xs
xsm
sm
md
lg

ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ เป็นจุดตายหรือ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

ท่าทีของ “ฝ่ายการเมือง” และ “ฝ่าย คสช.” ในสัปดาห์นี้น่าสนใจ

 ว่าด้วยการที่พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเสนอจุดยืนเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยติติงพอสังเขป แต่โยนระเบิดลูกใหญ่ไปยังข้อเสนอว่าให้ ส.ว.มีสิทธิออกเสียงเลือกนายกฯ ได้ด้วย

     นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรืออดีตนายกฯ มาร์ค ออกมาให้เหตุผลที่ชัดเจนในการเลือกประเด็นต่อต้าน “คำถามพิเศษ” ในการลงมตินี้ ว่า “การให้วุฒิสภาลงคะแนนเสียงร่วมกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่ากับสามารถลบล้างเจตจำนงประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้ง” ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

     อธิบายง่ายๆ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์มีชัยไม่มีปัญหาเราไม่ต่อต้าน เราต่อต้านที่จะเขียนเติมโดย สนช.นี่แหละ

     และถ้าเรามาย้อนองค์ประกอบกัน สนช.นี้เป็นสภาฯ ที่ถูกเลือกขึ้นมาโดย คสช. ตั้งแต่เริ่มต้นใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ หลังรัฐประหารใหม่ๆ

     และถ้าเราทบทวนกันอีกครั้ง คงจะจำได้ว่า ประเด็นเรื่องอำนาจของ ส.ว.นี้ เป็นจุดที่ทางผู้ร่าง คือคณะ กรธ.ของ อ.มีชัยนั้น ขอพบกันครึ่งทางสุดแดนอยู่ตรงนี้ หลังจากยอมให้มี ส.ว.แต่งตั้งในระยะ 5 ปีแรกได้ และให้มีตัวแทนจากเหล่าทัพมาเป็น  ส.ว.โดยตำแหน่งได้

    ฝ่าย กรธ.ยอมมาหมด มาสุดแดนตรงนี้ คือ ส.ว.ใหม่ให้เป็นเพียงสภาฯ   “กลั่นกรองและถ่วงดุล” เท่านั้น ไม่มีหน้าที่ในเชิงบริหาร ซึ่งการเลือกหานายกรัฐมนตรีนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนในทางบริหาร ผ่านการเข้าไป “เลือก” ตัวประมุขฝ่ายบริหารนี่เอง

     การต่อต้านจากทางฝ่ายประชาธิปัตย์ ซึ่งเรารับรู้กันว่ายืนอยู่ข้างเดียวกันกับฝ่ายทหารและ คสช.มาตลอด ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นเค้าลางของการ “ต่อสู้” ในชั้นการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้แล้ว

     ร้อนถึงท่านนายกฯ บิ๊กตู่ก็ออกมา “เดือด” ตามประสา ออกมาตอบโต้ทันทีว่า ให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี แล้วมันทำให้ประเทศเลวร้ายลงมากกว่าเดิมหรือไม่ ประชาชนมีความทุกข์มากขึ้นหรือเปล่า

     และทันควันนั้นเอง คุณมัลลิกา บุญมีตระกูล ออกมาถามสวนไปว่า ทหารกลัวอะไรนักถึงต้องแฝงให้ ส.ว.ที่ตัวแต่งตั้งไว้มาโหวตเลือกนายกฯ

     เรียกว่าเล่นเอาฝ่ายที่ต่อต้านรัฐธรรมนูญ ต่อต้าน คสช.หรือเครือข่ายอำนาจเดิมออกมาสะใจไปตามๆ กัน เมื่อเห็นพวกเดียวกันออกมาซัดกันเองแบบนี้

     อาจจะสรุปแนวรบต้าน - หนุน รัฐธรรมนูญในการทำประชามติตอนนี้ได้ว่า ฝ่ายต้านนั้น มีพรรคเพื่อไทย นปช. เครือข่ายนักวิชาการ นักเขียน ศิลปิน ปัญญาชน สายประชาธิปไตยไม่ยอมรับการทำรัฐประหารนั้นต่อต้านแน่นอน คือทั้งต้านตัวรัฐธรรมนูญและก็ต้องรวมถึงคำถามเพิ่มเติมด้วย

     ส่วนแนวต้านครึ่งหนุน คือสายพรรคประชาธิปัตย์และมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์

     แต่ถ้าไม่ประมาทประชาชนเกินไป อาจจะต้องระวังว่า ประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นทั้งฝ่ายเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ รวมทั้งอาจจะเห็นด้วยหรืออย่างน้อยก็ไม่ต่อต้านการทำรัฐประหารของ คสช.ก็อาจจะเป็นปัจจัยตัวแปรแบบพลังเงียบที่มองไม่เห็น

     ทำไมนั้นหรือ เพราะความพยายามในการ “แทรก” ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ได้นั้น มีมาต่อเนื่องดู “จงใจเกินไป” ว่าเปิดทางรอไว้ให้ “ใคร” หรือเปล่า

     ตั้งแต่ในครั้งแรกที่ร่างรัฐธรรมนูญออกมาใหม่ๆ ที่เสนอให้มีนายกฯ จากคนนอกได้ แต่ต้องมาจากรายชื่อว่าที่นายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอมาพร้อมกับเลือกตั้ง

     ประเด็นนี้ทาง คสช.ก็ไม่เห็นด้วย ว่าไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อนายกฯ มาก่อนเลย

     พร้อมกับยื่นข้อเสนอ ส.ว.เปลี่ยนผ่านโดยตำแหน่งที่มาจากการ “สรรหา” ล้วนๆ และมีผู้นำกองทัพเป็นตัวแทนโดยตำแหน่งด้วย โดยให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ ด้วย

     พออาจารย์มีชัยยอมพบกันแค่ครึ่งทาง ประเด็นนี้ก็ยังถูก “สร้างทาง” กลับมาอีก โดย สนช.ซึ่งชาวบ้านก็รู้ๆ กันอยู่ว่าใครตั้งมา

     ความพยายามขับเคลื่อนประเด็นนี้เกินสมควร อาจจะทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัย แม้ว่าจริงๆ อาจจะไม่มีอะไร บริสุทธิ์ใจก็เถิด แต่ผลของการผลักดันมันก็พาให้ชาวบ้านคิดลึกคิดหลายชั้นล่วงหน้ากันไป

     เพราะรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับเปลี่ยนผ่านนั้น ประกอบด้วยสมาชิก 750 คน เป็น ส.ส. 500 ส.ว. 250 คน

     อาจเรียกได้ว่า ถ้า ส.ว.มีที่มาจากการสรรหา และเป็นเอกภาพอย่างเช่นที่ปรากฏให้เห็นกันจากบทบาทของ สนช.ในปัจจุบันนี้ จะเท่ากับว่า วุฒิสภาเป็นพรรคที่ “ใหญ่” ที่สุดในสภาฯ คือมีสมาชิกถึง 1 ใน 3 ของสภาฯ แล้ว

     ถ้าถือเกณฑ์ว่านายกฯ จะต้องได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งจากรัฐสภาแล้ว ก็เท่ากับว่า ใครจะเป็นนายกฯ ได้ จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกินกว่า 375 เสียง

     ดังนั้น “ถ้า” ส.ว.จะไม่เลือกใครจากที่ฝ่าย ส.ส.เลือกมาเลย คนคนนั้นจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีได้จะต้องมีเสียงสนับสนุนเกิน 375 เสียง หรือจับขั้วเป็นรัฐบาลมาได้เกือบยกสภาฯ เลยทีเดียว ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ออกแบบมาเพื่อไม่ให้มีใครได้เสียงถล่มทลายมาอยู่แล้วด้วย ดังนั้น พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ให้ชนะได้อย่างเก่งก็เกินครึ่งของสภาฯ ส.ส. คือ 250 เก้าอี้

     แต่ถ้าอยากเป็นนายกฯ ก็ต้องหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.หรือไม่ก็จากพรรคการเมืองอื่น ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นก็ยาก เพราะพรรคที่เหลือพอก็น่าจะเป็นพรรคที่ได้รับเสียงสนับสนุนมาเป็นที่สอง ซึ่งคงไม่ยอมจับมือด้วยแน่ๆ

     และในทางกลับกัน ถ้า ส.ว.จะ “หนุน” ใครเป็นนายกฯ ก็ไม่ต้องทำอะไร เสียงถึง 250 หามาอีก 125 เสียงก็เพียงพอ

     เพราะ ส.ว.นั้นเป็นตัวพลิกผันในเกมเลือกนายกฯ เช่นนี้เอง ข้อเสนอ คำถามเพิ่มเติมนี้จึงได้รับแต่เสียงคัดค้านจากฝ่ายการเมืองแทบจะทุกพรรคแน่ๆ เพราะแค่ชนะเลือกตั้งกันเองก็ว่ายากแล้ว ยังต้องไปสู้กับ ส.ว.อีกค่อนสภาฯ ด้วย

     และประชาชนที่อาจจะเป็นพลังเงียบ ที่ยังสงสัยว่า ถ้าให้ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดแต่งตั้งนายกฯ ได้ แล้วใครจะเลือก ส.ว.เข้ามา และคิดว่าเขาจะเลือกใครให้เป็นนายกฯ

 คำถามเพิ่มเติมก็เลยเป็นจุดตายสำหรับรัฐธรรมนูญนี้ ที่อาจจะลุ้นว่าตัวคำถามเองจะผ่านหรือจะตก และอาจจะฉุดรัฐธรรมนูญตกไปทั้งฉบับได้เลยหรือไม่.
กำลังโหลดความคิดเห็น