xs
xsm
sm
md
lg

เราเสียเวลากับเฟซบุ๊กไปมากเท่าไหร่?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


วันหนึ่งผมมีปัญหาชีวิตบางประการที่เกิดขึ้นในเฟซบุ๊ก จึงตัดสินใจระงับบัญชี (Deactivate Account) ไปสักพักหนึ่ง ระหว่างนั้นผมลองดาวน์โหลดข้อมูลเฟซบุ๊ก (Facebook Data) โดยการส่งคำร้องขอไป ไม่นานนักทางเฟซบุ๊กได้แจ้งทางอีเมลว่า ได้รวบรวมไฟล์ออกมาให้ดาวน์โหลดแล้ว ให้เรากลับเข้าสู่ระบบเพื่อดาวน์โหลดในรูปแบบของซิปไฟล์

ผมลองกดดาวน์โหลดดูแล้ว ปรากฏว่าเป็นไฟล์ที่มีชื่อว่า facebook ตามด้วยชื่อ URL ของเรา หรือรหัสผู้ใช้ เป็นไฟล์สกุล .zip (Facebook-username.zip) เฉพาะของผมมีน้ำหนัก 400 เมกะไบต์ พอแตกไฟล์ออกมาแล้ว จะมีน้ำหนักรวมกันทั้งโฟลเดอร์เป็น 468 เมกะไบต์ โดยเป็นไฟล์สกุล HTML โฟลเดอร์ไฟล์รูปภาพ และวีดีโอทั้งหมด

เปรียบเทียบได้ว่า คุณเสียเวลากับเฟซบุ๊กมาทั้งชีวิตเท่าไหร่ ก็ให้ดูน้ำหนักซิปไฟล์ที่ดาวน์โหลดมาจาก Facebook Data ถึงจะรู้คำตอบ

เพราะมันจะหนักไปที่ภาพและวีดีโอคลิปที่เราอัปโหลดเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำ แต่ความละเอียดของภาพและวีดีโอก็ดรอปลงไปตามการจัดเก็บข้อมูลและแสดงผลของเฟซบุ๊ก

ผมใช้เฟซบุ๊กมานานเกือบ 7 ปีแล้ว ยอมรับว่าในนั้นมีความทรงจำตั้งเยอะ โดยเฉพาะไฟล์ index.htm ที่รวบรวมทั้งข้อมูลโปร์ไฟล์ที่เรากรอก ภาพ วีดีโอ เพื่อนที่ยังอยู่ คนที่เราขอเป็นเพื่อน คนที่ขอเป็นเพื่อนกับเรา คนที่ออกจากความเป็นเพื่อน (ไม่ได้ระบุว่าเราอันเฟรนด์เอง หรือถูกอีกฝ่ายอันเฟรนด์) และผู้ติดตาม

ผมนั่งอ่านสเตตัสในอดีตแบบยาวๆ ก็รู้สึกหลายอารมณ์ไปในเวลาเดียวกัน ทั้งเรื่องราวดีๆ ความประทับใจ ความตลกขบขันกับความคิดในช่วงที่ยังเป็นวัยรุ่น พอมามองย้อนดูอีกทีก็รู้สึกตลก หรือบางทีก็ทุเรศตัวเองเหมือนกัน แต่บางทีก็นึกถึงเรื่องราวในอดีตที่ไม่มีวันหวนกลับมา เรื่องราวที่มีความแค้นในใจ หรือเรื่องราวที่อยากจะลืมไปให้หมด

แต่เมื่อทุกสิ่งทุกอย่าง ได้ถูกเฟซบุ๊กบันทึกเอาไว้หมดแล้ว อาจเรียกได้ว่า ในชีวิตจริงอดีตเป็นสิ่งที่ลบออกจากสมองไม่ได้ฉันใด เฟซบุ๊กก็ทำหน้าที่บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตที่ผ่านมาเอาไว้เช่นกัน จะเป็นความดีงามหรือตราบาป ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราพิมพ์ออกไปว่าจะกลายเป็นการประจานตัวเองหรือไม่

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ รายชื่อเพื่อน มีทั้งคนที่ยังเป็นเพื่อน (ในเฟซบุ๊ก) กับเรา, คนที่เราส่งคำขอเป็นเพื่อน แต่ยังไม่ตอบรับ, คนที่ส่งคำขอเป็นเพื่อนกับเรา แต่เรายังไม่ตอบรับเป็นเพื่อน ก็ยังมีบันทึกไว้ รวมทั้งผู้ติดตาม แต่สิ่งที่ผมเชื่อว่าน่าปวดใจเมื่อได้พบเห็นก็คือ รายชื่อเพื่อนที่เอาออกไปแล้ว ไม่ได้ระบุว่าเราอันเฟรนด์เอง หรือถูกอีกฝ่ายอันเฟรนด์

เป็นเรื่องปกติที่คนเราเมื่อมีพบกัน ก็ต้องมีการจากลา แม้จะเป็นเรื่องที่ฝืนความรู้สึกตัวเราเอง หรือผู้อื่นจะมองว่าเป็นการทำร้ายจิตใจก็ตาม การอันเฟรนด์ถือเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนที่สุดว่า “เราไม่ต้องการคุณเป็นเพื่อนแล้ว” แม้ว่าในชีวิตจริง ถ้าไม่เกลียดกันถึงขั้นประกาศไม่เผาผี ก็มักที่จะหลบเลี่ยงหนีไป ไม่เดินผ่านไปให้เห็นหน้า หรือต่างคนต่างอยู่

นึกถึงคำพูดของ รุ่งมณี เมฆโสภณ ในช่วงที่ผมไปสัมภาษณ์เพื่อตีพิมพ์ลงในวารสารฉบับเล็กๆ ที่ทำร่วมกับเพื่อน มีอยู่คำพูดหนึ่งที่เป็นเครื่องเตือนสติให้กับผมมาทุกวันนี้

เธอกล่าวว่า “มนุษย์มันเปลี่ยนแปลงได้ อย่าไปฟูมฟายกับมัน เมื่อมันเปลี่ยนก็เปลี่ยน แต่ต้องยอมรับว่ามันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง”



ที่ผ่านมาเคยมีงานวิจัยโดยนักศึกษาปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การอันเฟรนด์ในเฟซบุ๊ก ประกอบด้วย โพสต์เรื่องไร้สาระบ่อยเกินไป, วิพากษ์วิจารณ์เรื่องศาสนา หรือการเมืองอย่างรุนแรง, มักจะชอบโพสต์เรื่องที่ไม่เหมาะสม ในด้านเพศ หรือการเหยียดสีผิว และ เบื่อการโพสต์เรื่องในชีวิตประจำวัน อย่างเรื่องลูก คู่สมรส หรืออาหาร เป็นต้น

คริสโตเฟอร์ ไซโบนา นักศึกษาปริญญาเอกที่วิจัยเรื่องดังกล่าว ระบุว่า มีผู้คนราว 40% บอกว่าพวกเขาจะหลีกเลี่ยงการพบปะพูดคุยกับคนที่อันเฟรนด์เราในเฟซบุ๊ก ผู้คนชอบคิดว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเรื่องสนุก แต่ความจริงแล้วสิ่งที่คุณทำบนโลกออนไลน์มันสามารถเกิดผลกระทบตามมาบนโลกแห่งความเป็นจริงได้

เพราะผลกระทบที่เกิดกับผู้ที่ถูกเพื่อนอันเฟรนด์ คือการเคารพในตัวเองน้อยลง ความรู้สึกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง และสูญเสียการควบคุมไป ที่สำคัญคือ คนคนนั้นจะรู้สึกอารมณ์เสียอย่างมากหลังจากถูกเพื่อนอันเฟรนด์ แม้บางคนอันเฟรนด์ด้วยเหตุผลที่ว่าหลีกเลี่ยงการปะทะกับคนที่มีความเห็นไม่ตรงกัน บางคนยังเชื่อว่าในโลกความจริงยังคุยกันได้

คำถามน่าสนใจคือ ระหว่างโลกออนไลน์ กับโลกความจริง จะมีสักกี่คนที่แยกแยะออกได้โดยปราศจากอคติ

รายงานการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับเฟซบุ๊กที่น่าสนใจ มาจากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก เนเปียร์ พบว่าเฟซบุ๊กเป็นสิ่งที่ทำให้คนเราเครียดและวิตกกังวลมากขึ้น โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กมักจะซ่อนความเครียดและความกระวนกระวายจากการถูกปฏิบัติจากเพื่อนและบุคคลอื่นในเฟซบุ๊ก เช่น การถูกปฏิเสธ วิตกกังวล อิจฉาต่อการใช้ชีวิตของคนอื่น เป็นต้น

ธาม เชื้อสถาปณศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) เคยเขียนถึงเรื่องของอาการที่เรียกว่า “เฟซบุ๊ก ดีเปรสชั่น” (Facebook Depression) หรือสภาวะซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ค อ้างอิงจากงานวิจัยว่า สาเหตุหลักมาจากการที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กได้บิดเบือนความเป็นจริงของโลก อาจทำให้เด็กวัยรุ่นติดและหลงใหลในเนื้อหาเหตุการณ์รอบข้างต่างๆ

ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กได้สร้าง ความเป็นจริงเทียม (artificial reality) ที่ผู้ใช้มักจะโพสต์แต่เรื่องด้านดีด้านเดียวของชีวิต หลบซ่อนเรื่องราวร้ายๆ แย่ๆ ของตนเอง อะไรก็ตามที่พวกเขาอยากปกปิดหรืออยากสร้างภาพ ผลที่ตามมา ผู้ชมจะเห็นแต่ภาพชีวิตที่มีความสุขและสมบูรณ์แบบ กลายเป็นความรู้สึกเปรียบเทียบกับชีวิตตนว่า ตนเองไร้ค่าและไม่ดีพอ

ผู้คนมักรู้สึกต่อปฏิกิริยาเชิงลบในเฟซบุ๊คมากกว่าโลกจริง สิ่งที่ตามมาคือพวกเขาจะซึมเศร้า มีความกังวลและมีความเสียใจ หลายคนใช้เวลาไปมากกับการเฝ้าดู เฝ้ามองชีวิตของคนอื่น และเกิดสภาวะซึมเศร้าจากการเปรียบเทียบกับชีวิตของตนเอง มีปัญหาสุขภาพจิตในระดับลึก และมีแนวโน้มทีจะฆ่าตัวตายได้



พูดถึงงานวิจัยของเฟซบุ๊กที่หยิบยกเป็นตัวอย่างมาพอสมควรแล้ว ผมเชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกอึดอัดกับเฟซบุ๊ก เพราะระยะหลังๆ เรามักจะพบกับเรื่องไม่เป็นเรื่องถูกแชร์และส่งต่อผ่านหน้าวอลล์ของเรามากขึ้น แทนที่เราจะได้รู้ว่าเพื่อนของเราในตอนนี้เป็นตายร้ายดียังไง ก็กลายเป็นว่าต้องมานั่งอ่านในสิ่งที่เราเห็นว่ามันไกลตัว และไม่ต้องการเห็น

วิธีแก้ปัญหาของคนที่เบื่อเฟซบุ๊กแตกต่างกันไป บ้างก็ยอมปล่อยบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเองร้างแล้วเปิดใหม่อีกบัญชี บ้างก็แยกออกเป็นสองบัญชี บัญชีหนึ่งเปิดกว้างสำหรับคนที่มีความสนใจเหมือนกัน อีกบัญชีหนึ่งสงวนไว้สำหรับเพื่อนหรือคนสนิท ที่เราสามารถโพสต์เรื่องราวส่วนตัวสารทุกข์สุกดิบได้โดยไม่กลายเป็นการประจานออกสู่สาธารณะ

แต่ถึงกระนั้น แม้ความลับจะไม่มีในโลกฉันใด สิ่งที่เราโพสต์ออกไปหากถูกจับภาพหน้าจอก็ไม่เป็นความลับเฉพาะเพื่อนอีกต่อไปแล้ว

แน่นอนว่าย่อมส่งผลด้านลบต่อตัวเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกับบุคคลสาธารณะ หรือบุคคลกึ่งสาธารณะ ที่แม้ในใจเราจะไม่อยากดัง แต่ก็มีผู้ติดตามแนวคิดของเราจำนวนมาก

ถึงได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ควรนำมาโพสต์ในเฟซบุ๊ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เช่น โพสต์ภาพเสพยาเสพติด ถืออาวุธแล้วข่มขู่จะทำร้าย หรือจะเป็นความเชื่อทางการเมือง ชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนา และภูมิลำเนา ที่มักจะมีการวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) แม้จะอ้างสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพก็ตาม

หรือจะเป็นเรื่องราวในที่ทำงาน ถ้าเราไม่มีเจ้านายหรือฝ่ายบุคคลเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กก็ดีไป แต่จะแน่ใจได้หรือว่าเพื่อนร่วมงานของเราจะสนิทใจพอที่จะเปิดเผยเรื่องราวได้โดยไม่ถูกนินทาลับหลัง เคยได้ยินคนที่ทำงานวิชาชีพเดียวกันกล่าวไว้ว่า ไม่ควรกล่าวถึงปัญหาในการทำงาน เพราะจะทำให้เราถูกมองว่าไม่มีความเป็นมืออาชีพ

แม้กระทั่งเรื่องละเอียดอ่อนในที่ทำงาน อย่างเช่น เงินเดือนหรือโบนัสที่ได้รับมากน้อยแค่ไหน ลับหลังก็มีคนนินทาแล้วอิจฉา การวิจารณ์บริษัทที่เราทำงานอยู่ แม้เพื่อความเป็นธรรมก็ตาม การบ่นว่าไม่ชอบงานที่ทำ หรือพฤติกรรมที่แสดงออกนอกที่ทำงาน เช่น กำลังดื่มสุรากับเพื่อนฝูง แม้บางคนจะมองว่าปกติ แต่บางคนก็มองไปถึงความน่าเชื่อถือก็มี

อีกเรื่องหนึ่งที่กลายเป็นเรื่องดราม่า คือ การโพสต์เฟซบุ๊กว่าจะเปลี่ยนงานใหม่ แน่นอนว่าทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกไม่ดีแน่ๆ คนที่อยู่เหนือกว่าอย่างเจ้านายหรือหัวหน้าฝ่าย อาจมองว่าเราเป็นคนที่ไร้ประโยชน์ต่อองค์กรไปโดยปริยาย หรือคนที่เป็นลูกน้องอาจมองว่า อุตส่าห์ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน อยู่ๆ จะหนีหน้ากันไปแล้วหรือ

ประโยคในอดีตที่มักจะสอนผู้อื่นว่า “คิดก่อนพูด แต่ไม่จำเป็นต้องพูดทุกเรื่องที่คิด” สามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับการโพสต์เฟซบุ๊กในชีวิตประจำวันของเราได้ เพราะพอเอาเข้าจริงคนอื่นก็ไม่ได้อยากรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเรามากมาย เกินกว่าที่จะรับรู้ว่า เรายังสบายดีและมีชีวิตอยู่ หนำซ้ำหากอวดความมั่งมี จะกลายเป็นว่าผู้อื่นเห็นแล้วอิจฉาและหมั่นไส้เอาได้



ผมสังเกตว่าระยะหลังคนที่ใช้เฟซบุ๊กมักจะนิยมทำกัน คือ การระงับบัญชีเฟซบุ๊ก (Deactivate Account) ด้วยเหตุผลส่วนตัว วันก่อนในเวลาที่รู้สึกว่าชีวิตตัวเองแย่ๆ ลองระงับเฟซบุ๊กที่มีคนติดตามราว 2-3 พันคนชั่วคราวไปก่อน ปรากฏว่าวันแรกๆ รู้สึกโดดเดี่ยว

ต่อมารู้สึกสงบอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ต้องรับรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเราและผู้อื่น

การระงับบัญชีเฟซบุ๊กชั่วคราว อาจมีเหตุผลสารพัด บ้างก็เพราะเบื่อที่จะต้องมานั่งระบายเรื่องแย่ๆ ในชีวิตเราให้ผู้อื่นฟัง บ้างก็เพราะไม่มีเวลาใช้งาน ติดภารกิจ ต้องอ่านหนังสือสอบ ต้องปิดโปรเจ็กต์ ปิดงบ บ้างก็เพราะรู้ตัวว่าสิ่งที่เราเห็นว่าเป็นส่วนตัวเริ่มไม่เป็นส่วนตัว บ้างก็เพราะไม่ได้เข้าเฟซบุ๊กนี้แล้ว แต่ไม่อยากให้ข้อมูลหายไปจากระบบ ฯลฯ

ช่วงเวลาที่เราห่างหายไปจากเฟซบุ๊ก เราสามารถเปลี่ยนชีวิตจากการก้มหน้าดูสิ่งที่เราถูกยัดเยียดมาทางนิวส์ฟีด มาเป็นการให้เวลาในสิ่งที่เราตั้งใจที่จะสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ให้เวลากับการออกไปค้นหาแรงบันดาลใจในสิ่งที่เราอยากทำ เพื่อนค้นหาตัวตนที่แท้จริงของชีวิต ในช่วงเวลาที่เรารู้สึกเบื่อเฟซบุ๊ก เบื่อโลกโซเชียลที่เคลื่อนไหวอย่างไม่มีหยุด

เราอาจจะลองอยู่เงียบๆ นั่งเหงาคนเดียวบ้าง หรือหาสิ่งรอบข้างง่ายๆ จะจัดห้อง จะนั่งคุยกันกับครอบครัว หรือกับเพื่อนที่มีตัวตนจริงๆ จะเล่นกับสัตว์เลี้ยงที่บ้าน ทำอาหารกินเอง วาดรูป เย็บปักถักร้อย หรือจะออกนอกบ้าน แบกเป้สักใบพร้อมกับกล้องถ่ายรูปหรือมือถือใช้ถ่ายรูปสักเครื่อง ออกไปเที่ยวต่างจังหวัดที่ไม่เคยไป ฯลฯ

ความแตกต่างระหว่างเปิดเฟซบุ๊กทิ้งไว้แล้วไม่อัปเดต กับการระงับบัญชีเฟซบุ๊ก คือ ถ้าสมมติเรายังคงพกสมาร์ทโฟนต่อไป ในช่วงว่างๆ ไม่มีอะไรทำเราก็ยังคงเปิดเฟซบุ๊กอ่านเรื่องราวปวดหัวบนนิวส์ฟีดอยู่ดี เทียบกับการระงับบัญชีชั่วคราว คือการตัดขาดจากโลกภายนอกแบบหักดิบไปเลยเพื่อหาความสงบส่วนตัว

ผมนึกถึงเวลาที่เราฟังรายการวิทยุคลับไฟร์เดย์ พี่อ้อย พี่ฉอด มักจะกล่าวบ่อยครั้งว่า “เราทุกคนมีกันอยู่ 3 โลก โลกส่วนตัว โลกส่วนเรา และโลกส่วนรวม ในที่สุดอย่าให้โลกใบไหนใหญ่เกินไปจนเบียดพื้นที่อีก 2 โลกจนอึดอัด”

ผมคิดว่าโลกโซเชียลคือโลกส่วนรวมที่ทุกคนจะได้รับรู้เรื่องที่เราอยากจะบอก แต่ก็คงไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องบอกทุกเรื่อง ลองให้เวลากับตัวเอง คนรอบข้าง และโลกใบนี้ ด้วยการเว้นวรรคเฟซบุ๊กสักวันหนึ่ง แม้จะไม่ทำให้มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กถึงกับตรอมใจตาย แต่ก็เปิดพื้นที่ชีวิตของเราให้ใกล้ชิดกับความเป็นจริงของโลกมากขึ้น

เพราะโลกเสมือนไม่ใช่ความจริงที่แท้จริงของชีวิตเสมอไป แต่ความจริงของชีวิต คือ ทำอย่างไรถึงจะให้รู้สึกว่าชีวิตเราเองมีคุณค่ามากพอที่จะยืนหยัดอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างสบายใจ ทำอะไรก็ได้อย่างที่เราอยากจะทำ โดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน แค่นั้นพอ.


กำลังโหลดความคิดเห็น