วันก่อนอยู่บ้าน หิวขึ้นมา ก็ไปเปิดตู้หยิบมาม่า แล้วก็ไปต้มน้ำ พอน้ำเดือดจะเทมาม่าใส่ลงไป อยู่ๆ ใจมันก็นึกว่า อืม ดูมันไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเลยนะ อ่า จะทำไงดี
เมื่อคิดดังนั้น เลยเดินไปค้นตู้เย็น หยิบซี่โครงหมูมาใส่ต้มน้ำซุปเสียหน่อย จากนั้นก็เอาผักมาใส่ แล้วสุดท้ายจึงได้ใส่มาม่าและเครื่องปรุงลงไป
จากนั้น พอกินมาม่าอันทรงคุณค่าทางโภชนาการเสร็จ ก็ต่อด้วยไอติมอีกกระปุกนึง ระหว่างนั้นก็หยิบป๊อกกี้รสชอกโกแลตมาเคี้ยวเล่นเคียงคู่ไอติม
พอหมดไอติมหมดกระปุกและป๊อกกี้หมดกล่อง จึงนึกขึ้นมาว่าระบบความคิดเรื่องโภชนาการอันเริ่มมาแต่ฉุกใจคิดได้ในการสร้างคุณค่าให้แก่มาม่านั้น มันถูกทำลายไปเรียบร้อยในขั้นตอนของการฟาดไอติมกับป๊อกกี้นั่นเอง
นึกเรื่องนี้แล้วคิดได้ว่า เออตัวเรานี้คงแก่แล้ว
คนเรา เวลาแก่ตัวลง อะไรต่างๆ มันเหมือนจะยากและเยอะขึ้นไปเรื่อยๆ คือมันชอบคิดนู่นคิดนี่ไปร้อยแปดพันเก้า พยายามสร้างคุณค่าให้กับชีวิตอะไรเรื่อยเปื่อย
มันคือการดำเนินวิถีชีวิตอยู่กับความวิตกกังวล
จะว่าไป การคิดน้อยนี่ไม่ดี แต่ขณะเดียวกันคิดมากไปนี่ก็ไม่ดีเหมือนกัน บางทีคนเราก็ไปคิดมากกับเรื่องเล็กน้อย เช่น บางทีเพื่อนลืมเรียกไปกินข้าวก็วิตกกังวลว่าเพื่อนไม่รัก ไม่ให้ความสำคัญ หรือบางครั้ง เวลาออกไปนอกบ้านแล้วไปเจอคนที่เคยรู้จัก แล้วเขาลืมยกมือไหว้ หรือไม่ได้เข้ามาทักทาย ก็ไปคิดว่าเขาไม่ให้ความสำคัญ ทั้งๆ ที่เขาอาจจะเพียงแค่ไม่เห็นเราเพราะเขาลืมใส่แว่นสายตามาในวันนั้น
คนเราบางทีก็คิดเยอะ ทั้งๆ ที่บางทีมันก็ไม่มีสาระอะไรจริงจังเลย
กลัวคนไม่รัก กลัวคนไม่เคารพนับถือ กลัวไม่แข็งแรง กลัวโง่ กลัวโดนหลอก กลัวชีวิตไม่มีคุณค่า กลัวนั่นๆ นู่นนี่...
อย่างนี้เรียกว่าจ่อมจมอยู่ในวิตกจริต