xs
xsm
sm
md
lg

กระแสเห่อชุดไทยมันก็ดีอยู่หรอกนะ...

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

ช่วงเดือนที่ผ่านมามีเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างดังในสังคมออนไลน์ นั่นก็คือกรณีที่มีการแชร์ภาพของสาวประเภท ๒ คนหนึ่งใส่ชุดไทยเดินไปเที่ยวย่านสยามสแควร์ หรือขึ้นรถไฟฟ้า จนมีการสืบและทำข่าวเป็นเรื่องเป็นราว และปลุกกระแสให้คนอยากจะแต่ง นำไปสู่การนัดสวมใส่กันเข้าห้างสรรพสินค้าของชาวสังคมออนไลน์กลุ่มหนึ่ง รวมถึงร้านอาหารบางแห่งก็ได้เกาะกระแสให้ทานฟรีถ้าแต่งชุดไทย และล่าสุดกับร้านเบอร์เกอร์คิงส์ ก็ใช้วิกฤตดราม่าที่ ๒ แม่ลูกแต่งชุดไทยไปนั่งทานภายในร้านแล้วถูกอาจารย์ชาวไทยที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศวิจารณ์ว่าดัดจริตจกอาหารฝรั่ง เอามาทำเป็นโปรโมชั่นให้คนใส่ชุดไทยเข้าร้านช่วงสงกรานต์เพื่ออแลกกับเบอร์เกอร์ฟรีเสียเลย ก็ถือเป็นการตลาดที่แยบยลยิ่งนัก แต่ตรงนี้ ... แอบมีคำถามเล็กๆ ว่า ต้องไทย ๑๐๐% หรือประยุกต์บางส่วนได้ ถึงจะได้เบอร์เกอร์ฟรีนะ?

ไอ้ที่ว่ามามันก็ดีหรอกครับ กับกระแสการแต่งกายแบบไทยบูมขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งผมก็กลับกังวลว่า มันจะเป็นแค่ "ความฮิตเพียงช่วงหนึ่ง" ที่สุดท้ายก็จางไปเหลือเพียงแค่คนกลุ่มเล็กๆ ที่ยังคงทำกันเท่านั้น ...

จริงๆ แล้วเท่าที่ทราบมาทางกระทรวงวัฒนธรรมเองก็พยายามปั้นเรื่องนี้มานานแล้วเหมือนกันครับ ถ้าจำไม่ผิดก็สมัยการประชุมเอเปคยุครัฐบาล คุณทักษิณ ชินวัตร ที่ได้นำผ้าไหมไทยมาทำเป็นชุดให้ผู้นำนานาชาติใส่ ซึ่งต่อมากระทรวงเขาก็ทำกันเรื่อยๆ มาเรียงๆ เหมือนพอมีกระแส มีเทศกาลก็จุดพลุครั้งนึง อย่างปี ๒๕๕๐ นี่ก็มีการรณรงค์ให้แต่งกายเสื้อพระราชทาน จัดแสดงแฟชั่นชุดไทย ในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปี ๒๕๕๔ คณะรัฐมนตรียุครัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีมติให้ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใส่เสื้อผ้าไหมหรือผ้าไทยสัปดาห์ละ ๑ วัน ตามพระราชกระแสของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ที่ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งระหว่างเปิดอาคารที่ทำการกรมหม่อนไหม เมื่อวันที่ ๑๑ มี.ค. ต่อผู้ร่วมโต๊ะเสวย ซึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี องคมนตรี ว่า "ฝรั่งถามว่าทำไมคนไทยชอบใส่สูท ไม่ใส่เสื้อตัดเย็บแบบกระดุม 5 เม็ด ที่สวยและเหมาะสมกับสภาพอากาศของไทย ที่สามารถนำผ้าไหมหรือผ้าไทยมาตัดเย็บได้"

หรือในปี ๒๕๕๖ สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุคนั้นก็ได้ออกแบบชุดผ้าไทยประหยัดพลังงานให้รัฐมนตรีได้ใส่กันด้วย ๒ ชุด คือแบบเป็นทางการ คอเสื้อทรงพระราชทานหรือคอปกทรง และกึ่งทางการ หรือใส่สบาย อย่างที่เราเห็นกันอยู่

นั่นคือในส่วนราชการครับ ...

ว่ากันด้วยเรื่องชุดไทย (บางกอก) ถ้าย้อนไปดูกันแล้วมันก็มีให้เลือกใส่ได้เยอะจริงๆ เอาแค่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไปยันสมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงรัชกาลที่ ๗ นี่ก็ถูกดัดแปลงจากเดิมมาประยุกต์ผสมกับสไตล์ตะวันตกให้ดูเก๋ และมาสมัยรัชกาลปัจจุบันเอง สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ ก็ทรงพระราชทานชุด "ไทยพระราชนิยม” ของสตรีเมื่อปี ๒๕๐๓ ทั้ง ๘ ชุด คือ ไทยเรือนต้น ,ไทยจิตรลดา ,ไทยอมรินทร์ ,ไทยบรมพิมาน ,ไทยจักรี ,ไทยดุสิต ,ไทยจักรพรรดิ และ ไทยศิวาลัย ส่วนของผู้ชายหลังจากยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีความพยายามหาเสื้อประจำชาติกันหลายแบบ จนสุดท้ายมาลงตัวเมื่อปี ๒๕๒๒ โดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ได้นำเทรนด์เสื้อพระราชทานเป็นชุดประจำชาติ หลังจากที่กราบบังคมทูลขอสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ เนื่องจากความกระอักกระอ่วนใจจากการที่ไม่มีเสื้อประจำชาติทั้งๆ ที่เป็นชาติเก่าแก่ สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ ทรงพระราชทาน ฉลองพระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ใช้เป็นประจำ พร้อมทั้งพระราชทานแบบเสื้อให้ จนนำไปใช้เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน

หรือภาคส่วนต่างๆ ก็เคยพยายามนำเครื่องแต่งกายที่แสดงออกถึงความเป็นไทยมาประยุกต์ อย่างเช่นประเพณี “สงกรานต์เมษา ผ้าขาวม้าครองโลก” ที่สยามสแควร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงวัฒนธรรม,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ มาตั้งแต่เมื่อ ๓ ปีก่อน ก็ได้ใช้ผ้าขาวม้ามารณรงค์ ทั้งโชว์สินค้า ผลิตภัณฑ์ และใช้เป็นบัตรผ่านประตูเข้าไปเล่นน้ำบนซอยสยามสแควร์ (แค่ปี ๒๕๕๖ ปีต่อมาก็ไม่ได้มีการบังคับเรื่องนี้) รวมทั้งกรณีที่ ดาราบางคนนุ่งโจงกระเบนไปออกงานเปิดตัวภาพยนต์ในต่างประเทศ แต่ก็แค่นั้นไง ... มันก็ผ่านไปตามสายลม

ผมเคยตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมคนเมืองอย่างเราไม่มีวันที่แต่งชุดชนเผ่าบ้างเลยนะ ... เมื่อหลายปีก่อนผมเคยไปเชียงใหม่แล้วประทับใจมาก ที่ได้เห็นเด็กๆ มัธยมต่างแต่งชุดประจำเผ่ามาโรงเรียนทุกวันศุกร์ เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของถิ่นตน แต่ในเมืองกรุงกลับไม่มีเช่นนี้ มองอีกมุมก็ดีที่ไม่ต้องเพิ่มภาระซื้อเสื้อผ้าใหม่แก่ครอบครัว เพราะคนเมืองเราไม่ได้มีชุดประจำเผ่า ... จะว่าไปมันอาจเป็นปัญหาจากจุดเริ่มสมัยจอมพล ป. แล้วกระมัง ที่สั่งให้คนเมืองเลิกนุ่งผ้าถุง โจงกระเบน แล้วให้สวมเสื้อ กางเกง แบบฝรั่งเขา จนทำให้อัตลักษณ์นี้ หายสาบสูญไป ในขณะที่เพื่อนบ้านเราอย่างเขมร ในราชการก็ยังคงใส่อยู่ พม่า ก็ยังคงนุ่งผ้านุ่ง โพกหัว ส่วนลาวแม่หญิงก็ต่างยังคงนุ่งซิ่นแทนกระโปรงแบบตะวันตก ...

พอนำมาใส่จึงดูตลก ขบขัน และน่าหมั่นไส้ ในสายตาบางคน อย่างเช่นที่ผมเคยพบเมื่อครั้งที่เริ่มนุ่งโจงกระเบนไปไหนมาไหนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ เพราะเราไม่เคยชินกับมันมาช้านานนั่นเอง ...

กลับกัน ณ เวลานี้ ผมเชื่อว่า มีคนอยากที่จะ "ลองใส่ในชีวิตประจำวัน” เยอะแยะ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เมื่อไหร่ ผมก็สงสัย ทำไมกระทรวงวัฒนธรรมไม่ลองคิดหาวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่นัด “รณรงค์ให้ใส่ชุดไทย” (ไม่ใช่บังคับ) เช่น วิสาขบูชา แต่งชุดไทย ชุดเผ่าพื้นเมืองตามท้องถิ่น เหนือ อีสาน ใต้ เข้าวัด ถ้าไม่ใช่พุทธศาสนิกชนก็อาจจะไปเดินห้างหรืออื่นๆ เป็นวันชุดประจำถิ่นไปในตัวก็น่าสนใจ แล้วค่อยๆ เขยิบเป็นทุกวันพระ หรือ วันอาทิตย์เข้าโบสถ์ของชาวคริสต์ หรืออื่นๆ ก็แล้วแต่ความเหมาะสม ทำมันสัก ๑๐ ปี เดี๋ยวก็ชินเอง

แต่ไม่เอาสงกรานต์นะ โดนแป้งนี่ ซักกันสนุกเลย หรือถ้าเกิดบางคนใส่ชุดบางๆ มาเปียกทีนี่เซ็กซี่แบบไม่ทันตั้งตัวแน่ๆ ...

และส่วนตัวผมเห็นว่า มันไม่จำเป็นที่จะต้องยึดติดกับความดั่งเดิมให้มากนักก็ได้ เราสามารถประยุกต์ให้เข้ากับสไตล์ที่ของตนเองได้ตามยุคสมัย ให้มันสะดวกสบายตนเอง เหมือนที่ผมใส่ก็ไม่ได้เป็นไทยเสียทั้งหมด ... ผมก็ใส่เสื้อยืด หรือเชิ้ต แบบปกติ แต่แค่นุ่งโจงกระเบนเป็นกางเกงแค่นั้น ... และจุดประสงค์ที่แท้จริงของผมที่ใส่ ไม่ได้เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์ แต่เพื่อสนองความต้องการของตนเองเท่านั้น ...

ไหนๆ ก็เล่ากันแบบไม่ต้องแอ๊บเลยแล้วกันครับ .. เรื่องมันมีอยู่ว่า ผมสงสัยว่า เฮ้ย คนสมัยก่อนเขานุ่งโจงกระเบนยังไง แล้วใส่ไปไหนมาไหนมันจะสะดวกหรือไม่ เข้าห้องน้ำยังไง นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมทดลอง และก็ได้รู้ว่ามันไม่ง่ายเลยกับผ้าโทเร ๑ ผืน ยาว ๓ เมตรกว่าๆ ปั้นให้เป็นกางเกง ๑ ตัว ในทริปแรกๆ หลุดตลอด ชายโจงไม่สม่ำเสมอ หางหลุด จนต้องหาเชือกมาผูกไว้ ยิ่งตอนเข้าห้องน้ำนี่ไม่ต้องพูดถึง ถอดยกเซ็ตแล้วพันใหม่ พอใส่ไปๆ มาๆ หลายแห่งก็เริ่มจะชิน เริ่มเข้าใจชีวิตคนสมัยก่อนมากขึ้น ก็เลยใส่ตลอดจนกลายเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของเราเวลาไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือ ต่างประเทศ

ซึ่งมันก็แลกกับการต้องถูกมองอย่างเย้ยหยันจากคนไทยบางคน ก็ช่างหัวเขาครับ เราชอบของเรา ... ไม่ได้ทำผิดกฏหมาย ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน

อย่างที่บ้านเจ้าพระยา นี่ก็มีป้าหญิง อัมพา สันติเมทนีดล พิธีกรอาวุโสของช่องนิวส์วัน ที่แต่งกายด้วยผ้าไทย นุ่งผ้าถุงมาทำงานออกรายการจนเป็นเอกลักษณ์ก็น่าเอาเป็นแบบได้ หรือ ตอนนี้ถ้าใครสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการแต่งกายแบบไทยๆ ก็ลองแอดไปที่กรุ๊ปเฟซบุ๊ก "แต่งไทยสไบงาม...สยามภูษานิยม" ได้ครับ ผมเห็นหลายคนเขาแต่งทั้งตามแบบมาตรฐานและรูปแบบประยุกต์กันมากมาย จนน่าดีใจที่คนไทยหันมาแต่งกันมากขึ้น

และหวังให้มันไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ แต่เป็นความอยากใส่ของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นๆ โดยไม่มีการบังคับจากราชการ

แม้ที่ผมพูดมาอาจจะเป็นไปได้ยากสักหน่อยก็ตาม ...

ที่มา
- ข้อมูลเรื่องการแต่งกายแบบไทยในยุคต่างๆ : http://www.baanjomyut.com/library_2/history_of_costume/02_6.html ,http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK15/chapter5/t15-5-l2.htm#sect3
- ภาพ ชุดไทยพระราชนิยม : http://www.portfolios.net/profiles/blogs/vs
- ข่าวที่เกี่ยวข้อง http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000069362
กำลังโหลดความคิดเห็น