xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามพอสังเขป (1) : วีรบุรุษแอบจับ

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


บ่ายวันหนึ่ง ณ บ้านพระอาทิตย์

ขณะที่กำลังสาละวนอยู่กับหน้าที่การงานประจำวัน เพื่อนที่อยู่ร่วมแผนกเรียกผมให้มารับโทรศัพท์

ปลายสายเป็น คุณวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์

“เดี๋ยวพี่จะส่งเอ็งไปเวียดนามนะ” ปลายสายพูด

“ไปนานเท่าไหร่พี่” ผมถามด้วยความสงสัย

“ว่าจะส่งเอ็งไปยาวเลย”

คำตอบที่ได้ยินทำเอาผมอึ้งเล็กน้อย เพราะในชีวิตไม่เคยถูกส่งไปประจำการยาวขนาดนี้ ไหนจะเรื่องครอบครัวถ้าจากบ้านไปใครจะดูแลบ้าน

...

“ล้อเล่น... ไปสอง-สามวัน”

ปลายสายกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

เรื่องของเรื่องคือ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้ส่งจดหมายเชิญสื่อมวลชนเยี่ยมชมฟาร์มและโรงงานแปรรูปปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ ที่ประเทศเวียดนาม มายังกองบรรณาธิการ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงาน ตลอดจนการบริหารจัดการต่างๆ ของการเพาะพันธุ์และการแปรรูปเนื้อปลาแพนกาเซียส ดอร์รี่ ในประเทศเวียดนามของซีพีเอฟ

ที่ผ่านมาก็มีองค์กรต่างๆ เชิญสื่อมวลชนไปศึกษาดูงานอยู่เสมอ ขึ้นอยู่กับว่าผู้บังคับบัญชาจะส่งใครไป คราวก่อนโน้นพี่โต๊ะข้างๆ ก็ไปดูงานที่ประเทศเกาหลีใต้

คราวนี้หวยมาออกที่ผมโดยที่ไม่คาดคิด

หลังส่งใบตอบรับพร้อมกับส่งสำเนาหนังสือเดินทางเรียบร้อย ประมาณ 1 เดือน การเดินทางก็มาถึง

ทราบมาว่ามีสื่อมวลชนที่ตอบรับเข้าร่วมเดินทาง 17 คน จาก 14 สำนัก ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือพิมพ์ ส่วนสื่อโทรทัศน์ไปกัน 3 ช่อง โดยมีผู้สื่อข่าวและช่างภาพอีก 1 คน

เนื่องจากการเดินทางครั้งนี้เป็นการไปดูงานเพื่อนำมาเขียนรายงาน ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการรายวัน ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา และจะมีรายงานในเว็บไซต์เพิ่มเติมเมื่อมีโอกาสเหมาะสม

สำหรับคอลัมน์นี้ สิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นการพูดถึงประสบการณ์แบบ “สัพเพเหระ” ที่พบเห็นในเวียดนามแบบพอสังเขป ผสมกับคำบอกเล่าของไกด์นำเที่ยวซึ่งเป็นคนเวียดนามแท้ๆ

ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องนี้น่าสนใจ จึงขออนุญาตถ่ายทอดเล่าสู่กันฟัง

แต่หากข้อมูลที่นำเสนอผิดพลาด หรือมีข้อมูลเสริมประการใด คุณผู้อ่านสามารถท้วงติงโดยการแสดงความคิดเห็นท้ายบทความนี้กันได้

OOO

วันนั้นด้วยความที่ปกติเป็นคนนอนดึก แม้จะงดทำงานเพื่อที่จะเข้านอน แต่ก็นอนไม่หลับ

ตีสี่รถแท็กซี่ที่ทางบ้านจัดหาไว้มารับที่บ้าน เพื่อไปส่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ เราพกพาความง่วงตลอดทาง ตั้งแต่นำสัมภาระเช็กอิน นั่งรอทางออกขึ้นเครื่อง

จำได้ว่างีบหลับไปครั้งเดียวหลังทานอาหารจากสแนกบอกซ์บนเครื่องแล้ว ก่อนถึงโฮจิมินห์



ถึง สนามบินเตินเซินเญิ้ต ในนครโฮจิมินห์ ตอนเก้าโมงเช้าเศษ อากาศที่นั่นร้อนไม่แตกต่างไปจากเมืองไทย ระหว่างที่เครื่องกำลังเทียบงวงเครื่องบิน มองไปนอกหน้าต่าง เห็นเจ้าหน้าที่มาพร้อมกับรถขนสัมภาระ

เมื่อเปิดใต้ท้องเครื่องบินก็ลงมือทุ่มกระเป๋าเดินทางโยนเข้ารถขนสัมภาระเต็มเหนี่ยว ราวกับโยนโบว์ลิ่ง

ทำเอาคนบนเครื่องทั้งลำถึงกับเหวอเล็กน้อย

จากนั้นเราเดินเข้าไปสู่อาคารผู้โดยสาร ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่นี่ออกแบบเป็นเคาน์เตอร์

รู้สึกดีที่ช่องหนึ่งระบุคำว่า “ASEAN CITIZEN” ซึ่งหมายถึง พลเมืองอาเซียน 10 ประเทศ เมื่อไทยเราเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียน เลยเข้าช่องนี้

ขั้นตอนไม่มีอะไรมาก แค่ยื่นหนังสือเดินทาง แล้วหันหน้าเข้ากับกล้องวงจรปิดเล็กๆ เจ้าหน้าที่จะมองหน้าเราแล้วลงตราประทับ ซึ่งที่นี่สามารถอยู่พำนักได้ 30 วันโดยไม่ต้องมีวีซ่า

หลังรับกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว ออกจากสนามบินจะมีเจ้าหน้าที่บูธเอ็กซ์เชนจ์เชื้อเชิญให้แลกเงินดอง แม้การเดินทางในครั้งนี้ผู้จัดงานได้จัดเตรียมตั๋วเครื่องบิน ยานพาหนะ และที่พักไว้ให้ แต่เงินติดกระเป๋าต้องพกไปเอง

ในกระทู้พันทิปแนะนำว่าให้แลกเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไปแลกเป็นเงินดอง (พี่ที่ทำงานแนะนำให้แลกที่ซูเปอร์ริชละแวกถนนข้าวสาร ซึ่งให้อัตราดีกว่าธนาคารพาณิชย์)



วันนั้นผมนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 60 เหรียญสหรัฐฯ มาแลก ปรากฏว่าแลกเป็นเงินดองได้ 1,275,540 ดอง แต่เขาให้จริงแค่ 1,275,000 ดอง เพราะธนบัตรที่นั่นต่ำสุดคือ 1,000 ดองเท่านั้น

รู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย ที่ได้จับ "เงินล้าน" ครั้งแรกในชีวิต...

เสร็จแล้วเดินไปซื้อซิมการ์ด ตรงดิ่งไปที่เคาน์เตอร์ของ Mobifone ซึ่งอยู่ด้านในสุดอีกฝั่งหนึ่ง ตามคำแนะนำของกระทู้พันทิปว่าเป็นเครือข่ายที่ดีที่สุดของเวียดนาม ที่นั่นมีแพ็คเก็จให้เลือกประมาณ 5-6 แพ็คเกจ

ตัดสินใจเลือกแพ็คเกจ 290,000 ดอง (เกือบ 450 บาท) ใช้งานแบบไม่จำกัดได้ 1.5 GB โทรกลับเมืองไทยได้นิดหน่อย ซึ่งเพียงพอกับการอยู่ในเวียดนามประมาณ 3-4 วัน แต่ที่นั่นไม่มีนาโนซิมสำหรับไอโฟน 5 ซี ขาย ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตัดไมโครซิมให้

จากนั้นเราเดินออกจากอาคารผู้โดยสาร นั่งรถทัวร์ที่ทางผู้จัดงานเตรียมไว้ให้สำหรับการเดินทางไปดูงานตลอด 4 วัน ไกด์ชาวเวียดนามได้แนะนำตัว เธอชื่อว่า “แคท” (แต่จำชื่อภาษาเวียดนามไม่ได้)

เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์แห่งนครโฮจิมินห์ เธอพูดภาษาไทยได้ เพราะงานเธอนอกจากเป็นไกด์แล้ว ยังรับงานฟรีแลนซ์เป็นนักแปลอีกด้วย

กติกาของอาชีพมัคคุเทศก์ในเวียดนามมีอยู่อย่างหนึ่ง คือ หลังจากส่งนักท่องเที่ยวเข้าโรงแรมเสร็จแล้ว ไกด์ต้องกลับไปนอนที่บ้าน หรือหากออกนอกเมืองก็เช่าโรงแรมอยู่อีกแห่งหนึ่งต่างหาก นอนโรงแรมเดียวกับนักท่องเที่ยวไม่ได้



แต่ก่อนอื่น ไกด์คนไทยได้แนะนำการอยู่ในเวียดนาม โดยมีข้อควรระวังอย่างยิ่ง คือ อย่าโชว์ของมีค่าทั้งสร้อยคอทองคำ รวมทั้งการคุยโทรศัพท์ หรือถ่ายรูปจากกล้องโทรศัพท์มือถือ

เพราะจะมีนักวิ่งราวขับขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามาประชิดตัวชิงทรัพย์สินไปต่อหน้าต่อตา และการติดตามตัวแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเลขทะเบียนรถ 8 หลักจำยากกว่าบ้านเรา รวมทั้งเวลาสะพายกระเป๋าให้เอาไว้ด้านหน้า

ไกด์คนไทยเตือนอย่างติดตลกว่า “ถ้าสะพายกระเป๋าข้างหน้า กระเป๋าเป็นของของเรา ถ้าสะพายกระเป๋าด้านข้าง เป็นของเราครึ่งหนึ่ง ของเขาครึ่งหนึ่ง

แต่ถ้าสะพายกระเป๋าข้างหลัง จะเป็นของเขาหมดเลย”


ขณะเดียวกัน ยังให้เราระวังเรื่องบรรดาคนที่จะมาขัดรองเท้า ซึ่งเราคิดว่าไม่กี่พันดอง แต่หลังขัดเสร็จคนพวกนี้จะเรียกกันเป็นสอง-สามแสนดอง หรือประมาณหลักร้อยบาท และหากไม่จ่ายก็จะมีปัญหาบานปลายกับเจ้าถิ่น

เพราะฉะนั้นเขาจึงเตือนว่าถ้าเจอคนพวกนี้ท่องไว้ว่า “ไม่สบตา ไม่เจรจา ปัญหาไม่เกิด”

นอกจากนี้ หากไปไหนมาไหนให้ระวังคนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาตีสนิท ชักชวนให้นั่งโดยบอกว่าจะพาไปเที่ยว แต่มักจะจบลงที่ล่อลวงไปชิงทรัพย์

ส่วนรถแท็กซี่ ที่นี่มักจะมีปัญหาขับพาอ้อมให้เสียค่ามิเตอร์จำนวนมาก เขาแนะนำว่ารถแท็กซี่ที่ดีที่สุดคือ บริษัท วินาซัน (VINASUN) สีขาว ซึ่งเป็นแท็กซี่ที่น่าเชื่อถือ ราคามาตรฐานในระดับหนึ่ง

ในตลาดเบนถั่น และบางร้านค้ารับเงินไทย ส่วนใหญ่ธนบัตรใบละ 20 บาท (ประมาณ 13,000 ดอง) และ 100 บาท (ประมาณ 64,000 ดอง) ไม่รับเหรียญทุกชนิด

การซื้อของอย่านับเงินจำนวนมากให้เห็น ไม่เช่นนั้นคนจะจับตามองว่าเราเป็นคนมีเงิน และกลายเป็นเหยื่ออาชญากรรมได้ (ในกระทู้พันทิปแนะนำให้พกเงินทีละน้อยๆ ใส่กระเป๋าเสื้อดีกว่า)

OOO



เรานั่งรถออกไปนอกเมืองเพื่อไปดูงานที่แรก ถนนที่นั่นเป็นถนนลาดยางอย่างดี แบ่งออกเป็น 4 ช่องจราจรมีเกาะกลาง แต่มักจะมีด่านเก็บค่าผ่านทางสำหรับรถยนต์

ถนนที่นี่มีทั้งทุนของรัฐ และทุนเอกชนเข้ามาลงทุนสร้างถนน มีสิทธิ์ตั้งด่านเก็บเงิน 10-15 ปีแล้วแต่สัญญา เสียค่าผ่านทางขั้นต่ำประมาณ 32 บาท

เส้นทางที่เราจะไปกันวันแรก เป็นถนนที่มุ่งหน้าไปสู่ชายแดนกัมพูชา ไกด์คนเวียดนามเล่าว่า เดี๋ยวนี้มีรถทัวร์จากโฮจิมินห์ไปยังประเทศไทยแล้ว ใช้เวลาประมาณ 1 วัน 1 คืน

แต่เท่าที่กลับไปเช็กข้อมูลมาพบว่า หากเป็นรถแบบถูกกฎหมาย จะมีรถทัวร์ บขส. จากกรุงเทพฯ ไปพนมเปญ สนนราคา 900 บาท ใช้เวลา 11 ชั่วโมง ออกจากหมอชิต 7 โมงครึ่ง ถึงพนมเปญ กัมพูชาเวลาค่ำๆ

ต่อจากนั้นค้างที่พนมเปญ 1 คืน แล้วนั่งรถประจำทางไปโฮจิมินห์อีก 6 ชั่วโมง มีหลายบริษัทให้บริการ ออกจากพนมเปญตอนเช้า ไปถึงโฮจิมินห์ช่วงบ่าย



บ้านเขาเป็นการจราจรแบบพวงมาลัยซ้าย ชิดขอบทางด้านขวา โดยรถจักรยานยนต์ชิดขอบทางด้านขวาสุด มีขอบทางกั้น แต่รถยนต์ถูกจำกัดความเร็ว 40-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงออกเดินทางไปได้อย่างช้าๆ

ต่อคำถามที่ว่า ทำไมคนเวียดนามถึงนิยมขับขี่มอเตอร์ไซค์มากกว่ารถยนต์ ทราบว่า ภาษีรถยนต์ของเวียดนามจัดเก็บสูงถึง 150-200% แม้จะมีโรงงานประกอบรถยนต์ แต่ภาษีนำเข้าอะไหล่รถยนต์จากต่างประเทศนั้นราคาสูง

ขณะเดียวกัน เมื่อรถยนต์เป็นสัญลักษณ์ของคนมีเงิน จึงต้องเสียภาษีทุกปี โดยตลอดทั้งปีเสียภาษีรถยนต์ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทไทย ไม่นับรวมค่าที่จอดรถ ค่าผ่านทางถนนที่เป็นทุนของรัฐหรือเอกชน และค่าทางด่วน

นอกจากนี้ บ้านเวียดนามมีลักษณะหน้าแคบ แน่นอนว่านอกจากไม่มีสวนแล้วยังไม่มีที่จอดรถอีกด้วย แม้ในนครโฮจิมินห์จะมีศูนย์จอดรถ แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลให้ ซึ่งคิดค่าจอดรถหมื่นกว่าบาท



เพราะฉะนั้น รถมอเตอร์ไซค์คือคำตอบของคนเวียดนาม โดยเฉพาะนครโฮจิมินห์

ราคาจักรยานยนต์ ณ ปัจจุบันเริ่มต้นประมาณ 8 พันบาทไทย เป็นมอเตอร์ไซค์ที่ผลิตจากประเทศจีน ส่วนยี่ห้อยอดนิยมอย่างฮอนด้าจะอยู่ราวๆ 3 หมื่นบาทไทย แพงที่สุดราคาหลักแสนบาทไทยก็มี

ที่เวียดนามมีโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ฮอนด้า แม้ประเทศไทยจะมีโรงงานฮอนด้า แต่รถจักรยานยนต์จากเวียดนามก็ส่งออกข้ามประเทศไทยไปยังประเทศพม่ามาแล้วด้วย





อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเวียดนามกำลังพัฒนาทางพิเศษให้รถยนต์สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่ง

ทางด่วนบ้านเขามีลักษณะคล้ายมอเตอร์เวย์บ้านเรานี่แหละครับ มีรั้วกั้นไม่ให้รถจักรยานยนต์ผ่าน จากปกติรถจักรยานยนต์จะมีช่องจราจรขวาสุดแบ่งไว้ต่างหาก

ไกด์เวียดนามกล่าวว่า ที่นี่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่เช่นนั้นคนขับจะต้องถูกจับกลางทาง

เขากล่าวว่า จราจรที่นี่จะมีอยู่คนหนึ่ง แปลเป็นไทยว่า “วีรบุรุษแอบจับ” โดยมีสายแอบตามร้านกาแฟ หรือใต้ต้นไม้พร้อมกับเครื่องตรวจจับความเร็ว เมื่อพบรถยนต์ใช้ความเร็วเกินกำหนด ก็แจ้งให้ทางการสกัดจับข้างหน้า

ค่าปรับจะวัดจากความเร็วแบบขั้นบันได เกินตั้งแต่ 1-10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปรับประมาณ 3,000 บาทไทย พร้อมยึดใบขับขี่ 30 วัน

เห็นแบบนี้แล้ว นึกถึงเวลานั่งรถเส้นมิตรภาพบ้านเรา จากกรุงเทพฯ ไปโคราช นครราชสีมา ตำรวจทางหลวงซุ่มถือปืนจับความเร็วอยู่เกาะกลางถนน แล้วถูกเรียกให้ไปเสียค่าปรับ

จะเรียกตำรวจทางหลวงบ้านเราว่าเป็น “วีรบุรุษแอบจับ” เหมือนบ้านเขาไหม เพราะการทำงานตำรวจยุคนี้ถูกตั้งคำถามเยอะแยะไปหมดเลย.

(อ่านต่อครั้งหน้า)

หมายเหตุ : ขอขอบคุณ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) สำหรับการเดินทางครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น