xs
xsm
sm
md
lg

รอบหน้าระวังอย่าให้สะดุดขาตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

นับว่าเป็นการปลดล็อกที่ชาญฉลาดและทันท่วงที สำหรับชนวนเรื่องนักศึกษากลุ่มดาวดินและพวกรวมเป็น 14 คน ซึ่งทำท่าจะบานปลายและถูกขยายผล จนอาจกลายเป็นเรื่องสั่นคลอนความมั่นคงและความชอบธรรมของรัฐบาลไปได้

คงต้องยอมรับว่าการใช้ “ไม้แข็ง” กับกลุ่มผู้ต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและการปกครองของรัฐบาลปัจจุบัน ต่อแต่นี้ไปอาจจะเป็นวิธีที่ต้องคิดให้มากก่อนใช้ ไม่ใช่จะสามารถจับทุกฝ่ายทุกคนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไปขังคุกหรือดำเนินคดี ตามมาตรการที่ประกาศมาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ได้ง่ายนัก

เพราะหากไม่ประเมินแบบเข้าข้างกันเอง ต้องยอมรับว่า ที่การจับกุมกลุ่มนักศึกษา 14 คนนั้น “จุดติด” ระดับหนึ่ง และพบว่ามีแนวร่วมออกมามากมายจากฝ่ายที่เคยเป็นกลางๆ ไม่เคยต่อต้านหรือแสดงท่าทีทางการเมืองต่อการทำรัฐประหารหรือการปกครองโดย คสช.มาก่อน เช่น นักคิดนักเขียนอย่าง วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล หรือ “นิ้วกลม” นั่นก็เพราะการต่อสู้ของ “ดาวดิน” และนักศึกษากลุ่มนี้ถือว่ามีความชอบธรรมในระดับหนึ่ง

และที่สำคัญ คือมีความ “ห่างไกล” กับเครือข่ายทักษิณกับกลุ่มเสื้อแดงแกล้งตายอยู่พอสมควร

เป็นความห่างไกลในแง่ของความเชื่อมโยงในทางประวัติการทำกิจกรรม เพราะอย่างกลุ่มดาวดินนั้นชัดเจนว่า เป็นกลุ่มนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น มีบทบาทที่โดดเด่นมาตลอดแบบสืบทวนย้อนกลับได้ ไม่ใช่แค่กลุ่มที่เพิ่งฟอร์มตัวกันออกมาสร้างราคา

โดยครั้งหนึ่งเรื่องของกลุ่มดาวดินถูกแชร์อย่างชื่นชม เพื่อตำหนิกลุ่มนักศึกษาในกรุงเทพฯ ที่เอาแต่ประท้วงสร้างประเด็นทางการเมืองเสียด้วยซ้ำ

ส่วนนักศึกษากลุ่มที่ถูกจับกุมตัวที่หอศิลป์กรุงเทพนั้น แม้จะมีประวัติว่า บางคนใกล้ชิด เป็นลูกศิษย์อาจารย์ในคณะ “นิติราษฎร์” แต่หากจะกล่าวอย่างเป็นธรรม ว่าเพียงเฉพาะประวัติเท่านี้ จะเหมาว่าเป็นเครือข่ายเสื้อแดงหรือกองกำลังของระบอบทักษิณก็พูดยาก ในสายตาของคนกลางๆ

เช่นนี้การจับกุมกลุ่ม 14 นักศึกษาและประชาชนจึงนำมาซึ่งแรงกระเพื่อม อย่างที่เรียกว่า “จุดติด” ขึ้นมาบนพื้นที่ข่าวอย่างช่วยไม่ได้ จากการสำรวจอย่างไม่สุดโต่ง ทุกฝ่ายนั้นมองว่าการจับกุมและควบคุมตัวนักศึกษากลุ่มดาวดินนี้ออกจะรุนแรงเกินไป แม้แต่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจากฝ่ายตุลาการบางท่าน ก็ยังมองว่าเรื่องนี้ควรจัดการอย่างละมุนละม่อม อย่างผู้ใหญ่จัดการกับเด็ก กับลูกหลาน

การนำนักศึกษาที่เรียกว่าไม่มีประวัติร้ายแรงหรือเป็นฝ่ายระบอบทักษิณชัดแจ้งดังกล่าวขึ้นศาลทหารในข้อหาที่ไม่อุกฉกรรจ์ร้ายแรงถึงขนาดก็กลายเป็นดาบสองคม

แต่ในการนี้ ถือว่าศาลทหารทำได้ดีที่มีคำสั่งไม่รับฝากขังต่อในผลัดสอง ซึ่งนอกจากเป็นการดับไฟที่เริ่มจะมีการจุดติด และมีผู้หวังจะโหนกระแสเพื่อล้มรัฐบาลแล้ว ยังเป็นการแสดงให้สาธารณชนได้เห็นว่า “ศาลทหาร” นั้นก็ “ยุติธรรม” ไม่ต่างจากศาลยุติธรรม หาใช่ศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นมาเพื่อมุ่งห้ำหั่นประหัตประหารกันทางการเมืองไม่

ซึ่งก็นับว่าเป็นการถอดฉนวนและเป็นทางออกที่ทำให้ฝ่ายทหารและรัฐบาล “รอด” ไปได้อีกคราว ส่วนพวกหวังขึ้นรถฟรีอาศัยเกาะนักศึกษาขยายผลสร้างสถานการณ์ก็คงต้องหลบกันไปก่อน

จากนี้ไป การข่าวของทางรัฐบาลอาจจะต้องมีการทบทวนว่าจะต้องมีการทำประวัติ(Profiling) ของฝ่ายต่อต้านให้ดีขึ้น และนำมาใช้พิจารณาว่า กรณีนี้ กลุ่มนี้ หรือบุคคลนี้ จะดำเนินการอย่างไร จะใช้ความเด็ดขาดแค่ไหน หรือจะยอมปล่อยๆ ไปได้บ้าง

ต้องไม่ลืมว่า การที่รัฐบาลบริหารประเทศมาร่วมปีกว่าเช่นนี้ จะให้ไม่มีใครมีความเห็นแตกต่างออกมาส่งเสียงเลยนั้นเป็นเรื่องผิดปกติ และยิ่งถ้าทุกคนเงียบสงบ ยิ่งผิดปกติเข้าไปใหญ่

การเปิดโอกาสให้มีการส่งเสียงต่อต้านไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง หากไม่ได้เป็นไปโดยกลุ่มขั้วอำนาจเก่า หากเป็นเสียงของประชาชนกลุ่มอื่นๆ จริงๆ บ้าง อาจจะทำให้บรรยากาศดีขึ้น ทำให้การปกครองของรัฐบาลที่มาโดยวิธีพิเศษนี้ดูเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

แต่นั่นแหละ การปล่อยแค่ไหน ก็ต้องพิจารณาว่า กลุ่มที่ออกมาคัดค้านนั้นมี “ประวัติ” เกี่ยวข้องกับระบอบทักษิณหรือไม่ หรือเป็นการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระแต่อาจจะไปเข้าทางให้ฝ่ายระบอบทักษิณอาศัยเกาะรถไปด้วย

เพราะต้องยอมรับว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น ประชาชนที่เคยไม่ต่อต้าน และให้โอกาสรัฐบาลท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น เริ่มที่จะไม่ให้แต้มต่อในเรื่องโอกาส หรือเริ่มไม่มองว่าการเข้ามา “รักษาความสงบ” ไม่มีการประท้วงวุ่นวายนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เป็นภารกิจหลักแล้ว

ในขณะนี้ ทุกคนอยากเห็นรัฐบาลทำงานเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่รุมเร้า ได้แก่ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเกษตร และภัยแล้ง

ดังนั้น รัฐบาลก็ต้องระวังอย่าให้เกิดความผิดพลาดจากการสะดุดขาตัวเอง หรือระวังบางเรื่องที่อาจจะเป็นประเด็นให้คนกลางๆ นั้นไม่พอใจหรือเริ่มจะทบทวนเรื่องความชอบธรรมของการบริหารประเทศโดยรัฐบาลก็ได้

เช่นเรื่องจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่แม้จะยังไม่มีมติ ครม.ออกมาชัดเจนก็ตาม แต่สัมผัสจากเสียงตอบรับจากประชาชน คนส่วนใหญ่ก็ยังคิดว่าในขณะนี้ยังไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไรนัก เมื่อพิจารณาจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและภัยแล้ง รวมถึงการบริหารจัดการน้ำที่น่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่า

เสียงจากประชาชนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็มีทั้งเห็นว่าเรือดำน้ำนั้นไม่ควรซื้อเลย เพราะไม่เห็นว่าจะมีโอกาสใดได้ใช้ได้ รวมทั้งข้อกังขาว่าทะเลอ่าวไทยจะตื้นเกินไปสำหรับเรือดำน้ำหรือไม่ กับฝ่ายที่เห็นว่าเรือดำน้ำเป็นยุทโธปกรณ์ที่จำเป็น และเป็นเขี้ยวเล็บของกองทัพไทย ในการปกป้องผืนทะเลของไทยก็ตาม แต่ในขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการซื้อ เนื่องจากอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

หรือแม้แต่จากฝ่ายที่เห็นว่า เรือดำน้ำควรมี ควรจะซื้อตอนนี้ก็เถอะ แต่ก็ยังกังขาว่า ทำไมต้องซื้อจากจีน เนื่องจากยังไม่ค่อยเชื่อถือใน “สินค้าจีน” เมื่อเทียบกับเรือดำน้ำจากยุโรปหรืออเมริกา และความไม่มั่นใจที่เริ่มรู้สึกว่าในทุกกิจการวางโครงข่ายพื้นฐานของรัฐ มีเงาของจีนอยู่รางๆ แฝงแทบทุกโครงการ ทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูงและอื่นๆ

ดังนั้น อาจจะต้องยอมรับความจริงว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับการจัดซื้อเรือดำน้ำจีนในขณะนี้ด้วยเหตุผลที่ต่างๆ กัน

แม้หาก ครม.มีมติจะให้ซื้อเรือดำน้ำ ก็ไม่ใช่ว่าจะซื้อได้วันนี้พรุ่งนี้ แต่ก็น่าจะดีกว่า ถ้ารัฐบาลจะวางเรื่องนี้ลงชั่วคราว และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง การเกษตรและภัยแล้งให้พอเห็นผลบ้าง พอให้คนรู้สึกว่าปัญหาอื่นได้รับการเหลียวแลแก้ไขแล้ว จะหยิบยกเรื่องเรือดำน้ำนี้ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง เชื่อว่าในรอบหลังนี้ เสียงคัดค้านน่าจะเบาลงอย่างแน่นอน

และสำคัญกว่านั้นคือต้องระวังอย่าให้เรื่องเรือดำน้ำนี้มาเป็นแผลให้อีกฝ่ายเห็นช่องว่างเข้าโจมตีรัฐบาลและกองทัพได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น