xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.กึ่งวิถี ก่อนปล่อยเสือเข้าป่า

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

กระบวนการพิเศษตามรัฐธรรมนูญในระยะเปลี่ยนผ่านของการปกครอง โดย คสช.กับการมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามโรดแมปก็ปรากฏวิธีการชัดเจนขึ้นมาแล้วว่าจะเป็นการใช้วิธีให้มี ส.ว.สรรหาทั้งหมด ควบคู่ไปกับสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

และทาง คสช.เอง ก็ออกมาแสดงความเห็นชัดเจนเป็นทางการ โดยทั้งนายกฯ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อสนับสนุนแนวทางดังกล่าว รวมถึงมีท่าทีไม่ปฏิเสธว่า สมาชิกในคณะ คสช.ก็ยังมีสิทธิจะมาเป็น ส.ว.สรรหาก็ได้เช่นกัน

แต่ก็ไม่ใช่ว่า คสช.จะมาเป็น ส.ว.สรรหาโดยอัตโนมัติ เพียงแต่ในรัฐธรรมนูญจะไม่ระบุคุณสมบัติต้องห้ามไว้ ว่า ส.ว.ห้ามสรรหามาจาก คสช.เท่านั้น ส่วน คสช.จะยกมาเป็น ส.ว.กันทั้งคณะ หรือร่วมสรรหาตัวแทนมา หรือมากันเพียงบางคนก็เป็นเรื่องที่จะว่ากันในชั้นหลัง

ส่วนข้อเสนอที่มีการพูดกันหรือตั้งข้อสังเกตว่า จะให้ ส.ว.สรรหานี้มีสิทธิในการเสนอชื่อหรือให้ความเห็นชอบในการเลือกตัวสรรหานายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ตรงนี้ยังแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ แต่ในชั้นนี้คงยังไม่พูดกันไปถึงขั้นนั้น ซึ่งหาก กรธ.เห็นชอบแนวทางนี้จริง รัฐธรรมนูญช่วง “เปลี่ยนผ่าน” นี้ก็จะมีอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งอาจจะยาวนานกว่านั้นก็ได้

การใช้รูปแบบวิธีการ “เปลี่ยนผ่าน” นี้ ค่อนข้างจะเป็นไปแบบไม่กระทบเนื้อหาของตัวรัฐธรรมนูญมากนัก และมีข้อดีว่า ไม่ใช่รูปแบบการตั้งองค์กรพิเศษตามรัฐธรรมนูญขึ้นมา เหมือนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติในรัฐธรรมนูญฉบับ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เหมือนจะเป็น “เป้าเด่น” ให้ถูกโจมตีว่าเป็นซูเปอร์รัฐบาล

และไม่ใช่วิธีการที่ล่อแหลมกว่า ด้วยการที่ให้ใครสักคนใน คสช.ไปรับตำแหน่งเป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกครหาว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ไม่ยอม “ปล่อยมือ” จริง ซึ่งอาจจะถูกต่อต้านจากประชาชนได้มากกว่า ซึ่งในทางเทคนิคทางรัฐธรรมนูญ วิธีการกำหนดรูปแบบ ส.ว.เฉพาะกิจนี้ก็ทำได้ง่าย ด้วยการเขียนบทยกเว้นและกระบวนการพิเศษไว้ในเฉพาะกาลไว้เฉพาะ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ค่อยกลับไปใช้กระบวนการแต่งตั้งสรรหา ส.ว.แบบปกติที่เขียนไว้ในตัวเนื้อรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่ “ยาก” มาก หลังจากการรัฐประหาร ก็คือช่วงที่จะ “ถอย” ลงไปให้มีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลที่เข้ามาตามรูปแบบประชาธิปไตย หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” นั่นแหละ

จากประวัติศาสตร์การเมืองไทยย้อนหลังไปช่วง 20 กว่าปีนี้ ถ้าฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ก่อน “ถอยไม่สุด” หรือปล่อยวางมืออำนาจไม่ขาด ก็จะเกิดเหตุการณ์ต่อต้านของประชาชนขึ้นได้ เช่น เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ปี 2535 ที่คณะผู้ก่อการคือ รสช.นั้น ยังอวตารกลับมาเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งอีก

แต่ถ้าฝ่ายผู้ก่อการนั้น “ปล่อยหมด” เช่น หลังการรัฐประหารโดยคณะ คมช. ในปี 2549 ก็แทบจะไม่อาจแก้ปัญหาอะไรได้ เหมือนปล่อยปุ่มพอร์สให้คู่ขัดแย้งไปตีกันต่อ อย่างที่เราได้เห็นว่าในที่สุดหลังการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2550 ก็กลายเป็นว่าพรรคนอมินีของฝ่ายอำนาจเดิมก็กลับเข้ามา เปลี่ยนแต่หัวตัวเหมือนเดิมเปี๊ยบ และในที่สุดความขัดแย้งก็ยืดยาวสุกงอมจนมาถึงทุกวันนี้

กลายเป็นตำนานว่าด้วยการ “รัฐประหารเสียของ” ที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดซ้ำรอยอีก โดยเฉพาะฝ่าย คสช.ที่อยู่ในอำนาจปัจจุบัน ซึ่งตั้งใจที่จะจัดการให้ความขัดแย้งแห่งศตวรรษจบลงในรอบนี้ให้ได้

ดังนั้น จึงเป็นที่มาการออกแบบกระบวนการของ “รัฐธรรมนูญช่วงเปลี่ยนผ่าน” เพื่อค่อยๆ เปลี่ยนจากการปกครองในสภาวะพิเศษ ไปสู่สภาวะประชาธิปไตยตามปกติ โดยฝ่ายผู้มีอำนาจอยู่ในปัจจุบันถอยตัวลดอำนาจลงไป แต่ก็ไม่ “ปล่อยมือ” ทิ้งไปหมดเสียทีเดียว

จริงๆ กระบวนการ “เปลี่ยนผ่าน” นี้ ในกรณีเรื่องอื่นๆ ที่มีรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงสภาวะบางอย่าง ก็จะต้องมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้กันทั้งนั้น เช่น ในต่างประเทศ หลังจากที่คนติดคุกนานๆ จะกลับไปสู่สังคม เขาก็จะต้องมีการจัด “บ้านพักกึ่งวิถี” เอาไว้รับรองให้อยู่ ให้ปรับตัวพักหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดอาการช็อกหรือแปลกแยกจากสังคม จนในที่สุดก็จะเกิดปัญหาหลังจากพ้นโทษ ถ้าไม่ใช่ปัญหาทางจิตใจ ก็อาจจะเป็นเรื่องไปก่อคดีขึ้นอีก ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ใคร หรือในการปล่อยสัตว์ป่าที่มีผู้เลี้ยงไว้ หรือสัตว์ป่าที่ถูกนำมารักษาพยาบาลเป็นเวลานานกลับเข้าป่า ก็จะต้องมีกระบวนการ “กึ่งวิถี” ให้คุ้นชินเพื่อกลับเข้าไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติได้อีกครั้งและทั้งเมื่อปล่อยไปแล้ว ก็ต้องมีกระบวนการติดตามเพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าสัตว์ป่านั้นอยู่ดีไหม ด้วยการฝังชิพติดตามหรือกระบวนการอื่นๆ

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ควรจะมีกระบวนการ “กึ่งวิถี” นี้ไว้เช่นกัน เพื่อให้คณะ คสช.กับรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามานั้น สามารถที่จะส่งไม้ต่อกันได้อย่างราบรื่น

และที่สำคัญที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่า ความขัดแย้งทั้งหลายที่กินเวลามากว่า 10 ปีนี้ คลี่คลายลงไปแล้ว อย่างน้อยก็ต้องอยู่ในระดับที่ถ้ามีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าใครจะได้เข้ามา ก็จะต้องไม่มีการต่อต้าน ไม่ยอมรับ เกิดเป็นการประท้วงใหญ่ที่นำไปสู่สงครามการเมืองที่แล้วๆ มาอีก

ทั้งรูปแบบของการอวตารกลับมาเป็น ส.ว.ที่เป็นสภาตรวจสอบและเหมือนเป็น “สภาพี่เลี้ยง” ก็น่าจะส่งผลกระทบน้อยที่สุดกับโครงสร้างอำนาจของรัฐบาลเลือกตั้ง แต่ก็มากพอที่จะสามารถดูแลกระบวนการปฎิรูปและการปรองดองไปได้ ผ่านกระบวนการกลั่นกรองหรือเสนอกฎหมายที่จำเป็น การตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาล และในกรณีจำเป็น ก็อาจจะใช้กระบวนการทางรัฐสภาในการควบคุมหรือถ่วงดุลได้หากรัฐบาลจะก่อความเสียหายแก่ประเทศชาติ หรืออาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อประชาชนเหมือนช่วงปลายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่บานปลายไปจนเกิดการยึดอำนาจจนถึงปัจจุบัน

ภาษิตไทยแต่โบราณมีว่า “อย่าปล่อยเสือเข้าป่า อย่าปล่อยปลาลงน้ำ” เพราะถ้าปล่อยไปเฉยๆ แล้ว ไม่มีทางตามกลับมาได้ เรียกว่าเสียของทั้งเสือทั้งปลา ยิ่งถ้าเป็นเสือ ปล่อยเข้าป่าไป ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้หัวรู้ก้อย มันก็อาจจะกลับมาคาบชาวบ้านไปกินก็ได้

อย่างนี้ ก่อนปล่อยเสือเข้าป่า ก็ค่อยๆ รอให้มันปรับตัวได้ ให้คนควบคุมได้สักระยะหนึ่งพอแน่ใจว่าไม่เป็นอันตรายก่อนค่อยปล่อยเต็มตัวให้ไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติได้ น่าจะดีกว่า.
กำลังโหลดความคิดเห็น