เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมไปสอบ ก.พ. มาครับ ...
ไม่ใช่สอบผิดเดือน และไม่เกี่ยวกับเดือนกุมภาพันธ์
แต่เป็นการ สอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี 2558 หรือเรียกกันว่า สอบภาค ก. ของ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่เปิดสอบเป็นประจำทุกปี
ถามว่า สอบเพื่ออะไร ...
หลายคนคงตอบสั้นๆ ว่า สอบเพื่อไปเป็นข้าราชการ ซึ่งอันที่จริงเป็นเพียงด่านแรกเท่านั้น
หากสมมติสอบผ่าน ก็จะได้รับหนังสือรับรองผลการสอบภาค ก. แต่ละระดับ เพื่อนำไปใช้ในการสมัครสอบ โดยหนังสือฉบับนี้ “ใช้ได้ตลอดชีพ”
หลังจากนั้นก็จะต้องผ่านด่านต่อไป คือ การสอบภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง หรือ สอบภาค ข. โดยจะมีส่วนราชการต่างๆ ที่มีตำแหน่งว่างและต้องการรับสมัครสอบแข่งขันฯ จะต้องลงประกาศในเว็บไซต์สำนักงาน ก.พ.
เมื่อมีส่วนราชการใดรับสมัครสอบแข่งขัน ในสาขาที่ตรงกับวุฒิการศึกษาของตัวเอง ก็สามารถสมัครได้โดยใช้หนังสือรับรองผลการสอบภาค ก. ไปเป็นหลักฐานการสมัครสอบ
แล้วต่อจากนั้น ยังต้องไป สอบภาคความเหมาะสมเฉพาะตำแหน่ง หรือ สอบภาค ค. เป็นการสอบสัมภาษณ์ หากผ่านแล้วก็จะมีรายชื่อรอเรียกขึ้นบัญชีเอาไว้ โดยจะเปลี่ยนทุกๆ 2 ปี
ถามอีกว่า สอบไปทำไม ...
ถ้าโดยส่วนตัว จริงๆ มีเพื่อนที่รามคำแหงหลายคนจบปริญญาตรี ทั้งรุ่นที่แล้ว รุ่นเดียวกัน และรุ่นน้องก็ไปสมัครสอบ ก.พ. รอบนี้เอาไว้ด้วย ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือการเป็นข้าราชการ
ถ้าจะพูดสั้นๆ ว่า “สอบตามเพื่อน” ก็ไม่น่าจะผิดนัก
ใจหนึ่งบอกกับตัวเองว่า ลองดูสักตั้ง ค่าสมัครสอบแค่ร้อยเดียว (บวกธนาคารกรุงไทยชาร์จเพิ่มอีก 30 บาท) เผื่ออนาคตจะเป็นข้าราชการ
ถามว่าอยากเป็นข้าราชการไหม บอกตามตรงว่า แม้ทุกวันนี้จะยังคงสนุกกับงานในวิชาชีพสื่อมวลชน แต่เผื่อวันใดวันหนึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิต ไปยังอาชีพที่มีความมั่นคงกว่านี้ ก็มีใบรับรองภาค ก. เอาไว้
พูดง่ายๆ “เผื่อเหลือดีกว่าเผื่อขาด” ...
แต่อีกใจหนึ่ง ในช่วงกดสมัครสอบ ถามกับตัวเองว่า จะหาเรื่องให้ปวดสมองทำไม
ในเมื่อส่วนตัวมีความเชื่ออยู่เสมอว่า ตั้งแต่เด็กจนตาย เรายังต้องพบกับการแข่งขันไปตลอดชีวิต
ไหนๆ ยอมก้าวออกมาแล้ว คงไม่มีคำว่าถอยหลัง ...
สุดท้ายจึงตัดสินใจพิมพ์ใบสมัครสอบ จ่ายเงินเคาน์เตอร์ธนาคาร แล้วเดินออกมาจากธนาคารแบบงงๆ
หลังจากที่พี่ๆ เพื่อนๆ ทราบว่าผมสมัครสอบ ก.พ. ผ่านเฟซบุ๊ก ก็มีเสียงสะท้อนตามมามากมาย
บ้างก็ให้กำลังใจ บอกว่า แค่เชื่อว่าทำได้ เราก็ไปได้ครึ่งทางแล้ว
แต่ก็มีหลายคนบอกเล่าประสบการณ์ทำนองว่า สอบมาสอง-สามครั้ง สี่-ห้าครั้ง ยังไม่ผ่านสักที
บ้างก็ให้คำแนะนำเรื่องการสอบ คนที่เคยผ่านภาค ก. มาแล้วก็เคยบอกกับผมว่า บริหารเวลาให้ดี วิชาไหน ข้อไหนทำได้ทำไปก่อน โดยเฉพาะภาษาไทย เพราะหากมุ่งตั้งแต่ข้อแรกๆ ซึ่งเป็นวิชาคณิตศาสตร์จะเสียเวลามาก
ส่วนคนที่เป็นข้าราชการก็แนะนำให้ผมอ่านหนังสือสอบบ้าง และให้คำแนะนำเรื่องการสอบหลายอย่าง ที่หากจะเขียนในบทความนี้ก็คงจะเขียนไม่หมด แต่ก็ถือเป็นกำลังใจในระหว่างที่รอคอยการสอบจะมาถึง
...
การสอบ ก.พ. ภาค ก. ปีนี้ (2558) สอบกัน 2 วัน วันละ 2 รอบ ภาคเช้าตั้งแต่ 09.00-12.00 น. ภาคบ่ายตั้งแต่ 14.00-17.00 น. วันแรก 12 กรกฎาคม วันที่สอง 9 สิงหาคม รวมแล้ว 4 รอบ โดยมีจำนวนผู้สมัครสอบรวมกันทั้งประเทศ 461,886 คน
โดยเฉพาะศูนย์สอบกรุงเทพมหานคร จากจำนวนที่นั่งสอบรองรับสูงสุด 150,000 ที่นั่ง ปีนี้มีผู้สมัครสอบล้นหลามถึง 147,094 คน เฉพาะระดับปริญญาตรีมากที่สุดถึง 122,706 คน
ส่วนศูนย์สอบต่างจังหวัด มีที่นั่งสอบรองรับสูงสุดตั้งแต่ 20,000-50,000 ที่นั่ง ปรากฏว่าศูนย์สอบสงขลา มีผู้สมัครสอบมากที่สุดถึง 49,996 คน เฉพาะปริญญาตรี 40,396 คน จากจำนวนที่นั่งรองรับสูงสุด 50,000 ที่นั่ง
รองลงมาคือ ศูนย์สอบเชียงใหม่ มีผู้สมัครสอบ 45,162 คน เฉพาะปริญญาตรี 33,871 คน และศูนย์สอบอุดรธานี มีผู้สมัครสอบ 41,011 คน เฉพาะปริญญาตรี 31,103 คน จากจำนวนที่นั่งรองรับสูงสุด 50,000 ที่นั่ง
แต่ศูนย์สอบที่มีผู้สมัครสอบน้อยที่สุด คือ ฉะเชิงเทรา จังหวัดติดกรุงเทพฯ มีผู้สมัครสอบรวม 11,263 คน เฉพาะระดับปริญญาตรี 8,451 คน จากจำนวนที่นั่งรองรับสูงสุด 20,000 ที่นั่ง
เห็นตัวเลขเยอะขนาดนี้ พอถึงวันจริง แม้เวลาเดินเข้าสนามสอบจะเห็นผู้เข้าสอบ และผู้ติดตามเดินทางมาจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าถึงเวลาสอบจริง มีผู้เข้าสอบแต่ละห้อง “ไม่ถึงครึ่งห้อง“ เสียด้วยซ้ำ!
เหตุผลคงเป็นเพราะในวันสอบจริงซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ แม้จะเป็นวันหยุดราชการแต่ก็มีภารกิจ โดยเฉพาะคนที่เรียนปริญญาโทในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือคนที่มีกิจธุระส่วนตัว
บางคนก็เกิดนึกในใจกลางคันว่า “ไม่พร้อม”
อีกทั้งค่าสมัครสอบเพียงแค่ 100 บาท อาจมองว่าไม่น่าเสียดายหากไม่ได้ไปสอบ คิดเสียว่าปีหน้าค่อยไปสอบใหม่
ถ้าถามโดยส่วนตัวว่าพร้อมไหม บอกตามตรงว่า “ไม่พร้อม” อย่างยิ่ง
แม้ช่วงระยะเวลาเปิดรับสมัครสอบ กับการสอบจะทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานานพอที่จะเตรียมตัวสอบ แต่เมื่อช่วงนี้มีงานประดังเข้ามาแทบไม่ได้หยุดพัก อีกทั้งยังมีปัญหาชีวิตส่วนตัวบางประการ
ก่อนหน้าที่จะถึงวันสอบเพียง 1 วัน ก็ยังมีภารกิจไปธุระที่อุดรธานี 2 วัน 1 คืน เรียกได้ว่าหลังลงจากเครื่องไฟล์ทดึก เช้ามาก็ต้องตื่นไปสอบทันที แถมบ้านอยู่พระราม 2 แต่สนามสอบที่เค้าให้มาอยู่ไกลถึงสุขุมวิท 71 ก็เลยต้องเผื่อเวลาอีกมาก
นึกเสียดายเพื่อนๆ หลายคน พอรับปริญญาเสร็จ ก็ตั้งหน้าตั้งตาใช้เวลาวันหยุดสุดสัปดาห์ไปติว ก.พ. กันเป็นเดือนๆ บ้างก็ซื้อหนังสือ ตำรามาอ่านเป็นเล่มๆ บ้างก็ฟังคลิปบรรยายย้อนหลังอย่างตั้งใจ ต่างจากตัวเองที่อ่อนซ้อมแบบจำใจ
ช่วงหนึ่งถึงกับคิดแบบอารมณ์ชั่ววูบ ว่าจะไม่ไปสอบแล้ว
แต่กลับมีเพลงอยู่เพลงหนึ่งที่ลอยอยู่ในหู เพียงพอจะให้กำลังใจตัวเองได้บ้าง
“...แต่การแพ้ เพราะไม่เคยได้ลงแข่ง น่าเสียดาย ...”
คิดเสียว่ามาดูแนวการสอบก็แล้วกัน ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
...
6 โมงเช้าเศษ เราเดินทางจากย่านพระราม 2 ด้วยรถตู้สายอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถสองแถวสี่ล้อเล็ก มาถึงสนามสอบโรงเรียนเกษมพิทยา ซอยสุขุมวิท 71 ย่านพระโขนงในช่วง 8 โมงเช้าเศษ
บอกตามตรงว่า มาด้วยสมองกลวง พกพาความง่วงมาล้วนๆ ...
หน้าโรงเรียนเต็มไปด้วยโต๊ะขายดินสอ 2B ยางลบ กบเหลาดินสอ ปากกา ถุงซิปล็อกขนาด A4 ฯลฯ คล้ายกับการไปสอบปลายภาคของรามคำแหง ขณะที่ผู้เข้าสอบและผู้ติดตามเดินกันขวักไขว่อย่างไม่ขาดสาย
เมื่อเข้าไปในรั้วโรงเรียน แม้ผู้เข้าสอบส่วนใหญ่จะเป็นวัยทำงาน แต่เมื่อบรรยากาศแฝงไปด้วยกลิ่นอายโรงเรียน ประกอบกับเสียงตามสายสุภาพสตรีแก่ๆ ประกาศด้วยน้ำเสียงที่ราวกับดุนักเรียน
ยิ่งรู้สึกเหมือนกลับไปเป็นเด็กมัธยมอีกครั้ง
08.30 น. เป็นเวลาที่ผู้เข้าสอบทุกคนจะต้องขึ้นไปบนอาคาร ในตอนนั้นจะเรียกเฉพาะห้องสอบทีละชั้น เนื่องจากบันไดทางเข้าอาคารแคบมาก ทรัพย์สินทุกอย่างต้องใส่ในกระเป๋า และวางนอกห้องสอบเท่านั้น อนุญาตเฉพาะกระเป๋าสตางค์
ส่วนบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบที่สั่งพิมพ์จากเครื่องปริ้นเตอร์ ต้องติดรูปถ่ายขนาด 1.5 นิ้วด้วยกาว แล้วต้องนำใบนี้ไปให้ผู้ควบคุมการสอบด้วย ไม่เช่นนั้นจะหมดสิทธิ์สอบ ทราบมาว่าเคยมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อการสอบวันแรก
เมื่อผมได้นั่งเก้าอี้ไม้ สัมผัสโต๊ะไม้ที่เต็มไปด้วยรอยขีดข่วนฝีมือนักเรียน ความทรงจำสมัยเป็นนักเรียนก็กลับเข้ามาอยู่ในหัวอีกครั้ง ...
ไปพร้อมกับความง่วง ราวกับเจอวิชายากๆ และอาจารย์ผู้สอนที่สอนแบบน่าเบื่อจนแอบหลับคาโต๊ะ
การจัดสอบครั้งนี้ ดูเหมือนว่าผู้ควบคุมการสอบจะเข้มงวดพอสมควร มีการโชว์ถุงข้อสอบและกระดาษคำตอบที่ปิดผนึกอย่างดี ก่อนที่จะให้ผู้เข้าสอบหนึ่งคนลงลายมือชื่อเป็นพยาน และแจกข้อสอบแบบเป็นขั้นเป็นตอน
ข้อสอบที่ได้รับแต่ละชุดยังถูกเย็บด้วยลวดเย็บกระดาษอย่างดี ประกาศว่าห้ามแกะข้อสอบจนกว่าจะบอกว่าได้เวลาทำข้อสอบ จึงจะแกะลวดเย็บกระดาษเพื่อดูข้อสอบได้
แถมการกรอกข้อมูลถ้าไม่ใช่ฝนด้วยดินสอ 2B ต้องใช้ปากกาเท่านั้น
2 ชั่วโมงแรก เป็นการสอบวิชาความรู้ความสามารถทั่วไป ประกอบด้วยวิชาคณิตศาสตร์และภาษาไทยรวมกันในรูปแบบปรนัย มีทั้งหมด 60 ข้อ วิชาคณิตศาสตร์จะอยู่ในข้อแรกๆ ส่วนภาษาไทยจะอยู่ในข้อหลังๆ
ผมไม่รอช้า ลงมือทำวิชาภาษาไทยเป็นอย่างแรก ตามคำแนะนำของหลายๆ คน
เริ่มจากการเรียงลำดับประโยค ความรัดกุมของประโยคภาษา แต่จะเริ่มยากตรงที่ความสัมพันธ์ของโจทย์อุปมาอุปไมย ส่วนวิชาคณิตศาสตร์เห็นโจทย์แล้วแทบจะหลับคาโต๊ะ
แม้จะมีหลายคนบอกว่า คณิตศาสตร์ง่าย มาจากสมัยประถม มัธยม แต่บรรยากาศที่กดดัน ในห้องสอบมีแต่ความเงียบ ที่สุดแล้วเมื่อพาตัวเองทำข้อสอบครบทุกข้อ ต้องนั่งนิ่งๆ บางทีก็สัปหงก เนื่องจากไม่อนุญาตให้ออกจากห้องสอบได้
นึกถึงตอนเป็นนักเรียน วิชาสอบคาบบ่ายเกิดง่วงมากๆ เป็นต้องหลับคาโต๊ะเรียน
2 ชั่วโมงผ่านไป ทุกคนต้องวางดินสอ ปากกาลง ก่อนที่ผู้ควบคุมการสอบจะเก็บชุดข้อสอบแต่ละโต๊ะ ยกเว้นกระดาษคำตอบ เพื่อรอทำข้อสอบในวิชาภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ข้อที่ 61-85 อีก 25 ข้อ จึงจะจบการสอบในรอบเช้า
หลายคนเคยบอกว่าภาษาอังกฤษยาก ต้องท่องแกรมม่าแทบตาย แต่ข้อสอบ ก.พ. ที่ออกมาจะประกอบไปด้วย ประโยคสนทนา คำศัพท์ แกรมม่า ตีความจากจดหมาย และตีความจากบทความ อย่างละ 5 ข้อ ให้เวลาอีก 35 นาที
เมื่อหมดเวลาทำข้อสอบ เจ้าหน้าที่จะเก็บข้อสอบและกระดาษคำตอบทั้งหมด ก่อนปล่อยให้ผู้เข้าสอบออกจากห้องสอบทีละห้อง เนื่องจากบันไดอาคารแคบ
เป็นอันว่าการสอบ ก.พ. ภาค ก. ในวันนี้หมดไป
สิริรวมแล้ว นับตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึงเวลา 12.00 น. ใช้เวลาในการนั่งอยู่กับที่ในการสอบ ก.พ. 3 ชั่วโมงครึ่ง เทียบเท่านั่งรถประจำทางจากหมอชิตไปนครราชสีมา หรือนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปยังนครไทเปของไต้หวัน
บอกตามตรงว่าหลังออกจากข้อสอบ แทบจะหมดพลังงาน มีแต่คนแซวว่า ง่ายขนาดทำเสร็จก่อนใคร แล้วจะหลับรอหมดเวลาเลยหรือ บางคนถามว่า เจอข้อสอบถึงกับหลับเลยเหรอ
“พอได้แนว ปีหน้าลงใหม่เตรียมตัวให้พร้อม” เพื่อนที่รู้จักกันในเฟซบุ๊กคนหนึ่งบอกกับผม
...
การสอบ ก.พ. ที่ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตรอบนี้ ได้เห็นอะไรหลายอย่าง
อย่างแรก คือ ชีวิตคนเรามักจะมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะแข่งกับตัวเอง หรือแข่งกับคนอีก เราอาจจะคิดว่าชีวิตของเราแม้จะไม่ประสบความสำเร็จถึงขั้นโด่งดังมีชื่อเสียง แต่ก็สมบูรณ์แบบในวงการหนึ่ง
แต่พอหลุดไปยังอีกวงการหนึ่ง เรากลับไม่ได้เป็นคนเก่งอะไรเลย ต้องมานั่งแข่งขันกับผู้สมัครอีกนับแสนคน เพื่อให้ได้ไขว่คว้าใบเบิกทางที่จะก้าวไปสู่อาชีพที่แม้จะเงินเดือนไม่มากแบบมหาศาล แต่ก็ถูกมองว่ามีความมั่นคง เฉกเช่นข้าราชการ
ทุกวันนี้พยายามบอกตัวเองเสมองว่า “เราไม่ใช่คนเก่ง แต่เราทำได้” แล้วเราต้องแข่งขันกับตัวเองอยู่เสมอ เพราะเราเชื่อว่ายังมีคนอื่นที่เก่งกว่า เพียงแต่เขาไม่พูด หากเราพูดว่าเราเก่งจะกลายเป็นการแสดงข้อบกพร่องให้คนอื่นเห็น
อย่างต่อมา คือ บางวิชาที่เราเคยร่ำเรียนมา แล้วหลงลืมกลางทาง พอเราต้องย้อนกลับไปแบบชนิดที่ว่า “แบ็ค ทู เบสิก” เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า บางครั้งเราอาจจะไม่เห็นค่าในสิ่งที่ไม่ใช่ความสนใจ แต่พอกลับมารื้อฟื้นกันใหม่ก็ลำบากที
เฉกเช่นรุ่นพี่ที่เป็นวิศวกร แม้หน้าที่การงานจะมั่นคง แต่ถึงวันหนึ่งเมื่อมีปัญหาอธิบายลูกค้าเกี่ยวกับรูปแบบการออกแบบอาคารไม่ได้ ก็จำเป็นต้องมาเรียนศิลปะเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับงานที่ทำอยู่ คือยกตัวอย่างการออกแบบให้ลูกค้าดู
โดยส่วนตัวแม้จะเป็นคนที่เกลียดวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนภาษาอังกฤษก็คืนครูไปหมดแล้ว แต่เมื่อต้องมาเจอการทดสอบเช่นนี้ก็ต้องมารื้อฟื้นกันใหม่ ที่อาจจะไม่ได้กลับมาเหมือนเดิมได้เพียงแค่วันสองวันเท่านั้น
อย่างสุดท้าย เราได้เห็นทั้งคนรู้จัก และไม่รู้จักกัน ในสนามสอบ ก.พ. ครั้งนี้ ทำให้เรามีความเชื่อโดยส่วนตัวว่า เราไม่ได้โดดเดี่ยว แต่เรายังมีผู้ร่วมทางอีกจำนวนมากที่แต่ละคนยังต้องเดินตามหาความฝัน
27 พฤศจิกายนนี้ เป็นวันประกาศผลสอบ ก.พ. ก็ขอภาวนาว่าอยากให้ผู้ร่วมทางทุกคนสมหวัง สอบผ่านภาค ก. แล้วจะได้ไปเจอกันในภาค ข. และภาค ค. เพื่อที่จะได้ไปถึงฝั่งฝันเป็นข้าราชการ ครอบครัวจะได้สุขสบาย
แม้จะไม่ใช่ทุกคนที่สอบผ่าน แต่ก็หวังว่าคงเป็นเช่นนั้น ...
...
ตัวเลขที่น่าสนใจในการสอบ ก.พ. ปี 2558
การสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.) ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ประจำปี 2558 ในครั้งนี้ ได้จัดจำนวนที่นั่งสอบรวม 550,000 ที่นั่ง จาก 11 ศูนย์สอบทั่วประเทศ
ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 150,000 ที่นั่ง เชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี สงขลา 50,000 ที่นั่ง อุบลราชธานี นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี 40,000 ที่นั่ง ราชบุรี ชลบุรี 30,000 ที่นั่ง และ ฉะเชิงเทรา 20,000 ที่นั่ง
ผู้สมัครสอบรอบนี้ทั่วประเทศ 461,886 คน เฉพาะระดับปริญญาตรี 365,345 คน ยิ่งลงลึกไปถึงศูนย์สอบกรุงเทพมหานคร ที่จัดจำนวนที่นั่งสอบ 150,000 ที่นั่ง มีผู้สมัครสอบ 147,094 คน เฉพาะระดับปริญญาตรี สูงถึง 122,706 คน
ต่างจังหวัด ผู้สมัครสอบมากที่สุด คือ ศูนย์สอบสงขลา 4.99 หมื่นคน เฉพาะระดับปริญญาตรี 4 หมื่นคน รองลงมาคือ ศูนย์สอบเชียงใหม่ 4.5 หมื่นคน เฉพาะระดับปริญญาตรี 3.3 หมื่นคน และอันดับสาม ศูนย์สอบอุดรธานี 4.1 หมื่นคน เฉพาะระดับปริญญาตรี 3.11 หมื่นคน
ผู้สมัครสอบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 1.6 หมื่นคน ต่างจังหวัด ผู้สมัครสอบมากที่สุด คือ ศูนย์สอบเชียงใหม่ 2 พันคน รองลงมาคือ ศูนย์สอบสงขลา 1.8 พันคน และอันดับสาม ศูนย์สอบพิษณุโลก 1.6 พันคน
ผู้สมัครสอบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) อนุปริญญา และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 6.1 หมื่นคน ต่างจังหวัด ผู้สมัครสอบมากที่สุด คือ ศูนย์สอบเชียงใหม่ 7.8 พันคน รองลงมาคือ ศูนย์สอบอุดรธานี 7.5 พันคน และอันดับสาม ศูนย์สอบสงขลา 6.4 พันคน
ผู้สมัครสอบระดับปริญญาโท 1.85 หมื่นคน ต่างจังหวัด ผู้สมัครสอบมากที่สุด คือ ศูนย์สอบเชียงใหม่ 1.3 พันคน รองลงมาคือ ศูนย์สอบสงขลา 1.2 พันคน และอันดับสาม ศูนย์สอบอุดรธานี 1 พันคน
ศูนย์สอบที่มีผู้สมัครสอบน้อยที่สุด ได้แก่ ศูนย์สอบฉะเชิงเทรา 1.1 หมื่นคน เฉพาะระดับปริญญาตรี 8.4 พันคน รองลงมาคือ ศูนย์สอบชลบุรี 2.1 หมื่นคน และอันดับสาม ศูนย์สอบราชบุรี 2.2 หมื่นคน
หากคิดค่าสมัครสอบ 100 บาท และค่าธรรมเนียมธนาคาร 30 บาท สำนักงาน ก.พ. จะมีรายได้เพื่อใช้ในการจัดสอบรอบนี้ 46,188,600 บาท
และธนาคารกรุงไทย ในฐานะตัวแทนรับชำระเงิน จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมธนาคาร รวมค่าบริการทางอินเทอร์เน็ต 13,856,580 บาท.