ในฐานะที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชนมาก่อน เคยมีความเชื่ออยู่เสมอว่า ไม่ว่าสื่อจะเสนอข่าวไม่ว่าจะแง่บวก หรือแง่ลบ ประชาชนในฐานะผู้รับสารก็ใช้วิจารณญาณในการเสพสื่ออยู่แล้ว
หรือพูดภาษาชาวบ้านว่า “คิดเองได้”
แต่ในความเป็นจริง ด้วยเงื่อนไขเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ทำให้สิ่งที่เคยคิดมาตลอด กลายเป็นว่า “คิดผิด”
กลับพบว่าไม่ใช่ทุกคนที่คิดเองได้ หนำซ้ำยังเกิดพฤติกรรมเลียนแบบเกิดขึ้นมาอีก
กรณีคลาสสิกที่เกิดขึ้นในสมัยที่เป็นนักเรียน สักเกือบๆ 20 ปีก่อน ฟรีทีวีและหนังสือพิมพ์หัวสีเคยพากันลงข่าวชายคนหนึ่ง ข่มขืนและฆ่านักเรียนหญิงวัย 5 ขวบ เสียชีวิตในห้องน้ำของโรงเรียน
หลังจากนั้นเป็นต้นมา เวลาหยิบหนังสือพิมพ์จากห้องสมุดขึ้นมาอ่าน กลับพบข่าวข่มขืนเยาวชนและสุภาพสตรี โผล่เป็นข่าวหน้าหนึ่งบ่อยครั้งมากขึ้น อาจเป็นเพราะเป็นเรื่องสะเทือนขวัญ
และที่สำคัญ “มันเป็นข่าวที่ขายได้”
หรือจะเป็นอีกกรณีหนึ่ง เมื่อสัก 6-7 ปีก่อน คนร้ายใช้ก้อนหินปาใส่รถยนต์ ที่ จ.สุพรรณบุรี ทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นข่าวฮือฮาตามหน้าหนังสือพิมพ์ และรายการเล่าข่าวตอนเช้า ที่ชาวบ้านร้านตลาดนิยมเสพ
จากนั้นเป็นต้นมา ก็เกิดเหตุคนร้ายปาหินเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันตก และภาคใต้ ตั้งแต่แยกวังมะนาว จ.ราชบุรี ไปจนถึง จ.สุราษฎร์ธานี ร้อนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องขับรถตรวจเส้นทางตลอด 24 ชั่วโมง
กระทั่งเมื่อเวลาผ่านไปประมาณหนึ่งปี กระแสปาหินเลียนแบบข่าวหน้าหนึ่งก็ซาลงไป ...
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบข่าว ก็เพราะคนที่ขาดวุฒิภาวะได้รับฟังข่าวสารแล้วรู้สึกว่าอยากทำตามหรือเรียนรู้ด้วยตัวเอง
จึงเกิดการนำเอาพฤติกรรมเหล่านั้นมาเป็นต้นแบบขึ้น
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ในยามที่ผู้คนมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชีวิต การทำงาน สุขภาพ หรือแม้กระทั่งเรื่องส่วนตัว มักจะจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย
ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดา ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ หรือแม้กระทั่งนักร้อง นักดนตรีชื่อดัง
ข่าวฆ่าตัวตายปรากฏขึ้นเกือบทุกวัน ขึ้นอยู่กับความมีชื่อเสียงของบุคคล ฐานะ วัย หรือมีเรื่องราว (Story) ที่เป็นชนวนเหตุให้เกิดการฆ่าตัวตายนั้นอย่างไร
มีผลไปถึงคุณค่าของข่าว ว่าจะเป็นข่าวกรอบเล็กๆ หรือข่าวใหญ่หน้าหนึ่ง
เมื่อวันก่อน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเปิดเผยถึงการเฝ้าระวังกรณีการฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่อง
พบว่า เมื่อมีกรณีการฆ่าตัวตายปรากฏในสื่อและมีการลงรายละเอียด วิธีการว่าลักษณะการฆ่าตัวตายเป็นไปอย่างไร มักพบว่าจะมีการฆ่าตัวตายในลักษณะเดียวกันตามมาหลังจากนั้นอย่างน้อย 2 - 3 คน
จากสถิติพบว่า ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ จะเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อนอย่างน้อย 3 - 4 ครั้ง โดยพบว่าครั้งแรกมักจะทำไม่สำเร็จ หากไม่มีการช่วยเหลือหลังจากนั้น ก็จะมีความพยายามลงมือฆ่าตัวตายอีกจนเมื่อถึงครั้งที่ 3 - 4 ก็จะทำสำเร็จ
กลุ่มเป้าหมายที่กรมต้องเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตายสำเร็จ ได้แก่ กลุ่มคนที่มีความตึงเครียดและกดดันจากสถานการณ์ในชีวิตจนหาทางออกไม่ได้
อย่างต่อมา กลุ่มผู้ป่วยที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตาย เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งแพทย์ที่ให้การรักษาจะทราบอาการดีอยู่แล้ว จึงต้องหาวิธีการป้องกัน
และอย่างสุดท้าย ผู้ป่วยจากโรคทางกาย ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะหดหู่ หมดกำลังใจ ท้อแท้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เสี่ยงจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว เมื่อมีปัญหาสุขภาพกายมาประกอบก็จะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่น
การนำเสนอรายละเอียดของการฆ่าตัวตายนั้น ถือเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะกับกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่เป็นทุนเดิม มีปัญหาของโรคซึมเศร้า มีความเครียดหรือมีปัญหาหนักในชีวิตที่หาทางออกในชีวิตไม่ได้
กลุ่มบุคคลเหล่านี้ จะมีความอ่อนไหวต่อข่าว และความคิดเห็นทั้งในสื่อออนไลน์ หรือจากบุคคลรอบตัว
การแสดงความเห็นโดยไม่ได้คิดก่อนว่าจะกระทบกับใคร แต่ผู้ที่มีปัญหาอยู่เดิมจะรู้สึกมาก และอาจยิ่งคิดว่าอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์และตัดสินใจฆ่าตัวตายในลักษณะเดียวกัน
นอกจากนี้ยังพบว่า การจัดทำข้อความประกอบภาพที่เสริมความรู้สึกเร้าอารมณ์ เช่น ใช้ข้อความว่า “ตายไปได้ก็ดี” จะกระทบกับกลุ่มคนที่อ่อนไหว ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ใช่ เราเป็นแบบนั้น และสมควรไปอีกคน
เขาแนะนำถึงการนำเสนอภาพฆ่าตัวตาย ว่า ควรลดความถี่ลง ครั้งเดียวก็เพียงพอ อย่าฉายภาพซ้ำๆ ไม่เล่าเรื่องจนเหมือนเป็นบทละคร รวมทั้งไม่นำเสนอวิธีการโดยละเอียด เพราะจะเป็นการสร้างทางเลือกที่ผิดให้กับกลุ่มคนที่อ่อนไหว
มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่มีใครรับฟัง คนที่ถูกปฏิเสธไม่รับฟังบ่อยๆ เข้า จะกลายเป็นคนแอบซึมเงียบๆ เมื่อไม่มีทางระบาย จะรู้สึกว่าไม่มีทางเลือกในการมีชีวิตอยู่อีกต่อไป
ในยุคสมัยที่คนเรารับฟังกันน้อยลง เป็นตัวของตัวเอง หรือความมีอำนาจนิยมในตัวมากขึ้น สิ่งสำคัญที่ยังขาดหายไป คือ “การรับฟังหรือให้คำปรึกษา” เรียกได้ว่าเวลามีปัญหา สามารถเข้าหาใครสักคนเพื่อให้เขาเข้าใจในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
อีกประเด็นหนึ่ง ช่วงที่มีข่าวนักดนตรีชื่อดังฆ่าตัวตายเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีการถกเถียงถึงทางออกที่จะไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีก หนึ่งในนั้นก็คือ การยึดหลักศาสนา เช่น การทำบุญ สวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ ฯลฯ
ซึ่งในทางการแพทย์มองว่า มันไม่ใช่วิธีการที่ดี เพราะจะกลายเป็นว่ามองเห็นแต่อภินิหาร ทั้งที่จริงแล้วอาจเป็นเพราะเกิดจากโรคซึมเศร้ารุนแรง ซึ่งต้องรักษาด้วยวิธีการทางจิตเวช ไม่ใช่ความอ่อนแอทางจิตใจก็ได้
ครั้งหนึ่ง “จ่าพิชิต ขจัดพาลชน” เคยโพสต์เฟซบุ๊กอธิบายถึงโรคซึมเศร้า ขออนุญาตหยิบยกบางช่วงบางตอน ว่า โรคซึมเศร้า สาเหตุมาจากสารสื่อประสาทในสมอง ทำงานผิดปกติ ซึ่งเกิดได้หลายสาเหตุมาก
เช่น การหลั่งฮอร์โมน การหลั่งสารสื่อประสาทผิดปรกติ การป่วยไข้ หรือ ปัจจัยภายนอก เช่น ความผิดหวัง ความสูญเสีย ความเครียด เมื่อปัจจัยพวกนี้บางข้อมารวมกัน มันก็จะทำให้คนๆ นั้นเกิดภาวะซึมเศร้าได้
เมื่อป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ความคิด ทัศนคติ การตัดสินใจ การมองโลก ทุกสิ่งทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไป โดยที่ไม่สามารถบังคับความคิดของตัวเองได้ เพราะสารสื่อประสาทในสมองผิดปกติ ต่อให้จิตใจเข้มแข็งสักเท่าไหร่ก็ตาม
“คนที่จากไปเขาไม่ใช่ว่าไม่เข้มแข็ง แต่เขาไม่สบายต่างหาก” จ่าพิชิต กล่าว
เขาแนะว่า ถ้าสังเกตเห็นคนรอบกายที่มีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า อย่าประมาท ควรพูดคุยกับเขา หรืออาจแนะนำให้เขาไปพบจิตแพทย์เพื่อตรวจดูว่ามีภาวะซึมเศร้าซ่อนอยู่หรือไม่ ก่อนที่มันจะสายเกินไป
ที่สำคัญ ควรเปลี่ยนทัศนคติว่า “ไปพบจิตแพทย์ เท่ากับเป็นบ้า” ได้แล้ว เพราะการตราหน้าคนที่ไปรักษากับจิตแพทย์ ทำให้คนป่วยไม่กล้าไปหาหมอ คนเป็นโรคซึมเศร้าแต่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมฆ่าตัวตายจำนวนมาก
หลายหน่วยงาน โดยเฉพาะในแวดวงทางการแพทย์และสาธารณสุขยังคงแก้ไขปัญหาและหาแนวทางไม่ให้เกิดคนที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่อง
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ปัญหาเหล่านี้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะแก้ปัญหาเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ สังคมต้องช่วยประกันประคับคอง โดยเฉพาะเพื่อนหรือคนใกล้ตัว เพื่อไม่ให้รู้สึกถูกโดดเดี่ยว ไร้ตัวตน และหาทางออกแบบผิดๆ ในที่สุด.
ส่วนเรื่องการนำเสนอข่าวฆ่าตัวตาย ผมเชื่อว่าสื่อมวลชนน่าจะรับรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ตราบใดที่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ หรือเฮดไลน์ของเว็บไซต์ข่าวยังคงประชันกันพาดหัวเพื่อเรียกความสนใจจากผู้อ่าน
เอาแค่การใช้คำว่า ฆ่าตัวตาย ก็เรียกความสนใจจากผู้อ่านแล้ว บางสำนักยังใช้คำอื่นๆ ที่สื่อรูปแบบการตาย หรือข่าวโทรทัศน์บางช่องยังพยายามสอบถามญาติหรือบุพการีผู้ตายว่า "รู้สึกยังไงบ้างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ..."
ในอุตสาหกรรมสื่อที่แข่งขันอย่างรุนแรง แนวคิดของคนทำสื่อ จริตของผู้รับสารที่อยากรู้อยากเห็น สวนทางกับจรรยาบรรณสื่อ ในเมื่อข่าวฆ่าตัวตายเป็นข่าวที่ขายได้ คงเป็นการยากที่จะไม่มีข่าวฆ่าตัวตายในสื่อมวลชนเลย
สุดท้ายเราอาจจะได้เห็นหลักการทำข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายออกมา โดยมีกฎหมายบังคับ เช่นเดียวกับข่าวอาชญากรรมเกี่ยวกับเยาวชน ที่มี พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กกำกับดูแลอยู่ ที่ทำให้สื่อต้องระมัดระวังมากขึ้น
OOO
พูดถึงเรื่องฆ่าตัวตาย ก็อยากจะบอกเล่าประสบการณ์อย่างหนึ่งให้ฟัง ...
เมื่อสามเดือนก่อน มีปัญหาชีวิตบางประการ แต่อย่าให้เล่าเลย เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็นว่าเอาเรื่องส่วนตัวมาพูด ช่วงนั้นบอกตามตรงว่า สภาพจิตใจย่ำแย่ มีผลกระทบทั้งต่อหน้าที่การงานและการใช้ชีวิตประจำวันอยู่บ้าง
ถ้าถามว่าตัวเองเคยคิดจะฆ่าตัวตายไหม ...
นึกถึงสมัยมัธยมปลาย หลังเลิกเรียนเคยขึ้นไปบนอาคาร 7 ชั้นของโรงเรียน แล้วยืนเกาะระเบียงมองลงไปด้านล่างอยู่พักใหญ่ ช่วงนั้นเกิดความผิดหวังในใจเกิดขึ้นเยอะมาก เพียงแต่ไม่ได้ร้องไห้ให้เห็นเท่านั้นเอง
แต่ปรากฏว่าเกิดความคิดอยู่วูบหนึ่ง มองว่าความตายมันเจ็บปวดและน่ากลัว
จะว่าผมปอดแหกก็ได้ ...
ที่สุดแล้วเลยนึกเปลี่ยนใจ ลงจากอาคารเรียน แล้วนั่งรถสองแถวกลับบ้าน
แต่พอเราโตขึ้น เราผ่านปัญหาที่สลับซับซ้อนกว่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อาจเรียกได้ว่าเป็นมรสุมของชีวิต ค่อยๆ แก้ปัญหา ค่อยๆ ใช้ความพยายาม กระทั่งเรายังไม่รู้เลยว่า เมื่อเราโตขึ้น เราผ่านจุดนั้นมาได้ยังไง
ปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุด วิธีแก้ปัญหาของผมคือหลังเลิกงาน ก็พยายามไปหาเพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วยกันเกือบทุกวัน
จนคนในออฟฟิศโดยเฉพาะคุณดรงค์ รุ่นพี่ที่ทำงานชอบแซวอยู่เป็นประจำว่า “นัดเด็กอีกแล้วใช่ไหม?”
แต่จริงๆ แล้ว คือผมพยายามใช้เวลาอยู่กับเพื่อนให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นไปนั่งดื่มกันเป็นกลุ่มๆ หรือแม้กระทั่งมานั่งคุยปรับทุกข์เพียงแค่สอง-สามคน ที่ผ่านมาหลายคนยินดีที่จะรับฟัง บางคนที่เหมือนไม่ค่อยเต็มใจ ก็ไม่คิดจะรบกวนอีก
ผมคิดอยู่เสมอว่า การไปหาเพื่อนคือการออกไปรับพลัง ให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยวบนโลกใบนี้อยู่คนเดียว เมื่อต้องสูญเสีย หรือผิดหวังกับอะไรบางอย่างในชีวิต แล้วพอมีเพื่อนรับฟังมากๆ ก็รู้สึกดีขึ้นมาบ้าง
ทุกวันนี้อาการดีขึ้นไหม ... ผมคงตอบไม่ได้ เพราะปัญหาชีวิตทุกวันนี้ยังคงมีอยู่ แต่ก็พยายามปล่อยวางในบางเรื่อง ตามคำแนะนำของเพื่อนหลายคน เวลาที่รู้สึกขาดความมั่นใจก็พยายามติดต่อหาเพื่อน
ถึงจะรู้สึกว่าตัวเองเหมือนเป็นคนไร้ค่า แม้จะเคยชินกับสภาวะไร้ตัวตนมาตั้งแต่เกิดก็ตาม แต่ก็ไม่คิดที่จะลาออกจากความเป็นคน เพราะความตาย ความพิการ อาการเจ็บป่วย มันน่ากลัว
ได้แต่ปล่อยให้วันเวลามันผ่านไปช้าๆ พร้อมกับตั้งคำถามว่า เมื่อไหร่วันที่เป็นของเรา วันที่ปัญหาหลุดพ้นจะมาถึง ...
สุดท้าย ขออนุญาตหยิบยกคำพูดของ “พี่อ้อย นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล” ดีเจชื่อดัง ที่เคยเขียนในหนังสือ “ผู้หญิงขี้เล่า” เอาไว้เมื่อนานมาแล้ว และเห็นว่าน่าจะเข้ากับสิ่งที่เป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี ความว่า
“... ถ้าเรามีเวลาฟังกัน ฟังเถอะค่ะ
คนที่มีปัญหามากๆ บางคนไม่ได้ต้องการคนช่วยแก้ แต่อยากมีคนช่วยฟัง
อย่างที่เข้าใจว่า เรื่องเจ็บปวดของเค้า เรื่องที่ทำให้เธอร้องไห้ ไม่ได้เกิดจากการคิดมาก
ไม่มีใครอยากคิดอะไรที่ทำร้ายหัวใจตัวเอง... ”
รู้จักสังเกต... เมื่อเขาซึมเศร้า? ในช่วง 1-2 สัปดาห์ ผู้ที่เข้าข่ายจะเป็นโรคซึมเศร้า จะมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้ 1. มักจะมีความคิดไปในทางลบตลอดเวลา รู้สึก สิ้นหวังมองโลกในแง่ร้าย รู้สึกผิด รู้สึกตัวเองไร้ค่า ไม่มีความหมาย และคิดว่าไม่มีทางเยียวยาได้ จนทำให้มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง คิดถึงแต่เรื่อง ความตาย 2. มักไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความสนใจหรือความเพลินใจในสิ่งต่างๆ ลดลงอย่างมาก รู้สึก อ่อนเพลีย การทำงานช้าลง การงานแย่ลง ไม่มีสมาธิ การตัดสินใจแย่ลง 3. มักจะมีความรู้สึกซึมเศร้า กังวล อยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย 4. นอนไม่หลับ ตื่นเร็ว หรือบางรายนอนมากเกินไป บางคนเบื่ออาหารทำให้น้ำหนักลด บางคน รับประทานอาหารมากทำให้น้ำหนักเพิ่ม รวมทั้ง มีอาการทางกาย รักษาด้วยยาธรรมดาไม่หาย เช่น อาการปวดศีรษะ แน่นท้อง ปวดเรื้อรัง อาการเหล่านี้จะทำให้ทุกข์ทรมาน ทำให้การประกอบอาชีพ การเข้าสังคม หรือหน้าที่ด้านอื่นที่สำคัญบกพร่องลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการรุนแรงสามารถพบอาการหลงผิดหรือประสาทหลอนร่วมด้วยได้ ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีอาการซึมเศร้า - ต้องพยายามระมัดระวังความคิด เตือนตัวเองให้มีสติอยู่ตลอดเวลาว่า เรากำลัง ทำอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ ที่ทำให้รู้สึกไม่ดีหรือเปล่า - หากรู้ตัวว่าไม่สามารถหยุดความคิดได้ หรือยิ่งรู้สึกสิ้นหวังรุนแรงให้หาทางระบายความคิด และความรู้สึกของตัวเองออกมากับคนใกล้ชิด ที่ไว้ใจและมั่นใจว่าจะช่วยเหลือได้ - พบจิตแพทย์ ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่พบว่าเพื่อนหรือคนใกล้ชิดซึมเศร้า - อย่ามองว่าสิ่งที่เขาคิด เป็นความคิดแง่ลบที่สร้างขึ้นมาเอง มองโลกในแง่ร้ายเอง - เปิดใจ รับฟังอย่างตั้งใจ ด้วยความเข้าใจ อดทน และห่วงใย ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ ชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงตลอดจนความหวัง - ชักชวนเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม หรืองานอดิเรกที่เคยให้ความสนุกสนาน - อย่ากล่าวโทษว่าแกล้งทำ หรือ ขี้เกียจ หรือ เป็นการเรียกร้องความสนใจ ผู้ที่มีอาการซึมเศร้า สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทร.ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง หรือรีบพาพบจิตแพทย์ ขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ. (ที่มา: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข) |