วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสำคัญวันหนึ่ง วันสตรีสากลครับ ครึ่งหนึ่งของคนบนโลกใบนี้เป็นผู้หญิง เธอแบกโลกอยู่ครึ่งหนึ่ง ร่วมกันแบกทั้งผู้หญิงและผู้ชายนั่นแหละครับ
วันสตรีสากลในบางประเทศเป็นวันหยุด วันสำคัญระดับชาติ และระดับสากลนานาชาติด้วย ที่มาของวันนี้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) เมื่อกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าแห่งหนึ่ง ในกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงนายจ้างเพื่อขอเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่
ต่อมา ในปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบกดขี่ ขูดรีด ทารุณจากนายจ้าง ที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของคลาร่า เซทกิ้น เรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาทำงาน จากวันละ 12-15 ชั่วโมง ให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง พร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั่วโลก
วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) มีการประชุมครั้งที่ 2 ของสมัชชานักสังคมนิยมหญิงนานาชาติ (International Conference of Socialist Women) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมี คลาร่า เซทกิ้น นักสังคมนิยมจากเยอรมัน ในฐานะเลขาธิการของสตรีสากล ได้เสนอให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล เพื่อรำลึงถึงการต่อสู้ของคนงานหญิงโรงงานทอผ้าในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่การต่อสู้จบลงด้วยการฆาตกรรมหมู่ และก็ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์ จากผู้เข้าร่วมการประชุมนับร้อย จากองค์กรต่างๆ 17 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก เยอรมัน และสวิสเซอร์แลนด์
มีประชาชนชายหญิงมากกว่า 1 ล้านคนเข้าร่วมชุมนุม เรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง สิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพิ่มเติม จากการเรียกร้องสิทธิในการทำงาน การเข้ารับการอบรมวิชาชีพ และให้ยุติการแบ่งแยกในการทำงาน
องค์การสหประชาชาติได้เห็นความสำคัญ และเข้ามามีส่วนร่วม ปี ค.ศ. 1957 (พ.ศ. 2500) สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ได้มีมติที่ 32/142 เชิญชวนให้ทุกประเทศทั่วโลก กำหนดให้วันหนึ่งวันใดเป็นวันฉลองแห่งชาติ ว่าด้วยสิทธิสตรีและสันติภาพสากล ขึ้นอยู่กับขนบธรรมเนียมประเพณี และสภาพทางประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ หลายประเทศส่วนใหญ่ได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล (International Women's Day)
ที่จริงการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงไทยในประวัติศาสตร์ ผมว่าน่าสนใจ เช่น เรื่องอำแดงป้อมฟ้องหย่านายบุญศรีในสมัยรัชกาลที่ 1 หรือคดีอำแดงเหมือน อำแดงจั่น สมัยรัชกาลที่ 4 อำแดงเหมือนกับนายริด เป็นชื่อภาพยนตร์ไทยที่สร้างจากเรื่องอำแดงเหมือน เป็นหนังดีน่าดูมากเรื่องหนึ่ง เมื่อไม่กี่ปีนี้ ไทยพีบีเอสยังเสนอเป็นละคร ทั้งอำแดงจั่นและอำแดงเหมือน เป็นหญิงไทยที่ทูลเกล้าถวายฎีกา รัชกาลที่ 4 ส่งผลให้รัชกาลที่ 4 แก้ไขหลักกฎหมายโบราณ ผู้หญิงเป็นควายผู้ชายเป็นคน โดยประกาศพระราชบัญญัติลักภา จ.ศ. 1227 (พ.ศ. 2406) และพระราชบัญญัติเรื่องผัวขายเมีย บิดามารดาขายบุตร จ.ศ. 1229 (พ.ศ. 2408) ยกเลิกอำนาจบิดามารดาไม่ให้จำหน่ายจ่ายโอนบุตรให้แก่ผู่อื่นตามความพอใจของตน และไม่ให้บังคับบุตรแต่งงานแบบคลุมถุงชน
สำหรับประเทศไทย ผมต้องบอกว่าเป็นวันสำคัญของคนส่วนใหญ่ เพราะประเทศของเรามีประชากรเกินครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นผู้หญิงครับ ประชากรไทยมีจำนวนทั้งหมด 65,124,716 คน เป็นผู้ชาย 31,999,008 คน และเป็นผู้หญิง 33,125,708 คน นี่คือข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจเมื่อช่วงกรกฎาคมปีที่แล้ว
เมื่อผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชายแบบนี้ ไม่พูดถึงเรื่องนี้ก็คงจะไม่ได้ซะแล้วล่ะครับ ที่สำคัญผมว่าผู้หญิงเป็นเพศแม่ ผู้ชายทุกคนมีแม่ ความเป็นแม่ยิ่งใหญ่ที่สุดละครับ ในบรรดางานหนักงานเหนื่อย ผมว่างานเลี้ยงลูกของแม่ทุกคนนั้นเหนื่อยสุด คุณผู้ชายทั้งหลายอย่าได้บอกว่าผู้หญิงอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ทำงาน เพราะงานบ้านเลี้ยงลูกของผู้หญิงเป็นงานหนัก ต้องทำเกือบตลอดเวลา ไม่มีวันหยุด และสำคัญต่อครอบครัวมาก บางคนทำทั้งงานในบ้าน และงานนอกบ้านก็ทำได้เท่าเทียมผู้ชายนั่นหละครับ
ข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2523-2543 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า จำนวนสตรีที่ทำงานนอกบ้านในรอบ 3 ทศวรรษนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 66.8% ในปี 2523 เพิ่มขึ้นเป็น 71.2% ในปี 2543
ในขณะเดียวกันจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2544 และ 2547 พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ใช้เวลาในการดูแลบ้านและครอบครัวมากกว่าผู้ชายเกือบ 4 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 78.2 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 79.9 ในปี 2547 แม้ว่าผู้ชายได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในการดูแลสมาชิกในครัวเรือนเพิ่มขึ้นโดยเพิ่มจากร้อยละ 29.4 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 31.1 ในปี 2547
ปัจจุบันแม้ผู้หญิงไทยมีสิทธิมีเสียงตามกฎหมายเท่าเทียมชายมากขึ้น รัฐธรรมนูญได้ให้ความคุ้มครองรับรองสิทธิ และสร้างหลักประกัน กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และจะต้องส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างสตรีและบุรุษ เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว และความเข้มแข็งของชุมชน
แต่ในทางปฏิบัติผู้หญิงยังถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม การจำกัดสิทธิและบทบาทของสตรียังคงมีอยู่ในสังคมไทย ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ยังถูกจำกัดสิทธิในการทำงานหรือรับผิดชอบหน้าที่บางอย่าง รวมถึงถูกละเมิดสิทธิในกรณีต่างๆ
จากการสำรวจของบริษัท จ็อบสตรีท (ประเทศไทย) พบว่า ปัญหาที่ผู้หญิงได้รับจากการทำงานมากที่สุดคือ 58% เคยถูกกีดกันจากการเข้าทำงานในบางตำแหน่ง 36% เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งรวมถึงการถูกล่วงละเมิดด้วยสายตาและวาจาจากทั้งเจ้านาย เพื่อนร่วมงานและลูกค้า และ 26% เคยถูกกีดกันไม่ให้ได้รับตำแหน่งงานในระดับสูง โดยในกลุ่มที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศนั้นเป็นสาวโสดถึง 80%
ช่วงนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังร่างรัฐธรรมนูญ (อีกแล้ว) ผมก็หวังว่ารัฐธรรมนูญจะเพิ่มเติมในเรื่องต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิของคุณผู้หญิงให้มากขึ้น ยิ่งพวกเธอทุกคนคือคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยด้วย เรายิ่งต้องส่งเสริมให้พวกเธอมีสิทธิเท่าเทียมชาย
คุณผู้หญิงก็ต้องตระหนักในสิทธิของตนเอง สามารถดำรงชีวิตอยู่ภายใต้บทบาทการทำงาน และภาระทางครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ถูกเอาเปรียบหรือถูกริดรอนสิทธิที่พึงมี
ผู้หญิงควรมีสิทธิเท่าเทียมในการทำงาน สังคมต้องเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้คุณผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถ ได้ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน
ในหลายประเทศก็ใช้เวลานานกว่าผู้หญิงจะมีสิทธิเท่าเทียมชาย ขนาดประเทศอย่างนอร์เวย์ กว่าผู้หญิงจะมีสิทธิเลือกตั้งก็เริ่มเอาในปี 1910 และมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในปี 1981
การเมืองไทยก็เพิ่งจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกไปไม่นานนี้ แต่น่าเสียดายที่เธอไม่ได้ขึ้นมานั่งตำแหน่งเพราะความสามารถ แต่เธอเป็นนายกฯ ได้เพราะพี่ชายหนีคุก โคลนนิ่งส่งมาเป็นตัวแทน เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีคนออกมาขับไล่มากที่สุด เธอคงเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่น่าจดจำสักเท่าไร
จะว่าไปแล้ว เวลานี้ ผมว่าทั้งผู้ชายและผู้หญิงต้องการสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกัน และต่างก็ต้องรับมือกับการละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ ลำบากพอๆ กัน อย่างที่เห็นๆ เป็นข่าวกันทุกวันนั่นแหละครับ