xs
xsm
sm
md
lg

ระเบิดเวลาปรอทแตก

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

การเมืองในช่วงนี้ร้อนขึ้นมากะทันหัน ตัวชี้วัดที่ดีที่สุดคือท่านนายกฯ ที่เป็นเหมือนปรอททางการเมือง

แถมเป็นปรอทที่ “ขึ้นเร็ว – แตกง่าย” มากๆ เสียด้วย

จากที่เมื่อวาน ท่านได้ปรี๊ดออกสื่ออย่างชัดเจน เรียกว่าโดนจวกกันเป็นรายๆ ไป

นับตั้งแต่ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย ที่นำเสนอรายงานข่าวเรื่องการใช้แรงงานทาสและกักขังคนงานเรือประมงไว้ในเกาะที่อินโดนีเซีย โดยท่านนายกฯ มองว่าอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์เรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการขายปลาจำนวนกว่าสองแสนล้านตันให้สหภาพยุโรป

สุดท้ายถึงกับสั่งให้มารายงานตัวกับทางเจ้าหน้าที่

จากนั้นก็ยังส่งสัญญาณแสดงความไม่พอใจถึงกับขึ้น “มึง” เอากับสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง ออกชื่อมาสองเจ้า คือผู้จัดการและมติชน

บรรยากาศในการให้สัมภาษณ์นั้นไม่ได้ขำๆ สนุกๆ พูดจาหยอกล้อกันเหมือนเคย เพราะถึงขนาดที่วาสนา นาน่วม รายงานผ่าน facebook ของเธอว่า “อภิมหา ปรี๊ดดดดด....” และท่านนายกฯ “...ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางเยือนบรูไนด้วยสีหน้าเคร่งเครียดและแสดงอารมณ์โกรธและโมโหตลอดระยะเวลาการให้สัมภาษณ์ รวมทั้งได้มีการเตรียมเอกสารเพื่อชี้แจงกับผู้สื่อข่าวโดยเฉพาะ ถือเป็นครั้งแรกที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชามีอารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรงถึงขนาดบางช่วงเสียงสั่น และมีการโยนเอกสารใส่ผู้สื่อข่าว...”

และจากนี้เราคงได้เห็นหัวข่าว “บิ๊กตู่ยัวะ...ฯลฯ...” กันอีกบ่อยๆ เนื่องจากสารพัดปัญหาเริ่มเข้ามารุมเร้าประจวบเหมาะกัน

เริ่มจากปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจตอนนี้ที่ต้องยอมรับว่าแย่ กำลังซื้อหดหาย การใช้จ่ายของทางภาครัฐเป็นไปได้ไม่ตามเป้า การเก็บภาษีก็เริ่มมีปัญหาไม่เข้าเป้าอีกเช่นกัน จนถึงกับมีการดำริจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการเก็บภาษีใหม่ๆ ได้แก่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีโรงเรียนกวดวิชา การขึ้นภาษีสุราและบุหรี่

ในขณะที่ดัชนีทางเศรษฐกิจหลายตัวชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังหดตัว จนอาจจะเกิดภาวะเงินฝืด หลายสำนักรวมทั้งศูนย์วิจัยกสิกรฯ หั่นคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเหลือ 2.8% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจอาจจะฟื้นตัวช้า

นักธุรกิจใหญ่ที่เคยให้คะแนน คสช. 9.9 เต็มสิบ ก็เริ่มออกมามีปฏิกิริยาแล้วเหมือนกัน เช่นที่ ประธานเครือสหพัฒน์ออกมาติงรัฐบาลว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนที่เหลือ ของปีนี้ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว เนื่องจากรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ตรงจุด ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านมาเกือบหนึ่งไตรมาสแล้ว แต่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้อง และภาคส่งออกซึ่งเป็นธุรกิจหลักสร้างรายได้ให้กับประเทศยังติดลบต่อเนื่อง

ประกอบกับข่าวไม่สู้จะดีอีกมาก เช่น อุตสาหกรรมหนักเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านบ้าง หรือเริ่มมีข่าวว่าลดคน ลดการผลิตลงไป การส่งออกทำได้ยาก เพราะหลายประเทศนั้นลดระดับความร่วมมือในการนำเข้าส่งออกลงโดยอ้างเหตุต่างๆ

จึงไม่ค่อยแปลกใจนัก ที่นายกฯ ท่านจะปรี๊ดปรอทแตกกับข่าวเรื่องแรงงานทาสในเรือประมง เนื่องจากเรื่องการค้ามนุษย์นี้เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้ถูกกีดกันทางการค้าได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพราะปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ยอมรับได้ในสังคมโลก

ในส่วนของประชาชนทั่วๆ ไปเองก็เริ่มรู้สึกได้ คนค้าคนขายหลายคนพูดคุยกันว่ายอดขายตกลงไปมาก ลูกค้าหดหาย นักท่องเที่ยวจากยุโรปลดลง ไปเพิ่มที่นักท่องเที่ยวจีนซึ่งก็มีปัญหาเรื่องมารยาทและวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่น่าปวดหัว ส่วนในภาคลูกจ้างนั้น ก็เริ่มกระซิบกระซาบว่ามีการลดคนกันแล้วหลายที่ มีการไปตั้งกระทู้ในเว็บบอร์ดต่างๆ ว่า ถูกเลิกจ้างแบบกะทันหันไม่รู้เนื้อรู้ตัว หรือบริษัทแม่ในต่างประเทศสั่งปิดสำนักงานในประเทศไทย

ปัญหาเศรษฐกิจนี้เป็นเหมือนระเบิดเวลาลูกใหญ่ เพราะเรื่องความขัดแย้ง แนวคิดทางการเมือง พวกนี้ยังพอจับไป “ปรับทัศนคติ” กันได้ หรือถ้าใครเปรี้ยวมากถึงขั้นก่อการร้ายก็ดำเนินคดีกันไป แต่เรื่องปากท้อง เรื่องตกงานนี่ จับไปปรับทัศนคติหรืออบรมอย่างไร เงินในกระเป๋าก็ไม่เพิ่ม และท้องก็หิวอยู่

ซึ่งหากประชาชนสัมผัสกับปัญหาเรื่องเศรษฐกิจได้ชัดเจนมากขึ้นถึงขนาดเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าแล้ว ความเสี่ยงที่พวกเขาจะออกมา “ส่งเสียง” ถึงรัฐบาลก็เป็นไปได้สูง

ส่วนในทางการเมือง ก็เริ่มมีปัญหา “เกาเหลา” กันใคร ครม.จนนายกฯ ออกมาเปรยว่า กำลังเฝ้ามองอยู่ว่าใครทะเลาะกัน แต่พอถามเรื่องการปรับ ครม.ท่านก็ปรี๊ดแตกขึ้นอีกมาอีก

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จ่อรอเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งถ้ากระบวนการผ่านไปได้อย่างไม่มีปัญหาอะไรก็จะมีการเลือกตั้งขึ้นโดยเร็ว โดยเริ่มมีการแย้มว่าอาจจะเร็วกว่าต้นปีหน้าตามที่คาดการณ์กันไว้ มาเป็นปลายปีนี้ก็ได้

แต่กระนั้น ดูท่าทีก็ไม่ได้ง่ายนัก เพราะหลายเรื่องที่ฝ่ายกรรมาธิการยกร่างมาแล้ว อาจจะมีปัญหาหรือถูกตั้งคำถามก็หลายประเด็นด้วยกัน ไม่ว่าจะเรื่องเปิดช่องให้นายกฯ ไม่ต้องมาจาก ส.ส. วุฒิสภาที่มาจากการสรรหาอย่างเดียว หรือการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อแบบประเทศเยอรมนี จากที่ฟังๆ เสียงก็เหมือนกับว่า สปช. และ สนช.บางกลุ่มบางท่าน เตรียมตั้งแท่นขอแปรญัตติกันไว้แล้ว

ถึงเวลาจริง ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่อาจจะคุกรุ่นขึ้นมาอีกในชั้นการพิจารณาจาก สปช. และ สนช.ก็ได้ ซึ่งต้องไม่ลืมว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอันล่มไปในชั้นใด โดย สปช.ทั้งคณะและคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องถูกยุบเพื่อสรรหาและดำเนินกระบวนการกันใหม่ทั้งหมด เท่ากับการเลือกตั้งก็จะทอดยาวออกไปเรื่อยๆ อย่างน้อยหนึ่งปี ถึงไม่มีกำหนด

ไม่นับเรื่องเสียงเรียกร้องให้ทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ยังว่ากันไม่จบ แค่สงบลงไปชั่วคราวก่อนหน้านี้เท่านั้น

เหล่านี้แหละที่จะเป็นระเบิดเวลาจะทำให้เราได้เห็นข่าวท่านนายกฯ ปรอทแตกกันอีกหลายครั้งต่อจากนี้ไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น