xs
xsm
sm
md
lg

พิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญและความคาดหวัง

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

ขอฟันธงไว้ก่อนว่าเลือกนายกฯโดยตรงตามข้อเสนอของกมธ.สปช.ชุดดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ คงไม่ผ่านด่านกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ผิดถูกก็แค่หน้าแตก

เจ้าบรรดาข้อเสนอหลากหลายจากกรรมาธิการชุดต่างๆ หรือจากองค์กรภายนอกไม่ได้มีแค่เรื่องการแยกอำนาจเลือกนายกฯโดยตรงแค่เรื่องเดียวหรอกนะครับ มีมาก..มากจริงๆ ชนิดอ่านรายละเอียดกันตาเมื่อย แถมในแต่ละชุดความเห็นก็มีประเด็นดีมากๆ ซ่อนอยู่ อย่างเช่นกมธ.ปฏิรูปการเมืองชุด ดร.สมบัติ ที่แม้จะเสนอประเด็นแหลมคมแยกอำนาจเด็ดขาดเลือกนายกฯและครม.โดยตรงแล้ว ยังมีประเด็นย่อยอื่นแถมมาแต่กลับไม่มีใครสนใจกัน

เช่น ทำให้องค์กรอัยการปลอดจากการแทรกแซงจากการเมืองและห้ามอัยการไปดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจหรือตำแหน่งอื่น, หรือการใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นสิทธิ์ของบุคคลไม่ใช่หน้าที่ดังนั้นจะไปหรือไม่ไปเลือกก็ได้ ฯลฯ

ยิ่งเมื่ออ่านความคิดและข้อเสนอจากกรรมาธิการชุดอื่นๆ ยิ่งหลากหลายน่าสนใจ ที่ดีก็มี ที่ไม่เข้าท่าก็มีประเภทเขียนมาทำไมหลักการและข้อกำหนดของเดิมมันก็แบบนี้อยู่แล้ว? ไม่เห็นจะเป็นการปฏิรูปอะไรใหม่เลย? บางข้อเสนอก็ขัดแย้งระหว่างกัน(เอง)เล็กๆ เช่นเรื่องกระจายอำนาจ คณะหนึ่งเสนอให้ยุบการปกครองส่วนภูมิภาคไปเลย อีกคณะเสนอให้ปรับส่วนภูมิภาคมาเป็นฝ่ายตรวจสอบอปท.ท้องถิ่น เป็นต้น

เป็นธรรมดาของมนุษย์แหละครับ อะไรที่มันใหญ่โตยุ่งยากหรือซับซ้อนไปจะไม่สนใจ มุ่งสนใจประเด็นร้อนๆ แหลมๆ หรือแปลกประหลาดเช่นเรื่องเลือกนายกฯโดยตรง ซึ่งหากจะให้วิจารณ์ตามความคิดผมเองเห็นว่า ความคิดของกรรมาธิการชุดนี้ เน้นไปที่การทำลายโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างนายทุนพรรคกับส.ส.เขตที่เป็นฐานอำนาจที่เคยมีมาแบบเดิม พร้อมๆ กันนั้นก็พยายามออกแบบให้เพิ่มอำนาจต่อรองของฝ่ายตรวจสอบควบคุมเป็นสำคัญ (อันนี้ผมมองจากข้อเสนอภาพรวมจากเอกสาร 39 หน้าที่ให้มีหน่วยงานใหม่เพื่อควบคุมจริยธรรม เพิ่มอำนาจองค์กรอิสระต่างๆ ไม่ใช่มองเฉพาะแค่เรื่องแยกอำนาจ)

ขอโทษนะครับ จุดอ่อนที่สุดของชุดความคิดที่เสนอโดยกมธ.ชุดนี้ก็คือ ยังไม่เชื่อและยังไม่เห็นพลังอำนาจของประชาชนโดยเฉพาะภาคประชาสังคม ข้อเสนอจึงเหมือนกับอาจารย์มหาวิทยาลัยจัดหลักสูตรเกณฑ์ชาวบ้านมาเพิ่มพูนทักษะความรู้เรื่องประชาธิปไตย เห็นข้อเสนอนี้อดไม่ได้ต้องคิดย้อนไปเทียบกับหลัง 14 ตุลาที่นิสิตนักศึกษาออกค่ายไปให้ความรู้ประชาธิปไตยแก่ชาวบ้านโน่นเลย หรือการเขียนประเด็นว่าให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นแต่พออ่านในรายละเอียดมันดูอุดมคติพิกล

ปัญหาของการเมืองยุคใหม่ที่มันไม่สมดุลมาตลอดหลายปีนี้เพราะว่า ชนชั้นสูง/ผู้กุมอำนาจ/ผู้ออกแบบกลไกกติกาอำนาจ/ มองประชาชนเป็นแค่ส่วนประกอบหรือฐานอำนาจ เวลาเอ่ยถึงการมีส่วนร่วมก็จะจินตนาการ กำหนดบทบาทของประชาชนแบบ Passive ไม่รู้จะแปลว่าอะไรดีมันตรงกับความคิดเพราะความคิดแบบนี้ไม่ได้มองว่าประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของพลังต่อรองที่เท่าเทียม ดังนั้นภาระการตรวจสอบ ถ่วงดุล กำหนดนโยบายที่เหมาะที่ควร ฯลฯ เป็นเรื่องของฝ่ายประจำ เทคโนแครตที่เชี่ยวชาญเขาทำกัน

โดยส่วนตัวผมคิดว่าชุดความคิดของกรรมาธิการชุดนี้ว่าด้วยการแยกอำนาจยังไม่แหลมคมเท่ากับความคิดเรื่องการคำนวนคะแนนเลือกตั้งแบบเยอรมัน เพราะความคิดกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงและเจตจำนงของประชาชนมากขึ้นกว่าแบบเก่า

แต่เดิมเวลาเราเลือกตั้งมีพรรคที่เราชอบนโยบายมากสมมติชื่อพรรคกรีน แต่เจ้าพรรคนี้มันไม่มีโอกาสชนะเลย คนที่จะออกเสียงกลัวคะแนนจะสูญเปล่าจึงตัดใจเลือกพรรค B เพื่อจะไปสู้กับพรรค A ที่เราไม่ชอบหน้า ไม่อยากให้ชนะเลือกตั้ง แต่ระบบใหม่เขาจะรวมคะแนนที่พรรคกรีนได้จากทั่วประเทศเพื่อไปคำนวณเก้าอี้อีกครั้ง คะแนนเสียงเล็กเสียงน้อยของประชาชนไม่ตกน้ำทิ้งเปล่า ความคิดนี้เริ่มจากการยึดโยงประโยชน์ของประชาชนจริง อันนี้น่าสนับสนุนและขอยกมือเชียร์อีกเสียงหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตามระบบการเลือกตั้ง จำนวนส.ส. จะเขตใหญ่เขตเล็ก จะวันแมนวันโหวต จะมี ส.ว.แบบไหน ฯลฯ ล้วนแต่เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น !

ปัญหาของการเมืองไทยในหลายปีมานี้ เป็นเพราะการเมืองเป็นเรื่องเฉพาะที่พวกนายทุน/นักการเมือง/อำนาจเก่าใหม่/คนมีพลังอำนาจแต่ละฝ่ายช่วงชิงกัน !

ประชาชนไม่เกี่ยว ประชาชนเป็นแค่กองหนุน กองเชียร์ ลิ่วล้อที่ออกมาหนุนหลังหรือตายแทน !!

กฎหมายรัฐธรรมนูญมันคือเจตจำนงและการจัดสรร/จัดวางตำแหน่งความสัมพันธ์ระหว่างพลังอำนาจต่างๆ ของสังคมไทยอยู่ในนั้น พลังของฝ่ายประชาชนมีบทบาทแค่ไหนสะท้อนออกมาผ่านรัฐธรรมนูญหมวดที่สามสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของปวงชนรวมทั้งสะท้อนผ่านสิทธิทางการเมืองอื่นๆ เช่นสิทธิในการเสนอ/ถอดถอน/ประชามติฯลฯ บางทีมีบัญญัติไว้หรูๆ แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง แปลกนะครับที่ประชาชนซึ่งแสดงท่าทีเป็นคนที่แอคทีฟทางการเมืองมากๆ กลับไม่สนใจเรื่องเหล่านี้เป็นลำดับแรก กลับไปทุ่มเถียงทะเลาะกันในประเด็นที่เจ้านายนักการเมืองและนักอำมาตย์ช่วงชิงไหวพริบกัน

การร่างรัฐธรรมนูญรอบนี้ประชาชนอย่างเราท่านอาจจะสนใจประเด็นแหลมๆ ร้อนๆ เช่นเลือกนายกฯโดยตรงดีหรือไม่หรือจะแบ่งเขตแบบไหน ฯลฯ ก็ว่ากันตามความสนใจส่วนตัว เชิญท่านตามอัธยาศัยเถิด เพียงแต่ขออย่าลืมว่า ปรัชญารากฐานที่เป็นพื้นฐานที่สุดของระบอบประชาธิปไตยก็คืออำนาจมาจากประชาชน บนสังคมที่ยอมรับว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นรากฐานสำคัญ นับแต่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงมาเป็นประชาธิปไตย 2475 เรายังไม่เคยให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นปรัชญารากฐานอย่างแท้จริงเลย ออกแบบระบบปกครองกันตามประสาผู้มีอำนาจส่วนบนคิดทำกัน จะมีส.ส.แบบไหน ส.ว.แบบไหนกี่คน ลากประเทศชักคะเย่อกันระหว่างนายทุน นักการเมือง ข้าราชการประจำกันไปมาปีแล้วปีเล่า

โดยส่วนตัวผมย้ำในบทความมาก่อนหน้านับปีแล้วด้วยคำว่าโครงสร้างการเมืองของเรามันไม่ได้ดุลยภาพ ก็นึกดีใจที่ข้อเสนอของกรรมาธิการชุดต่างๆ พูดถึงคำนี้บ่อย ปัญหาก็คือเราจะทำให้พลังอำนาจของประชาชนอยู่ในโครงสร้างอำนาจทำให้เกิดดุลยภาพในโครงสร้างการเมืองได้จริงแบบไหน?

เวลานี้ก็เหมือนกับตัวแทนผู้อยู่อาศัยกลุ่มต่างๆ นำเสนอความต้องการของตนเองให้กับสถาปนิกจะร่างแบบพิมพ์เขียวกัน ข้อเสนอฟุ้งๆ เฟื่องๆ บางอย่างที่ชิงหน้าสื่ออาจจะไม่ได้รับการพิจารณา ต้องรอจนสถาปนิกเขาร่างแบบบ้านคร่าวๆ เป็นพิมพ์เขียวออกมาก่อนนั่นล่ะ จึงจะวิพากษ์วิจารณ์ต่อเติมปรับแต่งในรายละเอียดกันอีกรอบ ต้นปีหน้าโน่น ! เสียงวิพากษ์วิจารณ์คงจะมากขึ้นเมื่อเห็นพิมพ์เขียวแล้ว ซึ่งไม่แน่นะเสียงแสดงออกซึ่งความไม่พออาจจะดังมาจากสองฟาก ฟากสีแดงบรรดานักประชาธิปไตยก้าวหน้าจ๋าเขาถือหลักไม่ยุ่งไม่เกี่ยวค้านท่าเดียวอยู่แล้ว ต่อให้เสนออะไรดีแค่ไหนก็ไม่เห็น จะมองเห็นมุมอัปลักษณ์มุมเดียว พวกนี้ก็พวกหนึ่ง ส่วนอีกพวกคือฝ่ายที่คาดหวังว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นเครื่องมือกระทืบขั้วอำนาจทักษิณอาจจะไม่พอใจด่าแรงกว่าเสื้อแดงเสียอีกหากว่ามีข้อบัญญัติว่าด้วยปรองดองและเปิดทางให้ยิ่งลักษณ์กลับมาเสนอตัวแข่งเป็นนายกฯในการเลือกตั้งรอบใหม่

การร่างรัฐธรรมนูญรอบนี้ยังเกี่ยวเนื่องกับแรงคาดหวังของประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่คิดและหวังไปตามแบบของตัว-ประสากลุ่มไหนก็คิดและหวังไปตามประสากลุ่มนั้นๆ ....ซึ่งที่สุดแล้วการร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นปัญหาเดียวกับกระบวนทัศน์การแก้ปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองไทยด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น