xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยสู่หายนะ (2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

ครั้งที่แล้วได้กล่าวถึงยุคทองของการบินไทย คราวนี้มาดูยุคปัจจุบันดูว่าจุดที่ก่อให้เกิดหายนะนั้นมาได้อย่างไร

เริ่มต้นตั้งแต่บอร์ดการบินไทย

สมัยก่อนกองทัพอากาศมักจะส่งนายพลเข้ามานั่งเป็นประธาน หรือไม่ก็เป็นดีดี หรือที่เรียกว่ากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ซึ่งท่านเหล่านั้นเมื่อได้แต่งตั้งเข้ามาก็ถือว่า “ขาด” จากกองทัพและมาอยู่กับการบินไทยด้วยใจจริง ท่านเหล่านี้เป็นที่เคารพนับถือและมักจะไม่เข้ามาก้าวก่ายการบริหารแบบมืออาชีพของฝ่ายต่างๆ ส่วนบอร์ดมีมาจากส่วนราชการโดยเฉพาะกระทรวงการคลังก็เข้ามาในลักษณะกำกับดูแล ไม่ได้เข้ามาเจ้ากี้เจ้าการแทรกแซงการบริหารภายในหรือเอาแต่สรรหาที่ปรึกษาต่างชาติเข้าทำงานและรับผลประโยชน์ของสายการบินแห่งชาติซึ่งเป็นของคนไทยเหมือนอย่างทุกวันนี้

นอกจากนี้บอร์ดก็ไม่ได้แทรกแซงโดยการว่าจ้างคนนอกซึ่งเชี่ยวชาญในวิชาชีพด้านอื่นแต่ขาดความเข้าใจหรือปราศจากจิตวิญญาณของธุรกิจการบินที่จะเข้ามาบริหารในตำแหน่งระดับสูงขององค์กร เช่น นำคนนอกเข้ามาคุมฝ่ายการเงินให้เงินค่าตอบแทนเดือนละ 8 แสนบาท อีกคนหนึ่งให้มาเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลกินเงินเดือน 6 แสนบาท และยังดึงเอานาย Wayne Pearce เข้ามาเป็นที่ปรึกษาผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ด้วยเงินประจำตำแหน่ง 6 เดือน 10 ล้านบาท

ประการที่หนึ่ง ในการดึงคนนอกที่ไม่รู้เรื่องการบินเข้ามาคุมการบินไทยนั้นก็เหมือนเอาคนเก่งหมากรุก 3 คนเข้ามาอยู่ในตำแหน่งสำคัญให้มาเล่นรักบี้ หรือเทียบได้กับการซ่อมรถที่เปลี่ยนเอาอะไหล่รถยนต์ยี่ห้อหนึ่งมาใส่อีกยี่ห้อหนึ่งซึ่งไม่เข้ากัน

ประการที่สอง ทั้งคนนอกที่มาจากการแต่งตั้งของบอร์ด รวมทั้งดีดีคุณจรัมพรนั้นเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบต่อคนที่แต่งตั้งเข้ามา ดังนั้น เขาจึงมิได้ทำงานเพื่อเห็นแก่พนักงานหรือมีใจให้กับประโยชน์ของพนักงานเป็นที่ตั้ง พวกเขาจึงไม่สามารถหรือไม่อาจเป็นผู้นำองค์กรหรือผู้นำพนักงานโดยรวมได้ ทำให้บรรยากาศการทำงานของพนักงานขาดขวัญและกำลังใจ เพราะผู้บริหารสูงสุดและผู้ที่มาจากคนนอกขาดลีดเดอร์ชิพ (Leadership) และเกิดความแปลกแยกต่อพนักงาน

ประการที่สาม คนนอกที่เข้ามาดูแลเรื่องการเงินย่อมเดินตามธงของบอร์ดซึ่งให้เน้นการตัดรายจ่าย ลดต้นทุน และหาทางที่จะขายกิจการซึ่งไม่ใช่กิจการหลักด้านการบินออกไป การขายสินทรัพย์นี้บอร์ดจะเป็นผู้ชี้นำโดยอ้างว่าเพื่อเป็นการล้างหนี้

สำหรับพนักงานในสำนักงานขายต่างๆ ของการบินไทยทั่วโลกเมื่อฝ่ายการเงินของสำนักงานใหญ่มีแต่ประหยัดตัดรายจ่ายและจะปิดสำนักงานขายต่างๆ

การที่บอร์ดและฝ่ายการเงินชี้นำเช่นนี้ ฝ่ายการเงินที่อยู่กับสำนักงานขายทั่วโลกเห็นว่าสำนักงานใหญ่ไม่มีการเน้นการหารายได้หรือหวังผลกำไรจากการขายหรือหวังที่จะเห็นการขยายตลาดในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ผู้จัดการประจำสำนักงานเหล่านั้นขาดกำลังใจในการทำงาน หรือมีแรงที่จะขายบัตรโดยสารแข่งกับสายการบินอื่นเพื่อหารายได้เข้าป้อนสำนักงานใหญ่โดยปริยาย และทำให้รายได้โดยรวมของบริษัทตกต่ำ

เรื่องการปิดเที่ยวบินต่างๆ ที่บอร์ดและฝ่ายบริหารมีมติที่จะดำเนินการนั้นนับเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง

จะว่าบอร์ดไม่รู้เรื่องการบินเห็นจะไม่ได้ แต่ที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือ วิสัยทัศน์โดยรวมของบอร์ดนั้นถ้าไม่บอดจริงๆ แล้วก็มีวิสัยทัศน์ที่แคบหรือมองระดับไมโครเท่านั้น และไม่เข้าใจเรื่องการตลาดของการบินไทยอย่างแท้จริง

การที่จะเข้าใจตลาดการบินของการบินไทยนั้น อย่างแรกต้องเข้าใจในสถานะทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยด้วย

ประเทศไทยมีกรุงเทพฯ เป็นจุดศูนย์กลางการบินในภูมิภาค เราเป็นประตูไปสู่ตะวันออกไกล สู่เกาหลีญี่ปุ่น และแปซิฟิกไปสู่อเมริกา ทางตะวันตกสู่ทวีปอินเดียสู่ตะวันออกกลาง ยุโรปเหนือใต้ เป็นต้น

สายการบินมีเส้นทางบินไปทั่วโลกแบบเน็ตเวิร์ค แบ่งเป็นภูมิภาคเชื่อมโยงต่อกัน ผู้จัดการสำนักงานเมืองต่างๆ ทั่วโลกของการบินไทยจะมีผู้อำนวยการระดับภูมิภาคต่างๆ ดูแลมาประชุมตามวาระต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

การที่สายการบินไทยมีเส้นทางบินเป็นเน็ตเวิร์คเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ในโลกเข้าด้วยกัน สำนักงานขายในภูมิภาคเหล่านั้นก็มีตลาดที่จะขยายเป็นเครือข่ายตามไปด้วย

จึงเป็นไปได้ว่าออฟฟิศการบินไทยที่โรมอาจขายเส้นทางมายังกรุงเทพฯ และผ่านมาสู่บาหลีหรือจุดอื่นๆ ตามเครือข่ายด้วยได้

หรือออฟฟิศโคเปนเฮเกนจะขายกรุงเทพฯ - กระบี่ได้ด้วย เป็นการเพิ่มคุณค่าเสริมในบัตรโดยสารใบเดียวกัน

การที่บอร์ดการบินไทยกำลังหรือได้ตัดเส้นทางการบินบางเส้นทางไปแล้วก็เพราะการมองไม่เห็นเน็ตเวิร์คของการบินไทยนั่นเอง เช่น เมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว การบินไทยหยุดบินมอสโกซึ่งแม้ว่าตลาดส่วนใหญ่เป็นชาร์เตอร์ไฟลต์ แต่การบินไทยก็เคยบินตรง 3-4 เที่ยวต่อสัปดาห์ซึ่งมอสโกนั้นเป็นเหมือนประตูสู่ยุโรป และคนรัสเซียก็มีปริมาณเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก นอกนั้นมอสโกยังเป็นเสมือนเส้นทางการบินรองรับประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกอีกหลายประเทศ

เพื่อให้เห็นภาพว่าการตัดสินใจยกเลิกเส้นทางบินไปแมดริด สเปน และโรม อิตาลี นั้นจะมีผลกระทบในเครือข่ายต่ออนุทวีปอินเดีย และออสเตรเลียอย่างไรจะอธิบายดังนี้

การตัดแมดริดหรือโรมออกไปนั้น บอร์ดเห็นว่าเป็นการลดค่าใช้จ่ายทั้งค่าเชื้อเพลิงเครื่องบิน และเพราะว่าอัตราบรรทุกโดยสารต่ำกว่าเกณฑ์และเส้นทางนี้ไม่มีการพัฒนาการขายและการตลาด

แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ที่โรมนี้ขาดผู้จัดการประจำสาขามา 2 ปีแล้ว ผู้บริหารบอกว่าหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อมีผู้จัดการให้เลือกอยู่ทั่วโลกถึง 50 คน ซึ่งแต่ละคนก็มีคุณภาพและผลงานทั้งนั้น เพียงแต่ผู้บริหารเห็นด้านเดียวว่าจะตัดต้นทุนและรายจ่ายอย่างเดียว โดยไม่คำนึงว่า หากได้ผู้จัดการก็จะเพิ่มการขายและขยายตลาดได้ ยิ่งสามารถควบเส้นทางกรุงเทพฯ - โรม - แมดดริด ไปกลับ โดยใช้เครื่องบินที่เหมาะสม เช่น โบอิ้ง 777 ก็จะทำให้เส้นทางการบินนี้มีผลกำไรเป็นกอบเป็นกำได้

อนึ่ง ความจริงเรื่องการปิดเส้นทางการบินนั้น มีอยู่ว่าทั้งบอร์ดและคุณจรัมพรที่แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนให้ประชาชนรับรู้ไปนั้นอ้างเหตุผลต่างๆ หลายประการล้วนไม่ตรงต่อข้อเท็จจริง เพราะว่าเบื้องหลังคือบอร์ดและคุณจรัมพรทำตามคำแนะนำว่าจ้างของบริษัทที่ปรึกษา Bain ที่ว่าจ้างเมื่อ 23 ธันวาคม 2557 ซึ่งแนะนำให้ตัดเส้นทางการบินหลายเส้นทางและเคยเป็นข่าวในสื่อมวลชนไทยมาแล้วคือเส้นทางไปโจฮันเนสเบิร์ก มอสโก แมดริด โรม ลอสแองเจลิส และต่อไปยังแนะนำให้ปิดบริเบน โคลอมโบ (ศรีลังกา) เดนปาซา (อินโดนีเซีย) ไฮเดอราบัด เป็นต้น

บริษัท Bain นี้มีผู้บริหารของบริษัท L.E.K. ซึ่งให้คำแนะนำบางโครงการของการบินไทยจนเจ๊งไปนับพันล้านบาทมาแล้ว และ L.E.K. ปิดตัวไป หนึ่งในที่ปรึกษาของ Bain เคยทำงานกับ L.E.K. หนึ่งในนั้นเคยทำงานกับเทมาเส็กโฮลดิ้งของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์

ดังนั้น การตัดเส้นทางบินเมืองต่างๆ จึงมีพิรุธ เพราะล้วนแต่เป็นเส้นทางที่สิงคโปร์แอร์ไลน์บินอยู่ทั้งนั้น ทำให้ได้ผลประโยชน์โดยตรง

การแถลงข่าวของจรัมพรจึงเป็นการพูดแบบนกแก้วนกขุนทองตาม Bain และพูดให้สิงคโปร์แอร์ไลน์ได้ผลประโยชน์ไปโดยอัตโนมัติ

เห็นหรือยังว่าทำไมจึงไม่ตั้งผู้จัดการที่โรมแล้วเถียงว่าไม่มีคนมีคุณภาพ เป็นการพูดเท็จใช่หรือไม่ ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะปิดโรมอยู่แล้ว

ที่ปรึกษา Bain จึงเสมือนเป็นไส้ศึกหรือม้าไม้แห่งกรุงทรอยในการบินไทย เสียสตางค์ เสียรู้ และเสียค่าโง่ !

ผลกระทบจากการปิดแมดริด โรม ขยายเป็นลูกโซ่ตามเน็ตเวิร์คถึงอนุทวีปอินเดียโดยเส้นทางจากเดลฮี กัลกัตตา ดักกา กาฐมาณฑุ มุมไบ บังกลาเทศที่เชนไน ไฮเดอราบัด ฯลฯ ซึ่งจะบินจากกรุงเทพฯ ไปยังเมลเบิร์นจะได้รับผลกระทบเป็นระลอกหากเมลเบิร์นหยุดบิน ซึ่งต้นเหตุมาจากการที่โรมและแมดริดกำลังจะหยุดบิน

จะเห็นได้ว่า เน็ตเวิร์คนั้นเมื่อมีผลกระทบ ณ จุดใดจุดหนึ่งมันย่อมส่งผลกระทบเป็นเหมือนสึนามิเช่นกัน

แบบที่ว่าไว้ว่าบอร์ดนั้นมองการตลาดการบินไทยแบบไมโคร และมองด้วยทัศนะคับแคบ เพียงแต่คิดง่ายๆ เอาแค่ต้องการประหยัดเห็นว่าบินแมดดริด โรม ใช้ 747 เครื่องยนต์ 4 ตัว กินน้ำมันที่นั่งมาก คนไม่เต็ม แต่ไม่มองว่า ถ้าควบ 2 เมือง ใช้ 777 บิน เครื่องบินสองเครื่องยนต์เป็นการใช้เครื่องยนต์คุ้มค่ากว่าก็จะแก้ปัญหาได้ และยิ่งสามารถตั้งผู้จัดการที่โรมได้ก็จะช่วยให้การบริหารดีขึ้นเพิ่มรายได้

คิดแค่นี้คิดไม่ได้ หรือว่าตั้งธงเสียแล้วว่าจะหาทางตัดต้นทุนมากกว่าการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการแสวงหารายได้

แต่ไหนแต่ไรมา แผนต่างๆ ที่บอร์ดเสนอมามีแต่จะตัดค่าใช้จ่าย จะขายสินทรัพย์ จะปล่อยให้บริษัทหรือที่ปรึกษาต่างชาติเสนอโครงการให้การบินไทยใช้เงินลงทุนใช้เงินในสิ่งที่ไม่จำเป็นในยุคที่บอร์ดก็ประกาศปาวๆ ต่อสาธารณชนว่าการบินไทยเป็นหนี้นับหมื่นล้านบาท แต่กลับเห็นดีเห็นชอบจะยอมให้บริษัทต่างชาติมายุให้ใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย และไม่จำเป็นอีก 800 - 1000 ล้านบาท ดังจะกล่าวถึงในคราวต่อไป

พฤติกรรมของบอร์ดที่ตัดสินใจแบบผิดพลาดในเรื่องปิดแมดดริดและโรมกระเทือนถึงผู้โดยสารอนุทวีปที่จะไปเมลเบิร์น ที่ส่งผลให้เมลเบิร์นอาจต้องปิดและเมืองต่างๆ ในอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ปากีสถาน ที่การบินไทยบินอยู่ต้องปล่อยให้สิงคโปร์แอร์ไลน์หรือสายการบินอื่นได้ประโยชน์ไปเช่นนี้ ทำให้เราเห็นว่าการตัดสินใจของบอร์ดนั้นส่งผลเสียหายไม่เฉพาะต่อการบินไทยเท่านั้น

แต่ยังเสียหายต่อผลประโยชน์ของชาติโดยตรงด้วย ! (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น