xs
xsm
sm
md
lg

แค่ไหนที่เรียกว่าหน้าหนาว?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครคงได้เริ่มสัมผัสกับอากาศเย็นจนถึงค่อนข้างหนาว ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนถึงช่วงสายของวันรุ่งขึ้น บางคนเริ่มสวมใส่เสื้อกันหนาวไปทำงานกันบ้างแล้ว ถือเป็นฤดูที่ใครหลายคนต่างรอคอยกันมานาน เพราะอากาศแบบนี้มักจะมีความทรงจำดีๆ ในช่วงเฉลิมฉลองคริสต์มาส และเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง

อันที่จริงกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมแล้วว่า ประเทศไทยตอนบนได้สิ้นสุดฤดูฝนและเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว โดยลมระดับล่างนเป็นลมตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนลมชั้นบนได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันตก ประกอบกับปริมาณฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนได้ลดลงเกือบทั่วไป รวมทั้งอุณหภูมิต่ำสุดได้ลดลงอยู่ในเกณฑ์อากาศเย็น

ในตอนนั้นไถ่ถามเพื่อนฝูงที่อยู่ทางภาคเหนือ ก็บอกว่าอากาศเย็นลงจริง แต่สื่อสำนักต่างๆ นำเสนอข่าวในทำนองว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้คนกรุงเทพฯ และภาคกลางก็ยังงงอยู่ว่ามันหนาวยังไง แม้จะมีอากาศเย็นแต่ก็แค่วันสองวัน อากาศก็กลับมาปกติ ในช่วงบ่ายแดดยังร้อนอีกต่างหาก

กระทั่งเกิดฝนตกลงมา ก็เกิดคำถามตามมาว่า “ไหนกรมอุตุฯ บอกว่าหน้าหนาว ... แล้วทำไมฝนยังตกอยู่”

กว่าคนกรุงเทพฯ จะได้สัมผัสอากาศค่อนข้างหนาวจริงๆ ก็ปาเข้าไปกลางเดือนธันวาคมแล้ว

ที่ผ่านมาสังคมมักจะตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมาการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา น่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะคนส่วนใหญ่มองว่า ทำนายไม่แม่น บางครั้งประกาศไปว่าไม่มีฝนตก พอเอาเข้าจริงฝนก็ตกซะอย่างนั้น แม้การพยากรณ์อากาศมักจะผิดพลาดอยู่แล้ว แต่การประกาศผิดซ้ำซาก ย่อมส่งผลไปถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูลในสายตาประชาชนทั่วไปด้วย

ทุกวันนี้ในสังคมก้มหน้า สมาร์ทโฟนเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตประจำวัน พบว่าคนทั่วไปพบเห็นข้อมูลพยากรณ์อากาศบนหน้าจอสมาร์ทโฟนมากที่สุด ซึ่งข้อมูลมักจะมาจากเว็บไซต์ต่างประเทศ เช่น AccuWeather.com หรือจะเป็น The Weather Company ที่สถานีโทรทัศน์ในไทยอย่างไทยรัฐทีวีไปซื้อข้อมูลมารายงานพยากรณ์อากาศควบคู่กับกรมอุตุนิยมวิทยา

แต่ไม่ใช่ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะไม่มีข้อดีเลย เพราะข้อมูลเรื่องสภาพอากาศที่มีการวัดอุณหภูมิเป็นช่วงเวลา ยังคงสามารถตรวจสอบได้ตามเวลาที่ต้องการ ในเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาจะแสดงผลสภาพอากาศ 4 แห่ง โดยกรุงเทพมหานครจะใช้ข้อมูลจากสถานีตรวจอากาศเฉลิมพระเกียรติกรุงเทพฯ บริเวณศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถนนรัชดาภิเษก



สถานีตรวจอากาศเฉลิมพระเกียรติกรุงเทพฯ บริเวณสวนสาธารณะเบญจกิติ ถนนรัชดาภิเษก (ภาพจาก http://www.mob.tmd.go.th/databass/bangkok.pdf)

ขณะเดียวกัน ยังมีการตรวจวัดอากาศจากสถานีตรวจอากาศท่าเรือคลองเตย, สถานีเรดาร์ตรวจอากาศสนามบินดอนเมือง ส่วนกรมอุตุนิยมวิทยา ถนนสุขุมวิท เขตบางนา จะมีสถานีอุตุนิยมวิทยาการเกษตร (สกษ.) ทำหน้าที่ตรวจอากาศเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางด้านการเกษตร เพิ่มเติมจากการตรวจอากาศทั่วไปรวมอยู่ด้วย

ส่วนสนามบินสุวรรณภูมิ จะมีสถานีเรดาร์ตรวจอากาศอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งในจังหวัดดังกล่าวยังมีสถานีนำร่อง ปากแม่น้ำเจ้าพระยากลางทะเลอ่าวไทย และสถานี สกษ. สมุทรปราการ ในซอยวิทยุการบินบางปลา อ.บางพลี ขณะที่ จ.ปทุมธานี มีสถานี สกษ. ปทุมธานี ตั้งอยู่ที่สถานีทดลองข้าวคลองหลวง ถนนพหลโยธิน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ใครบ้านอยู่ตรงไหน ตามไปเช็กสภาพอากาศจากเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยากันดูได้



สถานีเรดาร์ตรวจอากาศกรุงเทพฯ บริเวณสนามบินดอนเมือง (ภาพจาก http://www.mob.tmd.go.th/databass/bangkok.pdf)
โดยส่วนตัวสังเกตมานานแล้วว่า อุณหภูมิต่ำสุดในยามเช้า หากบ้านใครอยู่ทางสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง อุณหภูมิจะลดลงกว่ากรุงเทพฯ ชั้นในบริเวณศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ประมาณ 1-3 องศาเซลเซียส คาดว่าคงเป็นเพราะสนามบินเป็นที่โล่ง อากาศเย็นจากทางทิศเหนือจะเข้ามาเยอะ แตกต่างจากกรุงเทพฯ ชั้นในที่มีอาคารบดบังจำนวนมาก

ตัวอย่างเช่น วันที่ 19 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นวันก่อนหน้าที่จะเขียนต้นฉบับ อุณหภูมิต่ำสุดตอนเช้าจะอยู่ที่ 22.2 องศาเซลเซียส แต่ที่สนามบินดอนเมือง อุณหภูมิต่ำสุดตอนเช้าจะอยู่ที่ 21.3 องศาเซลเซียส ต่ำกว่าเกือบ 1 องศาเซลเซียส และถ้าเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ อุณหภูมิต่ำสุดยามเช้าจะอยู่ที่ 19.9 องศาเซลเซียส ต่ำกว่าถึง 2.3 องศาเซลเซียส

เรียกได้ว่าบ้านใครอยู่ชานเมือง แถบดอนเมือง รังสิต หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง จะโชคดีที่จะได้สัมผัสอากาศค่อนข้างหนาวกว่าใจกลางกรุงเทพฯ เสียอีก แม้การเดินทางจะดูลำบากหากไม่มีรถส่วนตัว หรือหากมีรถส่วนตัวต้องเดินทางออกจากบ้านแต่เช้ามืด และเผชิญกับการจราจรติดขัดบนถนนสายหลัก และทางด่วนเพื่อไปทำงานก็ตาม

ไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานครเท่านั้น จังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหนาวอย่างเชียงใหม่ ปีที่แล้วได้ไปเที่ยวที่นั่น ขนาดพักอยู่ในโรงแรมยังต้องปิดเครื่องปรับอากาศแล้วนอนห่มผ้าอยู่เลย เมื่อลงจากห้องพักลงไปซื้อของ ลองเปิดอินเตอร์เน็ตบริเวณล็อบบี้ดูเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าขนาดเชียงใหม่เย็นแล้ว สถานีตรวจอากาศดอยอ่างขางเย็นกว่าราว 10 องศาเซลเซียส



แต่ถ้าจะถามว่าเย็นที่สุดของเชียงใหม่อยู่ตรงไหน มีคนบอกผมว่าต้องไปที่ "ดอยอินทนนท์" มียอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย จากระดับน้ำทะเลปานกลาง 2,565 เมตร ที่นั่นมักจะมีนักท่องเที่ยวไปสัมผัสบรรยากาศยามเช้าอย่างคึกคัก เผลอๆ ยังได้เห็นปรากฎการณ์น้ำค้างแข็ง หรือ เหมยขาบ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่หาดูไม่ง่ายนัก

พูดถึงฤดูหนาว เป็นฤดูที่ใครหลายคนชื่นชอบ เพราะอากาศเย็น ไม่ร้อน ไม่เปียก เหมาะแก่การทำกิจกรรมทั้งกลางแจ้งและในร่ม เราจะพบเพื่อนฝูงนัดไปทานอาหารปิ้งย่าง จิบกาแฟร้อน นัดพบปะสังสรรค์กันที่ลานเบียร์หลังเลิกงาน หรือในต่างจังหวัดตามแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติมักจะนิยมจัดคอนเสิร์ต เช่น คอนเสิร์ตวัยรุ่น หรือเพลงรักต่างๆ

แต่บางที การที่เราสัมผัสอะไรที่ไม่คุ้นเคยมากเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี เมื่อร่างกายไม่สามารถให้ความอบอุ่นกับเราได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อรักษาอุณหภูมิเอาไว้ให้สมดุล เราจึงเริ่มรู้สึกหนาวสั่น อ่อนเพลีย และเมื่ออากาศแบบนี้เอื้อต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค จึงเกิดโรคติดเชื้ออย่างไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด อีสุกอีใส และโรคมือเท้าปาก

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมายังมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว มีทั้งเสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็น (อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงกว่าอุณหภูมิปกติ หรือ Hypothermia) เสียชีวิตจากการสวมเครื่องนุ่งห่มไม่เพียงพอ รวมทั้งกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ลมชัก รวมทั้งคนพิการและผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย

ที่สำคัญสำหรับคอสุรา เรามักจะมีความเชื่อว่าหน้าหนาวแบบนี้ต้องดื่มสุราคลายหนาว โดยเฉพาะเหล้าขาวดีกรีสูงๆ แต่ที่ผ่านมาในทางการแพทย์เตือนว่านอกจากจะไม่ช่วยสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายแล้ว ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อน กดประสาท ทำให้ง่วงซึมและหมดสติโดยไม่รู้ตัว หากมีโรคประจำตัวจะทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

เพราะฉะนั้น ต่อให้เราชื่นชอบความหนาวมากแค่ไหน เราก็ควรที่จะรักตัวเอง ให้ความอบอุ่นแก่ตัวเองให้มากๆ เพราะไม่มีใครที่จะดูแลตัวเราได้ดี นอกจากตัวเราเอง อย่าลืมว่าทุกการกระทำของเรา นอกจากจะเป็นบทเรียนสำหรับตัวเราเองโดยที่หากผิดพลาดย่อมไม่มีวันย้อนกลับมาแก้ไขได้แล้ว อาจจะสะเทือนใจไปถึงครอบครัว คนรอบข้าง และคนที่รักเราอีกด้วย

Merry Christmas และสวัสดีปีใหม่ล่วงหน้า ขอพระเจ้าอวยพรให้คุณผู้อ่านมีความสุขมากๆ สมหวังทุกประการครับ

ป.ล. เที่ยวปีใหม่เผื่อผมด้วยนะ.



เช็กอากาศร้อนหนาว-ฝ่าพายุฝนด้วยตัวเอง

ในยุคที่สมาร์ทโฟนเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตประจำวัน เมื่อเกิดความฉุกคิดว่าอยากรู้ต้องได้รู้ เครื่องมือที่สำคัญคือการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูล เช่นเดียวกับเรื่องสภาพอากาศ ที่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องรอข่าวประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา บางครั้งแค่แตะหน้าจอสมาร์ทโฟน ก็รู้แล้วว่าตอนนี้อากาศในบริเวณที่เราอยู่กี่องศาเซลเซียส

แต่ถึงกระนั้น สำหรับคนที่อยากรู้ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร มีเว็บไซต์หลักในไทยที่ให้บริการข้อมูลดังต่อไปนี้


- กรมอุตุนิยมวิทยา แม้จะถูกสังคมมองว่า พยากรณ์อากาศไม่แม่น แต่ถ้าข้อมูลอุณหภูมิที่เป็นปัจจุบันจริงๆ อยากรู้ว่าจังหวัดที่เราอยู่ตอนนี้กี่องศาเซลเซียสแล้ว ก็สามารถคลิกดูสภาพอากาศของแต่ละจังหวัดที่มีสถานีอุตุนิยมวิทยา สถานีอุตุนิยมวิทยาการเกษตร (สกษ.) ซึ่งอยู่นอกเมือง และสถานีอุตุนิยมวิทยาอุทก (สอท.) ดูได้

คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศ จากสถานีตรวจอากาศเฉลิมพระเกียรติกรุงเทพฯ (ถนนรัชดาภิเษก)
คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศ จากสถานีตรวจอากาศท่าเรือคลองเตย
คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศ จากสถานีอุตุนิยมวิทยาการเกษตร (สกษ.) บางนา
คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศ จากเรดาร์ตรวจอากาศสนามบินดอนเมือง
คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศ จากเรดาร์ตรวจอากาศสนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ
คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศ จากสถานีตรวจอากาศนำร่อง อ่าวไทย จ.สมุทรปราการ
คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศ จากสถานีอุตุนิยมวิทยาการเกษตร (สกษ.) สมุทรปราการ บางปู
คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศ จากสถานีอุตุนิยมวิทยาการเกษตร (สกษ.) ปทุมธานี คลองหลวง
คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศ จากสถานีตรวจอากาศนครปฐม
คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศ จากสถานีตรวจอากาศพระนครศรีอยุธยา

ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชัน Thai Weather ของกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ดาวน์โหลดผ่านระบบปฏิบัติการ iOS และ Android ที่สามารถติดตามสภาพอากาศพร้อมเปรียบเทียบอุณหภูมิรายเดือน (เฉพาะจังหวัดที่มีสถานีอุตุนิยมวิทยา) และยังตรวจสอบแผ่นดินไหว ทางเดินพายุ เรดาร์ ดาวเทียม และแผนที่อากาศ และยังตั้งค่าแจ้งเตือนอากาศรูปแบบต่างๆ ได้อีกด้วย

- สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร สำหรับชาวกรุงฯ เหมาะมากสำหรับช่วงฤดูฝน เพราะคนส่วนใหญ่จะนิยมเข้าชมเรดาร์ตรวจอากาศเพื่อดูว่าตรงไหนฝนจะตกหนัก อัปเดตทุก 5 นาที โดยมี 2 สถานี ได้แก่ เรดาร์ตรวจอากาศหนองจอก ตรวจวัดในรัศมี 90 กิโลเมตร และเรดาร์ตรวจอากาศหนองแขม ตรวจวัดในรัศมี 150 กิโลเมตร

เรดาร์กรุงเทพมหานคร สามารถตรวจวัดได้ถึงจังหวัดใกล้เคียง อาทิ สมุทรสาคร นครปฐม สุพรรณบุรี (บางส่วน) พระนครศรีอยุธยา สระบุรี (บางส่วน) นครนายก ปราจีนบุรี (บางส่วน) ฉะเชิงเทรา ชลบุรี (บางส่วน) และ ระยอง (บางส่วน) สำหรับจังหวัดอื่นๆ สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา แต่ในต่างจังหวัดข้อมูลจะอัปเดตช้ากว่า

คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบกลุ่มฝน จากสถานีเรดาร์หนองจอก (รัศมี 90 กิโลเมตร)
คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบกลุ่มฝน จากสถานีเรดาร์หนองแขม (รัศมี 150 กิโลเมตร)
คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบกลุ่มฝน จากข้อมูลเรดาร์ของกรมอุตุนิยมวิทยา (สำหรับต่างจังหวัด)

อนึ่ง สำหรับเกณฑ์ปริมาณฝน เปรียบเทียบกับปริมาณฝนต่อชั่วโมง มีดังนี้
- ปริมาณตั้งแต่ 00.0 – 10.0 มิลลิเมตร ฝนเล็กน้อย (Light Rain)
- ปริมาณตั้งแต่ 10.1 – 35.0 มิลลิเมตร ฝนปานกลาง (Moderate Rain)
- ปริมาณตั้งแต่ 35.1 – 90.0 มิลลิเมตร ฝนหนัก (Heavy Rain)
- ปริมาณมากกว่า 90.1 มิลลิเมตร ฝนหนักมาก (Very Heavy Rain)

นอกจากนี้ ในเว็บไซต์สำนักการระบายน้ำ ยังมีเครื่องมือตรวจสอบสภาพอากาศอีกมาก เช่น ระบบตรวจวัดอากาศจากสำนักงานเขต 50 เขต และสำหรับในช่วงฤดูน้ำหลาก ยังมีระบบโทรมาตร ที่วัดระดับน้ำจากคลองสายต่างๆ และระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนน ที่ตรวจสอบระดับน้ำท่วมบนพื้นผิวจราจร และรายงานน้ำท่วมขังถนนสายต่างๆ อีกด้วย

คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบสภาพอากาศกรุงเทพมหานคร 50 เขต จากระบบตรวจวัดสภาพอากาศ
คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบระดับน้ำ ประตูระบายน้ำคลองสายหลักกรุงเทพมหานคร จากระบบโทรมาตร
คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบระดับน้ำในคลองสายหลักกรุงเทพมหานคร จากระบบตรวจวัดระดับน้ำในคลองหลัก
คลิกที่นี่ เพื่อตรวจสอบระดับน้ำท่วมขังถนนสายหลักในกรุงเทพมหานคร จากระบบตรวจวัดน้ำท่วมบนถนน
คลิกที่นี่ เพื่ออ่านรายงานสภาพน้ำท่วมขังบนถนนสายหลักและคาดการณ์น้ำแห้ง

- ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ในช่วงฤดูน้ำหลาก หรือมีเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง คนกรุงเทพฯ ที่สนใจสามารถรับมือได้ โดยการติดตามสถานการณ์น้ำประจำวัน และตรวจสอบการปล่อยน้ำในแม่น้ำสายหลักได้จาก ผังน้ำเจ้าพระยา มีทั้งตอนบน ตอนล่าง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งฝั่งตะวันออก – ตะวันตกได้อีกด้วย

คลิกที่นี่ เพื่ออ่านสรุปสถานการณ์น้ำรายวัน
คลิกที่นี่ เพื่ออ่านแผนผังสภาพน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตอนบน รายวัน
คลิกที่นี่ เพื่ออ่านแผนผังสภาพน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตอนล่าง รายวัน

สำหรับต่างจังหวัด ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจ ได้แก่ สภาพน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ตรวจสอบระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อวางแผนการเพาะปลูก ติดตามระดับน้ำจากกล้อง CCTV ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และข่าวสถานการณ์น้ำชลประทาน ส่วนในช่วงฤดูแล้ง ยังมีผลการปลูกข้าวนาปรังฤดูแล้งในเขตชลประทาน ว่าเพาะปลูกกันเท่าไหร่ จากจำนวนพื้นที่ทั้งหมดอีกด้วย

- สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ในเว็บไซต์จะรวบรวมข้อมูลพายุ ข้อมูลอากาศ ข้อมูลฝน และข้อมูลสภาพน้ำ สถานการณ์น้ำจากระบบโทรมาตรลุ่มน้ำต่างๆ โทรมาตรเขื่อน และยังมีข้อมูลระดับน้ำทะเลรายชั่วโมงจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และกรมเจ้าท่าอีกด้วย

คลิกที่นี่ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากระบบโทรมาตรทั่วประเทศ
คลิกที่นี่ เพื่อติดตามข้อมูลระดับน้ำทะเลรายชั่วโมง

กำลังโหลดความคิดเห็น