เพิ่งผ่านวันนักข่าว5มีนาคมมา และเพิ่งผ่านกรณีของสรยุทธมา บอกเล่าเรื่องต่างๆมากมาย
กรณีของสรยุทธนั้นเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่าสภาสมาคมองค์กรวิชาชีพสื่อนั้น ไม่ได้มีความหมายอะไรต่อสังคมและวงวิชาชีพ เพราะไม่สามารถตรวจสอบกันเองได้อย่างที่พร่ำพรรณากัน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของบทพิสูจน์แบบนี้ แต่ยืนยันความเป็น"เสือกระดาษ"มาแล้วหลายครั้งหลายหน
สมาคมวิชาชีพสื่อนั้นมีมานานแล้ว ก็คงเหมือนสมาคมของสาขาวิชาชีพทั่วไป ที่เดิมก็เป็นเพียงเป้าหมายเพื่อจัดงานสังสรรค์ประจำปี จากสมาคมนักข่าวหลักก็มีการแยกย่อยลงไปอีกเป็นสมาคมนักข่าวสายต่างๆ เป็นสมาคมนักข่าวเศรษฐกิจ จากสมาคมนักข่าวเศรษฐกิจก็แยกย่อยลงไปอีกเป็นสมาคมนักข่าวรถยนต์เป็นต้น
แต่จะมีสมาคมก็มีไปเถอะไว้ช่วยกันเวลามีวาระงานบุญงานกุศลตามวาระต่างๆไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใครก็แล้วกันไป ถ้าจะเดือดร้อนคนอื่นก็ตรงครบรอบวันนักข่าว5มีนาคมทีใด สมาคมนักข่าวก็ต้องไปขอเงินบริษัทห้างร้านมาทำวารสารประจำปีแจกสมาชิกเพื่อรายงานรายชื่อสมาชิกและกิจกรรมที่ได้ทำไปประจำปี ซึ่งห้างร้านบริษัทที่เขายินยอมก็คงเพราะสถานะของสื่อนั่นแหละ ลองสมาคมอ้อยและน้ำตาลทำวารสารประจำปีจะไปขอเงินหาผู้สนับสนุนมากมายแบบสมาคมนักข่าวคงไม่ได้หรอก ต้องยอมรับนะว่านี่เป็นอิทธิพลของสื่อ
ส่วนการทำงานของสื่อนั้นก็มีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว เช่นกฎหมายอาญาในข้อหาหมิ่นประมาท พรบ.การพิมพ์ซึ่งต่อมายกเลิกไปเปลี่ยนมาเป็นพรบ.จดแจ้งการพิมพ์แทน
ทีนี้เมื่อมีกฎหมายควบคุมการทำงานของสื่ออยู่แล้ว สื่อทำผิดก็ต้องรับโทษตามกฎหมาย แล้วความหมายว่า"จะตรวจสอบกันเอง"คืออะไร
คำตอบก็คือ การควบคุมกันให้สื่อดำรงวิชาชีพตามจรรยาบรรณและจริยธรรมที่ถูกต้องนั่นเอง
สื่อก็อยากจะมีองค์กรของตัวเองบ้างอย่างแพทยสภา วิศวกรรมสถาน สภาสถาปนิก ที่ทำหน้าที่ออกแบบใบอนุญาตวิชาชีพและควบคุมตรวจสอบการทำงานของคนในวิชาชีพให้อยู่ภายใต้จรรยาวิชาชีพของตัวเอง โดยองค์กรเหล่านี้แม้จะเป็นองค์กรอิสระแต่ก็มีกฎหมายรองรับ
ส่วนองค์กรวิชาชีพสื่อนั้นต้องนี้ยังไม่มีองค์กรที่ครอบคลุมวิชาชีพทุกแขนงเพียงแต่มี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เกิดขึ้น
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมีผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เติมมาตรา 40 ที่ระบุรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญของพนักงานหรือ ลูกจ้างเอกชนที่ประกอบกิจการด้านสื่อมวลชน รวมทั้งเจ้าพนักงานของรัฐ โดยไม่ต้องขัดต่อจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพภายใต้การควบคุมของ “องค์กรอิสระตามที่กฎหมายบัญญัติ”
แต่ตอนนั้นสื่อทั้งหมดไม่ยอมรับคำว่า "องค์กรอิสระตามที่กฎหมายบัญญัติ"เพราะกลัวเกรงความเป็นองค์กรภายใต้กฎหมายว่า จะไปเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐ และขยาดแขยงปร.42กฎหมายเผด็จการในอดีต สื่อทั้งหมดเลยเสนอให้ตัดคำนี้ไป ตอนนั้นวงการสื่อบอกว่า สื่อต้องมีหลักประกันในความเป็นอิสระ ภายใต้หลักการควบคุมกันเองของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ หรือวิชาชีพสื่อมวลชนอื่นๆ
สุดท้ายคำว่า "องค์กรอิสระตามที่กฎหมายบัญญัติ"ก็ถูกตัดออกไป จนมาเกิดเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
แต่ถามว่า สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมีบทบาทอะไรในองค์กรวิชาชีพบ้างบอกตรงๆว่าไม่เห็นนอกจากแถลงการณ์ตามวาระเหตุการณ์ต่างๆซึ่งไม่ส่งผลอะไร เพราะไม่สามารถไปบังคับบัญชาใครได้ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเคยไปกดดันอะไรกับองค์กรสื่อที่ถูกร้องเรียนได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ ดูกรณีของเครือมติชน พอสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติตั้งกรรมการสอบ เครือมติชนก็ประกาศลาออกจากสภาการพร้อมแถลงการณ์ตอบโต้อย่างรุนแรง
ที่ตลกร้ายกว่านั้นก็คือ เมื่อไม่นานมานี้ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์นัดพวกพ้องกันไปเพื่อง้องอนให้เครือมติชนกลับมาเป็นสมาชิกอีก
แยกประเด็นว่าสื่อ"ควรมี"หรือ"ไม่ควรมี"สภาวิชาชีพออกไปก่อนนะครับ ตอนที่กำลังรวบรวมความเห็นในการก่อตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและถกกันเรื่อง"องค์กรอิสระตามที่กฎหมายบัญญัติ"นั้น ผมเคยมีความเห็นส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับองค์กรว่า ถ้าไม่มีกฎหมายควบคุมองค์กรสื่อไม่มีทางควบคุมกันเองได้ จะเป็นแค่“เสือกระดาษ”ตัวหนึ่ง ตอนนั้นจำได้ว่าผู้ใหญ่บางคนในเครือเดียวกันก็มีความเห็นขัดแย้งกับผม แต่วันนี้เป็นอย่างไรครับตั้งแต่ปี2540 ปีนี้2559 เมื่อไม่มีกฎหมายอะไรรองรับมันพิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่ผมพูดนั้นเป็นความจริง
ทีนี้ถามว่าจริงๆแล้วเราต้องมีองค์กรวิชาชีพแบบแพทย์ วิศวกรหรือสถาปนิกหรือไม่ บอกตรงๆว่าเราจะมีสมาคมเพื่อจัดงานสังสรรค์ประจำปีกี่สมาคมก็มีไปเถอะ เพียงแต่อย่าตั้งสมาคมขึ้นมาเพื่อไปทำมาหากินและอวดอ้างอภิสิทธิ์หรืออย่าไปอวดอ้างว่า เรามีองค์กรเพื่อ“ตรวจสอบกันเอง”เลย มันทำอะไรไม่ได้หรอก ทุกวันนี้ก็มีสื่อจำนวนมากที่เอาวิชาชีพไปทำมาหากินรีดไถ เมื่อก่อนมีแก๊งที่เรียกว่า"18อรหันต์"รวมหัวจับมือกันหากิน วันนี้เขาว่า มีแก็ง"ด.ช."1ด.กับ3ช.ที่แพ็คกันเวลาใครชวนไปต่างประเทศก็ต้องชวนกันไปทั้งแก็ง
ผมไม่ได้บอกว่ามีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติแล้ว ดังนั้นให้ยุบไปเถอะนะครับ ก็มีมาแล้วก็มีไปเถอะ แต่อย่าไปอวดอ้างเรื่องตรวจสอบกันเองอีก เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เอาเป็นว่า แต่ละองค์กรสื่อก็ควรจะกวดขันคนในองค์กรของตัวเองให้ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพให้ได้ก็พอ ส่วนสื่อนั้นจะดีหรือไม่สังคมจะตรวจสอบเอง
แน่นอนว่าทุกองค์กรนั้นต้องมีทั้งคนดีและคนเลว แต่คนในองค์กรสื่อนั้นต้องเป็นองค์กรที่ชี้นำสังคม เปิดโปงความชั่วร้ายในสังคมมันจึงต้องมีมาตรการและมาตรฐานที่เข้มข้นไม่ให้คนเลวเข้ามาสู่วงการวิชาชีพ ตอนนี้ก็โชคดีอยู่บ้างที่คนเลวอาจเป็นเพียงคนส่วนน้อย
แต่ต้องยอมรับนะครับว่า ตอนนี้ในภาพรวมวงการสื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก สังคมขาดความเชื่อถือ และกำลังเกิดวิกฤตศรัทธาขึ้น
ถามว่าเรามีหลักการอะไรที่สร้างความเชื่อมั่นกับสังคมได้บ้าง บอกตรงๆผมยังมองไม่เห็นเลยครับ