xs
xsm
sm
md
lg

"เหนียวไก่หาย" ตลกร้ายไปป่ะ?

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

สัปดาห์ที่ผ่านมาเรื่องที่เป็นกระแสมากที่สุดในสังคมออนไลน์คงจะหนีไม่พ้นคลิป “เหนียวไก่หาย” ในยูทิวบ์ที่เด็กสาวคนหนึ่งอัดคลิปบ่นเป็นภาษาใต้ถึงปัญหาใหญ่ประจำวันอย่าง ข้าวเหนียวไก่ทอดที่ตัวเองซื้อมาแล้วใส่ไว้ในตะกร้ารถจักรยานยนต์หายไประหว่างที่เดินเข้าไปภายในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอิเลฟเว่น ... หายไปได้อย่างไรนิ กลายเป็นเรื่องตลกขบขันของคนที่ชมจนมีบางคนนำไปตัดต่อพร้อมใส่ดนตรีประกอบเป็นเพลงแร๊ป หรือโพสต์คลิปแอบอ้างว่าตนเองขโมยไปอย่างสนุกสนาน

แน่นอนว่า สำนักข่าวออนไลน์ต่างๆ ก็ต้องหยิบยกมาเป็นประเด็นเล่นกันเพราะถือเป็นกระแสที่หากพลาดไปจะต้องตกขบวน ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา บางสื่อก็รวดเร็วไปตามสืบต่อว่าน้องเป็นใคร จุดเกิดเหตุอยู่ที่ไหน ร้านชื่ออะไร ซึ่งนั่นก็ดีในการแสวงหาข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้ทราบ และมันก็น่าจะจบเพียงแค่นั้น .... แต่ผลที่ปรากฏ เด็กสาววัย ๑๕ กลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืน มีทั้งผู้สงสาร (หรืออยากเป็นกระแสก็มิอาจคาดเดาได้) ไปมอบเงินปลอบใจและซื้อข้าวเหนียวไก่ทอดมาให้ทาน ทั้งสื่อก็อยากจะนำน้องไปสัมภาษณ์ ออกรายการ ถึงขนาดจะจ้างเป็นพรีเซ็นต์เตอร์โฆษณา ขณะที่ร้านไก่ทอดที่น้องไปซื้อก็ได้อานิสงส์ขายดิบขายดี อันนี้รวมไปถึงกระแสไก่ทอดฟีเวอร์ทั่วประเทศทำเอาหลายร้านหมดเกลี้ยงถาดกันตั้งแต่หัววัน เพราะผลจากคลิปของน้อง

เรื่องนี้มันดังจนถึงขนาดคุณเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ต้องนำข้าวเหนียวไก่ทอดไปมอบให้เพื่อเป็นการปลอบใจถึงบ้าน มิหนำซ้ำ พล.ต.ต.สุนทร เฉลิมเกียรติ ผบก.ภ.จว.สตูล ยังได้สั่งให้ชุดสืบสวน สภ.เมืองสตูล ไปตรวจดูภาพในกล้องวงจรปิดที่เซเว่นอีเลฟเว่น สี่แยกเจ๊ะบิลัง เพื่อหาเบาะแสตามหาตัวหัวขโมยเหนียวไก่และให้ติดตามคดีนี้พร้อมทั้งให้เด็กสาวมาแจ้งความ

ซึ่งสุดท้ายผลสรุปกลายเป็นว่า “สุนัขคาบไปรับประทาน” นั่นเอง ...

คุณ “ธาม เชื้อปนศิริ” นักวิชาการด้านสื่อสาธารณะก็วิเคราะห์ผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กของตัวเองว่า คลิปนี้มีความน่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะทางการตลาดที่สามารถเอาไปสร้างแนวทางในการทำคลิปในเชิงปากต่อปากให้โดนใจได้ เพราะ มันตลก จริงใจ เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ มีความเป็นโอท๊อปสะท้อนความเป็นชุมชน เป็นเรื่องใกล้ตัว มีคำหยาบคายที่ช่วยทลายกำแพงของการปิดกั้นรับเนื้อหา มีความลึกลับสร้างความสงสัย มันต่อยอดทั้งการเลียนแบบมากมายทำให้ผู้ชมร่วมกระโจนเข้าสู่การแสดงอารมณ์และความคิดสร้างสรรค์ มันคือความจริงของเหตุการณ์ และมันสร้างผลกระทบให้สำนักข่าวสนใจตามกระแสและฉาบฉวย

ผมมองดูเรื่องนี้ก็คล้ายกับเหตุการณ์เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ที่มีเด็กชายมัธยมศึกษาปีที่ ๑ อัดคลิประบายความคับแค้นใจลงในยูทิวบ์ถึงกรณีที่ตนเองถูกเพื่อนขับออกจากกลุ่มเฟซบุ๊กที่เพื่อนๆ ได้ตั้งเอาไว้ จนเป็นที่มาของวลียอดฮิตที่ว่า "เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่" และต่อมาสื่อมวลชนก็ตามสืบจนรู้ว่าเด็กคนนี้เป็นใคร อยู่โรงเรียนอะไร และใครคือครูอังคณา ซึ่งเจ้าตัวก็โด่งดังไปสักพักหนึ่ง ถึงขนาดได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ด้วย

เรื่องนี้ก็น่าจะถูกลืมเลือนในไม่ช้าเช่นเดียวกัน...

แต่กระนั้นตัวสื่อมวลชนเองก็ถูกตั้งคำถามอย่างหนักเหมือนกันว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ราวกับมันเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ทุกคนต้องรู้ บางสำนักนำเสนอความเคลื่อนไหวแทบทุกวัน (รู้สึกว่าของศูนย์ข่าวภาคใต้เอเอสทีวีผู้จัดการนำเสนอแค่วันเดียวเอง) จนเอียน จากตามหาตัว เจอร้าน ตามติดจนกระทั่งจำลองเหตุการณ์ นี่มันมากไปไหม ... แม้แต่คนในวงการสื่อเองก็อ่อนเพลียละเหี่ยใจ ถึงขนาดรวมตัวกันโพสต์ข้อความ "เสรีภาพบนความรับผิดชอบ" "จริยธรรม ควบคุมตัวเองไม่ได้ ควบคุมกันเองก็ไม่ฟัง ฤาจะรอรัฐมาควบคุม วันนี้ยังมี "เสรีภาพ" จงใช้มันอย่างระวัง วันนึงหากถูกริดรอน ก็อย่าโหยหา "เสรีภาพ" เพื่อติติงถึงกรณีดังกล่าว

โดยพี่หนึ่ง “สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา” อดีตผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ผู้ริเริ่มได้เขียนบนเฟซบุ๊กส่วนตัว Sataporn Pongpipatwattana ไว้อย่างน่าสนใจตอนหนึ่งว่า "สิ่งเดียวที่จะทำให้พวกเรายืนหยัดอยู่ได้บนความท้าทายนี้ ... คือ ความเป็นมืออาชีพ ซึ่งต้องถูกถ่ายทอดผ่าน จริยธรรม การนำเสนอข้อมูลที่ตรวจสอบได้ มีแหล่งที่มา มีหลักฐาน พร้อมจะรับผิดชอบต่อสิ่งที่นำเสนอ ยืนอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์สาธารณะ และที่สำคัญคือ การคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา" , "แต่แล้วผมก็พบว่า ทั้งหมดข้างต้นที่กล่าวมา อาจเป็นความพยายามที่ล้มเหลว ไร้สาระ ไร้ประโยชน์ และไม่มีทางสำเร็จได้เลย เมื่อพวกเรากันเอง ..ยังคงคำนึงถึง "เป้าหมาย" ที่ต่างกัน ... พี่น้องหลายส่วนสนใจยอดไลค์ ยอดแชร์ ยอดวิว มากกว่าคำท้วงติงของคนที่แสดงความเป็นห่วง ... บางส่วน ยังไม่เห็นว่ามันจะเป็นปัญหาตรงไหน ตราบใดที่ยังสามารถ COPY ข่าวจากโซเชี่ยลมีเดียมาเล่นได้ และยังขยายผลในบางข่าวได้"

"เมื่อวาน.. ผมแปลกใจที่เห็นข่าวเด็กซึ่งโพสต์คลิปเรื่องข้าวเหนียวไก่หาย กลายเป็นข่าวหลักของสื่อกระแสหลัก แปลกใจกว่าเดิม เมื่อเห็นข่าว เด็กเครียด เพราะถูกมองว่าอยากดัง (...ใครมอง ... หรือนักข่าวไปถามเองว่า "เครียดมั้ย มีคนมองว่าอยากดัง") ... จนกระทั่ง เห็นข่าวส่วนราชการออกมามีกิจกรรมพบปะเด็กน้อยคนนี้..(กลายเป็นสุดยอดผู้ว่าฯ) ที่น่าสนใจ คือ เด็กคนหนึ่ง จะรับมือ จากสิ่งที่จะตามมาถึงเขาต่อจากนี้ไปอย่างไร แต่ในขณะเดียวกัน มีความเดือดร้อนของประชาชนอีกมาก ที่กำลังต่อสู้กับความอยุติธรรมของทางราชการ กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งกลับโดนเพิกเฉยจากสื่อทั้งที่เพียรพยายามร้องเรียน ยืนหนังสือ บางกลุ่มไปประท้วงตากแดดเป็นอาทิตย์ มีข่าวอยู่ 2 นาที" ข้อความตอนหนึ่งจากเฟซบุ๊กพี่สถาพร

ผมได้อ่านก็รู้สึกเห็นพ้องกับพี่สถาพร เพราะคิดไม่ต่างกันนัก แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง โดยเฉพาะสังคมไทยนั้น มันกลับตรงข้ามกับสิ่งที่เป็นอุดมการณ์ของพวกเราพอสมควร

"คนอ่านข้อเท็จจริงมีน้อยนัก...."

จากการที่ผมเขียนสคริปท์รายการ ๑๐ ข่าวเด็ดแมเนเจอร์ มาตั้งแต่เริ่ม สิ่งที่เห็นได้ชัดคือชาวบ้านสนใจในข่าวแปลก ข่าวดราม่า ข่าวเสือก ข่าวมโนสาเร่ ข่าวเสื่อม ข่าวรูป-คลิปโป๊ เปลือย ที่เราเรียกว่าข่าวขยะ กลับเป็นข่าวยอดนิยมอันดับต้นๆ แต่น้อยครั้งมากที่ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการเรียกร้องเพื่อสังคม ข้อเท็จจริงกรณีพลังงาน ก๊าซ หรืออื่นๆ ที่มีประโยชน์ จะมีคนอ่านสูงๆ ทั้งๆ ที่มันเกี่ยวข้องกับชีวิตเขาไม่ทางตรง ก็ทางอ้อม ในเว็บเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ข่าวพวกนี้มีเยอะมากในแต่ละวัน แต่คนอ่านกลับน้อยจนน่าใจหาย

ผมไม่ได้บอกว่า เราจะต้องหันมาทำข่าวประเภทนี้มากขึ้น แต่มันต้องมีเพื่อล่อเลี้ยงองค์กรให้อยู่ต่อไป ในขณะที่ข่าวเจาะ ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ข่าวเพื่อสังคม มันก็ต้องทำ และต้องขยายผลมากขึ้น แม้คนมันจะรับรู้น้อยทั้งๆ ที่มีการกระตุ้นจากกองบรรณาธิการในการนำเสนอสู่สาธารณะแล้ว ก็ช่างมัน ... อย่างน้อยพวกเราได้ทำตามจิตวิญญาณและความรับผิดชอบของเราแล้ว

ในเมื่อสังคมออนไลน์ทำให้เกิดกระแส การเล่นตามกระแสของสื่อ ทั้งตามล่าควานหาเจ้าของคลิป ร้านไก่ทอด มันก็เป็นเรื่องที่สื่อได้ทำหน้าที่นั่นคือการแสวงหาข้อเท็จจริง เมื่อพบว่ามีตัวตน มีมูล ทุกอย่าง “มันควรจบ” เหมือนกับกรณีอื่นๆ .... แต่เรื่องนี้กลับไม่ใช่ เพราะบุคคลที่สามารถเป็นข่าวได้กลับลงมาเล่นอีกมันจึงต้องเป็นข่าวต่อเนื่อง ทั้งผู้ว่าฯ สตูล ที่มามอบไก่ทอดเยียวยากับเด็กสาว ท่ามกลางคำถามของสังคมที่ตีกลับว่า ทำไปเพื่ออะไร ได้ดูแลผู้ยากไร้ในจังหวัดดีเช่นนี้หรือไม่ เช่นเดียวกับกรณีที่ผู้บังคับการฯ สตูล สั่งให้คลี่คลายปริศนา ในมุมหนึ่งก็อาจมองได้ว่ากระทำตามคำร้องเรียนของผู้ประสบเหตุ แต่ในมุมกลับก็ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกันว่า คดีอื่นๆ ที่ไม่ได้มีการนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์จะได้รับการเร่งรัดให้ตามตัวผู้กระทำความผิดเช่นเดียวกันหรือไม่ อันที่จริงแล้วเราก็สามารถนำประเด็นที่ถูกตั้งข้อสังเกตเหล่านี้มาสานต่อได้ ขึ้นอยู่แต่ว่าจะทำ หรือไม่ทำ เท่านั้น ...

หรืออย่างล่าสุดเห็นว่ามีผู้มามอบทุนการศึกษาให้น้อง รวมไปถึงโทรศัพท์มือถือใหม่ สังคมก็เลยตั้งคำถามกลับไปว่า น้องมีคุณงามความดีอะไรบริษัทผู้ใจดีถึงได้มอบสิ่งของเหล่านั้น ... แต่จะไปว่าเขาก็มิได้เสียทีเดียว เงินก็เงินของเขา

แต่เรื่องนี้มันแค่แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยชอบเรื่องตลก แต่มันแอบเป็นตลกร้ายของสังคมเสียด้วย...
กำลังโหลดความคิดเห็น