xs
xsm
sm
md
lg

ควรทำประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใกล้คลอดเต็มที

กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญบางท่านเปิดเผยว่า ร่างแรกน่าจะเสร็จหลังสงกรานต์ ดังนั้นภายในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้เราน่าจะได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างแรกกันโดยไม่ต้องจินตนาการว่าอะไรจะเป็นอย่างไรแล้ว

จากนั้นก็จะได้เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 กำหนดไว้ ก็จะอยู่ในราวเดือนพฤษภาคม คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำเสร็จต่อประธาน สปช. ครม. และ คสช.เพื่อให้ความเห็น โดยมีเวลาดูกันรวมทั้งสิ้นหนึ่งเดือน ก็เท่ากับระยะเวลาจะสิ้นสุดลงภายในเดือนมิถุนายน

จากนั้น คณะกรรมาธิการก็จะมีเวลาไปแก้กันราวๆ สองเดือน จนถึงเดือนสิงหาคมส่งให้ สปช.ลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หากเห็นชอบก็ให้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป ภายในเดือนกันยายน

แต่กระนั้นก็จะต้องมีช่วงเวลาที่จะพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ ให้เสร็จไปในคราวเดียวกันนี้เลย ดังนั้นหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถประกาศใช้ได้ตามกรอบเวลานี้จริง หลังจากนี้ก็จะมีกระบวนการจัดเตรียมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ กันไปจนถึงสิ้นปีจนถึงต้นปีหน้า

สรุปว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเดินเครื่องได้สมบูรณ์กลับเข้าสู่กระบวนการปกติ มีการเลือกตั้งผู้แทนสรรหาวุฒิสภาอะไรกัน ก็น่าจะภายในช่วงต้นปี 2559

อันนี้ว่ากันบนสมมติฐานว่า กระบวนการทั้งหมดจะเดินไปตามกรอบเวลาของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้แบบไม่มีปัญหา ไม่มีเหตุแทรกแซง หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงประการอื่นๆ ที่จะทำให้กรอบเวลาขยายออกไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐธรรมนูญใกล้จะเสร็จจริงๆ ก็เริ่มมีคำเรียกร้องจากหลายฝ่ายว่า ก่อนที่จะนำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ควรจะมีการนำรัฐธรรมนูญมาให้ประชาชนลงประชามติหรือไม่

กระบวนการนี้ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะมีไม่ได้ เพราะอาจจะถือใช้ช่วงเวลาที่นำไปให้ฝ่ายต่างๆ ออกความเห็นหรือช่วงที่ให้คณะกรรมาธิการปรับแก้ไขตามความเห็นของฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ได้ โดยทำคู่ขนานกันไป หรือถ้าคิดว่าสมควรทำจริงๆและอยากให้มีกฎเกณฑ์กฎหมายรองรับ ก็อาจจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีกระบวนการรับฟังประชามตินี้เพิ่มขึ้นมาก็ยังได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้มาตรา 46 เปิดช่องให้ คสช.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเสนอต่อ สนช.

หรือหากจะกล่าวในทางความเป็นจริง คนที่จะตัดสินใจฟันธงว่าจะให้มีการลงประชามติหรือไม่ ก็คือท่านนายกฯ บิ๊กตู่นั่นเอง

ซึ่งตอนนี้ท่านก็แบะท่าว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องจะให้ทำประชามติหรือไม่อย่างไร นอกจากขู่ว่า ถ้ายังทะเลาะกันไม่เลิก ทั้งในเรื่องรัฐธรรมนูญและเรื่องอื่นๆ ก็จะล้มกระบวนการทั้งหมดแล้วเริ่มต้นใหม่ เท่ากับการเลือกตั้งก็จะล่วงเลยไปอีก

การจัดให้มีประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็มีข้อดีอยู่มาก สำคัญที่สุดก็คือ ในทางทฤษฎีแล้ว อำนาจในการปกครองประเทศสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของพระมหากษัตริย์ร่วมกับประชาชน รัฐธรรมนูญที่ดีในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงสมควรที่จะได้รับความเห็นชอบทั้งจากองค์พระมหากษัตริย์และประชาชนร่วมกัน โดยอาจจะเป็นการที่รัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการร่วมกันร่างอย่างกว้างขวางเช่นในรัฐธรรมนูญปี 2540 หรืออาจจะเป็นกรณีที่ประชาชนลงมติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญเช่นในปี 2550 ก็ได้

ส่วนหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดแข็งของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็คือการที่ผ่านการลงประชามติของประชาชนมาแล้วนั่นเอง ซึ่งก็ถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยห้ามมิให้ฝ่ายรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญเองตามอำเภอใจ โดยไม่ได้ถามความเห็นชอบของประชาชนก่อน เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญมาจากการทำประชามติ หากจะร่างใหม่แก้ไขในสาระสำคัญก็ควรกระทำโดยกระบวนการลงประชามติ

นอกจากนี้ การลงประชามติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ยังถือว่าเท่ากับเป็นการที่ให้ประชาชนลง “สัตยาบัน” ยอมรับกระบวนการปฏิรูปกลายๆ ด้วยว่า แม้ว่ากระบวนการตอนต้นที่เริ่มปฏิรูปและทำรัฐธรรมนูญจะเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องนัก คือมาจากการทำรัฐประหาร แต่เมื่อกระบวนการดำเนินไปแล้ว ในที่สุดก็นำมาให้ประชาชน “เห็นชอบ” ในภาพรวมอันเป็นรูปธรรมอีกครั้ง ก็เท่ากับเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กระบวนการปฏิรูปทั้งหมดว่า ไม่ว่าจะมาอย่างไร แต่ในที่สุดประชาชนก็ยอมรับ

แต่ข้ออ่อนสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายยังลังเลต่อการนำมาทำประชามติ นั่นก็เป็นเพราะว่า การให้มีประชามติดังกล่าวอาจจะเท่ากับเป็นการ “กวนน้ำให้ขุ่น” ขึ้นมาอีกครั้ง โดยทำให้ฝ่ายคู่ขัดแย้งทางการเมืองมีประเด็นทะเลาะถกเถียงกันได้อีก ซึ่งสภาพอันไม่ค่อยจะ “สงบเรียบร้อย” นี้อาจจะไม่ค่อยเป็นที่สมอารมณ์สมประสงค์ของ คสช. และท่านนายกฯ สักเท่าไร

โดยเฉพาะฝ่ายแดงเครือข่ายทักษิณที่รอป่วนอยู่ ทั้งการก่อการร้ายดังที่ปรากฏในการวางระเบิดสยามพารากอนและศาลอาญา และการเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองในเชิงการรณรงค์ต่างๆ ซึ่งตอนนี้ก็ทำกันอย่างต่อเนื่อง มีประเด็นกันทุกสัปดาห์ เช่นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ก็เรื่องการเดินรณรงค์ประชาชนไม่ควรขึ้นศาลทหาร ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้ไม่น้อย จนนายกฯ ต้องออกมากล่าวถึง

การทำประชามติที่จะเกิดขึ้นนั้นก็คงหลีกเลี่ยงภาพความขัดแย้งและไปเข้าทางฝ่ายต่อต้านอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

หรือไม่ก็อาจจะใช้วิธีการครึ่งทาง เช่นให้ประชาชนลงประชามติกันในหลายประเด็นที่อาจจะเป็นปัญหาก็ได้ เช่น ลงมติกันเรื่องนายกฯ ต้องเป็น ส.ส. หรือไม่ หรือวุฒิสภาควรจะมาจากการเลือกตั้งหรือเปล่า ฯลฯ เช่นนี้ก็ได้

ทั้งนั้นทั้งนี้ การตัดสินใจก็ยังคงอยู่ที่ คสช.หรือพูดตรงๆ ก็คือท่านนายกฯ ตู่คนเดียวนั่นเอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น