลายของธุรกิจสื่อที่คว้าใบอนุญาตไปจากการประมูลทีวีดิจิตอลในช่วงปลายปี 2556
ไม่ต้องนับ “ทีวีเจ๊ติ๋ม” ที่ถอดใจไปล่วงหน้านานแล้ว ทุกวันนี้พี่น้อง เพื่อนฝูง ในแวดวงสื่อมวลชนโทรทัศน์ ทั้งยักษ์ใหญ่ และยักษ์เล็กหลายคนออกอาการถอดใจกับการทำธุรกิจทีวีดิจิตอลทั้งๆ ที่เพิ่งส่งเสียงเฮกับชัยชนะจากการประมูลทีวีดิจิตอลได้ไม่ถึง 3 ปี ขณะที่ใบอนุญาตนั้นมีอายุถึง 15 ปี
หลายคนเริ่มต้นคำถามว่า การจ่ายค่าเช่าโครงข่ายส่งสัญญาณทีวีดิจิตอล (MUX; Multiplexer) มูลค่า 4-14 ล้านบาทต่อเดือนคุ้มค่าหรือไม่? ในเมื่อปัจจุบันการถ่ายทอดสด หรือ การแพร่ภาพวิดีโอบนยูทิวบ์ เฟซบุ๊ก และโซเชียลมีเดียอีกมากมาย ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มีในประเทศไทยกว่า 40 ล้านคน สามารถทำได้เองเพียงแค่มีสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว?
ไม่มีใคร “โลกสวย” กับธุรกิจทีวีอีกต่อไปว่าโทรทัศน์จะเป็นเครื่องจักรผลิตเงิน (Cash Cow) ได้เหมือนกับที่ช่อง 3 เคยได้จากสัมปทานของ อสมท หรือ ช่อง 7 เคยได้จากสัมปทานของกองทัพบก
ทุกวันนี้เอเจนซีโฆษณาทุกเจ้ากำลังนั่งกุมขมับว่า เดิมทีเงินโฆษณาที่มีต้นทางจากเจ้าของแบรนด์ ต้องมาผ่านตัวเอง แล้วค่อยไปถึงปลายทางคือสื่อ กลับไหลไปใช้จ่ายผ่านบริษัทเทคโนโลยีจากตะวันตก ผู้สร้างนวัตกรรมใหม่รายวัน เช่น กูเกิล (Google) เจ้าของยูทิวบ์ เสิร์ชเอนจินกูเกิล แผนที่กูเกิล ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ แพลตฟอร์มโฆษณา DFP เครือข่ายโฆษณา Adsense AdX ฯลฯ และ เฟซบุ๊ก (Facebook) เจ้าของแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม วอทซ์แอป ฯลฯ โดยตรง
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งนำมาสู่พฤติกรรมของผู้คนและผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป ก็นำมาสู่ภูมิทัศน์สื่อแบบใหม่ ซึ่งจะขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปสู่สังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งพวกเราทุกคนไม่เคยรู้จักมาก่อน
หมายเหตุ :
* http://quoteinvestigator.com/2012/10/18/follows-crowd/