xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจโรงเรียน ตชด. “ปิดเทอมใหญ่ การศึกษาไทยว้าวุ่น”

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ผมเคยบอกคุณผู้อ่านเอาไว้ว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เฟซบุ๊กเพจ “รัฐศาสตร์ ม.ร. FC” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันโดยอิสระของนักศึกษา และศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะไปทำกิจกรรมมอบสิ่งของที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) บ้านแม่น้ำน้อย อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปสำรวจสถานที่ร่วมกับเพื่อนๆ ในกลุ่มครั้งที่สอง ตามคำชักชวนของหัวหน้ากิจกรรม

กิจกรรมในครั้งนี้จะมอบสิ่งของบริจาคแก่โรงเรียนในพื้นที่ทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียน ตชด. บ้านแม่น้ำน้อย โรงเรียนบ้านถ้ำดาวดึงส์ และโรงเรียนบ้านแก่งประลอม ทั้งสามโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี แต่วันจริงเราจะจัดกิจกรรมและปักหลักพักค้างกันเฉพาะที่โรงเรียน ตชด. บ้านแม่น้ำน้อยเท่านั้น ส่วนอีกสองโรงเรียนที่เหลือทราบว่าจะมีตัวแทนมารับสิ่งของกลับไป เนื่องจากการเดินทางเป็นไปค่อนข้างลำบาก

ก่อนหน้านี้คณะกิจกรรมเคยไปสำรวจโรงเรียนทั้ง 3 แห่งมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าแต่ละแห่งความต้องการสิ่งของที่จำเป็นไม่เหมือนกัน หัวหน้ากิจกรรมเคยถามครูที่ดูแลโรงเรียนหนึ่งใน 3 แห่งว่าต้องการหนังสือ สมุด ดินสอไหม ได้รับคำตอบว่ามีเยอะอยู่แล้ว ส่วนอุปกรณ์กีฬายังคงใช้ได้อยู่ แต่ที่ต้องการก็คือ อาหารแห้ง เครื่องปรุงรส เสื้อผ้า ของใช้อุปโภค บริโภค เพราะเด็กที่นี่จะค้างคืนอยู่กับเรา ผักเราก็ปลูกเอง ไก่ ปลาดุก เราก็เลี้ยงเอง

นอกจากนี้ เมื่อดูสภาพความเป็นอยู่ของนักเรียน ซึ่งเพื่อนหนึ่งในคณะได้ส่งรูปมาให้ดู พบว่าอาหารการกินของเขามีเพียงข้าวโพดต้ม แกงจืดผัก และแกงปลาดุกที่เลี้ยงเองในบ่อ แตกต่างจากที่เราอยู่ในชุมชนอย่างสุขสบาย อาหารการกินเลือกได้ไม่รู้จักเบื่อ เพื่อนคนนี้ได้ถามเด็กอยู่ประโยคหนึ่งว่า “รู้จักเซเว่นไหม” ได้คำตอบกลับมาว่า ไม่รู้จัก พวกเขาไม่รู้ว่าร้านสะดวกซื้อที่เราเคยเชื่อมาตลอดว่าคนไทยทุกคนรู้จักกันดีนั้นเป็นอย่างไร

ด้วยความที่อยากรู้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของโรงเรียนแบบนั้นเป็นอย่างไร จึงตอบตกลงที่จะไปร่วมสำรวจสถานที่ด้วยกัน วันอาทิตย์เราเดินทางออกจากกรุงเทพฯ แต่เช้าตรู่ แวะรับพรรคพวกตามรายทางตั้งแต่นครปฐม ท่าม่วง ถึงกาญจนบุรี ด้วยความที่เมื่อคืนที่ผ่านมานอนน้อย เพราะไม่คุ้นที่ต้องมานอนบ้านเพื่อน หลังทานอาหารข้างทางเสร็จจึงเผลอหลับไป ตื่นขึ้นมาอีกทีถึงวัดเขาเข้เทพนิมิตวนาราม อ.ไทรโยค ซึ่งเรานัดหมายผู้ใหญ่บ้านนำทางเราไปที่นั่น

บนถนนสายกาญจนบุรี-สังขละบุรี หลักกิโลเมตรที่ 148 ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี 90 กิโลเมตร เราจะเห็นทางเข้าโรงเรียน ตชด. บ้านแม่น้ำน้อย ปัจจุบันกรมทางหลวงชนบทก่อสร้างเป็นถนนลาดยางอย่างดี ตรงไปประมาณ 4 กิโลเมตร บริเวณทางโค้งจะเห็นถนนลาดยางเล็กๆ เราตรงเข้าไปจากทางโค้งประมาณ 1 กิโลเมตร จะเห็นโรงเรียนอยู่ทางซ้ายมือ มองเห็นสะพานข้ามแม่น้ำแควน้อยอยู่ข้างหน้า ซึ่งถ้าตรงไปจะไปอุทยานแห่งชาติไทรโยคใหญ่ได้

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่น้ำน้อย ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านแม่น้ำน้อย ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี สมัยก่อนใช้ศาลาวัดแม่น้ำน้อยซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามเป็นอาคารเรียนชั่วคราว ก่อนที่ชาวบ้านได้มอบที่ดิน 35 ไร่เพื่อก่อสร้างโรงเรียน ก่อนที่ในปี 2521 ได้มีบริษัทเอกชนก่อสร้างอาคารเรียนให้ 1 หลัง เมื่อสร้างเสร็จจึงได้ย้ายสถานที่เรียนมาทำการเรียนการสอนที่อาคารหลังใหม่ และตั้งชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านน้ำน้อย” ในปัจจุบัน

ปัจจุบันโรงเรียนเปิดทำการสอนชั้นปฐมวัย (อนุบาล) ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำไร่ ทำสวนผลไม้ เลี้ยงสัตว์ และรับจ้างทั่วไป มักจะส่งลูกหลานมาปักหลักพักค้างที่โรงเรียน ในช่วงที่มีการเรียนการสอน จะรับกลับมาที่บ้านก็เป็นช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นช่วงเปิดเทอม โรงเรียนแห่งนี้จะคึกคักราวกับมีชีวิต เพราะทั้งเรียน ทั้งกินนอนอยู่ในบริเวณเดียวกัน

มองจากภายนอก เป็นโรงเรียนที่ถือได้ว่ามีสภาพสมบูรณ์ระดับหนึ่ง มีอาคารเรียนหลังเล็กชั้นเดียวตั้งเด่นอยู่ด้านใน โดยมีสนามฟุตบอลที่มีหญ้าเขียวขจีงามยิ่ง แต่บรรยากาศดูเงียบเหงาเนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคเรียน พ่อแม่ก็กลับมารับลูกไปอยู่ที่บ้าน อาคารเรียนจึงปิดสนิท คงเหลือเด็กๆ ที่ยังพักแรมกับทางโรงเรียนอยู่ 3 คน เราได้รับการต้อนรับจาก “ครูเจี๊ยบ” หรือ ดาบตำรวจตรีสุจริต อิ่มยิ้ม ซึ่งอยู่ดูแลโรงเรียนทั้งสอนหนังสือไปถึงเป็นนักการภารโรงให้การต้อนรับ

เท่าที่พูดคุยกับครูเจี๊ยบ สิ่งของที่ทางโรงเรียนต้องการนอกจากข้าวสาร เครื่องปรุงรส น้ำมันพืช วุ้นเส้นต่างๆ เพื่อทำอาหารให้กับนักเรียนทั้งโรงเรียนแล้ว ยังต้องการยารักษาโรค เช่น ยารักษาอาการโรคผิวหนัง รวมทั้งของใช้สำหรับเด็ก อาทิ สบู่ แชมพู ยาสีฟัน สำหรับเด็กชั้นประถมศึกษา ผงซักฟอกต่างๆ คุณผู้อ่านอาจมองผิวเผินว่าสิ่งของเหล่านี้หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปก็ได้ แต่เนื่องจากที่นี่ได้รับงบประมาณอย่างจำกัด จึงต้องทำการเกษตรในโรงเรียนเพื่อแบ่งเบาภาระ

ตรงนี้ผมขออธิบายเพิ่มเติมว่า งบประมาณโรงเรียน ตชด. แตกต่างจากโรงเรียนของรัฐในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตรงที่การใช้จ่ายถ้าเป็นโรงเรียนในสังกัด สพฐ. จะมีความยืดหยุ่นมากกว่า ส่วนโรงเรียน ตชด. เนื่องจากมีข้อจำกัด ค่าใช้จ่ายบางอย่างไม่สามารถใช้งบจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน (กก.ตชด.) โดยตรงได้ อีกทั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเกือบๆ ชายขอบของประเทศ จึงต้องพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด

แม้โรงเรียน ตชด. จะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากมาย แต่รายจ่ายที่ต้องหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน เช่น อาหารที่ต้องเลี้ยงนักเรียนทั้งโรงเรียน เป็นสิ่งที่ใช้มาแล้วหมดไป จึงต้องทำการเกษตรในโรงเรียนเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหาร โดยเลี้ยงสัตว์ทั้งไก่ หมู และปลา ปลูกพืชผัก ผลไม้สำหรับปรุงอาหาร แต่ถึงกระนั้นยังมีค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน ทั้งข้าวสาร เครื่องปรุงรส ก๊าซหุงต้ม และสิ่งของอุปโภค บริโภค ซึ่งเกิดขึ้นแทบจะเกือบทุกโรงเรียน

ว่ากันด้วยเรื่องของโรงเรียน ตชด. บ้านแม่น้ำน้อยกันต่อ ครูเจี๊ยบพาพวกเราไปชมสถานที่อีกครั้ง นอกจากอาคารเรียนที่ดูเงียบสงบ และโรงอาหารซึ่งอยู่ติดกันแล้ว เดินเข้าไปจะเห็นฟาร์มเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด และบ่อเลี้ยงปลาเล็กๆ สำหรับเลี้ยงปลาดุก ฝั่งตรงข้ามจะเป็นแปลงผักสวนครัวขนาดย่อม สำหรับอาหารกลางวัน อันที่จริงทางโรงเรียนต้องการเมล็ดพันธุ์พืชด้วย แต่สำหรับกิจกรรมครั้งนี้มีผู้ประสงค์จะบริจาคอยู่แล้ว ถึงกระนั้นใครที่สนใจก็บริจาคกันมาได้เรื่อยๆ

ถัดจากนั้นจะเป็นโรงนอนสำหรับเด็ก และห้องพักครู แยกนักเรียนชายและหญิงออกจากกัน ก่อนที่จะถึงท่าน้ำแม่น้ำแควน้อย ทางครูร่วมกับชาวบ้านได้สร้างแพเอาไว้ ถ้ามีเครื่องยนต์จะสามารถนำพาล่องแม่น้ำแควน้อยไปยังอุทยานแห่งชาติไทรโยคใหญ่ได้ เราได้เห็นสภาพลำน้ำแควน้อยที่ไหลจากเขื่อนวชิราลงกรณ์ บรรจบกับแม่น้ำแควใหญ่ ลงสู่เขื่อนแม่กลอง เป็นแม่น้ำแม่กลองลงสู่อ่าวไทย โรงเรียนแห่งนี้ยังคงสูบน้ำขึ้นมาใช้ ซึ่งตลิ่งอยู่สูงกว่าแม่น้ำประมาณ 4-5 เมตร

ระหว่างที่พาไปชมบ่อเลี้ยงปลา ครูเจี๊ยบบอกกับเราว่า โดยปกติช่วงอาหารกลางวันจะมีงบประมาณลงมา แต่ในช่วงเสาร์อาทิตย์ หรือช่วงปิดเทอม ก็ได้ปลา หมู ไก่ที่เลี้ยงไว้มาหล่อเลี้ยงชีวิต ก่อนกลับไปเราเห็นอาคารที่ถูกทิ้งร้างอยู่หน้าโรงเรียน ครูเจี๊ยบเล่าว่าเดิมเป็นสถานีอนามัย แต่ได้ย้ายออกไปแล้วมอบอาคารนี้ให้แก่โรงเรียน ซึ่งตั้งใจว่าจะปรับปรุงเป็นศูนย์การเรียนรู้ แต่ก็ต้องรองบประมาณลงมาอีกครั้ง

เราใช้เวลาคุยธุระกับครูเจี๊ยบประมาณชั่วโมงเศษ ทราบมาว่านอกจากคณะกิจกรรมของเราจะลงมาแล้ว ยังมีคณะจากบางสถาบันที่ลงมาสำรวจสถานที่ โดยที่ผ่านมาเคยมีนักศึกษาจากกรุงเทพฯ มาก่อสร้างอาคารให้ ซึ่งปักหลักพักค้างนานถึง 15 วัน สำหรับพวกเรานั้นหลังกลับกรุงเทพฯ ยังคงต้องระดมทุนกันต่อในเวลาอีกเพียงเดือนเศษเท่านั้น ซึ่งหลักคิดของหัวหน้ากิจกรรมคือ ไม่อยากสักแต่ให้สิ่งของแล้วจบ แต่อยากให้สิ่งของนั้นได้ใช้จริง เป็นประโยชน์จริง

หากจะกล่าวถึงโรงเรียน ตชด. นั้น ที่มาที่ไปก็เล่าเพียงสั้นๆ ว่าเกิดขึ้นจากหมู่ลาดตระเวนที่ถูกส่งออกไปเพื่อตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อย ตามแนวชายแดนป่าเขาทุรกันดาร แล้วพบว่าตามหมู่บ้านต่างๆ มีเด็กซึ่งอยู่ในวัยเรียนเป็นจำนวนมากยังไม่ได้เรียนหนังสือ เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถเข้าไปจัดตั้งโรงเรียนได้ จึงได้จัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือ เกิดขึ้นแห่งแรกที่โรงเรียน ตชด. บำรุงที่ 1 บ้านดอนหมาวัน อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมื่อปี พ.ศ. 2499

ปัจจุบันในปีการศึกษา 2556 มีโรงเรียน ตชด. ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ บก.ตชด. ทั่วประเทศ 177 แห่ง แยกเป็นระดับประถมศึกษา 175 แห่ง มัธยมศึกษา 2 แห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียน ตชด. ขนาดเล็ก มีนักเรียน 61-120 คน จำนวน 85 แห่ง รองลงมาเป็นโรงเรียน ตชด. ขนาดกลาง 121-280 คน จำนวน 64 แห่ง นอกนั้นเป็นโรงเรียน ตชด. ขนาดเล็ก 1-60 คน จำนวน 21 แห่ง และโรงเรียน ตชด. ขนาดใหญ่ 7 แห่ง ซึ่งทั้งหมดมีจำนวนนักเรียนรวมกัน 2.2 หมื่นคน

ข้อจำกัดของโรงเรียน ตชด. ทำให้นึกถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อันเนื่องมาจากงบประมาณแผ่นดินถูกจัดสรรไม่เท่าเทียม นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการศึกษาอย่างจำกัด กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม ใครจะเชื่อว่าขนาดกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุด เฉพาะปีงบประมาณ 2558 ที่ได้สูงถึง 501.3 ล้านบาทนั้น แต่ยังพบว่าแทบทุกปีมีแต่งบบุคลากร งบลงทุน และงบดำเนินการของโรงเรียน ส่วนเงินที่จะตกอยู่กับนักเรียนนั้นกลับได้รับน้อยลง

ผมเชื่อว่ายังมีโรงเรียน ตชด. อีกเป็นจำนวนมากที่มีสภาพความเป็นอยู่ไม่ต่างไปจากโรงเรียน ตชด. บ้านแม่น้ำน้อยที่ผมไปมาครั้งนี้ การที่เราได้เห็นพวกเขาพึ่งพาตัวเอง ทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหารกลางวัน รวมทั้งความเสียสละของครู ตชด. ที่เป็นตั้งแต่ครูสอนหนังสือ ไปถึงนักการภารโรง ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า เราจะไม่ลำบาก ถ้าเรารู้จักพึ่งพาตัวเอง ต่อให้มีหน่วยงานสักสิบหน่วยงานบริจาคสิ่งของ พวกเขาก็ยังคงต้องรับผิดชอบนักเรียนทุกคนอยู่ดี

แม้หลายท่านที่อ่านบทความนี้แล้ว อาจมีบางท่านเริ่มมีแนวคิดที่จะจัดกิจกรรมบริจาคสิ่งของขององค์กร อยากจะทำซีเอสอาร์ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่อากาศดี เหมาะแก่การทำกิจกรรมจิตอาสาไปด้วยเที่ยวไปด้วย แต่ก็พึงระลึกอยู่เสมอว่า ถ้าคิดจะปักหลักพักค้างที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้งครู ตชด. และนักเรียนไม่ได้มีชีวิตสุขสบายแบบเรา ฉะนั้นการทำกิจกรรมลักษณะนี้ จึงควรที่จะปรับตัวการใช้ชีวิตให้เข้ากับพวกเขา

รวมทั้งเรื่องสิ่งของและความต้องการที่จะบริจาค แต่ละแห่งล้วนแล้วแต่ความต้องการไม่เหมือนกัน จึงควรที่จะประสานงานกับทางโรงเรียน สอบถามว่ามีความต้องการสิ่งของชนิดใดอย่างแท้จริงหรือไม่ แล้วเลือกซื้อของตามที่ต้องการนั้น เพื่อไม่ให้สิ่งของที่บริจาคถูกกองทิ้งไว้ ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งแทนที่ผู้ให้จะได้บุญ กลับกลายเป็นการสร้างภาระซ้ำเติมแก่ครูและนักเรียนในพื้นที่ทุรกันดารเสียเอง.









กำลังโหลดความคิดเห็น